
แหล่งเรียนรู้ คู่วัฒนธรรม ตำนานเมืองท่าโบราณ
ที่มาของชื่อหมู่บ้าน บุโบย เล่ากันว่ามีหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ บาโบย มาอยู่ที่หมู่บ้านกาเบงพร้อมพี่ชาย บาโบยเป็นคนหน้าตาสะสวย สูง 7 ศอก เอว 7 คืบ คอ 7 ปล่อง มีผู้ชายหมายปอง อยากได้เป็นคู่ครอง จึงเกิดการแย่งชิงจนฆ่ากันตาย ส่วนผู้เป็นพี่ชายได้ตริตรองว่าถ้าหากน้องสาวยังมีชีวิตอยู่ ผู้ชายในหมู่บ้านจะฆ่ากันหมด จึงล่อลวงน้องสาวไปหาหอยลอกันที่ป่าชายเลน (บ้านบุโบยในปัจจุบัน) แล้วฆ่าน้องสาวตัวเอง (ปัจจุบันยังมีกุโบร์อยู่ที่ บริเวณบ้านนางฉิม ก้อนคํา เรียกว่า เปลวโต๊ะบุโบย) ในอดีตถ้าหากใครเดินทางเข้ามาในหมู่บ้านบุโบยต้องทําการเซ่นไหว้ เช่น ต้องหว่านข้าวตอกดอกไม้ ปักโบ ถ้าหากใครไม่ทําจะทําให้ปวดท้อง ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นอิทธิฤทธิ์ของนางบาโบย
แหล่งเรียนรู้ คู่วัฒนธรรม ตำนานเมืองท่าโบราณ
ในปี พ.ศ. 2471 มีประชาชนจากบ้านบาแบงเดินทางเข้ามาที่บ้านบาโบย เพราะโรคไข้ระบาด ชาวบ้านที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านหลุ่มแรก คือ ครอบครัวโต๊ะลอหมาด เกนุ้ย นายหมาก หล้าแดง และนายงะ บูซู ต่อมานายหมาดสาด จิมาร นายหยา และนายแบน หมิ่นสัน ได้อพยพเข้ามาสมทบด้วย
บริเวณบ้านบุโบยในอดีตเป็นแหล่งเทียบเรือหลบคลื่นลมที่สําคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสตูล มีเรือใหญ่เข้าเทียบท่าเป็นประจํา เช่น เรือชีรมิด เรือนาวา เรือบรรทุกสินค้าเทพอักษร ในส่วนชาวบ้านใช้เรือพายและเรือแจวในการเดินทางสัญจร ต่อมาจึงได้มีการใช้เรือที่มีเครื่องยนต์บังคับบังคับจนถึงทุกวันนี้
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านบุโบย มีลักษณะพื้นที่เป็นรูปวงรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 1,210 ไร่ เป็นป่าชายเลน 430 ไร่ ที่อยู่อาศัย 370 ไร่ พื้นที่ทําการเกษตร 398 ไร่ พื้นที่ชายหาดความยาว 4 กิโลเมตร จํานวน 12 ไร่
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อตันหยงละไม้
- ทิศใต้ ติดต่อ หมู่บ้านกาแบง
- ทิศตะวันออก ติดต่อ ป่าชายเลนและคลองสุไหงโต๊ะ
- ทิศตะวันตก ติดต่อ ทะเลอันดามัน
มีถนนสายหลักจากค่ายทหารผ่านสถานที่สําคัญในหมู่บ้าน ได้แก่ โรงเรียนบ้านบุโบย องค์การบริหารส่วนตําบล มัสยิด โรงเรียนคุรุสัมพันธ์ ไปจรดชายหาด ทั้งนี้มี คลองสาขาจากคลองละงูไหลผ่านบริเวณหมู่บ้านจํานวน 3 สายคือ คลองละงู คลองหาดแดง และคลองกาแบง
ป่าชายเลน
ป่าชายเลนบ้านบุโบยตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีเนื้อที่ประมาณ 297 ไร่ มีลักษณะคล้ายรุปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในป่าชายเลนบ้านบุโบยมีคลองขนาดเล็กอยู่ 2 สาย ชาวบ้านเรียกว่า คลองคง และคลองบ่อกุ้ง
ป่าชายเลนเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านบุโบย ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากพืชพรรณในป่าชายเลนเมากมาย อีกทั้งยังช่วยกำบังลมในในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกันยายน ซึ่งหน้ามรสุม ต้นไม้บางชนิดในป่าชายเลนสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างโป๊ะเพื่อจับปลาบริเวณชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญ และเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านในช่วงลมมรสุม ซึ่งไม่สามารถออกทะเลได้
ชายหาดบ้านบุโบย
พื้นที่ชายหาดบ้านบุโบยมีลักษณะดินเป็นดินทรายปนดินเลน ชายหาดยาวจรดหมู่บ้านสนกลาง สนใหม่ มีความยาวประมาณ 4 กิโลเมตร ปัจจุบันมีพื้นดินงอกเพิ่มตลอดแนว ดินงอกเพิ่มมาประมาณ 5 เมตร
ความสําคัญของชายหาด คือ เป็นที่พักเรือช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนเมษายน และเป็นแหล่งหาอาหารของชุมชน โดยชาวบ้านจะใช้ประโยชน์โดยการหาหอยท้ายเภา หอยหวาน แมงดา เก็บวัสดุที่ลอยมาจากทะเล เช่น พลาสติก เชือก เปลือกหอย เพื่อนําไปขายซึ่งเป็นการเพิ่มอาชีพให้กับคนในหมู่บ้าน ทําโป๊ะน้ำตื้น และยังมีซากอินทรียวัตถุที่ลอยมาทับถมซึ่งสามารถเอามาทําปุ๋ยใช้ในการเกษตร ชาวบ้านเรียกกันว่า ราน
ลักษณะเด่นของชายหาดบ้านบุโบย คือเป็นที่ตากอากาศ และสามารถยืนชมเกาะใกล้เคียงได้ถึง 19 เกาะ เช่น เกาะเภตรา เกาะบุโหลน เกาะสาม เกาะตะรุเตา ฯลฯ ชมพระอาทิตย์ตกน้ำ จัดกิจกรรมแข่งม้า ฟุตบอลชายหาด มีแมงคาขึ้นบริเวณบริเวณชายหาดเวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในคืนเดือนหงาย
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านบุโบย
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านบุโบย มีหน้าที่ในการเผยแพร่กฎกติกาชุมชนแก่ชาวประมงต่างถิ่นที่เข้ามาหาปลาในพื้นที่ชายหาดบ้านบุโบย รวมถึงนักท่องเที่ยวผ่านการทำกิจกรรมท่องเที่ยวของชุมชน โดยได้ดำเนินกิจกรรมสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีทางศาสนาและความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนบ้านบุโบย ตลอดจนสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนในหมู่บ้านให้เกิดสำนึกรักและหวงแหนวัฒนธรรมของตนเอง
ข้อมูลประชากรจากองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมสน ปี พ.ศ. 2565 ระบุถึงจำนวนประชากรที่มีชื่อปรากฏในทะเบียนราษฎร์บ้านบุโบย หมู่ที่ 3 ทั้งสิ้น 310 ครัวเรือน 1,017 คน จำแนกเป็นประชากรชายจำนวน 508 คน และประชากรหญิง 563 คน
การประกอบอาชีพ
ชาวบ้านบุดโบยส่วนใหญ่มีอาชีพการทำประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลัก เช่น อวนปลาทราย อวนปลาทู เก็บหอยท้ายเภา นอกจากนี้ยังมีการวางไซหมึก ไซปูม้า ตกปลา ตกปูดํา และเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งสามารถทำได้ตลอดทั้งปี
สืบเนื่องจากลักษณะที่ตั้งของบ้านบุโบยที่ตั้งอยุ่บริเวณริมชายฝั่งทะเล อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ชายหาดบ้านบุโบยสามารถมองเห็นทัศนียภาพของเกาะต่าง ๆ ได้ถึง 19 เกาะทั่วจังหวัดสตูล ปัจจุบันบ้านบุโบยจึงได้มีความพยายามที่จะพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มีการจัดกิจกรรมหลากหลายไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่น การล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวประมง ฯลฯ ซึ่งการเข้ามาของนักท่องเที่ยวนับว่าเป็นการนำรายได้และเงินหมุนเวียนจำนวนมากเข้ามาสู่ชุมชนบ้านบุโบย
กลุ่มเรือใบกับการท่องเที่ยวบ้านบุโบย
กลุ่มเรือใบกับการท่องเที่ยวชุมชนบุโบย เป็นกลุ่มองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลดต้นทุการทำประมงพื้นบ้านของคนในชุทชนบ้านบุโบย และส่งเสริมการลดภาวะโลกร้อนด้วยการใช้พลังงานลมในการขับเคลื่อนเรือแทนการใช้น้ำมัน อีกทั้งยังเป็นพาหนะในการนำพานักท่องเที่ยวเยี่ยมชมชุมชน ชมทัศนียภาพทางทะเล และวิถีชีวิตการทำประมงพื้นบ้านของชาวประมงบ้านบุโบย
ชาวบ้านกุโบยส่วนใหญ่ ซึ่งมากถึงร้อยละ 98 ของจำนวนประชากร นับถือศาสนาอิสลาม และเคร่งครัดเรื่องการปฏิบัติตามหลักศาสนา โดยเฉพาะวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ ดังนี้
- วันอาซูรอ หมายถึง การนําอาหารหรือเครื่องปรุงหลายชนิดมาผสมในที่เดียวกัน เรียกว่า การกวนอาซูรอ ตรงกับวันที่ 1 ของเดือนมูฮัรรอม (ตามปฏิทินอิสลาม) ซึ่งการกวนอาชูรอมีนัยคือการระลึกถึงท่านนาบีนุช
- เมาลิดีนนาบี เป็นระลึกถึงวันเกิดของท่านนาบีมูฮ์หมัด ปัจจุบันบ้านบุโบยร่วมกันทําบุญอยู่ในช่วงเดือนรอบีอุลเอาวัล (เดือน 3 ในปฏิทินอิสลาม) พิธีกรรมจะมีการสรรเสริญท่านศาสดา และกล่าวปัตสัญญี (ชีวประวัติ) จบด้วยการขอดุอาร์ แล้วรับประทานอาหารร่วมกัน
- การโกนผมไฟ เป็นการโกนผมเด็กแรกเกิดเพื่อขจัดสิ่งไม่ดีออกไป และสร้างสิริมงคลแก่เด็ก
- การเข้าสุนัต หรือเข้าอิสลาม คือ การขลิบอวัยวะเพศชาย เพื่อจะถือว่าได้เป็นอิสลามโดยสมบูรณ์ โดยปกติจะขลิบตั้งแต่ตอนอายุ 7 ขวบ หรือก่อนที่จะบรรลุนิติภาวะ
- การถือศีลอด คือการอดอาหารตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนตะวันลับขอบฟ้าในเดือนรอมฎอน (ตามปฏิทินอิสลาม) และลดละอบายมุขทั้งหลายและเลิกปฏิบัติสิ่งไม่ดีทั้งมวล
แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านบุโบยจะนับถือศาสนาอิสลาม ส่งผลให้วัฒนธรรมของศาสนาอิสลามมีฐานะเป็นวัฒนธรรมหลักของชาวบ้านบุโบย แต่ทั้งที้ ชาวพุทธในหมู่บ้านที่แม้จะมีจำนวนเพียงร้อยละ 2 ก็ยังคงปฏิบัติศาสนกิจ และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมตามแนวทางของศาสนาพุทธอยู่อย่างสม่ำเมอ โดยประเพณีสำคัญที่ชาวพุทธหมู่บ้านบุโบยปฏิบัติเป็นประจำทุกปี เช่น ประเพณีวันสงกรานต์ ประเพณีสารทเดือนสิบ หรือประเพณีชิงเปรต ฯลฯ
ภูมิปัญญา : การผูกอวน
วิธีผูกอวน จะใช้เชือกขนาด 4 มิลลิเมตร ด้านบนของอวนสอดในเนื้ออวน 1 เส้น และอีก 1 เส้นใช้ลูกทุ่นตามขนาดที่ต้องการแล้วนํามาผูกติดกันให้ตรงกับตาใหญ่ นับไปตามช่วงของตา แล้วผูกอีกครั้งจนหมดเนื้ออวน ส่วนด้านล่าง (ตีนอวน) ใส่ตะกั่ว ใส่เชือก สองมิลครึ่ง เส้นหนึ่งใส่เนื้ออวน อีกเส้นหนึ่งใส่ลูกตะกั่วตามขนาดที่ต้องการ แล้วนําเชือกมาผูกติดกัน โดยให้ผูกบริเวณตาใหญ่ (ตาหัว) ของอวน แต่ด้านล่างต้องยาวกว่าด้านบนช่วงละ 1 นิ้ว นับตาใหญ่สามช่วงแล้วผูกไปจนหมดเนื้ออวน อวนทุกชนิดจะมีวิธีการผูกคล้าย ๆ กัน ยกเว้นแต่อวนกุ้งที่มี 3 ชั้น
ภูมิปัญญา : การรักษาโรค
-
ยอดฝรั่งกับลูกมะพร้าวเล็ก
เคี้ยวแล้วกลืน แก้ท้องร่วง
-
ใบมะขามกับหัวหอม
นํามาต้มแล้วอาบตอนเช้า แก้หวัด
-
แก้มกุหมอ
นํามาต้มทั้งต้นแล้วกินน้ำ รักษาฝี
-
ผักบุ้งทะเล แก้พิษแมงกะพุน
โดยนำมาขยี้แล้วทาบริเวณที่ถูกพิษ
-
ยอดตูตม (ตาตุ่ม)
นํามาเคี้ยวแล้วอม แก้เจ็บปาก
-
ยอดสวาท
นํามาบดให้ละเอียดผสมน้ำทรายแดง แล้วนํามาดื่มกิน แก้พยาธิ
ภูมิปัญญา : การถนอมอาหาร
-
ปลาเค็ม
:
นําปลามาผ่าหรือทั้งตัวแช่ในน้ำเกลือ ถ้าเป็นปลาผ่าแช่ในน้ำเกลือ 1
ชั่วโมง แต่ถ้าทั้งตัวต้องแช่ไว้ 2 คืน จึงนําออกตากแดด
-
ปลาหวาน
:
นําน้ำตาล น้ำปลา มาผสมให้เข้ากัน แล้วนําปลาที่ผ่าไว้ลงไปคลุกให้เข้าเนื้อทิ้งไว้
2 ชั่วโมง นําออกตากแดด
- มันปู-มันกุ้ง : นําน้ำต้มปูหรือต้มกุ้งกรองเอาเศษต่าง ๆ ออก แล้วตั้งไฟใส่น้ำตาล หัวหอม ตะไคร้ แล้วเคี่ยวไปจนกว่าจะข้น
- กะปิ : นำกุ้งเคยที่ได้จากทะเลมาตากแดด 1 วัน จากนั้นนำกุ้งเคยมาโขลกให้ละเอียด และนำออกตากแดดอีกครั้ง
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบุโบย. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thi.worldorgs.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].
ไหมมูน๊ะ สาเบต และคณะ. (2555). รูปแบบการจัดการทรัพยากร โดยชุมชนมีส่วนร่วบ้านบุโบย ต.แหลมสน อ.ละงู จ.สตูล. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.