Advance search

ริมคลองลำกอไผ่

ชุมชนที่มี "วัดทิพพาวาส" เป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับคนในชุมชน ทั้งเป็นวัดที่เก่าแก่มีอายุกว่าร้อยปี และมีอุโบสถที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง

หมู่ที่ 7 ถนนฉลองกรุง
ลำปลาทิว
ลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร
ชุติมา คล้อยสุวรรณ์
13 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
15 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
วัดทิพพาวาส
ริมคลองลำกอไผ่

ตั้งตามชื่อ "วัดทิพพาวาส" โดยเป็นชื่อเดิมของชื่อวัดทิพพาวาสที่ปรากฎตามเอกสารของราชการและที่ประชาชนนิยมเรียกกันว่า "วัดธิปปะสะ, วัดทิพพาวาส, วัดทุ่งแสนแสบลำบึงใหญ่, วัดลำก่อไผ่ และวัดต้นไทร"


ชุมชนที่มี "วัดทิพพาวาส" เป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญสำหรับคนในชุมชน ทั้งเป็นวัดที่เก่าแก่มีอายุกว่าร้อยปี และมีอุโบสถที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง

หมู่ที่ 7 ถนนฉลองกรุง
ลำปลาทิว
ลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร
10520
13.7798
100.8018
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนทิพพาวาส ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2300 ชาวมอญกลุ่มหนึ่งได้ชักชวนพากันมาจากแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลา 126 ปีแล้ว ที่ชาวมอญมาตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนแห่งนี้ ผู้นำในการย้ายถิ่นฐาน คือ สมิงภักดีณรงค์ (ต๊ะ) ใช้วิธีการเดินทางโดยทางเรือ ทั้งหมด 3 ครอบครัว โดยแยกย้ายกระจายกันตั้งหลักแแหล่ง ได้แก่ (1) ตั้งบ้านเรือนอยู่ต้นคลอง (2) ตั้งกลางคลอง และ (3) ตั้งปลายคลอง ในอดีตทั้งสองฝั่งคลองนี้ ไม่มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้น มีเพียงไม้ไผ่ขึ้นอยู่เพียงกอเดียวที่ยืนต้นตระหง่าน ด้วยเหตุนี้ลำคลองนี้จึงได้ชื่อว่า "ลำก่อไผ่" โดยแรกเริ่มของการมาอยู่อาศัยของชาวมอญ มีการหักร้างถางพง เพราะสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นป่าละเมาะ ต่อมาจึงทำนาปลูกข้าว ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หลังจากนั้นมีประชากรมาจากพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามาตั้งรกราก และยึดอาชีพทำนามากขึ้น 

เมื่อคราวถึงงานประเพณี การทำบุญ คนในชุมชนต้องไปทำที่วัดใกล้เคียง ซึ่งห่างไปประมาณ 3 กิโลเมตร การเดินทางค่อนข้างลำบากทำให้ภายหลังเกิดการร่วมมือร่วมใจกันสร้างวัดทิพพาวาสขึ้นมา ครั้นได้จัดสร้างวัดขึ้นแล้วจึงได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2432 กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไปคนในชุมชนเริ่มออกเรือนไปอยู่ต่างถิ่นทำให้คนมอญดั้งเดิมค่อย ๆ หายไปเหลือเพียงผู้สูงอายุ

ในอดีตใช้เรือในการเดินทางส่วนใหญ่ เมื่อถึงหน้าแล้งจะไม่สามารถพายเรือได้ต้องลัดทุ่งนาไป หากต้องการไปวัดจะต้องพายเรือเส้นทางคดเคี้ยวไปประมาณ 4 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางไปวัดจึงมีความยากลำบาก เพื่อความสะดวกและประหยัดเวลา ชุมชนจึงได้คิดสร้างวัดขึ้น การจัดสร้างเป็นวัดขึ้นครั้งแรกนั้นเป็นกลุ่มเชื้อสายรามัญที่ย้ายถิ่นฐานกันมาตั้งแต่แรก ซึ่งมีท่านสมิงภักดีณรงค์ (ต๊ะ สมใจ) ผู้เป็นหัวหน้า ได้เรียกประชุมกลุ่มชุมชนทั้งหมด มาร่วมปรึกษาหารือกัน เป็นผลให้มีการร่วมกันบริจาคและสร้างวัดเป็นวัดทิพพาวาสขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยว และเป็นหลักในการประกอบการกุศลของชาวชุมชุนต่อไป

อาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ที่ธรณีสงฆ์ 
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ลำรางข้างวัดทิพพาวาส 
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ซอยฉลองกรุง 53 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองลำกอไผ่

ในอดีตประชาชนวัดทิพพาวาสในสมัยก่อนเป็นคนมอญดั้งเดิม การย้ายถิ่นฐานทางเรือแต่แรกนั้นมาด้วยกัน 3 ครอบครัว คือ (1) ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลำคลอง ได้แก่ บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ต้นคลอง คือตระกูลสมใจ เป็นตระกูลของสมิงภักดีณรงค์ (ต๊ะ สมใจ) (2) ตั้งอยู่กลางคลอง ได้แก่ ตระกูลอมรปาน เป็นตระกูลของนายเทียน อมรปาน และ (3) ครอบครัวที่ตั้งอยู่ปลายคลอง ได้แก่ ตระกูลอู่อ้น เป็นตระกูลของนายริด อู่อ้น โดยข้อมูลประชากรภายในชุมชนไม่ปรากฎแน่ชัด ทว่ามีข้อมูลกล่าวว่าภายในชุมชนวัดทิพพาวาส มีทั้งชาวไทยเชื้อสายมอญและชาติพันธุ์อื่นอาศัยอยู่ร่วมกัน

มอญ

ชุมชนวัดทิพพาวาสมีการรวมกลุ่ม และแบ่งออกได้เป็นกลุ่มทางการและไม่ทางการ ดังนี้

กลุ่มเป็นทางการ

  • ศูนย์อาหาร เป็นพื้นที่ที่สร้างโดยบริษัท Honda เพื่อให้คนในชุมชนมาค้าขาย เป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน
  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนทิพพาวาส เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็ก ๆ ในชุมชน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ และเสริมพัฒนาการ จนสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต

กลุ่มไม่เป็นทางการ

  • ศูนย์ด้านศาสนา ชุมชนทิพพาวาสมีการตั้งกลุ่มแฟนเพจเฟสบุ๊ค (Facebook) เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ เนื้อหาเน้นไปทางด้านศาสนา และข่าวสารชุมชนทั่วไป

วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ

ด้านการประกอบอาชีพมีการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และใช้พื้นที่เลียบคลองเป็นที่หาปลาไว้ขาย เนื่องจากในสมัยก่อนคลองน้ำแห่งนี้เป็นที่ชุกชุมของปลา แต่ในปัจจุบันชาวชุมชนวัดทิพพาวาสได้เปลี่ยนจากการทำอาชีพทำนา มาเป็นการปลูกพืชหมุนเวียน ทำสวน และอาชีพค้าขาย แต่ยังคงเหลือบางครัวเรือนที่ยังคงประกอบอาชีพทำนาไว้เป็นรายได้ให้กับครอบครัว  

วิถีชีวิตด้านวัฒนธรรม

ประเพณีสงกรานต์ วันที่ 11 และ 12 เมษายนของทุกปี ชาวมอญลาดกระบังจะมีการร่วมกันทำขนม นั่นก็คือกาละแมรามัญ ตามคำกล่าวที่ว่า “ทุกปีในวันสงกราต์จะมีการส่งขนมแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เป็นประเพณีของมอญลาดกระบังที่ปฏิบัติกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเป็นการเน้นย้ำความรักความสามัคคี และเป็นการเชื่อมสัมพันธ์อันดีของมอญลาดกระบัง เมื่อถึงวันที่ 13 14 และ 15 เมษายน จะมีการทำบุญตักบาตรทั้ง 3 วันหลังจากทำบุญเสร็จ ลูกหลานมอญลาดกระบังพากันไปรดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ และรดน้ำบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยนำดอกไม้ ธูป เทียน น้ำอบ และธงตะขาบ ไปไหว้ที่บรรจุโกศบรรพบุรุษ หรือไม่นำโกศบรรจุกระดูกมาพรมน้ำอบ ถือเป็นการแสดงเมตตาจิต และต้องปฏิบัติในทุก ๆ ปี”

1. สมิงภักดีณรงค์ (ต๊ะ)  เป็นหัวหน้าและได้เป็นผู้นำในการจัดสร้างวัดเป็นครั้งแรก โดยปรากฏหลักฐานในเอกสารสิทธิ์ คือโฉนดที่ดินของวัด เมื่อ ร.ศ. 122 ตรงกับ พ.ศ. 2446 

มอญลาดกระบัง มีความเชื่อและวิถีชีวิตที่คล้าย ๆ กับชาวมอญในพื้นที่อื่น ๆ ของไทย มีความศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่สะท้อนผ่านประเพณีในรอบปีโดยมีพิธีกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและมีความใกล้ชิดพระพุทธศาสนา

  • การละเล่นผีอีจู้ ผีอีจู้จากความเชื่อของชาวมอญด้านไสยศสาตร์เป็นการอันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือภูตผีปีศาจมาเพื่อทำการซักถามถึงสิ่งที่ต้องการอยากทราบ ชาวมอญมีความเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อันเชิญมานั้นจะมาตอบข้อซักถามของชาวมอญผ่านอุปกรณ์ที่จัดเตรียมไว้ โดยนิยมเล่นกันก่อนถึงวันสงกรานต์ 15 วัน และเล่นในเวลากลางคืนตั้งแต่หัวค่ำไปจนถึงเที่ยงคืน ผู้เล่นต้องไม่มีเครื่องรางของขลัง ซึ่งประเพณีการเล่นชนิดนี้จะเล่นมาจนถึงวันสงกรานต์เมื่อหมดสงกรานต์แล้วจะทำการหยุดเล่น
  • การแห่หงส์ - ธงตะขาบ เป็นประเพณีแห่งหงส์ - ธงตะขาบ ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นการแสดงเอกลักษณ์ของชาวมอญอย่างเด่นชัดที่ปฏิบัติกันมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ “หงส์” เป็นสัญลักษณ์ของรามัญประเทศ “ตะขาบ” เป็นสัตว์ที่มีลําดับยาว มีเท้ามาก มีเขี้ยวเล็บที่มีพิษ สามารถต่อสู้กับศัตรู และรักษาตัวเองได้ เปรียบเสมือนคนมอญที่มิเคยหวาดหวั่นต่อข้าศึกศัตรู สามารถปกป้องคุ้มครองประเทศของตนเองได้ ซึ่งชาวมอญจะจัดพิธีแห่หงส์ธงตะขาบ เพื่อเฉลิมฉลอง เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะช่วยกันประดิษฐ์ธงตะขาบซึ่งประดิษฐ์ด้วยผ้าและมาตัดเย็บเป็นรูปธงยาวผูกปลายไม้ แห่ไปตามหมู่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคลความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านและถวายเป็นพุทธบูชา สุดท้ายเมื่อถึงวัดชาวมอญจะทำการสักการะพระเจดีย์ที่สำคัญของวัด และเชิญธงตะขาบสู่ยอดเสาหงส์ของวัด ตามด้วยพระสงฆ์สวดชยันโตเพื่อเป็นสิริมงคล จึงนิยมสร้างเสาหงส์ไว้ตามวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา จึงมีการเรียกรวมกันว่า เสาหงส์ธงตะขาบ
  • วัดทิพพาวาส วัดเก่าแก่ที่มีอายุกว่าร้อยปี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 ประชาชนนิยมเรียกชื่อตามภูมิประเทศที่ตั้งวัดว่า วัดลำกอไผ่ บางคนเรียกอีกชื่อว่า วัดต้นไทร เนื่องจากมีต้นไทรใหญ่อยู่ในบริเวณวัด วัดทิพพาวาสสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เป็นเรือนทรงไทยยกพื้นสูง หลังคาโบสถ์ทำจากกระเบื้องดินเผาสีอิฐ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการบูรณะครั้งใหม่ เนื่องจากมีบางเสาชำรุด จึงได้มีการลาดพื้นลานโบสถ์ใหม่ พร้อมทั้งยกพื้นให้สูงขึ้นอีก อีกทั้งยังมีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์เพิ่มเติม แล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2546 ในปัจจุบันโบสถ์สักทองหลังนี้เป็นที่ภาคภูมิใจและควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างมาก
  • การเล่นสะบ้า จัดขึ้นที่วัดทิพพาวาสในช่วงสงกรานต์ของทุกปี มีทั้งสะบ้าหนุ่ม - สาว, สะบ้าหัวช้าง และสะบ้ารำ เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์และเพื่อความสนุกสนานของคนในชุมชน
  • กาละแมรามัญ ขนมที่สื่อถึงวัฒนธรรมของชาวมอญได้อย่างดี คือ กาละแมรามัญ ซึ่งเป็นขนมหวานชนิดหนึ่งของชาวมอญ เหตุที่ชื่อว่ากาละแมรามัญเพราะรามัญ แปลว่า มอญ ซึ่งกาละแมรามัญไม่พบปีช่วงเวลาที่ทำขึ้นแน่ชัด เพราะเป็นขนมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งแต่เดิมนั้นกาละแมรามัญจะกวนขึ้นในงานแต่งของคู่บ่าวสาวชาวมอญเสมือนสินสอด ปัจจุบันชาวมอญจะกวนกาละแมรามัญเพื่อไปวัดทำบุญให้บรรพบุรุษ และแจกญาติพี่น้องในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ประชาชนส่วนใหญ่สื่อสารด้วยภาษามอญ


เมื่อปี พ.ศ. 2559 บริษัท Honda ได้เข้ามาสร้างศูนย์อาหารให้กับคนในชุมชนได้ทำการค้าขาย เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนและครัวเรือนต่าง ๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 คนในชุมชนได้ร่วมมือกันเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบวัดทิพพาวาส เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลใน ร.9 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากมาย เศรษฐกิจในชุมชนเกิดการหมุนเวียนที่ดีขึ้น


ชุมชนทิพพาวาสต้องเผชิญกับปัญหาสังคมสูงวัย เพราะคนในชุมชนออกเรือนไปอยู่ต่างถิ่น คนมอญดั้งเดิมจึงทยอยหายไปเหลือเพียงผู้สูงอายุ วัฒนธรรมดั้งเดิมจึงค่อย ๆ หายไปไม่มีผู้สืบทอด



ความเจริญที่เข้ามาในพื้นที่ เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2558 มีการขุดลอกคลองและซ่อมแซมถนนที่เสียหาย จึงส่งผลให้การเดินทางสัญจรภายในชุมชนมีความสะดวกมากขึ้น


การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวสู่ความทันสมัย ในปี พ.ศ. 2539 มีการสร้างศูนย์เด็กเล็ก (เตรียมอนุบาล) เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กในชุมชน เพื่อให้ได้เรียนรู้และเสริมพัฒนาการ จนสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต


การเปลี่ยนแปลงที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งชุมชนทิพพาวาสได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย เศรษฐกิจภายในชุมชนตกต่ำ ไม่สามารถประกอบอาชีพดังเดิมได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ พระประแดง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก https://calendar.m-culture.go.th/

ฐานความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนหลากวัฒนธรรม. (2561). ชุมชนวัดทิพพาวาส. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2566, จาก https://www.thailocalwisdom.com/

อารีวรรณ นาคดำ. (2564). การจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบโครงงานเรื่องศิลปวัฒนธรรมมอญลาดกระบังกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6. วิทยานิพนธ์การศึกมหาบัณฑิต สาขาศิลปศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

livingculturalsites. (ม.ป.ป.). ชื่อแหล่งวัฒนธรรม ศิลปะการแสดง เขตลาดกระบัง: การแสดงสะบ้ารำวัดทิพพาวาส. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2566, จาก http://www.livingculturalsites.com/

Pik Pik. (2566). เรารักวัดทิพพาวาส. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/groups/1290384114468850/.

WordPress. (2559). thaikalamare. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก https://thaikalamare.wordpress.com/.