Advance search

ตีหงี, ติงหงี

บ้านโคกพยอม ชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับมาชีวิต เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียวประจำปี พ.ศ. 2549

โคกพยอม
ละงู
ละงู
สตูล
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
30 เม.ย. 2023
บ้านโคกพยอม
ตีหงี, ติงหงี

สันนิษฐานว่าตั้งตามลักษณะที่ตั้งขณะนั้นว่าเป็นบริเวณที่มีต้นพยอมขึ้นอยู่มาก 


ชุมชนชนบท

บ้านโคกพยอม ชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับมาชีวิต เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียวประจำปี พ.ศ. 2549

โคกพยอม
ละงู
ละงู
สตูล
91110
6.815503196
99.81088355
องค์การบริหารส่วนตำบลละงู

ในอดีตบ้านโคกพยอมอยู่ในการปกครองของบ้านท่าชะมวง หมู่ที่ 1 ตำบลละงู ในช่วงเวลานั้นมีฐานะเป็นเพียงคุ้มบ้าน เรียกว่าบ้านตีหงี ซึ่งแปลว่าที่สูง ผู้ที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นคนแรก คือ แป๊ะท้อ ภรรยาชื่อ ฉาว มาจากเมืองจีน มาสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณริมชายคลองตีหง ต่อมามีบุตรที่บ้านตีหงี 6 คน ชื่อ ฉ้วน โต๊ะก้าม มะหลุย เถ้า มะ โต๊ะเปียน โดยประมาณช่วงเวลาคาดว่าน่าจะอยู่ราว พ.ศ. 2435 ซึ่งถือเป็นยุคบุกเบิกของบ้านโคกพยอม ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมีครอบครัวมาจากจังหวัดตรังได้พาลูกหนีการเข้าโรงเรียน มาอาศัยอยู่ในบ้านตีหงี คือ ครอบครัวของนายสบู่ มี 3 คนพี่น้อง ชื่อ โต๊ะหมาด โต๊ะเด็น โต๊ะสบู่ พร้อมลูกและภรรยา ครอบครัวที่ 3 ที่เข้ามาอยู่บ้านตีหลี คือ แก่จู แก่เอียด พร้อมลูก 2 คน โดยภายหลังเข้ามาสร้างบ้านเรือนแล้ว ทั้ง 3 ครอบครัวนี้ได้ประกอบอาชีพปอกเปลือกไม้ขาย เปลือกไม้ที่ขายคือเปลือกแสม เปลือกปูน โดยมีเรือใบมารับสินค้าไปส่งที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย

ประมาณปี พ.ศ. 2467 เริ่มมีอาชีพทําไม้หลา เผาถ่าน ตกเป็ด และตกปูดำ บ้านโคกพะยอมมี 3 ตระกูลดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ทุกวันนี้ คือลูกหลานแป๊ะท้อ ลูกหลานแก ลูกหลานโต๊ะสบู่เป็นส่วนมาก คนนอกที่เข้ามาส่วนใหญ่จะมาแต่งงานกับลูกหลาน 3 ตระกูลนี้ โดยไม่ปรากฏว่ามีกลุ่มคนจากต่างถิ่นอพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านตีหลีอีกเลย บ้านตีหลีแยกการปกครองออกจากบ้านท่าชะม่วงเมื่อปี พ.ศ 2546 แล้วเปลี่ยนชื่อเรียกหมู่บ้านจากบ้านตีหลี เป็น บ้านโคกพยอม สันนิษฐานว่าตั้งตามลักษณะที่ตั้งขณะนั้นว่าเป็นบริเวณที่มีต้นพยอมขึ้นอยู่มาก 

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านโคกพะยอมมีลักษณะพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าติดลําคลอง ซึ่งเป็นโคกสูงและชันมาก ป่าไม้ส่วนใหญ่เป้นป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์และหนาทึบ ซึ่งป่าชายเลนแห่งนี้เป็นทั้งแหล่งอาหาร และแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน

ป่าชายเลนชุมชนโคกพยอม

ป่าชายเลนของชุมชนโคกพยอมมีเนื้อที่ทั้งหมด 1,250 ไร่ โดยชาวบ้านแบ่งป่าชายเลนตาม ลักษณะของพันธุ์ไม้และอิทธิพลที่ได้รับจากน้ำขึ้นน้ำลงเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตพื้นที่ริมคลอง เขตพื้นที่ลุ่ม และเขตพื้นที่ดอน

  • เขตพื้นที่ริมคลอง คือพื้นที่ที่มีน้ำขึ้นน้ำลงตลอดเวลา ซึ่งพันธุ์ไม้สําคัญในบริเวณนี้ ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก แสมดํา และลําพู โดยพันธุ์ไม้แหล่งนี้มีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้ที่ทนต่อความเค็มของน้ำทะเล และมีรากเป็นตัวยึดหน้าดินและหายใจในช่วงเวลาที่มีน้ำท่วมขัง บริเวณพื้นที่นี้เป็นแหล่งอาหารที่สําคัญที่สุดของป่าชายเลน เพราะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด ได้แก่ ปูดํา หอยจุ๊บแจง หอยเข็ม หอยกัน และปลาไหล

  • เขตพื้นที่ลุ่ม คือพื้นที่น้ำท่วมถึง แต่เมื่อน้ำขึ้นสูงสุดเท่านั้น พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ตะบูนดํา ตะบูนขาว ถั่วดํา ถั่วขาว พังกาหัวสุม และโปรงขาว

  • เขตพื้นที่ดอน คือพื้นที่สูงที่สุดของพื้นที่ป่าชายเลนที่น้ำท่วมไม่ถึง จะมีลักษณะคล้ายพื้นที่บนป่าบกทั่วไป พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ที่พบจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับป่าบก เช่น เสม็ด หูกวาง ตีนเป็ด เป็นต้น

ลำคลอง

ชุมชนโคกพยอมมีลําคลองสายหลักไหลผ่านและเป็นแหล่งทรัพยากรที่สําคัญของชุมชนสําหรับการใช้ประโยชน์ คือ “ลําคลองติงหงี” มีความกว้างประมาณ 1 กิโลเมตร และความยาว ประมาณ 4 กิโลเมตร ลําคลองเส้นนี้ไหลผ่านป่าชายเลนในชุมชนลงไปสู่ทะเลอันดามันมีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ บางปีมีน้ำทะเลหนุนสูง อาจจะพบโลมา (ไม่ทราบสายพันธ์) เข้ามาหากินในลําคลองสายนี้ อีกทั้งยังมีพืชและสัตว์น้ำหลากหลายชนิดที่เป็นอาหารของคนในชุมชน ได้แก่ สาหร่ายกุ้งกุลาดํา กุ้ง กุลาลาย ปลากระบอก ปลากะพงข้างปาน ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ปลากะพงแสม ปลากูกู ปลาเก๋า ปลาดาหลา ปลาลาม่า ปลาไหล ปูดํา และหอยนางรม

บ้านโคกพยอม ตำบลละงู มีประชากรทั้งสิ้น 774 คน โดยประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 20 นับถือศาสนาพุทธ 

การประกอบอาชีพ

เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านโคกพยอมมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มมและเนินสูง ในพื้นที่ราบลุ่มจะเหมาะแก่การทํานา และในพื้นที่เป็นเนินสูงนั้นจะระบายน้ำได้เร็ว เหมาะแก่การปลูกไม้ยืนต้น ชาวบ้านโคกพยอมจึงมีการประกอบอาชีพในภาคการเกษตรกรรม ทั้งการทำนา และปลูกไม้ยืนต้น โดยพืชเศรษฐกิจสำคัญของชุมชน ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมะพร้าว ส่วนสภาพพื้นที่อีกฝั่งหนึ่งของหมู่บ้านที่ติดกับคลองตีหงี ซึ่งเป็นคลองน้ำเค็ม ชาวบ้านที่อาศัยอย่บริเวณนี้จึงมีการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้กับชาวบ้านชุมชนโคกพยอม

กลุ่มชุมชน

  • กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านโคกพยอม
  • กลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนโคกพยอม
  • กลุ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน หมู่ 18 บ้านโคกพยอม
  • กลุ่มแม่บ้าน

ชาวบ้านโคกพยอมส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลาม มีมัสยิด 1 แห่ง สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเนื่องจากการที่ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนับถือศาสนาอิสลาม จึงเป็นเหตุให้ประเพณีวัฒนธรรมที่ปรากฏในหมู่บ้านโคกพยอม ส่วนมากแล้วจึงมีลักษณะเป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องและตั้งอยู่บนหลักศาสนาอิสลาม ยกตัวอย่าง ดังนี้

  • ประเพณีเข้าสุนัต เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเข้าอิสลาม หรือพิธีขลิบปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศชาย เป็นขนบธรรมเนียมเก่าแก่ของชาวมุสลิม ผู้ชายเมื่ออายุ 7 ถึง 10 ปี จําเป็นต้องเข้าสุนัตจึงจะนับว่าได้เป็นอิสลามโดยสมบูรณ์

  • การถือศีลอด การงดเว้นจากการกิน การดื่ม การเสพ การร่วมประเวณีระหว่างสามีภรรยา ตลอดจนการกระทำที่ขัดกับคุณธรรม ในช่วงตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นเวลา 30 วัน ชาวมุสลิมเรียกช่วงเวลาการถือศีลอดนี้ว่า เดือนรอมฎอน

อนึ่ง สำหรับชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุมธ ในวันสำคัญทางศาสนาตามวาระโอกาสต่าง ๆ ชาวบ้านจะรวมตัวกันเดินทางไปทำบุญที่วัดท่าชะมวง หมู่ที่ 1 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาการต่อเรือ

วัสดุที่ต้องเตรียมสำหรับต่อเรือ ได้แก่ ไม้กระดาน ไม้กระดูกงู กงเรือ และไม่ส่วนอื่น ๆ ของเรือ เครื่องมือสําหรับการต่อเรือ กบ เลื่อย ขวาน มือเสือ ค้อน น็อต ตะปู ฯลฯ

ขั้นตอนการต่อเรือ

  • ขั้นตอนที่ 1 นำกระดูกงูมาวาง นํากระดานมาติดข้างกระดูกงู โดยสลับข้างและแผ่นจนได้ประมาณข้างละ 3 แผ่น

  • ขั้นตอนที่ 2 นํากงเรือมาวางบนกระดูกงูกับกระดานที่เตรียมไว้ตามขนาดของเรือ ระยะห่างกันประมาณ 30-40 ซม.

  • ขั้นตอนที่ 3 นํากระดานที่เตรียมไว้มาตัดเพิ่มตามขนาดของเรือตามขนาดที่ต้องการ เช่น กระดูกยาว 6.5 เมตร ความสูงประมาณ 22-24 นิ้ว โดยวัดจากระดูกงู ตั้งให้เป็นมุมฉากขึ้นมาที่กระดานแผ่นบนสุด และตกแต่งส่วนต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ เช่นใส่ไม้กันน้ำ (กาบกล้วย) ไม้เซนต้าสําหรับไว้เป็นที่นั่งเรือ ไม้หมอนสําหรับวางเครื่องยนต์

  • ขั้นสุดที่ 4 ใช้ชัน ตอกหมัน ยาเรือกันน้ำเข้า พร้อมลงใช้งาน

ภูมิปัญญาการแปรรูปอาหารพื้นบ้าน: ลูกโรย

การนําลูกโรยหรือฝักถั่วดํามาใช้ทําอาหารมีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะนั้น ชาวบ้านตําบลละงูต้องประสบชะตากรรมข้าวยากหมากแพงจากภัยสงคราม จึงได้มีการนําลูกโรยหรือลูกถั่วดําที่ขึ้นอยู่ตามป่าชายเลนมาทดลองแปรรูปจนได้เป็นแป้งลูกโรยสำหรับทำขนม ซึ่งลูกโรยสามารถหาได้ตามฤดูกาลในช่วงเดือนมกราคมถึงสิงหาคมของทุกปีเท่านั้น

วิธีการทําแป้งลูกโรย คือ เก็บฝักลูกโรยจากต้นถั่วดําที่ขึ้นในป่าชายเลน แล้วนำฝักมาขูดเปลือกออกและแช่น้ำเปล่า (เพื่อไม่ให้ฝักแห้ง) จากนั้นนำไปต้มด้วยน้ำเปล่า 3 ครั้ง ต้มในน้ำด่างอีก 1 ครั้ง (น้ำขี้เถ้าที่ตกตะกอน) แล้วนําฝักลูกโรยที่ต้มแล้วมาบดให้ละเอียดจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน

แป้งลูกโรยที่นํามากวนกับน้ำตาลทรายสามารถนํามาทําเป็นขนมได้หลายชนิด เช่น ขนมกะหรี่ปั๊บ ขนมสอดไส้ ขนมโค และขนมเม็ดขนุน นํามาบวชชี ทําข้าวเกรียบ ชุบแป้งทอด ขนมขบเคี้ยว นอกจากนี้สามารถนํามาแปรรูปลูกโรยในการทําขนมคุกกี้ก็ได้ หรือจะนำฝักลูกโรยที่ต้มสุกไปทําขนมลูกโรยคลุกมะพร้าว เป็นต้น

การละเล่นพื้นบ้าน: ลิเกบก

ลิเกบกหรือลิเกป่า ศิลปะการแสดงพื้นเมืองที่นิยมเล่นกันแถบจังหวัดตรัง กระบี่ พังงา และสตูล (เขตอําเภอละงูและอําเภอทุ่งหว้า) เป็นการแสดงแบบง่าย ๆ เวทีการแสดงยกเสาขึ้น 6 หรือ 9 เสา หลังคาเป็นเพิงหมาแหงนมุงด้วยใบมะพร้าว มีม่านกั้นกลาง ปูเสื่อ ตัวเทศและเสนาแต่งกายแบบคนอินเดียนุ่งกางเกงหรือบางครั้งนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนยาว มีผ้าพาดบ่า สวมหมวกแขก มีหนวดเครารุงรัง ส่วนยาหยีแต่งแบบมุสลิม คือ นุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อแขนยาว เรียกว่าเสื้อบาหยา มีผ้าโปร่งคลุมศีรษะ เสนามักแต่งให้ตลก ขบขัน บางครั้งไม่สวมเสื้อ ผู้แสดงเมื่อแสดงเรื่องใหม่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใหม่เพื่อให้ เข้ากับบทบาทของเรื่องที่จะแสดงต่อไป เครื่องดนตรีที่ใช้จะมีรํามะนา 1 คู่ ฆ้อง ซอ และปี่ ผู้แสดงมีประมาณ 10–14 คน (รวมนักดนตรี) โอกาสที่แสดง เช่น งานแต่งงาน งานแก้บน งานศพ และงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ปัจจุบันที่โรงเรียนบ้านโคกพยอมมีการเปิดการเรียนการสอนในรายวิชาการละเล่นลิเกบกเป็นการเฉพาะ เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดสตูล 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย 


สืบเนื่องจากปัญหาความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนบ้านโคกพยอม ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ของชุมชน จึงก่อให้เกิดการรวมกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนโคกพยอม ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยการเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลน มีการสร้างพื้นที่ป่าชุมชนขึ้น ซึ่งทำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเห็นความสําคัญ และเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน จากการรวมกลุ่มดังกล่าวทําให้ป่าชายเลนมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น สัตว์น้ำมีจํานวนเพิ่มขึ้น แหล่งรายได้หลักกลับมามีชีวิตอีกครั้ง การจัดการทรัพยากรดังกล่าว ทําให้ชุมชนได้รับรางวัลต่าง ๆ ได้แก่ ปี พ.ศ. 2549 ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจากบริษัทปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จํากัด รางวัลเขียวขจีดีเด่นจาก กระทรวงมหาดไทย รางวัลอยู่เย็นเป็นสุขจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และรางวัลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่นจากศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนหมู่ที่ 18 บ้านโคกพยอม. (2565). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://web.facebook.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566]. 

จอมขวัญ ชุมชาติ. (2558). ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนโคกพยอม ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล. วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

บูกาก ขุนรายา และคณะ. (2554). เสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบมีส่วนร่วม บ้านโคกพยอม หมู่ที่ 18 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล. สำนักงานกองทุนสนับการวิจัย.