Advance search

ม้งคีรีราษฎร์

ชุมชนชาวม้งคีรีราษฎร์เป็นชุมชนม้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดตาก นับรวมประชากรชาวม้งทั้งหมดมากกว่า 19,000 คน อีกทั้งยังเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมการอยู่อาศัยร่วมกันของผู้คนถึง 5 กลุ่มชาติพันธุ์

คีรีราษฎร์
พบพระ
ตาก
วิไลวรรณ เดชดอนบม
14 ก.พ. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
3 มี.ค. 2023
ม้งคีรีราษฎร์


ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนชาวม้งคีรีราษฎร์เป็นชุมชนม้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดตาก นับรวมประชากรชาวม้งทั้งหมดมากกว่า 19,000 คน อีกทั้งยังเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมการอยู่อาศัยร่วมกันของผู้คนถึง 5 กลุ่มชาติพันธุ์

คีรีราษฎร์
พบพระ
ตาก
63160
อบต.คีรีราษฎร์ โทร. 0-5580-5555
16.522080
98.905785
องค์การบริหารส่วนตำบลคีรีราษฎร์

“ม้ง” เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาสูงหรือที่ราบเชิงเขาที่มีอากาศหนาวเย็นแถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ภาคเหนือของพม่า ลาวเวียดนาม และไทย หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “แม้ว” “เหมียว” และ “เมี้ยว” ซึ่งเจ้าของชาติพันธุ์ไม่พอใจกับการเรียกขานดังกล่าว เนื่องจากคำดังกล่าวเป็นคำที่ชาวจีนใช้เรียกชนเผ่าอื่นที่ไม่ใช่ชาวจีน มีความหมายว่าคนป่า หรือคนเถื่อน คำเรียก แม้ว เหมียว และเมี้ยว จึงคล้ายว่าเป็นคำที่มีนัยแฝงถึงการเหยียดหยามสถานะทางเชื้อชาติของกลุ่มชนชาติพันธุ์  

มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของชาวม้งว่าอาจอยู่บริเวณที่ราบสูงธิเบตและไซบีเรียในเขตดินแดนรอยต่อระหว่างจีนกับยุโรป ก่อนอพยพเข้ามาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง ยูนนาน ฮูนาน และกวางสี ต่อมาเกิดความขัดแย้งกับทางการจีน ชาวม้งจึงได้เคลื่อนย้ายมาทางใต้เข้าสู่ประเทศลาว เวียดนาม และไทย สำหรับการอพยพของชาวม้งเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่คาดว่าชาวม้งอาจอพยพเข้ามาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2387-2417 โดยเดินทางผ่านเข้ามาทางตอนเหนือของประเทศไทย 3 จุด ได้แก่ ห้วยทราย เชียงของ ในเขตจังหวัดเชียงราย ไชยบุรี ปัว และทุ่งช้าง จังหวัดน่าน และภูคาย นาแห้ว และด่านซ้าย จังหวัดเลย แล้วกระจัดกระจายแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานตามจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือและภาคตะวันตก เช่น จังหวัดตาก เพชรบูรณ์ และแม่ฮ่องสอน ฯลฯ 

นายเปาหลี่ แซ่ลี ทายาทชาวม้งรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาบุกเบิกสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดตาก ได้กล่าวถึงรายละเอียดการอพยพเข้าสู่จังหวัดตากของชาวม้ง ในปี พ.ศ. 2456 นายเจ่อจั่ว แซ่ม้า (คนไทยเรียก เล่าต๋า) และนายเจ้อไช แซ่จ้าง ได้นำครอบครัวพร้อมทั้งชาวม้งจำนวนหนึ่งเดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำโขงจากประเทศลาวผ่านทางไชยบุรี-ปัว จังหวัดน่าน ไปตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดแพร่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2461 เล่าต๋าได้นำชาวม้งอพยพย้ายจากจังหวัดแพร่ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านหลังเมือง อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก แต่อยู่ได้เพียง 5 ปี ก็ย้ายไปอยู่บริเวณที่เรียกว่าป่าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดตาก ปัจจุบันคือที่ตั้งศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดตากหรือดอยมูเซอ อยู่ได้ประมาณ 7 ปี ชาวม้งในหมู่บ้านได้แยกตัวออกไปหาที่ตั้งหมู่บ้านใหม่อีกหลายหมู่บ้าน ปี พ.ศ. 2478 นายหวังซะ แซ่ท้าว นายหวังลือ แซ่กือ และนายหวังล้ง แซ่เฮ้อ ได้พาชาวม้งจำนวน 70 ครอบครัว จากอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เดินทางอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยแม่ละเมา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ชาวม้งลาวจำนวน 130 ครอบครัว ได้ย้ายถิ่นที่อยู่จากประเทศลาวมายังบ้านแม่กลองใหญ่ อำเภออุ้มผาง จังหวัดเชียงราย และในปี พ.ศ. 2502 นายละแถ แซ่ม้า ได้เดินทางไปรับชาวม้งอีก 40 คน จากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มาสร้างบ้านเรือนอยู่ที่บ้านตีนดอย ตำบลคีรีราษฎร์ (ขณะนั้นยังไม่ได้รับจัดตั้งเป็นตำบลคีรีราษฎร์) อำเภอพบพระ จังหวัดตาก  

ประวัติศาสตร์การอพยพของชาวม้งที่อาศัยอยู่ในตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก บรรพบุรุษของชาวม้งกลุ่มนี้เป็นชาวม้งที่อพยพมาจากอำเภอออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มแรกมาตั้งถิ่นฐานที่ดอยมูเซอ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ในปี พ.ศ. 2468 แล้วเคลื่อนย้ายต่อมาที่บ้านป่ากล้วยในปี พ.ศ. 2471 ทว่าชาวบ้านประสบปัญหาการคมนาคมไม่สะดวก อยู่ได้เพียง 16 ปี จึงเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอีกครั้งหนึ่งมาอยู่ที่บ้านป่าคา อำเภอเมือง จังหวัดตาก อีกส่วนหนึ่งย้ายไปอยู่ที่บ้านอุ้มเปี้ยม และบ้านเหมืองแร่ ผ่านไป 18 ปี ขณะที่นายละแถ แซ่ม้า ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มคอมมิวนิสต์เริ่มเข้ามาเผยแผ่ลัทธิในพื้นที่ของชาวม้ง เพื่อต่อต้านและยับยั้งการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยจึงได้ออกประกาศให้พื้นที่ตั้งชุมชนชาวม้งในขณะนั้นเป็นพื้นที่สีชมพู และจัดตั้งเป็นตำบลคีรีราษฎร์ ในปี พ.ศ. 2508 เริ่มแรกมีหมู่บ้านในปกครอง 4 หมู่บ้าน แล้วมีการแบ่งเขตหมู่บ้านจนกลายเป็น 13 หมู่บ้านในภายหลัง ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีชาวมูเซอ ลีซอ จีนฮ้อ รวมถึงชาวไทยพื้นราบปะปนด้วย แต่มีจำนวนน้อยมาก ปัจจุบันตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ชุมชนวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดตาก  

สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  

ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก กว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมดมีลักษณะเป็นภูเขาและเทือกเขาที่มีความลาดชันสูง ปกคลุมด้วยป่าไม้ซึ่งมีลักษณะเป็นป่าโป่ง และป่าดงดิบ มีแหล่งน้ำสำคัญ ได้แก่ ห้วยแม่ละเมาอุ้มเปี้ยม และน้ำตกป่าหวาย เนื่องจากตำบลคีรีราษฎร์ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระในเขตเทือกเขาร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามัน ทำให้สภาพภูมิอากาศในบริเวณตำบลคีรีราษฎร์มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน มีฝนตกชุกตลอดเกือบทั้งปี โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม  

ปัจจุบันตำบลคีรีราษฎร์ กำลังประสบกับปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าโดยประชาชนในพื้นที่เอง ป่าไม้ทั่วไปถูกถางทำลายเพื่อทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวไร่ มะเขือเทศ พริกแดง และกะหล่ำปลี อันมีสาเหตุมาจากพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร แม้ว่าตำบลคีรีราษฎร์จะมีแหล่งน้ำธรรมชาติหลายสาย ทว่าไม่มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน ไม่มีระบบการกระจายแหล่งน้ำไปยังแปลงเกษตรของเกษตรกรอย่างทั่วถึง จึงต้องอาศัยน้ำจากน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาลซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ยังมีการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง วัชพืช และปุ๋ยเคมีเร่งระยะเวลาการเติบโตของพืชผลทาการเกษตรจำนวนมาก ทำให้หน้าดินเสื่อมคุณภาพ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ส่งผลให้กระบวนการผลิตของเกษตรกรตำบลคีรีราษฎร์ต้องใช้ต้นทุนสูง ซึ่งผลตอบแทนที่ได้กลับมาไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่จ่ายไป ชาวบ้านในชุมชนร่วมกับโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงพบพระ และหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จึงได้มีการประชุมทำข้อตกลงให้มีการใช้น้ำทางการเกษตรของอ่างน้ำในหมู่บ้าน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และบริหารระบบการกระจายน้ำเพิ่มเติมไปยังแปลงเกษตรอย่างทั่วถึง เพื่อให้สามารถทำการเกษตรนอกฤดูกาลได้โดยไม่ต้องรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในการปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น ในแปลงเกษตรของเกษตรกร ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพิ่มการปลูกพืชแบบผสมผสาน ลดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยเปลี่ยนมาใช้สารชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในการผลิต และสร้างความปลอดภัยในการประกอบอาชีพของเกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนที่ดินรายแปลง แยกพื้นที่ป่าออกจากพื้นที่ทางการเกษตร เน้นการปลูกป่าชาวบ้านเพื่อประโยชน์ใช้สอย จัดทำระบบอนุรักษ์ ดิน น้ำ และป่าต้นน้ำ เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน   

เส้นทางการคมนาคมในตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีทั้งที่เป็นถนนลาดยาง ถนนคอนกรีต และถนนลูกรัง บางพื้นที่เป็นถนนลูกรังที่ลาดเชิงเขาสลับคอนกรีตบางช่วง ในฤดูฝนถนนบริเวณนี้จะประสบปัญหาน้ำกัดเซาะจนเกิดความเสียหาย การขนย้ายผลผลิตจึงทำได้ยากลำบาก กระทั่งถูกปิดตายไม่สามารถสัญจรได้ในบางครั้ง ส่วนในฤดูแล้งเกิดปัญหาฝุ่นละออง  

ที่อยู่อาศัย  

โดยทั่วไปชาวม้งนิยมสร้างบ้านเรือนอยู่บนภูเขาสูง เนื่องจากชาวม้งเป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตอยู่อย่างสันโดน กอปรกับในอดีตระบบการเกษตรของชาวม้งมีลักษณะเป็นการทำไร่เลื่อนลอย ชาวม้งจึงต้องแสวงหาที่ดินทำกินจากดินแดนที่ปราศจากการครอบครอง ห่างไกลจากหมู่บ้านและชนเผ่าอื่น ๆ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาจากแหล่งน้ำเป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญต่อทั้งการเกษตรและการดำรงชีวิต ชาวม้งจึงนิยมตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับแหล่งต้นน้ำ บ้านชาวม้งในอดีตจะสร้างจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ปลูกบ้านบนดิน ใช้ดินเป็นพื้นบ้าน ผนังทำจากไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบจากหรือหญ้าคา ส่วนปัจจุบันชาวม้งนิยมสร้างบ้านตามสมัยนิยม ปลูกบ้านแบบคนไทยพื้นราบแทบทุกหลัง บ้านม้งแบบดั้งเดิมแทบไม่มีให้เห็นแล้ว  

สถานที่สำคัญ

น้ำตกป่าหวาย: ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านป่าหวาย หมู่ที่ 3 ตำบลคีรีราษฎร์ เหตุผลที่เรียกน้ำตกป่าหวายเพราะพันธุ์ไม้บริเวณน้ำตกมีต้นหวายขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่า น้ำตกป่าหวาย น้ำตกป่าหวายเป็นน้ำตกที่มีความสูงมากกว่า 100 ชั้น ชั้นหินแต่ละชั้นเรียงตัวกันสวยงาม ป่าไม้รอบบริเวณมีตั้งไม้ขนาดกลางไปจนถึงไม้ขนาดใหญ่ บริเวณใกล้เคียงยังมีปล่องถ้ำนรกที่มีลักษณะเป็นอุโมงค์ลึกลงไปใต้ดิน จากคำบอกเล่าของคนในท้องถิ่น เล่าว่า เคยมีคนลงไปสำรวจและพบโครงกระดูกขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นซากสัตว์ที่ตกลงไปตาย ด้านบนปากถ้ำมีน้ำตกไหลลงไปในถ้ำกระทบกับหินทำให้เกิดเป็นละอองสายรุ้ง 

ประชากร 

ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีหมู่บ้านในเขตปกครองทั้งหมด 13 หมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านมีประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น มูเซอ จีนฮ้อ ปะปนอยู่ด้วย แต่เป้นส่วนน้อย ซึ่งจะแสดงในรูปแบบตารางดังต่อไปนี้

หมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ประชากรครัวเรือน
อุ้มเปี้ยม ม้ง2,303701
แม่ละเมา ม้ง715560
ป่าหวาย ม้ง922395
ป่าคาม้ง1,861487
บ้านร่มเกล้าสหมิตรม้ง มูเซอ ลีซอ จีนฮ้อ3,0421,194
บ้านป่าคาใหม่ ม้ง1,824366
บ้านป่าคาเก่า ม้ง1,017183
บ้านชิบาโบม้ง1,419212
บ้านใหม่คีรีราษฎร์ ม้ง ไทยพื้นราบ1,755365
บ้านใหม่ยอดคีรีม้ง963154
บ้านใหม่ดินแดงม้ง1,549214
บ้านห้วยไผ่ม้ง922133
บ้านร่มเกล้าเจริญสุขม้ง1,315377
รวม19,6075,314

ระบบเครือญาติ  

ชาวม้งนับถือระบบเครือญาติตามลำดับสายเลือดแบบ “ปิตาโลหิต” หรือระบอบชายเป็นใหญ่ ความสัมพันธ์เครือญาติตามวัฒนธรรมชาวม้งมีขอบเขตถึง 5 รุ่น นับจากรุ่นลูก พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ทวด และพ่อแม่ของทวด เครือญาติลักษณะนี้เรียกว่าระบบเครือญาติแบบ “สายตระกูล” โดยชาวม้งที่อยู่ในกลุ่มสายตระกูลเดียวกันจะมีสัญลักษณ์ที่เป็นความเชื่อเหมือนกัน เช่น การนับถือผีบรรพบุรุษเดียวกัน ชาวม้งเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะคอยคุ้มครองปกป้องลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากการนับความสัมพันธ์แบบสายตระกูลแล้ว ชาวม้งยังมีการนับความสัมพันธ์เครือญาติแบบ “แซ่ตระกูล” เดียวกัน หรือที่เรียกว่า “เส่ง” หมายความถึงกลุ่มคนที่แม้ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน หากแต่มีแซ่เดียวกันชาวม้งจะถือว่าเป็นพี่น้องกัน แต่มีข้อห้ามว่าผู้ที่อยู่ในแซ่ตระกูลเดียวกันห้ามแต่งงานกันเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นพี่น้องกัน แม้ว่าจะไม่ได้สืบโลหิตสายเดียวกันก็ตาม 

นอกจากความสัมพันธ์ทางสายเลือดและความสัมพันธ์แบบแซ่ตระกูลแล้ว ชาวม้งยังมีการนับสายตระกูลจากการแต่งงาน อันเป็นความสัมพันธ์ของสองตระกูลที่เกิดจากการการแต่งงานระหว่างชายหญิง หากบิดามารดาของฝ่ายหญิงเสียชีวิตลง จะเป็นหน้าที่ของสามีทีจะต้องฆ่าวัวให้แก่ครอบครัวภรรยา หรือบางครั้งฝ่ายชายอาจไปอาศัยอยู่ร่วมชายคาเพื่อทำงานให้กับครอบครัวภรรยาในกรณีที่ไม่มีสินสอดมอบให้บิดามารดาของฝ่ายหญิง การนับสายตระกูลจากการแต่งงานถือเป็นการเชื่อมโยงสายตระกูลต่าง ๆ ให้มีการติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิด อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อการเลือกสตรีที่จะแต่งงานของชายหนุ่ม เพราะบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายจะดูฐานะพื้นฐานครอบครัว โดยเฉพาะความสัมพันธ์สายโลหิตว่ามาจากสายตระกูลใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะนำมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ชายหญิงแต่งงานกันหรือไม่   

ม้ง, ลีซู, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)

กลุ่มอาชีพ  

อาชีพหลัก: ชาวม้งตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม โดยการทำเกษตรส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อค้าขายเป็นหลัก ภายใต้การส่งเสริมธุรกิจของภาคเอกชน พืชที่นิยมปลูก ได้แก่ พริก มันฝรั่ง ข้าวโพด มันสำปะหลัง ดอกกุหลาบ ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี และดอกดาวเรือง  

ภายหลังโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงได้เข้ามาพัฒนาส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมแก่เกษตรกร โดยส่งเสริมการปลูกพืชในและนอกโรงเรือน ได้แก่ พริกหวาน มะเขือเทศโทมัส แตงกวาญี่ปุ่น ฟักทองญี่ปุ่น บีทรูท พริกซุปเปอร์ฮอต เพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดชุมชม และตลาดนอกชุมชน จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชไร่ (เฮมพ์) รวมถึงผลไม้ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้แก่ เสาวรสหวานพันธุ์ไทนุง อะโวคาโดพันธุ์แฮสต์ บัคคาเนีย ปีเตอร์สัน และพลับสายพันธุ์พี 2 สายพันธุ์ฟูยู ทดแทนการปลูกพืชไร่ อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการทำปศุสัตว์ เพื่อสร้างรายได้เสริม และบริโภคภายในครัวเรือน ปัจจุบันชาวม้งตำบลคีรีราษฎร์มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรเฉลี่ยคนละ 20,430.01 บาท-103,562.45 บาท/ปี รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 102,150.05 - 329,598.55 บาท/ปี โดยหมู่บ้านที่มีรายได้เฉลี่ยมากที่สุด คือ หมู่บ้านใหม่คีรีราษฎร์ ประชาชนในหมู่บ้านมีรายได้เฉลี่ย 65,918.71 บาท/คน/ปี และรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 329,598.55 บาท/ครัวเรือน/ปี 

อาชีพเสริม: รับจ้าง ค้าขาย งานหัตถกรรม รับราชการ ช่าง และหาของป่า  

การซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชน: ชาวม้งตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ ไม่นิยมค้าขาย เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเครือญาติ เมื่อมีสิ่งของจะนำมาแบ่งปันกัน แต่ของใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม ปลากระป๋อง ฯลฯ จะหาซื้อได้ในร้านค้าชุมชนแต่ละหมู่บ้าน โดยผู้ที่มีบทบาทในการเปิดร้านขายสินค้าในชุมชนส่วนใหญ่คือชาวไทยพื้นราบ  

การแลกเปลี่ยนกับคนนอกชุมชน: สินค้าที่ชาวม้งตำบลคีรีราษฎร์นิยมนำไปขายนอกพื้นที่จะเป็นสินค้าจำพวกผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพด นอกจากนี้จะมีพ่อค้าเร่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในชุมชน ส่วนมากจะเป็นเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ ปลา เป็นต้น  

กลุ่มชุมชน 

ชาวม้งทั้ง 13 หมู่บ้าน ในตำบลคีรีราษฎร์ได้มีการรวบรวมสมาชิกจัดตั้งกลุ่มชุมชนเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการประกอบอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะภายหลังโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงได้เข้ามาดำเนินการพัฒนางานด้านสังคมและชุมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ได้ส่งสริมให้มีการรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชุมชน และส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน  

  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเหล้าข้าวโพด: สุรากลั่นชุมชน 
  • กลุ่มแม่บ้านป่าหวายสัมพันธ์: ปักผ้า 
  • กลุ่มปักผ้า ทอผ้าใยกัญชงบ้านป่าคา: ปักผ้า ทอผ้าจากเส้นใยกัญชง 
  • กลุ่มข้าวใหม่-เหล้าข้าวโพด บ้านป่าคา: ผลิตข้าวโพด 
  • กลุ่มเย็บผ้าร่มเกล้าสหมิตร: รับตัดเสื้อผ้าทุกชนิด 
  • กลุ่มสตรีปักผ้าเครือข่ายอิ้วเมี่ยน: ปักผ้า ปลอกหมอน และกระเป๋า 
  • กลุ่มแม่บ้าน: ทำมันฝรั่งทอดกรอบเพื่อจำหน่าย  
  • วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเสื้อปักชาวเขา: ปักเสื้อพื้นเมือง  
  • กลุ่มเลี้ยงวัวชนบ้านป่าคาใหม่: เลี้ยงวัวชนเพื่อจำหน่าย 
  • กลุ่มโคเอื้ออาทรคีรีราษฎร์: เลี้ยงและจำหน่ายโคแม่พันธุ์ โคขุน และผลิตปุ๋ยหมัก 
  • กลุ่มโคคีรีราษฎร์: เลี้ยงโคขุน และโคแม่พันธุ์ 
  • กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านป่าคาเก่า: ปักผ้า ทอผ้า ปลูกและจำหน่ายผักปลอดสารพิษ 
  • กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรชิบาโบ: ปักผ้า ทอผ้า 
  • กลุ่มปลูกพืชไร่-พืชผักคีรีราษฎร์: ปลูกพืชไร่ และพืชผัก 
  • กลุ่มสตรีบ้านใหม่คีรีราษฎร์: ทอเสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตข้าวเกรียบ 
  • กลุ่มแม่บ้านบ้านใหม่ยอดคีรี: ปักผ้า และทอผ้าจากเส้นใยกัญชง 
  • กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกบ้านห้วยไผ่: ปลูกพริก 
  • กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านห้วยไผ่: ทอผ้า ปักผ้า  

ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม 

ชาวม้งมีวัฒนธรรมความเชื่อที่นำไปสู่การประกอบประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เนื่องจากชาวม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตอยู่อย่างสันโดษบนภูเขาสูง ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำการเกษตรจึงไม่มีกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นกิจกรรมส่วนรวมมากนักนอกจากประเพณีปีใหม่ม้ง ซึ่งเป็นประเพณีเดียวที่ทำให้ชาวม้งในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงได้มีโอกาสมาทำกิจกรรมพบปะสังสรรค์กัน  

ประเพณีปีใหม่ของชาวม้งจะจัดในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 3 ค่ำ เดือน 1 หรือเดือน 2 ตามปฏิทินทางจันทรคติ ทั้งนี้จะยึดเอาช่วงเวลาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นหลัก และขึ้นอยู่กับความพร้อมของคนในชุมชนด้วย ประเพณีปีใหม่ของชาวม้งจะมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยการฆ่าหมู และไก่ เป็นเครื่องเซ่นไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผีบรรพบบุรุษในครัวเรือน รวมถึงเป็นการขอบคุณฟ้าดินที่ได้ดลบันดาลผลผลิตทางการเกษตรในรอบปี ในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่เป็นช่วงว่างเว้นจากภาระงานทุกอย่าง ชาวม้งจะไม่ออกไปทำไร่ทำสวนเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมเฉลิมฉลองความสนุกสนานของการโยนช่วงเกี้ยวพาราสีกันของหนุ่มสาว มีการร้องเพลง เป่าแคน เล่นชนวัว โดยช่วงเวลาในการฉลองปีใหม่ม้งจะอยู่ระหว่าง 3-7 วัน  

ชาวม้งมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานความเชื่อที่ถือปฏิบัติกันภายในครัวเรือน หรือแซ่ตระกูล เช่น พิธีเรียกขวัญและตั้งชื่อเด็ก พิธีแต่งงาน การเปลี่ยนคำนำหน้านามของผู้ชายเมื่อมีครอบครัว ประเพณีกินข้าวใหม่ พิธีศพ เป็นต้น ชาวม้งให้การนับถือผีควบคู่ไปกับการบูชาบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อมโยงถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ จำแนกได้ 2 ประเภท ได้แก่ ความเชื่อเรื่องผี และความเชื่อเรื่องขวัญ  

1. ความเชื่อเรื่องผี ผีในวัฒนธรรมม้งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเรือน และผีป่า ผีบรรพบุรุษเป็นผีที่คอยติดตามคุ้มครองลูกหลานในครอบครัวที่ยังมีชีวิตให้ปราศจากภยันอันตรายไปทุกหนแห่ง ผีบ้านเป็นผีเป็นผีที่ช่วยคุ้มครองให้สมาชิกในครัวเรือนอยู่เย็นเป็นสุข แต่หากขาดการบูชาเซ่นไหว้ หรือกระทำการที่ถือเป็นการลบหลู่ต่อผีบ้านผีเรือน ผีบ้านผีเรือนอาจดลบันดาลให้สมาชิกในครัวเรือนเกิดอาการเจ็บป่วย ส่วนผีป่าตามความเชื่อชาวม้งถือเป็นผีร้าย เช่น ผีที่อยู่ตามป่าเขา แม่น้ำลำธาร และต้นไม้ใหญ่ มักบันดาลให้เกิดอาการเจ็บป่วยแก่ผู้คน และก่อภัยพิบัติให้เกิดแก่มนุษย์  

2. ความเชื่อเรื่องขวัญ ตามภาษาม้งเรียกว่า “ปลีฮ์” ชาวม้งเชื่อว่าขวัญคือสิ่งที่สถิตอยู่ในร่างกายมนุษย์ เมื่อมีเหตุการณ์ให้ตกใจกลัว ขวัญจะหนีออกจากร่างกาย เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยอย่างหาสาเหตุไม่ได้ จึงต้องมีการจัดพิธีเรียกขวัญเพื่อบำรุงรักษาขวัญเมื่อพบว่าขวัญได้ออกจากร่างไป การประกอบพิธีบางครั้งต้องใช้สัตว์เลี้ยง ได้แก่ ไก่ หมู แพะ เป็นเครื่องเซ่นไหว้ โดยมีหมอผีเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรม  

อย่างไรก็ตามแม่ว่าชาวม้งจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปรากฏความเชื่อเรื่องการนับผีและการบูชาบรรพบุรุษอย่างเข้มข้น ทว่าปัจจุบันเมื่อความเจริญและอิทธิผลของศาสนาต่าง ๆ เริ่มเดินทางเผยแผ่เข้ามาถึงพื้นที่ชุมชนชาวม้งตำบลคีรีราษฎร์ ชาวม้งจึงหันไปนับถือศาสนามากขึ้น ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งความเชื่อและการนับถือผี อันเป็นจารีตที่ชาวม้งปฏิบัติสืบต่อมาจากเหล่าบรรพชน  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญา  

โยนช่วง  

การโยนช่วง หรือประเพณีเกี้ยวสาว เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมากในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ของชาวม้ง เป็นการละเล่นของหนุ่มสาว และกลุ่มพ่อหม้ายแม่หม้าย โดยหนุ่มสาวจะโยนลูกช่วงเป็นคู่ ตามความสนใจของผู้เล่นว่าอยากโยนลูกช่วงคู่กับใคร ลูกช่วงมีลักษณะกลมเหมือนลูกบอล ทำจากเศษผ้า มีขนาดเล็กสามารถถือด้วยมือข้างเดียวได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหญิงสาวทุกคนที่จะต้องเตรียมมาเองเพื่อมอบให้กับชายหนุ่มที่ต้องการเล่นด้วย ซึ่งชายหนุ่มในหมู่บ้านจะยืนกันเป็นกลุ่มเพื่อรอให้หญิงสาวนำลูกช่วงที่เตรียมมามาขอให้เล่นด้วย การเล่นโยนช่วงจะมีลานสำหรับเล่นโดยเฉพาะ เรียกว่า ลานโยนลูกช่วง ซึ่งเป็นจุดที่มีความสำคัญมากที่สุดในงานฉลองปีใหม่ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะแบ่งฝั่งยืนแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่ง หันหน้าเข้าหากัน แล้วโยนลูกช่วงหากันไปมา ระหว่างนี้หนุ่มสาวสามารถสนทนากับคู่ที่โยนได้ ในอดีตชาวม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคร่งครัดในจารีตประเพณี การเกี้ยวพาราสีไม่นิยมทำในบ้านเพราะถือเป็นการผิดผี การเลือกคู่จึงจำเป็นต้องผ่านการละเล่น ทว่าสังคมชาวม้งปัจจุบันจารีตวัฒนธรรมดังกล่าวได้เจือจางไปมากแล้ว ทำให้ความสนใจในการเล่นลูกช่วงในลานซึ่งเคยเป็นช่วงเวลาการพบปะสานสัมพันธ์กันของหนุ่มสาวลดน้อยลง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการโยนลูกช่วงกลับเป็นกลุ่มพ่อหม้ายแม่หม้าย เนื่องจากเป็นโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะได้หาคู่รักเป็นครั้งที่สอง ถึงกระนั้นยังคงมีการแบ่งแยกส่วนชัดเจนระหว่างการโยนช่วงของหนุ่มสาวกับการโยนช่วงของพ่อม้ายแม่หม้าย อย่างไรก็ตาม แม้ความนิยมของการโยนช่วงจะเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือเสื่อมความนิยมไป ทว่าการที่วัฒนธรรมชาวม้งยังคงมีการละเล่นโยนช่วงก็ถือเป็นการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์สะท้อนภาพวิถีชีวิต จารีต ประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิมของชามม้งได้อย่างดี  

ภาษาพูด: ภาษาม้ง   

ภาษาเขียน: ชาวม้งไม่มีภาษาเขียน แต่มีการยืมอักษรโรมันมาใช้เทียบแทนการออกเสียง สำหรับอักษรที่ใช้ติดต่อสื่อสารนอกชุมชน และใช้ในเอกสารราชการจะใช้ภาษาไทย  


ปัจจุบันตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประสบกับปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าโดยประชาชนในพื้นที่เอง ป่าไม้ทั่วไปถูกถางทำลายเพื่อทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวไร่ มะเขือเทศ พริกแดง และกะหล่ำปลี อันมีสาเหตุมาจากพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร แม้ว่าตำบลคีรีราษฎร์จะมีแหล่งน้ำธรรมชาติหลายสาย ทว่าไม่มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชน ไม่มีระบบการกระจายแหล่งน้ำให้ไปยังแปลงเกษตรของเกษตรกรอย่างทั่วถึง จึงต้องอาศัยน้ำจากน้ำฝนที่ตกตามฤดูกาลซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ยังมีการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง วัชพืช และปุ๋ยเคมีเร่งระยะเวลาการเติบโตของพืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก ทำให้หน้าดินเสื่อมคุณภาพ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ทำให้ให้กระบวนการผลิตของเกษตรกรตำบลคีรีราษฎร์ต้องใช้ต้นทุนสูง ซึ่งผลตอบแทนที่ได้กลับมาไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่จ่ายไป ปัจจัยดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโนในระบบการเกษตรของเกษตรกรตำบลคีรีราษฎร์ เมื่อทรัพยากรไม่เพียงพอต่อความต้องการ เกษตรกรจึงต้องเพิ่มต้นทุนเพื่อเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชผลทางการเกษตร เมื่อใช้สารเคมีในปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน ทำให้หน้าดินเสื่อมคุณภาพ ผลผลิตทางการเกษตรก็ไม่งอกงามเท่าที่ควร ราคาตกต่ำ ในข้อนี้ถือเป็นผลกระทบระยะยาวอันเกิดจากการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ อีกทั้งยังมีหนี้สินที่มาจากพ่อค้าคนกลางที่ออกต้นทุนให้ก่อนแล้วเข้าแทรกแซงราคาผลผลิตของเกษตรกร เกษตรกรขาดอำนาจต่อรองในการขายผลผลิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของชาวม้งตำบลคีรีราษฎร์ในวงกว้าง  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จิราพร รอดคุ้ม ทรงวุฒิ เอกวุฒิวงศา และอุดมศักดิ์ สาริบุตร. (2559). การศึกษาเอกลักษณ์ชาวเขาเผ่าม้ง อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เพื่อการออกแบบเครื่องประดับ. วารสารวิชาการ ศิลปะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 7(1), 136-137. 

ธนวรรณ เวียงสีมา และจิรวัมน์ พิระสันต์. (2562). จุเป๊าะ: เล่นเพื่อรัก วัฒนธรรมการเลือกคู่. วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 12(1), 102-103. 

บุญทวงศ์ เจริญผลิตผล. (2544). การศึกษาการปรับตัวทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชาวม้งภายใต้โครงการพัฒนาของรัฐในพื้นที่อำเอภพบพระ จังหวัดตาก. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาชนบทศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล. 

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบดครงการหลวงพบพระ ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก. [ออนไลน์]. ได้จาก https://www.hrdi.or.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566].  

สิทธิเดช วงศ์ปรัชญา. (2550). ชนกลุ่มน้อยชาวไทยภูเขากับความมั่นคงของชาติ: กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ม้ง. ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 

องค์การบริหารส่วนตำบลคีรีราษฎร์. (ม.ป.ป.). แผนส่งเสริมการท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก. [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.khirirat.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566].