Advance search

บ้านชัยบาดาล ชุมชนเก่าแก่ที่ปรากฏการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มวัฒนธรรมไทเบิ้งมาตั้งแต่สมัยอยุธยา 

บ้านชัยบาดาล
ชัยบาดาล
ชัยบาดาล
ลพบุรี
อบต.ชัยบาดาล โทร. 0-3679-0250
วิไลวรรณ เดชดอนบม
3 มี.ค. 2023
วิไลวรรณ เดชดอนบม
3 มี.ค. 2023
บ้านชัยบาดาล


ชุมชนชาติพันธุ์

บ้านชัยบาดาล ชุมชนเก่าแก่ที่ปรากฏการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มวัฒนธรรมไทเบิ้งมาตั้งแต่สมัยอยุธยา 

บ้านชัยบาดาล
ชัยบาดาล
ชัยบาดาล
ลพบุรี
15230
15.10008787
101.066895
องค์การบริหารส่วนตำบลชัยบาดาล

คำเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ไทเบิ้ง มีที่มาจากภาษาพูดที่มักจะมีคำว่า เบิ้ง ประกอบในประโยค ซึ่งแปลกหูต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ได้ยิน จึงได้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า ไทเบิ้ง

สำหรับชาวไทเบิ้งที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชัยบาดาล ตำบลชัยบาดาล อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก มีข้อมูลอธิบายถึงการอพยพซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารหลายชิ้น ทั้งพงศาวดารหรือกระทั่งคำให้การของชาวไทเบิ้งที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ทว่าข้อมูลที่ได้ไม่ตรงกันเท่าใดนัก แต่จากหลักฐานโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักสามารถบ่งบอกได้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอย่างน้อยราว 3,000-4,000 ปี มาแล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ สามารถนำน้ำมาใช้ในชีวิตประจำวัน มีป่าไม้และสัตว์ป่า รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจสามารถสรุปได้ว่าผู้คนยุคบรรพกาลเหล่านั้นคือบรรพบุรุษของชาวไทเบิ้งลุ่มน้ำป่าสักหรือไม่

การสันนิษฐานถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มวัฒนธรรมไทที่คาดว่าอาจเป็นบรรพบุรุษของชาวไทเบิ้งในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสัก โดยสรุปจากหลักฐานต่าง ๆ ดังนี้

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งอาจเป็นกลุ่มชาวไทเบิ้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2235 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเพทราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังมีศิลปกรรมเก่าแก่ที่ค้นพบในพื้นที่หมู่บ้านชาวไทเบิ้งแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก  ซึ่งสามารถระบุได้ว่าเป็นศิลปกรรมไทยแบบอยุธยา เช่น บานประตูไม้แกะสลักรูปทวารบาลที่วัดสิงหาราม ใน พ.ศ. 2540 ค้นพบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์จำนวนมากที่พระอุโบสถหลังเก่าของวัดจันทาราม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 นอกจากนี้ภายในวัดยังได้เก็บรักษาพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 อีกทั้งภายในวัดดีลังยังพบซากวิหารก่อด้วยอิฐ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย และพบพระพุทธรูปปางมารวิชัยจารึกภาษาไทย ระบุว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2198 ตรงกับสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มวัฒนธรรมไทเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และอยู่อาศัยมาจนถึงปัจจุบัน

อนึ่ง ยังมีคำให้การของชาวไทเบิ้งที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักที่ได้กล่าวว่า ชาวไทเบิ้งที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มีบรรพบุรุษเป็นชาวเวียงจันทน์ ซึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาสู่บริเวณภาคกลางและภาคอีสานของไทย 2 ช่วง เวลา คือ ใน พ.ศ. 2321 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้ากรงธนบุรี และช่วงปี พ.ศ. 2367-2392 ในเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ภายหลังปราบปรามเจ้าอนุวงศ์สำเร็จ ได้มีการกวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ลงมาอยู่ที่เมืองลพบุรี เพื่อทดแทนชาวบ้านที่ถูกกวาดต้อนไปในครั้งเสียงกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อมูลที่อธิบายถึงการอพยพของชาวไทเบิ้งเข้าสู่ดินแดนประเทศไทยยังไม่มีหลักฐานชัดเจน เป็นข้อถกเถียงและไม่อาจสรุปที่มาของคนไทเบิ้งได้อย่างแน่ชัด แต่จากหลักฐานที่รวบรวมได้จากโบราณวัตถุและโบราณสถานต่าง ๆ บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก น่าจะเป็นหลักฐานเชื่อมโยงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนไทเบิ้งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสักและบริเวณใกล้เคียงมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยา 

บ้านชัยบาดาลตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก รายล้อมด้วยพื้นที่ราบลุ่มสำหรับทำการเกษตร มีลำน้ำ ลำห้วยธรรมชาติไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก อีกทั้งยังมีน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ชาวบ้านสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม มี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-ตุลาคม และฤดูหนาวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม 

บ้านชัยบาดาล ตำบลชัยบาดาล อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 หมู่ มีประชากร 663 ครัวเรือน 2,569 คน แบ่งเป็นชาย 1,236 คน และหญิง 1,333 คน ซึ่งประชากรในหมู่บ้านชัยบาดาลคือกลุ่มวัฒนธรรมไทเบิ้งที่คาดว่าตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยา  

ไทเบิ้ง

กลุ่มอาชีพ

อาชีพหลัก : อาชีพหลักของชาวไทเบิ้งหมู่บ้านชัยบาดาล ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ทั้งการทำนา ทำสวน ทำไร่ ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และพุทราสามรส และมีบางส่วนที่ประกอบอาชีพรับราชการ นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปทองม้วน ปลาย่าง และทำปลาร้า เพื่อส่งออกขายภายนอกชุมชน

อาชีพเสริม : รับจ้างทั่วไป การประมง ปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงไก่ เป็ด สุกร กระบือ

การแลกเปลี่ยนภายในชุมชน : เป็นการซื้อขายสินค้าอุปโภค บริโภค และของใช้ในชีวิตประจำวัน ในร้านขายของชำประจำหมู่บ้าน มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าผลผลิตทางการเกษตร เช่น พริก มะเขือ ฯลฯ รวมถึงปลาที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติในตลาดชุมชน

การแลกเปลี่ยนกับนอกชุมชน : ส่วนใหญ่จะเป็นการนำผลผลิตทางการเกษตร พืชผักสวนครัว ปลา รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มแม่บ้าน ได้แก่ ทองม้วน ปลาย่าง และปลาร้า ออกไปจำหน่ายตามชุมชนต่าง ๆ ใกล้เคียง และตลาดในอำเภอชัยบาดาล

องค์กรชุมชน

ชาวไทเบิ้ง บ้านชัยบาดาลมีการรวมกลุ่มตามกลุ่มการประกอบอาชีพ เพื่อช่วยเหลือ กระจายข่าว และสนับสนุนการประกอบอาชีพของสมาชิกภายในกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านทองม้วน กลุ่มแม่บ้านทำปลาย่าง และกลุ่มทำปลาร้าสมุนไพร 

ชาวไทเบิ้งบ้านชัยบาดาล ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชาวบ้านมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย อยู่กันแบบเครือญาติ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยมีพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการควบคุมความประพฤติ และการปฏิบัติตัว อีกทั้งยังมีการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวันอีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัตถุทางวัฒนธรรม

เปลสาน สานด้วยไม้ไผ่ ปากเปลทำเป็นทรงกลมรี ก้นทำเป็นสี่เหลี่ยมมีไม้ไผ่เหลาแบนขัดไว้เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักได้ดี ตัวเปลสานโปร่งเพื่อให้ลมพัดผ่านได้ขณะไกวเปล

กระชังปลา เป็นอุปกรณ์ขังปลา ทำด้วยเชือกถักเป็นตาข่าย มีขอบไม้ขยายตัวกระชังให้กว้างขึ้น ส่วนบนใช้เชือกสอดปากตาข่ายผูกไว้ ขยายเปิดกว้างได้เมื่อต้องการใส่ปลา ส่วนใหญ่นิยมนำกระชังไปแช่ไว้ในน้ำ เพราะจะทำให้ปลาได้ว่ายน้ำ และหาอาหารกินคล้ายอยู่ในธรรมชาติ

ข่ายดักปลา เป็นเครื่องมือดักปลา ทำจากเส้นเอ็นไนลอน ชายหรือตีนข่ายถ่วงด้วยตีนตะกั่วม้วนเพื่อไม่ให้ตีนลอยน้ำไหล

เบ็ดราว เป็นเครื่องมือสำหรับหาปลาใหญ่ ตัวเบ็ดทำด้วยโลหะ มีรูปร่างโค้งงอ ปลายแหลมเหมือนเบ็ดทั่วไป แต่ไม่มีเงี่ยง มีขนาดใหญ่ และคมมากกว่าเบ็ดธรรมดา ก้านเบ็ดผูกด้วยเชือกต่อกันเป็นราว มีทุ่นลอยน้ำ เวลาดักปลาจะปล่อยทุ่นเบ็ดลอยน้ำ ความยาวตามต้องการ เมื่อปลาว่ายมาเบ็ดจะติดตัวปลา

แห เป็นเครื่องมือหาปลาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่บ้านชัยบาดาล เพราะสามารถจับปลาได้ทั้งในห้วย หนอง คลอง บึง และแม่น้ำ ตัวแหถักด้วยเชือกเป็นตาข่ายบานกว้าง ตรงกลางแหผูกเชือกไว้ สามารถรวบเป็นที่จับเวลาหว่านแห ตีนแหมีโซ่เส้นเล็ก ๆ ถักติดโดยรอบเพื่อให้มีน้ำหนักดึงแหจมถึงพื้นน้ำ ปลาที่ถูกแหคลุมจะไม่สามารถหาทางออกได้

สุ่ม เป็นอุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่ได้รับยความนิยมมากอีกชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะคล้ายฝาชีทรงสูง เวลาหาปลา จะใช้สุ่มครอบตัวปลา แล้วใช้มือล้วงควานหาปลาที่อยู่ในสุ่มผ่านช่องด้านบน

ตุ้มกบ เป็นเครื่องมือสำหรับดักจับกบ สานด้วยไม้ไผ่ ใช้วางดักกบบนพื้นราบ ด้านข้างมีช่องงาให้กบเข้า ด้านบนมีปาเปิดปิดทำด้วยกะลา การใช้ตุ้มกบจะต้องใส่เหยื่อ เช่น ปลา ไว้ด้านใน เมื่อกบได้กลิ่นเหยื่อจะเข้าไปทางช่องงา แล้วไม่สามารถหาทางออกได้ 

ภาษาพูด : ภาษาไทเบิ้ง และภาษาไทกลาง

ภาษาเขียน : ไทเบิ้งไม่มีตัวอักษร ฉะนั้นจึงใช้อักษรไทยในการเขียน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูธร ภูมะธน วรรณา จันทนาคม นวลน้อย บรมรัตนพงศ์ และคณะ. (2541). มรดกวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสัก. กรุงเทพฯ: พี. เอ. ลีฟวิ่ง จำกัด. 

อบต.ชัยบาดาล โทร. 0-3679-0250