บ้านคอเตี้ย ชุมชนที่ยังคงปรากฏกลิ่นอายทางวัฒนธรรม คติ ความเชื่อดั้งเดิมของชาวผไทดำ ซึ่งสะท้อนผ่านประเพณีชุมชน ที่เรียกว่า “เสนเรือน”
ความเป็นมาของบ้านคอเตี้ยนั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีต้นค้อขึ้นอยู่จำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นเตี้ย ชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณนี้จึงเรียกกันว่า “ค้อเตี้ย” ต่อมาเรียกเพี้ยนกันเป็น “คอเตี้ย” มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านคอเตี้ย ชุมชนที่ยังคงปรากฏกลิ่นอายทางวัฒนธรรม คติ ความเชื่อดั้งเดิมของชาวผไทดำ ซึ่งสะท้อนผ่านประเพณีชุมชน ที่เรียกว่า “เสนเรือน”
บ้านคอเตี้ย เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลบางหมากที่มีชาวไทดำ (ไทยทรงดำ, ลาวโซ่ง) ที่อพยพย้ายถิ่นมาจากกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เนื่องจากเหตุการณ์สงคราม ชาวไทดำจึงได้หนีภัยสงครามเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยแรกเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่กรุงเทพฯ และที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี จนอำเภอเขาย้อยมีประชากรหนาแน่นเกินกว่าที่พื้นที่จะรับไหว เกิดการแย่งชิงพื้นที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย ชาวไทยดำจากอำเภอเขาย้อยเพชรบุรีบางส่วนจึงได้ขยับขยายอพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดชุมพร โดยสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านบางหลง ตำบลท่ายาง บ้านดอนรวบ และบ้านคอเตี้ย ตำบลบางหมาก
ลักษณะพื้นที่ตั้ง
พื้นที่ตั้งบ้านคอเตี้ยมีลักษณะเป็นที่ราบ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกปาล์มน้ำมัน
การคมนาคม
เส้นทางการคมนาคมของหมู่บ้านคอเตี้ย ได้อาศัยเส้นทางการคมนาคมทางบก คือ ถนนสายดอนใหญ่-บางเจริญ เป็นสายหลัก ซึ่งมีระยะทางห่างจากตัวเมืองถึงหมู่บ้านเป็นระยะทาง 9 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองชุมพรเข้ามายังหมู่บ้านอาศัยการเดินทางโดยรถมอเตอร์ไซค์เป็นส่วนใหญ่ แทบทุกหลังคาเรือนจะมีรถมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะในการเดินทาง
ปัจจุบันบ้านคอเตี้ยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 633 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 227 คน และประชากรหญิง 314 คน มีจำนวนครัวเรือน 227 ครัวเรือน โดยประชากรเกือบทั้งหมู่บ้านเป็นชาวไทดำจากจังหวัดเพชรบุรี ที่อพยพหนีความแออัดจากชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานเดิม คือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
ไทดำสภาพเศรษฐกิจของชุมชนส่วนใหญ่มีการส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมัน มีการเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 50 ครัวเรือน ทํานาอยู่บ้างเล็กน้อยไม่กี่ครัวเรือน มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านทําข้าวซ้อมมือ และทําเครื่องแกงโดยกลุ่มแม่บ้าน ผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปของชุมชน บางส่วนจะวางจำหน่ายในร้านค้าภายในชุมชน และบางส่วนนำออกไปจำหน่ายในตลาดประจำอำเภอ นอกจากนี้ทางหมู่บ้านได้จัดตั้งกลุ่มเพาะเห็ดฟาง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของหมู่บ้านในชุมชนที่มีอาชีพเพาะเห็ดฟางขาย และกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เพื่อปล่อยกู้และรับออมเงินจากชาวบ้าน โดยมีอัตราดอกเบี้ยเท่ากับธนาคาร
ชาวไทดำบ้านคอเตี้ยมีความเชื่อดั้งเดิมคือ การนับถือผีบรรพบุรุษ และผีที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนศาสนาประจํากลุ่มชนของตน โดยมีความยึดถือว่าสิ่งเหล่านี้มีอํานาจศักดิ์สิทธิ์แอบแฝง สามารถให้คุณและโทษได้ การดําเนินชีวิต การประพฤติ ปฏิบัติจึงเป็นไปภายใต้อํานาจของสิ่งที่ตนเองมีความ เชื่อถืออย่างแน่นแฟ้น การเซ่นสรวงและสังเวยเทพยดาฟ้าดินเพื่อความสวัสดิภาพของตนเองและครอบครัวปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ หลายชั่วอายุคน
ชาวไทดำเป็นกลุ่มคนที่มีคติความเชื่อเกี่ยวกับผีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ผีบรรพบุรุษหรือผีบ้านผีเรือน ชาวไทดําเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ถึงแก่กรรมไป จะมาปกป้องคุ้มครองรักษาลูกหลานให้มีความสุขได้ กระดูกพ่อแม่จะถือว่าเป็นเครื่องรางของขลัง ก่อนออกจากบ้านจะต้องบอกกล่าวให้คุ้มครองให้ปลอดภัย โดยชาวไทดำจะมีการเชิญดวงวิญญาณผีบรรพบุรุษให้เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน บนแท่นบูชาที่ได้จัดไว้มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน เรียกว่า “กะล้อหอง” ซึ่งแปลว่ามุมห้อง หากผู้ใดมานอนค้างที่บ้านชาวไทดํา จะต้องบอกกล่าวผีเรือนก่อนเพื่อจะไม่ถูกทําร้ายหรือรบกวน เมื่อมีการเลี้ยงเหล้าแขก ต้องนําเหล้าไปให้ผีเรือนก่อนแล้วค่อยนํามาให้แขกดื่ม คนที่ไม่ได้เป็นผีเดียวกันจะเข้ากะล้อหองไม่ได้เพราะเป็นการผิดผี แต่ในปัจจุบันได้มีการลดหย่อนความเชื่อถือนี้ คือหากเจ้าของบ้านอนุญาตก็สามารถเข้าได้ ครอบครัวใดเป็นชนชั้นผู้ท้าวก็จะจัดเป็นห้องเล็ก ๆ อยู่ทางด้านข้างของตัวบ้านหรือระเบียงบ้าน เรียกห้องนี้ว่า “กว้านผีเรียน” บ้านใดที่ไม่มีกว้าน จะทําพิธีเสนเต็งไม่ได้ ครัวไทดําจะมีสมุดที่จดรายชื่อบรรพบุรุษในผีเรียนเดียวกันเรียกว่า “ปั๊บผีเรือน” สมัยก่อนทําด้วยใบลานและเขียนเป็นภาษาไทดำ ในปัจจุบันจะเขียนในสมุดธรรมดาเป็นภาษาไทย ใช้ในพิธีเสนเรือนเพื่อเชิญผีบรรพบุรุษมากินเครื่องเซ่น
พิธีเสนเรือน หรือเสนเรียน คือพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษที่ได้อัญเชิญเข้ามาอยู่ในบ้าน โดยประมาณ 2-3 ปี จะทำพิธีเสนเรือนครั้งหนึ่ง สามารถกำหนดช่วงเวลาได้ตามสะดวก ยกเว้นแต่เดือนเก้าและเดือนสิบจะห้ามไม่ให้ประกอบพิธีเสนเรือน เพราะเชื่อว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ผีเรือนกลับไปเฝ้าผีแถน (เจ้าของผีที่อยู่บนฟ้า บางครั้งเรียก ผีฟ้า)
การเสนเรือนจะเริ่มพิธีจากหมอผีเฮือนประมาณ 9.00 น. ถึงประมาณ 13.00 น. คนทั่วไปนิยมไปร่วมพิธีในตอนเช้ารับประทานอาหารเสร็จก็กลับ โดยนําเหล้าขาวไปช่วยเจ้าภาพคนละขวด (ก่อนหน้านั้นนิยมใช้ข้าวสาร) เจ้าภาพก็จะให้ข้าวต้มห่อใส่กะเหล็บกลับคืนมา คนที่ผีเรือนเดียวกันต้องอยู่จนพิธีหลาแลงกลางเฮือน คือเลี้ยงอาหารกลางวัน เสร็จแล้วจึงจะดื่มเหล้าฟายเฮือน คือดื่มเหล้าเพื่อความเจริญรุ่งเรือง แต่การดื่มเหล้าต้องก้มหน้าดื่ม เมื่อดื่มเหล้าแล้วเสร็จ และอวยพรซึ่งกันและกันแล้วจึงจะเป็นการเสร็จสิ้นพิธีกรรมเสนเรือน
1. นายกลอง แป้งอ่อน หมอเสนเรือนบ้านคอเตี้ย
2. นายเลิศ โตวังจร หมอเสนเรือนบ้านคอเตี้ย
3. นายข่าย แม่นศร หมอเสนเรือนบ้านคอเตี้ย
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาไทยกลาง และภาษาโซ่ง (ไทดำ)
ภาษาเขียน : ชาวไทดำมีภาษาเขียนเป็นของตนเอง แต่ไม่ปรากฏใช้ในชีวิตประจำวัน ในการเขียนเอกสาร หรือเขียนสิ่งอื่นใดจะใช้อักษรภาษาไทย
หมู่บ้านคอเตี้ยมีน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน โดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตําบลบางหมาก และอีกส่วนหนึ่งเป็นระบบประปาหมู่บ้าน นอกจากระบบน้ำประปาแล้วชาวบ้านได้จัดสร้างถังเก็บน้ำขนาดใหญ่เพือ่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลน
ในหมู่บ้านคอเตี้ยมีโรงเรียนที่เปิดทําการสอนในระดับประถมศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–6 จํานวน 1 แห่ง มีจํานวนนักเรียน 118 คน จํานวนครู 7 คน โรงเรียนได้มีการสนับสนุนให้นักเรียนใส่เสื้อผ้าประจำชนเผ่าของชาวไททรงดำมาเรียนทุกวันศุกร์ และทุกเช้าจะให้เด็กนักเรียนนำคําในภาษาไทดํามาพูดคนละ 1 คํา เพื่อเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจในภูมิปัญญาที่ตนมีอยู่ เพื่อให้ได้รู้จักและพัฒนาความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมี ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งรับเด็กก่อนเกณฑ์ 1 แห่ง ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบ้านคอเตี้ย (สมชัย หมุนสนิท, 2550 อ้างถึงใน พระมหาประจักษ์ พลานัย, 2551: 89)
พระมหาประจักษ์ พลานัย. (2551). การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรมของ “หมอเสนเรือน” ในชุมชนชาวไทยทรงดำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา ภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
Kevin Gammon. (2565). (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/maps/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566].
บ้านคอเตี้ย ชุมพร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/maps/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566].