Advance search

ชุมชนที่มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อันแสดงให้เห็นถึงการเสด็จประพาสต้นของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ วัดโชติทายการาม และบ้านเจ๊กฮวด มหาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม รวมไปถึงกรรมวิธีการทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิมที่ยังปรากฏให้เห็นในชุมชน

ตลาดน้ำ
ดำเนินสะดวก
ดำเนินสะดวก
ราชบุรี
มนิสรา นันทะยานา
11 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
ตลาดน้ำดำเนินสะดวก

นามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเมื่อทำการขุดคลองจนแล้วเสร็จ ได้มีการนำแผนผังคลองขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานนาม ซึ่งเมื่อทรงทอดพระเนตรแล้วทรงเห็นว่าคลองนี้มีเส้นทางตรงที่สุดกว่าคลองอื่นๆ ที่มีการขุดขึ้นในช่วงนั้น จึงได้รับพระราชทานนามว่า “ดำเนินสะดวก” 


ชุมชนชนบท

ชุมชนที่มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อันแสดงให้เห็นถึงการเสด็จประพาสต้นของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ วัดโชติทายการาม และบ้านเจ๊กฮวด มหาดเล็ก นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม รวมไปถึงกรรมวิธีการทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิมที่ยังปรากฏให้เห็นในชุมชน

ตลาดน้ำ
ดำเนินสะดวก
ดำเนินสะดวก
ราชบุรี
70130
13.519519
99.954737
เทศบาลตำบลดำเนินสะดวก

คลองดำเนินสะดวก เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นคลองที่ขุดด้วยแรงงานคน ซึ่งขุดได้ตรงและยาวที่สุดในประเทศ จากพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำท่าจีน เพื่อประโยชน์ในการคมนาคมและการค้าขาย คลองดำเนินสะดวก ใช้เวลาในการขุดประมาณ 2 ปีเศษ จากปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แล้วเสร็จต้นรัชกาลที่ 5 ทำการขุดสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีเปิดใช้คลองเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2411 มีความยาวประมาณ 32 กิโลเมตร มีซอยน้อยแยกออกไปอีกประมาณ 200 คลอง

ปัจจุบันคลองดำเนินสะดวกเป็นที่ตั้งของ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ตลาดน้ำคลองต้นเข็ม และประมาณ 30 ปีที่แล้ว ตลาดน้ำดำเนินสะดวกอยู่ที่คลองลัดพลี หนาแน่นช่วงปากคลองต่อกับคลองดำเนินสะดวก ซึ่งอยู่ตรงข้ามตลาดน้ำปัจจุบัน (ฝั่งตรงข้ามตลาดน้ำดำเนินสะดวก) มีเรือพายจากชาวสวนแน่นขนัด สามารถเดินข้ามคลองได้โดยเหยียบไปบนเรือเหล่านั้น ตัวตลาดมีมานานกว่า 100 ปี เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2510 ในภาพของตลาดลอยน้ำที่เต็มไปด้วยเรือพายลำย่อม บรรทุกสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ พ่อค้าแม่ค้าสวมเสื้อผ้าโทนสีเข้มแบบชาวสวน ใส่หมวกงอบใบลาน พายเรือเร่ขายแลกเปลี่ยนสินค้าในยามที่เส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหัวใจหลัก 

ชุมชนตลาดน้ำดำเนินสะดวกห่างจากที่ว่าการอำเภอดำเนินสะดวก ประมาณ 600 เมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี ประมาณ 55 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 95 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายัง ชุมชนตลาดน้ำดำเนินสะดวก สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถตู้

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ      ติดต่อกับ   ตำบลท่านัด
  • ทิศใต้         ติดต่อกับ   ตำบลตาหลวง
  • ทิศตะวันออก  ติดต่อกับ   ตำบลศรีสุราษฎร์และตำบลขุนพิทักษ์
  • ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ   ตำบลสี่หมื่น

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

คลองดำเนินสะดวกเป็นคลองที่เชื่อมแม่น้ำท่าจีน กับแม่น้ำแม่กลอง เรื่อมตั้งแต่ประตูน้ำบางยาง แม่น้ำท่าจีน อำเภอบ้านแห้ว จังหวัดสมุทรสาคร ถึงประตูน้ำบางนกแขวก แม่น้ำแม่กลอง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้ประชาชนในจังหวัดราชบุรี สมุทรสาครและสมุทรสงครามติดต่อถึงกันโดยสะดวกขึ้น ตลอดสองฝั่งคลองดำเนินสะดวก ที่มีความยาว 32 กิโลเมตรนี้ มีคลองซอย คลองเล็ก คลองน้อย แยกออกไปประมาณ 200 คลอง เช่น คลองสี่หมื่น คลองทองหลาง คลองโพธิ์หัก คลองขุน-พิทักษ์ คลองศรีราษฎร์ คลองลัดราชบุรี คลองฮกเกี้ยน ฯลฯ

ย่านชุมชนหรือตลาด ในอดีตตลาดเป็นศูนย์กลางชุมชนที่มีการตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่น โดยจะอยู่ตามริมคลองต่างๆ มีการปลูกบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่นสลับกับร้านค้าต่างๆ แต่ในปัจจุบันร้านค้าได้ย้ายไปอยู่ที่ตลาดเสรีและตลาดใหม่ที่เป็นศูนย์กลางชุมชนแห่งใหม่ แต่บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างยังคงมีอยู่ โดยบ้านเรือนที่อยู่ตามริมคลองจะสร้างด้วยไม้และยกพื้นใต้ถุน บ้านเรือนที่ปลูกติดกันตามคลองต่างๆ ไม่ได้สิ้นสุดลงในเขตตำบลดำเนินสะดวกเท่านั้น แต่มีพื้นที่ติดกันถึงสามตำบลคือ พื้นที่ของตำบลสี่หมื่น ตำบลท่านัด และตำบลดำเนินสะดวก ซึ่งถ้าคนในชุมชนต้องการเดินทางไปยังตำบลอื่นๆ นั้น อาจใช้คลองขนาดเล็กก็ได้ คลองต่างๆ ที่มีการตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นนั้น เป็นคลองที่สามารถใช้ประโยชน์ในการคมนาคมและการเกษตรได้ทั้งปี การคมนาคมสามารถติดต่อกับชุมชนอื่นๆได้

นอกจากพื้นที่ที่มีการตั้งบ้านเรือนอย่างหนาแน่น พื้นที่ส่วนที่เหลือจะเป็นสวนซึ่งเกษตรกรจะใช้ในการเพาะปลูกพืชสวนต่างๆ เช่น มะพร้าว มะม่วง พริก มะเขือ องุ่น มะนาว มะละกอ ฝรั่ง ผักต่างๆ เป็นต้น พื้นที่สวนของดำเนินสะดวกจะใช้ในการปลูกพืชหมุนเวียนตลอดปี เพราะชาวสวนที่นี่ปลูกพืชเพื่อการค้าเป็นหลัก ฉะนั้นพันธุ์พืชแต่ละชนิดของพืชที่ปลูกจึงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งชาวสวนจะเลือกชนิดที่ตลาดต้องการมากที่สุด

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปีพ.ศ. 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในชุมชนตลาดน้ำดำเนินสะดวก จำนวน 88 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 189 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 82 คน หญิง 107 คน ชุมชนเป็นรูปแบบชุมชนน้ำซึ่งมีรูปลักษณ์อันโดดเด่นของชุมชนดำเนินสะดวก โดยมีลักษณะเป็นชุมชนชาวสวนที่มีการพึ่งพาแหล่งน้ำในทุกๆด้าน ตั้งแต่การตั้งถิ่นฐาน การเพาะปลูก การอุปโภคบริโภค การคมนาคมขนส่ง และการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทางน้ำ โดยมีย่านการค้าริมน้ำและตลาดน้ำเป็นศูนย์รวมหลักของชุมชน

ด้านกลุ่มอาชีพ

ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร โดยปลูกพืชสวนต่างๆ เช่น มะพร้าว มะม่วง พริก มะเขือ องุ่น มะนาว มะละกอ ฝรั่ง ผักต่างๆ โดยปลูกพืชหมุนเวียนตลอดทั้งปี เนื่องจากปลูกพืชเพื่อการค้าขาย ซึ่งชาวสวนจะเลือกชนิดพืชพันธุ์ที่ตลาดต้องการ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการกิจการตลาดน้ำดำเนินสะดวกด้วย โดยภาคเอกชนจะร่วมกับชุมชนในการเข้ามาดำเนินการบริหารจัดการน้ำ เพื่อต้องการให้คนในชุมชนมีรายได้และเกิดเศรษฐกิจที่ดี ก่อให้เกิดการสร้างงานในอาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น มีการขยายตัวของธุรกิจชุมชน ซึ่งเกิดจากธุรกิจการท่องเที่ยว

ในรอบปีของผู้คนในชุมชนตลาดน้ำดำเนินสะดวก มีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ดังต่อไปนี้

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

งานประจำปี ประเพณีลุยไฟ – เดินธูป ศาลเจ้าแม่ทับทิม จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มีการแห่เจ้าแม่ทับทิมรอบตลาดดำเนินสะดวก มีการเดินธูป การเดินลุยไฟ และการละเล่นต่างๆ

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ชาวบ้านมีการทำการเกษตรปลูกพืชสวนต่างๆ สำหรับการค้าขาย และการดำเนินการกิจการตลาดน้ำดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กับวิถีชีวิตชุมชนของตลาดน้ำ เปิดบริการประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมในเวลาชาวตรู่ไปจนถึงช่วงประมาณ 12.00 น. จำหน่ายสินค้าประเภทของกิน ของใช้ และของที่ระลึกมากมาย รวมถึงสินค้าหัตถกรรม ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลัก มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติซึ่งมาแบบเป็นกรุ๊ปทัวร์ แต่มีจำนวนน้อยกว่า

หลวงพ่อเชย

เดิมมีนามว่า เชย เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2414 เมื่ออายุครบ 20 ปี ใน ปี พ.ศ. 2434 โยมบิดา – โยมมารดา จึงจัดการอุปสมบทให้ที่วัดบางคนที เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว ได้มุ่งขยันหมั่นเพียรศึกษาพระธรรมวินัย และประปริยัติธรรมอย่างเคร่งครัด จนมีความรู้เชี่ยวชาญแตกฉาน โดยทางด้านวิชาอาคมขลังได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่ช่วง วัดโชติทายการาม ภายหลังหลวงปู่ช่วงมรณภาพลง หลวงพ่อเชยท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแทน หลังจากท่านได้เป็นเจ้าอาวาส ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัด ก่อสร้างถาวรวัตถุ และเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด จนวัดมีความเจริญรุ่งเรืองมาก โดยท่านได้ใช้ความสามารถในเชิงช่าง สร้างสิ่งก่อสร้างไว้หลายอย่าง รวมทั้งใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาช่วยเหลือญาติโยม จนได้รับการยกย่องให้เป็น “เทพเจ้าแห่งดำเนินสะดวก” หลวงพ่อเชย มรณะภาพด้วยโรคชราและโรคในลำคอ เมื่อปี พ.ศ. 2495 ศิริอายุได้ 81 ปี 60 พรรษา

ทุนวัฒนธรรม

1. วัดโชติทายการาม ตั้งอยู่ติดริมน้ำ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเคยเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินต้นเมื่อ พ.ศ. 2510 วัดโชติทายการาม เป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ภายในวัดมีสิ่งสำคัญ ได้แก่ ประตูลับแล หรือประตูเสือ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านและประชาชนทั่วไปเสมือนเป็นตัวแทนองค์หลวงพ่อช่วง

ศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปรากฏในการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

พิพิธภัณฑ์วัดโชติทายการาม และพลับพลาที่ประทับเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินต้น ณ วัดโชติทายการาม ในเทศกาลออกพรรษา เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510

2. ศาลเจ้าแม่ทับทิม 138 ปี เทพเจ้าในศาลเจ้าแม่ทับทิม ประกอบด้วย องค์เจ้าแม่ทับทิมหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า แม่โต้ว หรือ โผ่วโต้ว หรือ จุ้ยบ๊วยเนี้ย และเทียนโหวเซียบ้อ หรือเจ้าแม่สวรรค์ เจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าพ่อ 108 ท่านจอมพล เจ้าแม่เทียนโห้วม๊าโจ้ว ไชเซ็งเอี๊ยกง เจ้าแม่ไท่ฮั้ว โดยเชื่อว่า ถ้าบูชาเจ้าแม่ทับทิมเวลาเดินทางจะแคล้วคลาดปลอดภัย โดยแต่เดิมผู้คนจะนิยมบูชาเวลาที่ออกเรือ ซึ่งองค์เจ้าแม่ทับทิมที่ประดิษฐานอยู่ภายในศาลเสด็จมาทางเรือจากเมืองจีนเมื่อประมาณ 170 กว่าปีมาแล้ว

3. บ้านเจ๊กฮวด มหาดเล็ก ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ต.ดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งแต่ก่อนบ้านหลังนี้เคยเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 5 ขณะที่พระองค์เสด็จประพาสต้นผ่านคลองดำเนินสะดวก ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 โดยมาจอดพักกระบวนเรือประทับแรมที่วัดโชติทายการามในตอนบ่าย และพระองค์ท่านก็นำเรือเล็กออกมาดูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน พระองค์ท่านล่องเรือมาจนถึงบ้านนางผึ้ง แซ่เล้า เมื่อนางผึ้งเห็นเรือคนแปลกหน้า ก็เข้าใจว่าเป็นพวกขุนนางจึงแสดงความมีน้ำใจ เชื้อเชิญให้แวะที่บ้านและชวนทานข้าว พระองค์จึงเสด็จขึ้นประทับบนบ้าน ขณะนั้นลูกชายของนางผึ้ง แซ่เล้า คือ นายเจ๊กฮวด ได้ยกสำรับใส่กับข้าวมาต้อนรับ และจ้องมองตอนที่พระองค์กำลังเสวยอาหาร เมื่อมองก็จำได้ว่าพระองค์ท่านคือในหลวง จึงนำผ้าขาวม้าปูกราบพระองค์ท่าน นางผึ้งเห็นลูกชายกราบจึงได้ทราบ พระองค์จึงตรัสชมเจ๊กฮวดว่า ฉลาดและตาแหลมดี จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายเจ๊กฮวด แซ่เล้า เป็นมหาดเล็กตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันเจ๊กฮวด มหาดเล็กได้ถึงแก่กรรมแล้ว คงเหลือแต่ลูกหลานที่ยังคงเก็บรักษาร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะมีการปรับปรุงและต่อเติมตัวเรือนบ้างในบางส่วน แต่ก็ยังเก็บรักษาถ้วยชาม และตู้ใส่กับข้าวมาจัดแสดง เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลัง และผู้สนใจหรือนักท่องเที่ยว ได้ศึกษาค้นคว้าและเยียมชมบ้านเจ๊กฮวด มหาดเล็ก ที่เป็นสถานที่ประทับของรัชกาลที่ 5 ในขณะนั้น

4. อาหาร ในพื้นที่ชุมชนตลาดน้ำดำเนินสะดวกยังพบการทำน้ำตาลจากดอกมะพร้าว ด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในพื้นที่มาเป็นเวลาช้านาน สามารถนำมาประกอบอาหารไทยได้ทั้งคาวและหวาน กระบวนการผลิตเริ่มจากการเก็บน้ำตาลสดจากในสวน มาด้วยการเคี่ยวในกระทะบนเตาไฟ เมื่อได้ที่แล้วจึงนำกระทะลงจากเตาแล้วหยอดน้ำตาลมะพร้าวลงในภาชนะ หรือ หยอดน้ำตาลมะพร้าวเป็นแว่น (น้ำตาลก้อน) โดยกระบวนการทำน้ำตาลจากดอกมะพร้าวในชุมชนตลาดน้ำดำเนินสะดวก สามารถชมการสาธิตการทำน้ำตาลมะพร้าวได้ที่สวนน้ำตาลบังเละ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การท่องเที่ยวได้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ขึ้นในชุมชนตามมาด้วย เช่น ปัญหาในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค ปัญหาในเรื่องความขัดแย้งด้านการแบ่งผลประโยชน์ของชุมชน ปัญหาในเรื่องของอาชญากรรม ปัญหาในเรื่องของการอพยพย้ายถิ่นฐาน ปัญหาในเรื่องที่ชุมชนถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมถึงปัญหาทางด้านมลภาวะและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศภายในชุมชน เป็นต้น


จุดเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการเปิดโลกคมนาคม และโลกธุรกิจของชุมชน จึงทำให้ระบบถนนเข้ามามีอิทธิพลแทนโครงข่ายทางน้ำ และส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรวม หลายประการ ดังนี้

  • รูปแบบชุมชนเปลี่ยนแปลงไป เกิดการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางชุมชนจากย่านการค้าริมน้ำมาริมถนน
  • ตลาดน้ำลดบทบาทความเป็นศูนย์กลางการค้าให้กับชุมชนลง และปรับสภาพตลาดน้ำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามกระแสวัฒนธรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อรูปแบบกิจกรรมของตลาดน้ำในปัจจุบัน
  • กิจกรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมถูกปรับเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งยังคงเป็นธุรกิจเพื่อชุมชน อีกส่วนหนึ่งกลายเป็นธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากชุมชนน้ำเป็นชุมชนบก ทำให้ความสัมพันธ์ของชุมชนกับตลาดน้ำมีการพึ่งพากันน้อยลง ซึ่งเป็นภาวะเดียวกันกับที่วัฒนธรรมท้องถิ่นภายในสังคมตลาดน้ำกำลังถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมท่องเที่ยว จึงยิ่งเป็นผลทำให้เกิดความสูญเสียเอกลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนตลาดน้ำดำเนินสะดวกไป

ด้านความท้าทายของชุมชน ชุมชนตลาดน้ำดำเนินสะดวกเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบัน วิถีการดำเนินชีวิตชุมชนริมคลองดำเนินสะดวกเปลี่ยนไปจากอดีตทำให้มีการใช้ประโยชน์จากลำคลองน้อยลง การสัญจรเปลี่ยนจากการใช้เรือเป็นรถยนต์ ผู้คนละเลยการดูแลรักษาลำคลอง ปัจจุบันคลองดำเนินสะดวกถูกใช้เพื่อการเกษตรเป็นหลัก ยิ่งทำให้สภาพน้ำในคลองมีคุณภาพที่ต่ำลง ไม่สามารถใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้เช่นเคย เกิดปัญหาน้ำเสีย เส้นทางระบายน้ำเริ่มอุดตัน น้ำไม่สามารถระบายได้ ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเกิดขึ้นจากหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองท้องถิ่นฝ่ายเดียว นอกจากการขุดคลองที่ยังไม่ต่อเนื่องในการดำเนินงาน ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่สะสมมาได้ ภายหลังจึงได้มีการศึกษาปัญหาและพัฒนารูปแบบการฟื้นฟูจัดการคลองดำเนินสะดวกให้มีความยั่งยืน โดยมีการศึกษาปัญหาและพัฒนารูปแบบการจัดการฟื้นฟูคลองดำเนินสะดวกจากปัญหาน้ำเสียร่วมกันในชุมชนระหว่างคนในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ออกแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ฟื้นฟูคลองโดยชุมชนเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกของชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในการรักษาคุณภาพน้ำคลองดำเนินสะดวก

ในชุมชนตลาดน้ำดำเนินสะดวก มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น สวนน้ำตาลบังเละ ดอกไม้ผ้าใยบัว และข้าวทอดกระทงทอง

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2566, จาก: https://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.

กระทรวงวัฒนธรรม. วัดโชติทายการาม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2566, จาก: https://moral.m-culture.go.th/moralcommunity/วัดโชติทายการาม/.

ปราจิน เครือจันทร์. ดำเนินสะดวก: คลองสำคัญในประเทศไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2566, จาก: https://www.finearts.go.th/ratchaburimuseum/view/21799-ดำเนินสะดวก---คลองสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย.

วิญญา สอยเหลือง และคณะ. (2559). รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยการจัดการ คลองเพื่อสร้างนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คลองดำเนินสะดวก. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย: กรุงเทพฯ.

สำนักงานเทศบาลตำบลดำเนินสะดวก. (2564). สถานที่สำคัญ. (ออนไลน์) สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2566, จาก: https:// damnoensaduak.go.th/public/list/data/index/menu/1173.

สุรชัย คุณทรงคุณากร. (2556). การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน : ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างตลาด น้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสมคราม และตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี. ภาคนิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการสาธารณะ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.