หมู่บ้านวัฒนธรรมไทยทรงดำที่ยังคงสืบทอดขบนธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของบรรพบุรุษมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชื่อเรียกบ้านบางหลงว่า พื้นที่บริเวณนี้ในอดีตมีการค้าขายทางเรือโดยพ่อค้าแม่ค้าจากอําเภอสวี ที่ได้นำเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาในตัวเมืองจังหวัดชุมพร เมื่อแล่นเรือมาถึงบริเวณปากคลองบางหลง (ในอดีตเรียกว่า คลองไส้แหล ตามภาษาไทยทรงดํา) ซึ่งมีความกว้าง ก็เข้าใจผิดคิดว่าลำคลองสายนี้เป็นเส้นทางไปสู่ตัวเมืองชุมพร จึงได้พายเรือหลงเข้าไปในปากคลองแห่งนี้เป็นประจำ จึงเป็นเหตุให้มีชื่อว่า “บางหลง”
หมู่บ้านวัฒนธรรมไทยทรงดำที่ยังคงสืบทอดขบนธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ของบรรพบุรุษมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
บ้านบางหลง เป็นชุมชนในเขตตำบลท่ายาง ซึ่งปรากฏประวัติการอพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไทยทรงดำ โดยชาวไทยทรงดำที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่นี้ เดิมทีเป็นชาวไทยทรงดำที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แต่ต้องอพยพย้ายออกมาเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งคาดว่ากับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ภายหลังย้ายออกจากภูมิลำเนาเดิมแล้ว ชาวไทยทรงดำกลุ่มนี้ได้ไปตั้งถิ่นฐานที่กรุงเทพฯ และอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี แต่เนื่องจากการอพยพของชาวไทยทรงดำในครั้งนั้นมีมากเกินไป เกิดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ทำกินและที่อย่าอาศัยของชาวไทยทรงดำในพื้นที่อำเภอเขาย้อย ทำให้ชาวไทยทรงดำบางส่วนต้องย้ายออกจากพื้นที่ แล้วเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่จังหวัดชุมพร บริเวณหมุ่บ้านดอนรวบ และหมู่บ้านคอเตี้ย ตำบลบางหมาก และบ้านบางหลง ตำบลท่ายาง สำหรับครอบครัวชาวไทยทรงดำที่เข้ามาสร้างบ้านเรือนในเขตปากคลองบางหลงครอบครัวแรก คือ ครอบครัวของนายหม่น เอื้อยศรี จากนั้นก็มีชาวไทยทรงดํามาตั้งรกรากเพิ่มขึ้น และมีชาวไทยทรงดำกลุ่มอื่นเดินทางเข้ามาสมทบร่วมด้วยในเวลาต่อมา
หมู่บ้านบางหลงตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของเทศบาลตําบลท่ายาง ซึ่งมีพื้นที่ ทั้งหมด 3,875 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 2,375 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 1,500 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ติดกับป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ป่าไม้ที่พบบริเวณนี้ประกอบด้วย โกงกาง ถั่วขาว ตะปูน และพังกา เป็นต้น
บ้านบางหลง ตำบลท่ายาง มีอาณาเขตติดต่อกับตําบลและหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ฟาร์มเลี้ยงหมู ถึงสามแยกคลองขยะ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เลียบถนน คสล. สายบางหลง-คอเตี้ย ถึงดอนมะขาม
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ฟาร์มเลี้ยงหมูถึงแยกบางหลงคอเตี้ย
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สามแยกกองขยะ เลียบถนนบางคอย-ทุ่งคาน้อย ถึงสามแยกดอนมะขาม
บ้านบางหลงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 หมู่บ้านย่อย ได้แก่ ชุมชนชาวไทยทรงดำ ชุมชนบ้านบางหลง และชุมชนบ้านผราใต้ สําหรับชุมชนชาวไทยทรงดําและชุมชนบ้านบางหลงจะมีชาวไทยทรงดําอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก ส่วนชุมชนบ้านบางผราใต้ จะมีชาวชุมพรท้องถิ่นเดิมอาศัยอยู่ ปัจจุบันมีนายธนสิทธิ์ สิบทิศ เป็นผู้ใหญ่บ้าน
ไทดำประชากรส่วนใหญ่ทําอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การปลูกพืช โดยพืชเศรษฐกิจสำคัญของชุมชน คือ ปาล์มนำมัน ส่วนการเลี้ยงสัตว์เป็นการเลี้ยงสัตว์สําหรับใช้บริโภคเนื้อ เช่น หมู ไก่ การประมง ได้แก่ การเลี้ยงกุ้งกุลาดํา เลี้ยงหอยแมลงภู่ หอยแครง และรับจ้างทั่วไป
สำหรับการจัดตั้งกลุ่มการประกอบอาชีพภายในชุมชนบ้านบางหลงนั้นได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลท่ายาง เช่น กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้า กลุ่มเลี้ยงปลาเก๋า กลุ่มเลี้ยงปูดํา กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น
ชาวหมู่บ้านบางหลงส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา มีวัดอยู่ในหมู่บ้านจํานวน 1 วัด คือ วัดบางหลง เป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงเป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมร่วมกันของคนในชุมชน
ชาวไทยทรงดำบ้านบางหลงมีความเชื่อเกี่ยวกับผี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นคติดั้งเดิมของชาวไทยทรงดำมาตั้งแต่อดีต โดยผีที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมากที่สุด คือ ผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวไทยทรงดำเชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับที่ได้กลับมาปกป้องดูแลลูกหลาน ฉะนั้น ชาวบ้านจึงมีการแบ่งสรรพื้นที่มุมหนึ่งของบ้านเพื่ออัญเชิญผีบรรพบุรุษให้มาสิงสถิตอยู่ เรียกว่า “กะล้อหอง” ผีบรรพบุรุษที่อัญเชิญมาอยู่ในบ้านนี้เรียกว่า “ผีเฮือน” ซึ่งทุก 2-3 ปี จะมีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณผีเฮือนเรียกว่า “พิธีเสนเฮือน” เป็นประเพณีอัญเชิยผีบรรพบุรุษหรือผีเฮือนของตนให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ที่ลูกหลานนำมาเลี้ยง โดยเชื่อว่า เมื่อจัดเซ่นไหว้ผีเรือนแล้ว ผีเรือนก็จะปกป้องคุ้มครองใหตนเองและครอบครัวมีความสุข เจริญก้าวหน้า ทํามาค้าขึ้น หรือบางคนก็จัดทําพิธีเสนเรือนเพื่อให้ตนเองหายเจ็บป่วยด้วยทําการบนบานไว้กับผีเรือน เมื่อตนเองหายจากการเจ็บป่วยก็ทําการพิธีเสนเรือน
ทุก 2-3 ปี ชาวไทยทรงดำจะประกอบพิธีเสนเรือนเสียครั้งหนึ่ง ส่วนจะทําวันเดือนใดนั้นขึ้นอยู่กับความสะดวก ยกเว้นเดือน 9 และเดือน 10 จะไม่ประกอบพิธีเสนเรือน เพราะเชื่อกันว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ผีเรือนกลับไปเฝ้าแถน (แถนคือจ้าวของผีที่อยู่บนฟ้า บางครั้งเรียกว่าผีฟ้า) ดังนั้นการประกอบพิธีเสนเรือนในสองเดือนนี้จึงไม่บังเกิดผลใด ๆ แต่โดยปกติแล้วนิยมทำในเดือน 4, 6 และ 12 และหากไม่มีการทำพิธีเสนเรือนเชื่อว่าจะทําให้ผีเรือนของตนได้รับความอดอยาก และในที่สุดผีเรือนก็อาจจะก่อความเดือดร้อนให้ตนและคนที่อยู่ในครอบครัว
1. นายเสด ยอดทอง หมอเสนเรือนบ้านบางหลง
2. นายประเสริฐ คุ้มชุมชัย หมอเสนเรือนบ้านบางหลง
ทุนมนุษย์
หมอเสนเรือน ชาวไทยทรงดํายกย่องให้ผู้ที่ทําหน้าที่ประกอบการเสนเรือนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการเสนเรือน และให้ความเคารพหมอเสนเรือนเหล่านี้อย่างมาก โดยในชุมชนบ้านบางหลงมีหมอเสนเรือน 2 ท่าน ได้แก่ นายเสด ยอดทอง และนายประเสริฐ คุ้มชุมชัย
บทบาทของหมอเสนเรือน
- การประกอบพิธีกรรม: ในการประกอบพิธีกรรมเสนเรือน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุด คือ หมอเสนเรือน เพราะหากไม่มีผู้นําในการเป็นสื่อกลางระหว่างผีกับมนุษย์แล้ว พิธีกรรมก็จะสามารถดำเนินต่อไปได้
- การถ่ายทอดความรู้: บทบาทในเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ของหมอเสนเรือน มี 2 ลักษณะ คือ การถ่ายทอดโดยทางตรง และการถ่ายทอดโดยทางอ้อม การถ่ายทอดโดยทางตรงเป็นการถ่ายทอดวิชาควารู้เรื่องการเสนเรือนแก่ผู้มาขอเรียนวิชา ส่วนทางอ้อมแก่ผู้ที่มาร่วมประกอบพิธีกรรม หรือผู้ที่เข้ามาพบเห็นและสังเกตการณ์ต่าง ๆ เป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยทรงดําผ่านทางพิธีกรรมเสนเรือน เป็นการสั่งสอนหรือถ่ายทอดโดยไม่ได้บอกกล่าวแก่ผู้ใด แต่ผู้ที่พบเห็นเกิดการเรียนรู้เองโดยการสังเกตจากการทํากิจกรรมต่าง ๆ ของหมอเสนเรือน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาโซ่ง (ไทดำ)
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
หมู่บ้านบางหลงมีโรงเรียนที่เปิดทําการศึกษาในระดับประถม 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านบางหลง แต่ชาวบ้านนิยมส่งบุตรหลานไปเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนในตัวเมืองมากกว่าที่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน เนื่องจากโรงเรียนในตัวเมืองมีศักยภาพด้านการเรียนการสอนสูงกว่า
ในโรงเรียนบ้านบางหลงได้มีการนําภูมิปัญญาชาวบ้านมาจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เช่น ให้นักเรียนไปดูพิธีเสนเรือน แล้วบรรยายสรุปว่าได้ข้อคิดอะไรบ้าง มีการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักทําปลาร้า ซึ่งเป็นอาหารที่คนในชุมชนนิยมบริโภคใน และมีการนําความคิดเกี่ยวกับเรื่องลวดลายผ้าที่อยู่บนเสื้อฮี มาฝึกฝนทักษะการเย็บปัก และพัฒนาไปสู่กระบวนการเรียนการสอนในอนาคตต่อไป
พระมหาประจักษ์ พลานัย. (2551). การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านประเพณี ความเชื่อ และพิธีกรรมของ “หมอเสนเรือน” ในชุมชนชาวไทยทรงดำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา ภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
โรงเรียนบ้านบางหลง. (2566). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/maps/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566].