บ้านดอนรวบ ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไทดำจำลองนำเสนอเรื่องราวบรรพบุรุษ สภาพความเป็นอยู่ ลักษณะที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนพิธีกรรมและความเชื่อของชาวไทดำ
บริเวณชุมชนเป็นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง มีความอุดมสมบูรณ์ ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า “ดอนรวม” ต่อมาภายหลังเรียกเพี้ยนมาเป็น “ดอนรวบ”
บ้านดอนรวบ ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไทดำจำลองนำเสนอเรื่องราวบรรพบุรุษ สภาพความเป็นอยู่ ลักษณะที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนพิธีกรรมและความเชื่อของชาวไทดำ
บ้านดอนรวบ หมู่ที่ 8 ตำบลบางหมาก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ปัจจุบันปรากฏเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยทรงดำหรือไทดำ ที่อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรี เพื่อแสวงหาที่ทํากิน เนื่องจากการขยายตัวของประชากรเพิ่มขึ้น ทําให้ในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่เดิมไม่มีที่เพียงพอสําหรับการทํามาหากิน โดยชาวไทยทรงดํากลุ่มแรกเดินทางมาโดยทางเรือกลไฟ เป็นเรือขนส่งระหว่างจังหวัดที่อยู่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ได้มาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือปากน้ำ ชุมพร อําเภอเมือง จังหวัดชุมพร เดินทางต่อโดยการโดยสารเรือรับจ้างจากปากน้ำชุมพรมาที่หมู่บ้านบางผรา และแยกย้ายกันตั้งถิ่นฐานทํากินในบริเวณหมู่บ้านดอนรวบ บ้านคอเตี้ย ตำบลบางหมาก และบ้านบางหลง ตำบลท่ายาง
จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนบ้านดอนรวบได้เล่าว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า “ดอนรวม” ต่อมาภายหลังเรียกเพี้ยนมาเป็น “ดอนรวบ” โดยชาวบ้านกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งนี้คือชาวไทดำจากเพชรบุรี นำโดยนายเอก เสาวคนธ์ เพื่อมาซื้อควายไปไถนา เมื่อได้มาพบเห็นความอุดมสมบูรณ์ของบ้านดอนรวบ นายเอกจึงได้กลับไปชักชวนครอบครัวและบรรดาญาติพี่น้องให้ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้ ต่อมาก็มีชาวไทดํากลุ่มอื่นเดินทางมาสมทบและตั้งหลักแหล่งที่ทํากินเพิ่มขึ้น และได้มี การแบ่งแยกเรียกเป็นกลุ่มบ้านซึ่งมีหลายชื่อ เช่น บ้านกลางจวง บ้านแหลมญวน บ้านดอนเมา และบ้านดอนรวบ
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศบ้านดอนรวบส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชจำพวกมะพร้าว ปาล์ม กล้วย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน
พิพิธภัณฑ์ชุมชนไทดำ บ้านดอนรวบ
พิพิธภัณฑ์ชุมชนไทดำ ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดดอนรวบ อาคารพิพิธภัณฑ์จำลองมาจากบ้านของชาวไทดำ ภายในนำเสนอเรื่องราวของบรรพบุรุษของชาวไทดำ บ้านดอนรวบ ที่อพยพย้ายถิ่นมาจากกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ในช่วงสงคราม เมื่อเข้ามาในประเทศไทยก็พากันตั้งถิ่นฐานที่กรุงเทพฯ และที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี จนประชาชนที่อำเภอเขาย้อยหนาแน่น ขาดที่ดินในการทำนา ก็ได้ขยับขยายอพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดชุมพร ณ บ้านดอนรวบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456 พิพิธภัณฑ์นำเสนอเรื่องราวสภาพความเป็นอยู่ ลักษณะที่อยู่อาศัย เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องแต่งกาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนพิธีกรรมและความเชื่อของชาวไทดำ (ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, 2564: ออนไลน์)
ข้อมูลประชากรเทศบาลตำบลบางหมากเมื่อปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า หมู่ที่ 6 บ้านดอนรวบ ตำบลบางหมาก มีประชากรครัวเรือน 204 ครัวเรือน จำนวนประชากร 506 คน แยกเป็นประชากรชาย 232 คน และประชากรหญิง 274 คน ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านกว่าร้อยละ 90 มีเชื้อสายไทดำ
ไทดำ- ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านดอนรวบประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกพืช ได้แก่ การทํานา ปลูกปาล์ม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวไทดำบ้านดอนรวบมาตั้งแต่ยุคแรกก่อตั้งหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้านดอนรวบมีแหล่งรับ-ส่งปาล์มน้ำมันอยู่ในหมู่บ้าน จำนวน 1 แห่ง
- อาชีพเสริม ได้แก่ ค้าขาย ทำธุรกิจร้านอาหาร ร้านซ่อมรถและรับจ้าง โดยภายในหมู่บ้านมีร้านค้าขายของชําและร้านอาหารประมาณไม่ต่ำกว่า 10 ร้าน มีอู่ซ่อมรถยนต์ และอู่ซ่อมรถจักรยานยนต์อย่างละ 1 อู่
ลักษณะการสร้างบ้านเรือน
ลักษณะบ้านเรือนของชาวไทดำบ้านดอนรวบปัจจุบันนิยมสร้างบ้านแบบสมัยใหม่ คือ ก่ออิฐถือปูนหลังคามุงด้วยกระเบื้อง มีส่วนน้อยที่ยังคงรูปแบบเดิม ในแต่ละบ้านจะมีการกั้นห้องหรือมีมุมห้องเอาไว้สำหรับให้ผีบรรพบุรุษอยู่ การเลือกพื้นที่ในการสร้างบ้าน โดยปกติคนที่เป็นเครือญาติเดียวกันมักจะปลูกสร้างบ้านอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ กัน หรือในละแวกเดียวกันเป็นหย่อม ๆ ซึ่งจะตั้งบ้านไปตามแนวถนนสายหลักของหมู่บ้าน คือ ถนนสายบ้านหนองทองคํา–สี่แยกทุ่งคา
ศาสนา
ชาวบ้านดอนรวบส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาพร้อมกับการนับถือผีบรรพบุรุษควบคู่กันไปด้วย ซึ่งการนับถือศาสนาลักษณะนี้เป็นคติดั้งเดิมของชาวไทดำแทบทุกพื้นที่ จะเห็นได้จากการที่คนในหมู่บ้านได้ร่วมมือกันสร้างและทํานุบํารุงวัดดอนรวบ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวดอนรวบและหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีพระภิกษุสามเณรจําพรรษาอยู่จํานวน 25 รูป โดยมีพระครูอาทรประชารักษ์ ทุกวันสำคัญทางศาสนาชาวบ้านจะพร้อมกันไปทำบุญที่วัดเป็นจำนวนมาก
แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านดอนรวบก็ยังคงมีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์รูปเคารพต่าง ๆ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นผีที่ชาวไทดำให้ความเคารพอย่างมาก เห็นได้จากการที่ชาวไทดำจะแบ่งพื้นที่บ้านส่วนหนึ่งสำหรับให้ผีบรรพชนสิงสถิตโดยเฉพาะ อีกทั้งยังมีการทำพิธีเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี จึงอาจกล่าวได้ว่า ในการนับถือศาสนาของชาวไทดำบ้านดอนรวบนั้น หาได้มีลักษณะเป็นพุทธแท้ เนื่องจากชาวบ้านยังคงมีความเชื่อในเรื่องศาสนาผี ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวไทดำตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนาในสังคมชาวไทดำ และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะหันมานับถือพระพุทธศาสนา ชาวไทดำก็หาละทิ้งคติความเชื่อดั้งเดิมเหล่านั้น ยังคงปรากฏกลิ่นอายของศาสนาเก่าแก่อย่างเข้มข้น เพียงแต่ถูกจำกัดขอบเขตภายใต้หลักพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า “เชื่อแบบผี แต่ทำแบบพุทธ”
เสนเรือน
เสนเรือน คือ พีไหว้ผีเรือนของชาวไทดำ ผีเรือนคือผีบรรพบุรุษ ที่ชาวไทดำได้เชิญมาไว้บนเรือนที่ได้จัดพื้นที่ไว้ให้โดยเฉพาะ เรียกว่า “กะล่อหอง” พิธีเสนเรือนจึงเป็นประเพณีเชิญผีเรือนให้ออกมารับเครื่องเซ่นไหว้ โดยพิธีเสนเรือนของชาวไทดำนั้นจะจัดขึ้นในหลายวาระโอกาส และในแต่ละวาระก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน ดังนี้
- เสนเรียกขวัญหรือเสนโต (เสนตัว) คือ การเสนเรียกขวัญเพื่อเสริมสิริมงคล เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เสนผีขึ้นเสื้อ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวไทดำจะมีความเชื่อว่าขวัญของคนป่วยจะหลงอยู่ในที่ต่าง ๆ ต้องทําพิธีเสนเพื่อเรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับตัว การเสนต้องมีพ่อมด หรือแม่มดหมอมนต์ หมอบ้านหมอ เมือง เป็นผู้ประกอบพิธี ในการเสนต้องมีการเป่าปี่ด้วย บางครั้งเรียกว่า เสนเป่าปี่ ในอดีตชาวบ้านดอนรวบเคยประกอบพิธีนี้ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว
- เสนรับมด หรือเสนฮับมด เป็นพิธีที่กระทําเพื่อประกาศให้ทราบว่า ตนเองจะรับมดมาเพื่อบูชา และจะดําเนินชีวิตในฐานะที่เป็นทายาทของมด ซึ่งอาจจะเป็นแม่มด พ่อมด ต่อไปก็ได้ เป็นการประกาศให้ทราบถึงความที่ตนเองมีเชื้อสายของมดปกป้องอยู่ มดเป็นผี เรือนที่มีวิญญาณวิเศษกว่าผีเรือนทั้งหลาย สืบเชื้อสายมาโดยสายเลือด บางคนมักเจ็บไข้ได้ป่วย และชาวไทยโซ่งก็มีความเชื่อว่าวิญญาณของผู้ที่เคยเป็นมดนั้น จะมาอยู่ด้วย และจะต้องเสนรับมด คือจะต้องเชิญมาขึ้นหิ้ง
- เสนตังบั่งหน่อ หรือเสนกินปาง เป็นพิธีกรรมที่กระทําเพื่อเซ่นไหว้ผีเรือนที่เป็นผีพ่อ ปู่ ตา หรือบรรพบุรุษที่มีวิชาอาคม เวทย์มนต์คาถา ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ลูกหลานต้องอัญเชิญให้อยู่บนหิ้งต่างหากอีก 1 ทิ้งในกะล้อห่อง การเสนตังบั่งหนอ เป็นพิธีที่มีการเป่าปี่ ร่ายรํา กระแทกกระบอกไม้ไผ่ มีร่มขาวร่ม แดง มีพวงมาลัยคล้องคอ เป็นการเชิญชวนผู้มาร่วมพิธีเข้าไปร่ายรํา ซึ่งมีข้อคิดว่า การร่ายรําจะทําจะสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติ
- เสนฆ่าเกือด เป็นพิธีกรรมที่กระทําขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้แม่เดิมของเด็กมาเอาชีวิตเด็กแรกเกิดไป ชาวไทดำเชื่อว่า เด็กที่เกิดมาจะมีแม่เดิมเป็นผีคอยติดตามมาด้วย และคอยมาเอาชีวิตเด็กกลับคืนไป จึงทําให้เด็กมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เป็นประจํา ต้องไปทําพิธีเยื้องถามหาอาการและทําการบนบานบอกกล่าวว่า ถ้าหายก็จะทําพิธีเสนฆ่าเลือด ซึ่งปัจจุบันบ้านดอนรวบไม่มีพิธีนี้แล้ว
- เสนเต็งหรือเสนน่อยจ่อย เป็นการเสนเรือนเพื่อถ่ายโทษความผิดกระทําผิดต่อผีแถนหรือผีฟ้า บางคนก็เรียกว่า เสนผีฟ้า จนเป็นเหตุให้ผีเรือนมาทําร้ายลูกหลานให้เจ็บป่วย ต้องไปหาหมอเยื้องเพื่อให้หมอเยื้องประกอบพิธีสื่อสารเจรจากับผี เพื่อหาวิธีการไถ่โทษ
- เสนสะเดาะเคราะห์ คือ การเสนแก้เคราะห์ให้กับบุคคลที่หายจากเจ็บป่วย เกิดจากความเชื่อที่ว่า อาการเจ็บป่วยนั้นเกิดขึ้นจากการที่ตนเองบกพร่องต่อการเซ่นไหว้ และรอดมาได้เพราะผีเรือนคุ้มครอง เมื่อหายแล้วก็เป็นการเซ่นไหว้เพื่อทําการขอบคุณต่อผีเรือน พิธีกรรมนี้จะจัดทําสําหรับผู้ที่สูงอายุ
- เสนแผ่วเฮือน หรือภาษาไทยแปลว่า เสนกวาดบ้าน หมายถึงกวาดสิ่งที่เลวร้ายให้หมดสิ้นไปจากบ้านหลังนั้น จะเสนกรณีที่บ้านหลังนั้นมีผู้อาศัยอยู่เสียชีวิต และจะถือว่าบ้านนั้นเป็นบ้านไม่ดี เรียกว่า “เฮือนฮ้าย”
- เสนกวัดกว้าย พิธีกรรมนี้จะต่อเนื่องจากพิธีเสนแผ่วเฮือน คือขับไล่สิ่งไม่ดีให้ห่างตัว
- เสนแก้เคราะห์เรือน เป็นการเสนที่ชาวไทดำทุกครอบครัวต้องทำ เนื่องจากในการส้รางบ้าน ก่อนจะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ จะต้องเสนแก้เคราะห์เรือนก่อน เป็นการบูชาตะปู หรือเชือกที่รัดรึงให้บ้านตั้งอยู่ได้
- เสนเอาผีขึ้นเรือน คือการเซ่นเพื่อเชิญผีขึ้นเรือน
- นายจำรูญ เทวบิล: หมอเสนเรือนบ้านดอนรวบ
- นายอำนาจ แสงทอง: หมอเสนเรือนบ้านดอนรวบ
- พระครูอาทรประชารักษ์: เจ้าอาวาสวัดบ้านดอนรวบ
- นายวรรลพ เทวบิน: ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านดอนรวบ
- ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาไทยกลาง และภาษาไทดำ (ลาวโซ่ง)
- ภาษาเขียน: ชาวไทดำมีภาษาเขียนเป็นของตนเอง แต่ปัจจุบันไม่มีปรากฏใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะพบได้เฉพาะในตำราบทสวดหรือพิธีกรรมโบราณต่าง ๆ ซึ่งก็มีผู้อ่านออกหรือเขียนได้น้อยมาก เนื่องจากปัจจุบันชาวไทดำที่เข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทย มักจะใช้ภาษาไทยท้องถิ่นนั้น ๆ ในการสื่อสาร การเขียนก็เช่นเดียวกัน
ในหมู่บ้านดอนรวบมีโรงเรียน 1 แห่ง เปิดทําการสอนตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2480 เดิมชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลตําบลบางหมาก 2 ตั้งอยู่บนเนื้อที่ของวัดดอนรวบ มีนายเสงี่ยม ศิริ สังกาศ เป็นครูใหญ่ ปี พ.ศ. 2534 เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นโครงการขยายโอกาสทาง การศึกษา โดยเปิดทําการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้มีการสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับทางหมู่บ้าน เช่น การเข้าร่วมในงานประเพณีไทดํา โดยมีการสอนให้เด็กหัดรําในท่าต่าง ๆ ในช่วงเปิดงาน ให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น ฝึกเป่าแคน
พ.ศ. 2527 มีการก่อตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของหมู่บ้าน ปัจจุบันอยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนตําบลบางหมากซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนวัดดอนรวบจํานวน 1 นอกจากนี้ยังมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอีก 1 แห่ง รวมถึงสถานที่อ่านหนังสือประจําหมู่บ้าน 1 แห่ง
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ. (2564). พิพิธภัณฑ์ชุมชนไทดำบ้านดอนรวบ. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://db.sac.or.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566].
พระมหาประจักษ์ พลานัย. (2551). การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรมของ “หมอเสนเรือน” ในชุมชนชาวไทยทรงดำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา ภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร.