Advance search

เมืองเพชรบุรี

ชุมชนริมน้ำเพชรบุรี เป็นชุมชนเก่ามีโบราณสถานสำคัญในสมัยอยุธยา และยังมีภาพ Street Art ฝีมือศิลปินชาวเพชรบุรีวาดไว้ตามจุดต่างๆ ในตลาดอีกด้วย

ถนนคลองกระแชง
คลองกระแซง
เมืองเพชรบุรี
เพชรบุรี
ศิริณภา นาลา
26 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
ริมแม่น้ำเพชรบุรี
เมืองเพชรบุรี


ชุมชนริมน้ำเพชรบุรี เป็นชุมชนเก่ามีโบราณสถานสำคัญในสมัยอยุธยา และยังมีภาพ Street Art ฝีมือศิลปินชาวเพชรบุรีวาดไว้ตามจุดต่างๆ ในตลาดอีกด้วย

ถนนคลองกระแชง
คลองกระแซง
เมืองเพชรบุรี
เพชรบุรี
76000
13.103701888
99.9486909954
เทศบาลเมืองเพชรบุรี

ชุมชนตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของทั้ง 3 ชุมชนในย่านเมืองเก่าเพชรบุรี ได้แก่ ชุมชนคลองกระแชง ชุมชนตลาดริมน้ำ และชุมชนวัดเกาะ กินพื้นที่ ตำบลคลองกระแซง และตำบลท่าราบ ซึ่งมีวิถีชีวิตริมแม่น้ำที่มีเอกลักษณ์ และแตกต่างจากชุมชนอื่น ๆ และยังมีการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ประวัติศาสตร์ จิตรกรรมฝาผนัง อาหาร และภูมิปัญญาของชุมชนอีกด้วย

หากกล่าวถึงจังหวัดเพชรบุรีมีประวัติย้อนไปถึงรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยอาจเป็นเมืองศรีชัยวัชรบุรี 1 ใน 23 เมือง ที่พระองค์ส่งพระชัยพุทธมหานาถมาประดิษฐาน โดยในตัวเมืองมีโบราณสถานสำคัญในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คือ ปราสาทวัดกำแพงแลง และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ 

เมืองเพชรบุรีปรากฏความสำคัญขึ้นในสมัยอยุธยา โดยขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ และเป็นเมืองที่ปรากฏงานศิลปกรรมในสมัยอยุธยามากมาย โดยงานปูนปั้นที่เมืองเพชรบุรีนั้นถือได้ว่าเป็นงานศิลปะชิ้นเอกของเมืองแห่งนี้ ดังจะเห็นตัวอย่างจากวัดไผ่ล้อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้พบงานศิลปกรรมในสมัยอยุธยาในชุมชนริมน้ำเพชรบุรีอีกหลายแห่ง

ต่อมาในสมัยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจนถึงสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทยยังคงทำสงครามกับพม่ามาโดยตลอด ซึ่งเจ้าเมืองและชาวเมืองเพชรบุรีก็ยังคงมีส่วนร่วมในการทำสงครามดังกล่าว จนเมื่อพม่าตกเป็นของอังกฤษ บทบาทของเมืองเพชรบุรีที่มีต่อเมืองหลวงและราชสำนักจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไป

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานเมืองเพชรบุรีตั้งแต่ครั้งยังผนวช และเมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้สร้างพระราชวัง วัด และพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นบนเขาเตี้ย ๆ ใกล้กับตัวเมืองและพระราชทานนามว่า “พระนครคีรี” ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองเพชรบุรี คือ “พระรามราชนิเวศน์” หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า “วังบ้านปืน”

อำเภอเมืองเพชรบุรี เเต่เดิมคือ อำเภอคลองกระแซง ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2446 เนื่องจากสถานที่ตั้งของศูนย์ราชการอยู่ในเขตตำบลคลองกระแชง ในอดีตใช้พื้นที่ของวัดพลับพลาชัยเป็นศูนย์ราชการของอำเภอคลองกระแชง ภายหลังจึงได้มีการย้ายออกจากวัดพลับพลาชัยเนื่องจากพื้นที่ของวัดคับแคบ แต่ก็ไม่ไกลสถานที่เดิมยังในเขตตำบลคลองกระแชงเหมือนเดิม ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ตอนกลางของอำเภอเมืองเพชรบุรี การที่อำเภอคลองกระแชงเป็นที่ตั่งศูนย์ราชการของจังหวัดเพชรบุรีจึงได้เปลียนชื่อเป็นอำเภอเมืองเพชรบุรีที่มีแหล่งศิลปกรรมอันทรงคุณค่าอยู่ทั้งริม 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี และเป็นศิลปกรรมตั้งแต่สมัยเขมรจนถึงปัจจุบัน

ชุมชนริมน้ำเมืองเพชรบุรีมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้

อาณาเขติดต่อ

  • ทิศเหนือ      ติดต่อกับ   อำเภอเขาย้อยและอำเภอบ้านแหลม
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ   อำเภอบ้านแหลมและอ่าวไทย
  • ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ   อำเภอบ้านลาด
  • ทิศใต้         ติดต่อกับ   อำเภอท่ายาง

ลักษณะภูมิประเทศ

         พื้นที่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี เป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีและพื้นที่ราบเชิงเขาในบางส่วน มีแม่น้ำเพชรบุรีไหลผ่านกลางเขตเทศบาลจากทิศใต้ไปทิศเหนือ และแบ่งเขตเทศบาลเป็น 2 ฝั่ง หรือ 2 ตำบลตามแนวฝั่งแม่น้ำ โดยตำบลท่าราบอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรีเป็นพื้นที่ราบลุ่มทั้ง ตำบล มีคลองวัดเกาะซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของตำบลเป็นคลองซอยเชื่อมระหว่างแม่น้ำ เพชรบุรีกับคลองสาย โพธิ์พระ ในแนวทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ส่วนตำบลคลองกระแชงอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรี โดยทางทิศตะวันออกของตำบลเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ทางทิศเหนือของตำบลเป็นที่ราบเชิงเขาพนมขวด และทางทิศตะวันตกเป็นที่ราบเชิงเขาสมนหรือภูเขามไหสวรรค์ อันเป็นที่ตั้งของพระนครคีรีซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดเพชรบุรี

  • จากหลักฐานทางทะเบียนราษฎร เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ของสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองเพชรบุรีทะเบียนภาค สาขาจังหวัดเพชรบุรี ปรากฏข้อมูลจำนวนประชากรและครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ไว้ว่า มีจำนวนประชากรรวม 20,827 คน และจำนวนครัวเรือนรวม 10,329 หลังคาเรือน โดยแบ่งเป็น

1.) ประชากรฝั่งตำบลท่าราบ

  • ชาย 5,305คน
  • หญิง 6,175 คน
  • รวม 11,480 คน
  • จำนวนครัวเรือน 5,710 ครัวเรือน

2.) ประชากรฝั่งตำบลคลองกระแชง

  • ชาย 4,613 คน
  • หญิง 4,734 คน
  • รวม 9,347 คน
  • จำนวนครัวเรือน 4,619 ครัวเรือน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดในพุทธศาสนาที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลฯ จำนวน 32 วัด (ตำบลคลองกระแชง จำนวน 17 วัด ตำบลท่าราบ จำนวน 15 วัด) และมีโบสถ์อันเป็นศาสนสถานของศาสนาคริสต์ จำนวน 2 แห่ง

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

1.) วัวเทียมเกวียน

เมืองเพชรบุรีได้จัดให้มีการประกวดวัวเทียมเกวียนขึ้นทุก ๆ ปี ในช่วงของการจัดงานพระนครคีรี – เมืองเพชร  เพื่ออนุรักษ์การละเล่นพื้นบ้านและสืบทอดประเพณี ชาวบ้านนิยมนำวัวมาประกวดเพราะมีความหมายว่า วัวที่มีความสมบูรณ์จะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงฐานะความเป็นอยู่ของผู้เป็นเจ้าของ ลักษณะการประกวดวัวเทียมเกวียนจะประกวดครั้งละ 1 คู่ กล่าวคือ วัวจำนวน 2 ตัวต่อเกวียน 1 เล่ม หรืออาจจะประกวดทั้งสองคู่ก็มี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม การเดินของวัวในระหว่างที่เดินประกวดจะมีเสาหลักปักไว้เป็นคู่ ๆ วัวเทียมเกวียนจะต้องเดินให้ครบ 3 รอบ และห้ามวัวเดินชนเสาหลัก ในระหว่างที่เดินอาจจะมีดนตรีบรรเลงเพื่อความสนุกสนานด้วย

2.) ประเพณีเห่เรือบก 

เป็นการดัดแปลงจากการเห่เรือน้ำซึ่งเป็นประเพณีดังเดิมของชาวเพชรบุรี การเห่เรือบกเริ่มมากว่า 20 ปี ต่อมาภายหลังจากสร้างเขื่อนเพชรปิดกั้นแม่น้ำเพชรบุรีที่อำเภอท่ายางเป็นผลให้แม่น้ำเพชรบุรีแห้งขอดลง และส่วนตอนกลางแม่น้ำก็ตื้นเขิน ไม่เหมาะแก่การเห่เรือน้ำเหมือนในอดีต ผู้เคยเล่นเรือน้ำจึงคิดดัดแปลงลักษณะของการเห่เรือน้ำมาเล่นบนบก โดยเอาเนื้อร้องและทำนองมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับท่าทางของฝีพายขณะเดินเห่ ผู้เล่นมีทั้งหญิงและชายซึ่งเป็นทั้งฝีพายและลูกคู่  ส่วนเรือที่จำลองจะประดับประดาสวยงามมาก เนื้อความที่ใช้เห่เรือบกจะเริ่มด้วยบทไหว้ครู  บทเกริ่น บทเกี้ยวพาราสี  บทชมนกชมไม้ มีข้อสังเกตว่าไม่มีบทว่าโต้ตอบกัน  ต้นเสียงจะเห่บทเพลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเห็นว่าสมควรแก่เวลาก็จะเห่บทอำลาและอวยพรให้ผู้ชม

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

จากสภาพพื้นที่ของเมืองซึ่งเป็นเขตชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางการค้าขายและการบริการ การธนาคาร การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การศึกษาพยาบาล การสื่อสารโทรคมนาคม ประกอบกับข้อจำกัดด้านจำนวนพื้นที่และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้การลงทุนในภาคธุรกิจในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในด้านการค้าขายและการบริการโดยจะเป็นลักษณะของการลงทุนทำธุรกิจในระบบครอบครัว จะไม่มีการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินทุนมาก เช่น ภาคการก่อสร้างหรือภาคอุตสาหกรรม โดยสินค้าในเชิงพาณิชย์ในเขตเทศบาลฯ แยกได้เป็นสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไปในชีวิตประจำวันและสินค้าในรูปของการบริการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการค้าขายแก่ประชาชนในเขตเทศบาลฯ ในรูปของการค้าสินค้าปลีกแล้วยังเป็นการค้าแก่ประชาชนในท้องถิ่นใกล้เคียง ทั้งในส่วนที่เป็นการค้าปลีกและค้าส่ง เพื่อนำไปขายต่อในหลายๆ ท้องถิ่นรอบนอกเขตเทศบาลฯ หรือจะเป็นการเข้ามาใช้บริการในธุรกิจบริการต่างๆ จากประชาชนในท้องถิ่นรอบนอก สินค้าบริโภคที่สำคัญอันเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันและเป็นสินค้าพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของ เมืองเพชรบุรีได้แก่ ขนมหม้อแกง และขนมที่ได้จากการแปรรูปสินค้าเกษตร อาทิ มะตูมเชื่อม จาวตาลเชื่อมและขนมไทยต่างๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนของท้องถิ่น โดยกำลังซื้อสินค้าในส่วนนี้ได้แก่ นักท่องเที่ยวทั่วไป ประชาชนในท้องถิ่นใกล้เคียงที่ซื้อไปจำหน่ายต่อในลักษณะของพ่อค้าคนกลาง และประชาชนในพื้นที่เองที่ซื้อเพื่อเป็นของฝากแก่ญาติมิตร 

1.นางนภา ศรีอินจันทร์ มีความรู้ความสามารถด้านการทำขนมหวาน เช่น เม็ดขนุน ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด หม้อแกง ยึดอาชีพนี้มาจากมารดา โดยทำจำหน่ายเองที่บ้านและที่ตลาดนัดแม่กลอง

2.นางเอื้อน เขียวอ่อน มีความรู้ความสามารถด้านการทำขนมหรุ่ม ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของจังหวัดเพชรบุรี โดยทำจำหน่ายเองที่บ้าน ปัจจุบันทำตามสั่งเนื่องจากมีอายุมาก และในปัจจุบันขนมหรุ่มอาจจะเลือนหายไปจากชุมชนเมืองเพชรบุรี เนื่องจากเคยมีผู้มาศึกษาแต่ไม่สามารถผลิตได้ เนื่องจากวิธีการมีความซับซ้อน

3.นายประเสริฐ แต้มฤทธิ์ มีความรู้ความสามารถด้านการประดิษฐ์ของใช้ ของเล่น ของตกแต่ง โดยมีการศึกษาจากโทรทัศน์บ้าง คิดสร้างสรรค์ขึ้นมาเองบ้าง ปัจจุบันนี้ได้เป็นของจำหน่ายที่ระลึก นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล ภูมิปัญญาท้องถิ่น จากวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี

4.นายธงไชย เฉ่งปี่ มีความรู้ความสามารถด้านผู้นำ พิธีกรทางศาสนาของชุมชนเมืองเพชรบุรี และใช้ชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง และได้รับรางวัลภูมิปัญญาท้องถิ่น จากวัฒนธรรมมจังหวัดเพชรบุรี

ทุนทางวัฒนธรรมด้านโบราณสถาน

1. ฝั่งตำบลท่าราบ

ตำบลท่าราบอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเพชรบุรี มีโบราณสถานสำคัญ เช่น วัดธ่อเจริญธรรม วัดพระทรง วัดโพธาราม วัดเกาะ และวัดไผ่ล้อม เป็นต้น

2. ฝั่งตำบลคลองกระแซง

ตำบลคลองกระแซงอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเพชรบุรี ชื่อ “คลองกระแชง” นั้นคาดว่ามาจากเรือกระแชงที่เป็นเรือสินค้าเข้ามาสัญจรและจอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี มีโบราณสถานทำคัญ เช่น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเพชรบุรี พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ พระราชวังบ้านปืน และวัดพลับพลาชัย เป็นต้น

ทุนทางวัฒนธรรมด้านอาหาร

1. ข้าวแช่

เป็นอาหารยอดนิยมของชาวเพชรบุรีมายาวนาน มีทั้งหาบขายและเป็นร้านนั่งรับประทาน ข้าวแช่ของเมืองเพชรแบบดั้งเดิมจะมีเครื่องเคียง 3 อย่าง คือ ลูกกะปิทอด หัวไชโป๊หวาน และปลายี่สุ่นผัดหวาน หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล กล่าวไว้ว่า ข้าวแช่เพชรบุรีมีชื่อเสียง เป็นเพราะเพชรบุรีมีน้ำที่ขึ้นชื่อลือนามว่าเป็นน้ำดี ใส สะอาด บริสุทธิ์ ชาวเพชรจะหุงข้าวใส่กระด้งไปที่ริมแม่น้ำ ไปแช่น้ำไว้นิดหน่อย แล้วใช้มือปัดถูข้าวให้เป็นรูปแหลมทั้งหัวทั้งท้าย จนกระทั่งสวยเรียบร้อยดีแล้วก็เอากลับขึ้นมาเทข้าวที่ขัดแล้วยกลงในผ้าขาวบางแล้วก็มัดขึ้นใส่ลังถึงนึ่งด้วยน้ำดอกไม้ของหอมก็จะได้ตัวข้าวไว้กินกับเครื่องเคียง

ภูมิปัญญาด้านการตอกหนังใหญ่

งานตอกหนังใหญ่ เป็นหนึ่งอัตลักษณ์แห่งชุมชนย่านเมืองเก่าเพชรบุรีริเริ่มมาจากหลวงพ่อฤทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ณ ขณะนั้น ได้ระดมช่างฝีมือทั่วทั้งเมืองเพชรบุรีมาร่วมกันตอกลายหนังใหญ่เพื่อสร้างมหรสพ การแสดงให้กับคนเมืองเพชรบุรี โดยตัวหนังใหญ่ถ่ายทอดมาจากตัวละครของเรื่องรามเกียรติ์กว่า 200 ตัว ปัจจุบันมีการจัดแสดงชิ้นงานหนังใหญ่โบราณ ณ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย หนังใหญ่วัดพลับพลาชัยได้จัดแสดงและมีความสำคัญต่อคนเมืองเพชรในช่วงปี พ.ศ.2453 เมื่อรัชกาลที่5 ได้มาสร้างพระรามราชนิเวศน์ โดยในวันที่วางศิลาฤกษ์ก็ได้เชิญให้หลวงพ่อฤทธิ์นำเอามหรสพหนังใหญ่ของวัดพลับพลาชัยไปแสดงต่อหน้าพระพักตร์อีกด้วย

ชาวชุมชนใช้ภาษาไทยถิ่นบ้านลาด และบางครั้งใช้ภาษาไททรงดำ (ลาวโซ่ง) ในการสื่อสาร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สถานที่สำคัญ

บ้านสะสมผลงานมิตร ชัยบัญชา “มิตร ชัยบัญชา” 

มิตร ชัยบัญชา มีพื้นเพเป็นคนเพชรบุรี มิตร ชัยบัญชา มีผลงานการแสดงเอาไว้ทั้งหมด 266 เรื่อง ก่อนจะเสียชีวิตระหว่างการถ่ายทำฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ในปี พ.ศ. 2513 ด้วยความชื่นชอบและได้เก็บสะสมผลงานของมิตร ชัยบัญชา มานาน คุณสนั่นจึงปรับพื้นที่ชั้นล่างของบ้านที่เช่าอยู่ ทำเป็นห้องจัดแสดงภาพและประวัติของมิตรเพื่อแบ่งปันให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมจนถึงทุกวันนี้ ตั้งอยู่ในชุมชนคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

สตรีทอาร์ทข้างบ้าน

ซอยชุมชนตลาดริมน้ำเพชรบุรี มีภาพวาด Street Art อยู่ตามจุดต่างๆตลอดทาง โดยภาพวาดเหล่านี้ถูกวาดขึ้นโดยศิลปินเมืองเพชรมีภาพที่สื่อถึงความเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน และอีกส่วนมากเป็นภาพสัตว์ต่างๆ นับเป็นอีกจุดที่สามารถมาเดินชมวิถีชีวิตชาวตลาดเมืองเพชรแล้วยังได้ถ่ายรูปกับภาพวาดสวยๆ อีกด้วย

เทศบาลเมืองเพชรบุรี. (ม.ป.ป.). สภาพทางเศรษฐกิจ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. จาก: http://www.phetchaburicity.go.th/home/index.php?option=com_content&view=article&id=67&Itemid=227.

ปรัชญาพร พัฒนผล. (2554). การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมแม่น้ำเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารงานวัฒนธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

รัตนพล ชื่นค้า. (ม.ป.ป.). กระบวนการฟื้นฟูและสืบทอดหนังใหญ่วัดพลับพลาชัย จังหวัดเพชรบุรี. ในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 52, 425-432.

มติชนอคาเดมี่. (ม.ป.ป.). อันซีนเมืองเพชร วันเดย์ทริปเที่ยว 12 จุดวิถีชุมชน สัมผัสวิถีตาล-เมืองเก่า.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. จาก: https://www.matichonacademy.com/content/article_31098.

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (2561). ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี.  (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. จาก: ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี | CBT Thailand (dasta.or.th)