Advance search

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์มีการพบซากโบราณวัตถุในบริเวณชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเศษจาน ชาม แก้ว กระเบื้อง เกือกม้า ประตู หลังคา ไพ่นกกระจอก ไปจนถึงซากหมู สะท้อนให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มาจนถึงปัจจุบัน

ถนนเยาวราช
จักรวรรดิ
สัมพันธวงศ์
กรุงเทพมหานคร
ชุติมา คล้อยสุวรรณ์
6 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
เลื่อนฤทธิ์

เป็นชุมชนที่มีการนำชื่อของเจ้าของที่ดินมารวมกัน คือ คุณหญิงเลื่อน และ หลวงฤทธิ์ 


ชุมชนเลื่อนฤทธิ์มีการพบซากโบราณวัตถุในบริเวณชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเศษจาน ชาม แก้ว กระเบื้อง เกือกม้า ประตู หลังคา ไพ่นกกระจอก ไปจนถึงซากหมู สะท้อนให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มาจนถึงปัจจุบัน

ถนนเยาวราช
จักรวรรดิ
สัมพันธวงศ์
กรุงเทพมหานคร
10100
13.743784
100.505074
กรุงเทพมหานคร

เดิมที่ดินชุมชนเลื่อนฤทธิ์เป็นของคุณหญิงเลื่อน ภรรยาของหลวงฤทธิ์ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อย่านนี้ว่า เลื่อนฤทธิ์ ต่อมาคุณหญิงเลื่อนได้ทำการขายที่ดินให้กับพระยาคลังข้างที่ และได้พัฒนาให้เป็นตึกพาณิชย์แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจัดเป็นอาคารพาณิชย์ยุคแรก ๆ ของไทย ในช่วงแรกอาคารนั้นได้ถูกใช้เป็นห้องเช่าสำหรับผู้เดินทาง ในบริเวณใกล้เคียงมีโรงน้ำชา ต่อมาชาวจีนฮากกา หรือจีนแคะได้เดินทางเข้ามาเพื่อทำการจับจองพื้นที่และอยู่อาศัยจนกลายเป็นย่านคนจีนแคะที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า เซี่ยงฮู้ตู้ ทำให้ย่านชุมชนเลื่อนฤทธิ์เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญและเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก ชาวอินเดียและจีนกลุ่มอื่นเริ่มอพยพเข้ามาประกอบธุรกิจกันมากขึ้น จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม

กระทั่งปี พ.ศ. 2544 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ส่งหนังสือเลิกสัญญาเช่า เนื่องจากต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นศูนย์การค้า ซึ่งใช้เวลารวมกว่า 11 ปี ชาวชุมชนเลื่อนฤทธิ์จึงรวมตัวกันเพื่อเจรจากับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และร่วมกันจัดตั้ง บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เพื่อทำหนังสือสัญญาเช่าพื้นที่ต่อ ภายใต้เงื่อนไขการบูรณะซ่อมแซมพื้นที่ และพัฒนาเป็นถนนคนเดิน แหล่งท่องเที่ยวที่คงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมไว้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 หลังจากจัดตั้งบริษัทและได้สัญญาเช่าพื้นที่ต่อ เพื่อดำเนินการอนุรักษ์อาคารและพื้นที่ของชุมชน จึงได้ขอความร่วมมือจากผู้ที่อยู่อาศัยภายในพื้นที่ และติดต่อไปยังคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบังในการสำรวจความสมบูรณ์ของตัวอาคาร ด้วยการนำแผนที่เก่ามาซ้อนทับกับแผนที่ปัจจุบัน และยังมีการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือระยะแรก ปี พ.ศ. 2556 ได้ขุดค้นภายในอาคาร เพื่อนำข้อมูลไปใช้ออกแบบบูรณะอาคารต่อไป ต่อมาในระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2557 – 2558 ระหว่างที่ดำเนินการบูรณะอาคาร ได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดี เพื่อตรวจสอบร่องรอยการอยู่อาศัยและการใช้พื้นที่ในอดีต ภายหลังชุมชนเลื่อนฤทธิ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 กรมศิลปากรจึงจำเป็นต้องมีส่วนเข้ามาร่วมวางแผนบูรณะ 

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ถือเป็นชุมชนที่มีลักษณะความเป็นย่านการค้าเก่าแก่ที่มีพัฒนาการควบคู่มากับตลาดสำเพ็ง และย่านต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ภายในชุมชนจะมีทั้งกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนและอินเดีย ทำให้ชุมชนแห่งนี้มีความเป็นพหุวัฒนธรรมและยังมีความสำคัญในด้านการเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งทางด้านรูปแบบของการตั้งถิ่นฐานและการรักษาลักษณะเฉพาะของอาคาร ประกอบกับมีพื้นที่ชุมชนที่มีคุณค่าทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมสมัย

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ตั้งอยู่ในแขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ อยู่ในฝั่งพระนคร ภายใต้การปกครองของกรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 3 งาน 95 วา หรือ 2,795 ตารางวา พื้นที่ของชุมชนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยมีอาณาเขตติดต่อพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับถนนเยาวราช
  • ทิศใต้ ติดต่อกับถนนวานิช 1 
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับถนนมหาจักร
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับถนนจักรวรรดิ

บริเวณพื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่เปิด โดยผู้คนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จะสามารถเดินทางเข้ามาได้ทุกทิศทาง ลักษณะดังกล่าวจึงทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่และกลุ่มผู้ที่เข้ามาใช้บริการในพื้นที่สามารถสัญจรได้อย่างสะดวก

ตามข้อมูลจากสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ระบุไว้ว่ากลุ่มคนที่อาศัยและประกอบอาชีพอยู่ในชุมชน โดยส่วนใหญ่เป็นคนเก่าแก่ที่อยู่มานาน มีความผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้ โดยพบว่าในพื้นที่แห่งนี้มีจำนวน 196 ครัวเรือน สมาชิกทั้งหมด 425 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 212 คน และเพศหญิง 213 คน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่และได้ทำการอพยพเข้ามาเพื่อประกอบกิจกรรมในพื้นที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการค้าส่งผ้าม้วน การรับตัดเสื้อ และค้าวัสดุอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เป็นต้น โดยความสัมพันธ์ของคนในชุมชนส่วนใหญ่มีทั้งแบบเพื่อนบ้านที่มีความสนิทสนมโดยส่วนมากจะเป็นกลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน จนทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งในความสัมพันธ์แบบผิวเผินที่มีผู้คนมากหน้าวนเวียนเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการทำกิจกรรมร่วมกันและความสัมพันธ์แบบขัดแย้งแต่ไม่ได้รุนแรงจนนำไปสู่ความแตกแยก ซึ่งเป็นเพียงปัญหาเล็กน้อย เนื่องจากพื้นที่ในชุมชนมีความคับแคบจากการเดินทางเข้ามาของกลุ่มธุรกิจการค้าผ้าทอ และกลุ่มของพนักงานลูกจ้าง

จีน

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ มีการรวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินการอนุรักษ์อาคารและพื้นที่ชุมชนให้ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้ และคนในชุมชนต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเสมือนญาติมิตร

การไหว้ไป้ เพ็ง อัง หรือเสี่ย ซิ้ง 

พิธีไหว้เจ้าประจำปีของชุมชน ซึ่งจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนธันวาคมของทุกปี เป็นการไหว้ขอบคุณเจ้าก่อนขึ้นปีใหม่ในหมู่คนจีน ทุกคนในชุมชนจะร่วมแรงร่วมใจในการจัดเตรียมและดำเนินการ อีกทั้งภายในยังมีพื้นที่สำหรับมหรสพ ไม่ว่าจะเป็นคณะงิ้ว ลิเก และหนัง พร้อมทั้งมีอาหารและขนมมาขายกันอย่างมาก ทำให้เกิดความคึกคักเป็นอย่างมากในชุมชน แต่เนื่องจากที่ผ่านมางานดังกล่าวได้หายไปบางช่วงเนื่องจากไม่มีผู้สืบสานต่อ ทว่าปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นงานนี้ขึ้นมาใหม่แต่ได้ลดกิจกรรมบางอย่างภายในงานลง เพื่อความสะดวกในการค้าขาย ซึ่งภายในงานจึงมีแค่เพียงพิธีไหว้เจ้า การทำบุญ เลี้ยงพระ และจัดโต๊ะจีนเพื่อให้คนในชุมชนรับประทานอาหารร่วมกัน

คุณหญิงเลื่อน เทพหัสดิน ณ อยุธยา

คุณหญิงเลื่อนเชื้อสายราชินีกุลในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีพันปีหลวง แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าของที่ดินเลื่อนฤทธิ์ ที่ต่อมาได้ทำการขายให้กับพระยาคลังข้างที่ เพื่อพัฒนาต่อให้กลายเป็นตึกแถวพาณิชย์แห่งแรก ๆ ของกรุงเทพมหานคร จนกลายเป็นพื้นที่ชุมชนพาณิชยกรรมใจกลางเมืองที่มีเอกลักษณ์ คือเป็นแหล่งค้าส่งและค้าปลีกสินค้าประเภทผ้าทอ และผ้าม้วนที่โดดเด่น

ผ้าทอและผ้าม้วน

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์เป็นย่านการค้าผ้าทอ - ผ้าม้วนที่สำคัญ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญในการนำไปทำสินค้าประเภทต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าแปรรูป ผ้าห่ม และผ้าปูที่นอน ฯลฯ ในปัจจุบันถือเป็นแหล่งค้าปลีกและค้าส่ง โดยเฉพาะสินค้าประเภทผ้า ผู้ประกอบการทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนและอินเดียเริ่มมีการขยับขยายธุรกิจของตนออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง อย่าง สำเพ็ง พาหุรัด จนถึงต่างจังหวัด

มรดกทางสถาปัตยกรรม

ชุมชนเลื่อนฤทธิ์มีสิ่งปลูกสร้างที่ประกอบไปด้วย อาคารโบราณสถานที่ได้จัดสร้างขึ้นโดยกรมพระคลังข้างที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นตึกแถวที่ปูด้วยกระเบื้องซีเมนต์รองพื้นด้วยปูนขาว ฐานรากอาคารแบบผนัง มีการเรียงอิฐแบบขั้นบันได และใต้ฐานรากอิฐรองพื้นด้วยปูนอีกที ส่วนภายนอกอาคารได้รับอิทธิพลจากตะวันตก 

โบราณวัตถุ

การขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณชุมชนเลื่อนฤทธิ์ พบว่ามีชุดเครื่องถ้วยชามแบบจียสมัยปลายราชวงศ์ชิง เครื่องปั้นดินเผา หม้อตาล หม้อทะนน คนโท และขวดไวน์ที่ยังมีน้ำอยู่ ขวดน้ำหมึก ปี้ดินเผา (ชิปในปัจจุบันที่ใช้แทนเงินสด) รวมถึงพวกเนื้อสัตว์ เกือกม้า เศษเปือกหอยต่าง ๆ ซึ่งสันนิษฐานว่า สิ่งของเหล่านี้น่าจะมาจากกลุ่มคนที่อพยพเข้ามา เช่น จีนฮกเกี้ยน และจีนแคะ เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปัจจุบันได้มีการใช้พื้นที่แห่งนี้ในการจัดกิจกรรมทางสายอาร์ตอย่างต่อเนื่อง ทั้งกิจกรรมเลื่อนฤทธิ์ Artival: Hidden Gem of Yaowarat, มินิคอนเสิร์ตจากศิลปิน และเป็นลานถนนคนเดิน นอกจากนี้ได้มีการเปิดคาเฟ่เล็ก ๆ ให้บริการผู้คนที่เข้าใช้บริการในพื้นที่ดังกล่าว


บริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด เกิดจากการร่วมมือของคนในชุมชน เนื่องจากต้องการที่จะอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ต่อมาในพื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ทำการปรับปรุงพื้นที่ สภาพแวดล้อม และตัวอาคารมาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังคงลักษณะอาคารแบบโบราณอยู่

โครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด ซึ่งส่งผลในแง่ดีที่ก่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนเป็นที่รู้จัก โดยใช้พื้นที่ภายในชุมชนทำเป็นถนนคนเดิน สตรีทอาร์ต และนิทรรศการต่าง ๆ 

ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย. (2564). ชุมชนเลื่อนฤทธิ์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2566, จาก https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/785.

ไทยพับลิก้า. (2564). ชุบชีวิต ‘ชุมชนเลื่อนฤทธิ์’ เบื้องหลังการสานต่อประวัติศาสตร์เก่าให้มีชีวิตในเมืองใหม่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2566, จาก https://thaipublica.org/2021/11/luenrit-17-11-2564/.

กิตตินันท์ วัฒนธิติกุล. (2566). สำรวจชุมชนเลื่อนฤทธิ์แหล่งค้าขายอายุหลักร้อยปี ที่เปลี่ยนโฉมเป็นถนนคนเดินแห่งใหม่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2566, จาก https://themomentum.co/feature-chumchon-luenrit/.

อิทธิพร ขำประเสริฐ. (2554). ประวัติศาสตร์ชุมชนในเขตเมืองเก่า: ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร. นครปฐม: มหาวิทยาลัยคริสเตียน.

ผู้จัดการออนไลน์. (2565). โฉมใหม่ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ แลนด์มาร์กใหม่ย่านเยาวราช-สำเพ็ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2566, จาก https://mgronline.com/travel/detail/9650000070481.