Advance search

วัดประดิษฐาราม

บ้านมอญ

ชุมชนมอญที่อพยพมาจากเมืองทวายและมะริด ยังคงนับถือพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น ภายในชุมชนวัดประดิษฐาราม มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระนอน

ถนนอิสรภาพ
หิรัญรูจี
ธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
ชุติมา คล้อยสุวรรณ์
10 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
15 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
วัดประดิษฐาราม
บ้านมอญ

เหตุที่เรียกว่าบ้านมอญเพราะเป็นชุมชนมอญชาวเมืองทวายและเมืองมะริดที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


ชุมชนมอญที่อพยพมาจากเมืองทวายและมะริด ยังคงนับถือพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น ภายในชุมชนวัดประดิษฐาราม มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระนอน

ถนนอิสรภาพ
หิรัญรูจี
ธนบุรี
กรุงเทพมหานคร
10600
วัดประดิษฐาราม โทร. 0-2466-5558, สำนักงานเขตธนบุรี โทร. 0-2465-2089
13.7341
100.4876
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนวัดประดิษฐารามหรือที่เรียกกันมาแต่เดิมว่า “บ้านมอญ” คือบริเวณที่อยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เหตุที่เรียกว่าบ้านมอญเพราะเป็นชุมชนมอญชาวเมืองทวาย และเมืองมะริด ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นมอญรุ่นสุดท้าย ก่อนรุ่นนี้คือมอญปากลัด หรือมอญพระประแดง สาเหตุที่เข้ามาในครั้งนี้เนื่องจากพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่ากล่าวหาว่ามอญทั้งสองเมืองเป็นกบฏ จึงจับมอญทั้งสองเมืองประหารชีวิตด้วยวิธีการอันทารุณ ชาวมอญนี้จึงหนีภัยเข้ามาในประเทศไทย มอญปากลัดหรือมอญพระประแดงแรกที่อพยพเข้ามา สมัยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี

ส่วนมอญชาวเมืองทวายและเมืองมะริดโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ที่วัดละมุด บริเวณสะพานพระราม 6 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์แล้วเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มอญที่อยู่ในเมืองนนทบุรีไปอยู่ที่นครเขื่อนขันธ์ ปัจจุบันคืออำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มอญกลุ่มนี้จึงได้ชื่อและรู้จักกันในนามมอญปากลัด หรือมอญพระประแดง เรียกตัวเองว่า มอญใหม่ บริเวณสะพานพระรามหก เดิมมีโรงเรือหลวง โดยที่เมืองทวายและเมืองมะริดเป็นเมืองชายทะเล ชาวเมืองมีความชำนาญในการเดินเรือเมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจึงโปรดเกล้าฯ ให้พวกผู้ชายเข้ารับราชการเป็น ฝีพายหลวง ต่อเมื่อย้ายโรงเรือหลวงไปอยู่ในคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง คือบริเวณตั้งแต่ปาก คลองวัดบุปผารามหรือวัดดอกไม้ไปจนถึงปากคลองบางไส้ไก่ มอญชาวเมืองทวายและเมืองมะริดจึงต้องย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่โรงเรือหลวงแห่งใหม่ทำให้เกิดชุมชนมอญ ณ ที่นี้ เรียกกันว่า “บ้านมอญ” ปัจจุบันเรียก อย่างเป็นทางการว่า “ชุมชนวัดประดิษฐาราม” 

เมื่อมีชุมชนเกิดขึ้นสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ วัด เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลร่วมกัน หรือเป็นที่พบปะกันในโอกาสอันควร วัดที่ชาวมอญสร้างไว้ในชุมชนเรียกกันมาแต่เดิมว่า “วัดมอญ” หรือ “วัดรามัญประดิษฐ์" ชื่ออย่างเป็นทางการในขณะนี้คือ วัดประดิษฐาราม การกำหนดเขตชุมชนแบ่งกันอย่างง่าย คือเอาวัดเป็นศูนย์กลาง ชุมชนที่อยู่ใกล้วัดเรียก “หัวบ้าน” ที่ไกลออกไปจนสุดเขตของชุมชนเรียก ท้ายบ้าน หรือท้ายบ้านมอญ โดยหัวบ้านมอญแต่เดิมมีสภาพเป็นเกาะ ไม่ว่าจะเป็นคลองข้างวัด มีลักษณะเป็นคลองเล็ก ๆ แยกจากคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ ตรงเสาหงส์ และท่าน้ำของวัดไปเชื่อมกับคลองบ้านสมเด็จหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คลองนี้ไม่มีชื่อเฉพาะ ทางการได้ถมคลองนี้ทำถนนทั้งหมดกลายเป็นถนนเข้าวัด

คลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง เริ่มจากท่าน้ำของวัดล่องขึ้นไปจนถึงปากคลองบางไส้ไก่ (อยู่ตรงข้ามศาลาท่าน้ำวัดสังข์กระจายหลังสุดท้าย) เลี้ยวเข้าคลองบางไส้ไก่ ระยะทางประมาณ 20 - 80 เมตร ไปบรรจบกับปากคลองบ้านสมเด็จ ตรงจุดนี้เดิมมีสะพานไม้สูงทอดข้าม ทว่าคลองบางไส้ไก่เชื่อมระหว่างหัวบ้านมอญกับท้ายบ้านมอญ ได้ถูกรื้อลงสร้างเป็นสะพานคอนกรีตแคบ ๆ กับมีประตูระบายน้ำของกรุงเทพมหานครอยู่ตรงนี้ เมื่อเลี้ยวเข้าคลองบ้านสมเด็จ เปรียบเสมือนแนวเขตระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยากับบ้านมอญไปบรรจบกับปากทางเข้าวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นคลองซอยท้ายวัด เมื่อคลองซอยด้านนี้เปลี่ยนสภาพเป็นถนน หัวบ้านมอญที่เคยมีสภาพเป็นเกาะจึงเปลี่ยนไปด้วย ถนนเข้าวัดที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ปากทางด้านขวามือเป็นอดีตบ้านพระยาราชเวสม์ผดุง (สาย สายะวิบูลย์) ตึกเดิมทางทายาทได้รื้อลงหมดแล้ว เมื่อเดินเข้ามาจนถึงประตูแรกของวัด ฝั่งตรงข้ามเป็นซอยออกสู่ถนนอิสรภาพ ซอยนี้เดิมเป็นคลองซอย หรือลำกระโดงแยกจากคลองข้างวัดไปเชื่อมกับคลองวัดบุปผารามได้ ทางการได้ถมคลองซอย หรือลำกระโดงตรงนี้ทำถนนด้วยการถมทรายชาวบ้านเรียกกันเองว่า “ตรอกทราย” ปัจจุบันคือ ซอยอิสรภาพ 13/1 จากประตูวัดแห่งแรกเดินเลยไปถึงประตูที่สอง เยื้องประตูฝั่งขวามือจะเห็นเป็นลานจอดรถเล็ก ๆ สภาพเดิมตรงนี้เป็นคลองชักน้ำเข้าไปในบ้านพระยาลักษณะสุตสุนทร (เหลี่ยม ลักษณะสุต) มีสะพานคอนกรีตเล็ก ๆ ทอดข้ามจากฝั่งวัดมอญไปยังซอยเล็ก ๆ อีกฝั่งหนึ่งที่ขนานไปกับคลองชักน้ำ โดยล้อมบ้านพระยาลักษณะสุตสุนทรไปบรรจบกับซอยโรงเรียนประสาทศิลป์เชิงสะพานคอนกรีตที่ทอดข้ามมาจากฝั่งวัดมอญเป้นบ้าน พระประชากรบริรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล) ต่อด้วยบ้านหลวงประคุณวิชาสนอง (ยุทธ์ กาญจนัษฐิติ) บ้านหลวงสมิตะพินทุ (เปลี่ยน สมิตพินทุ) ภรรยาชื่อ คุณนายน้อม บ้านคุณหญิงนาม ภรรยาพระยาเฉลิมอากาศ (สุนี สุวรรณประทีป) คุณนายน้อมกับคุณหญิงนวมเป็นน้องพระยาลักษณะสุต สุนทร ต่อจากบ้านคุณหญิงนวมเป็นบ้านนายทหารเรือ 

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติตต่อกับถนนคลองถม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับบ้านเรือนของเอกชน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับทางสาธารณะ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับคลองบางหลวง

ไม่สามารถระบุจำนวนประชากรได้แน่ชัด จากข้อมูลพบว่าประชากรส่วนใหญ่ภายในชุมชนมีเชื้อสายมอญปากลัด หรือมอญพระประแดง และในปัจจุบันพบว่า มีแรงงานมอญสัญชาติพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนรอบวัดประดิษฐารามเพิ่มขึ้น เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมมอญผ่านกาลเวลา 2 ยุคสมัย โดยชาวมอญในชุมชนวัดประดิษฐารามมีฝีมือทางด้านทหารเรือ และได้รับราชการสังกัดกองเรือในสมัยโบราณ มีหลักฐานเป็นซากเรือโบราณอยู่ภายในวัด

มอญ

ชุมชนวัดประดิษฐารามมีการรวมกลุ่มกันแบบทางการและไม่ทางการ ดังนี้

กลุ่มเป็นทางการ

ชุมชนประดิษฐารามมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนวัดประดิษฐาราม เพื่อดำเนินการจัดการบริหาร เช่น กิจกรรมภายในชุมชน และการทำนุบำรุงซ่อมแซมชุมชน เป็นต้น มีการเปิดช่องชุมชนวัดประดิษฐารามบนเพจเฟสบุ๊คเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์และแถลงผลงานของการทำงานของคณะกรรมการชุมชนวัดประดิษฐาราม ให้ชาวบ้านได้ทราบ

กลุ่มไม่เป็นทางการ

กลุ่มศรัทธาวัด วัดในชุมชนมอญใช้บทสวดและบทเทศน์เป็นภาษามอญ ซึ่งยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้ นอกจากจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีแล้ว มอญยังมีความเชื่อและการนับถือผีอยู่ วัดประดิษฐารามสร้างเมื่อ พ.ศ. 2293 เดิมเป็นวัดไทย มีกุฏิพระเป็นฝาไม้ไผ่ขัดแตะ แต่เมื่อชาวมอญมาอาศัยอยู่บริเวณนี้และได้ทำนุบำรุงวัดจึงกลายเป็นวัดมอญในที่สุด 

ในอดีตชาวมอญในชุมชนวัดประดิษฐารามมักประกอบอาชีพทำหน้าที่เป็นพวกฝีพายเรือหลวง เดิมเป็นชาวมอญที่เคยอยู่แถวเมืองทะวายและเมืองมะริด ซึ่งมีความชำนาญทางเรือ เมื่อมีความชำนาญทางเรือมาแต่เดิม ทางฝ่ายไทยจึงให้มารับราชการทางเรือหลวง โรงเรือหลวงจะอยู่ในบริเวณสะพานพระรามหก เมื่อได้มีการย้ายโรงเรือหลวง จากสะพานพระรามหกมาอยู่ที่คลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่) ตรงบริเวณปากคลองวัดบางไส้ไก่ จนเกือบถึงวัดกัลยาณมิตร (บริเวณปากคลองวัดบุปผาราม) เลยไปทางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบ้านเจ้าพระยารัตนบดินทร์ สันนิษฐานว่า พวกมอญจากบริเวณวัดบางละมุดเหนือ คงจะย้ายตามมาสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณโรงเรือหลวง ซึ่งโรงเรือหลวงที่ว่านี้ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก คือฝั่งเดียวกันกับที่ตั้งของวัดบางไส้ไก่ ในปัจจุบันโรงเรือหลวงดังกล่าว ที่อยู่ตรงข้ามเยื้อง ๆ กับวัดสังขจายที่หลงเหลือสภาพพื้นที่เดิมเพียงนิดเดียว ภายหลังกลายเป็นโรงเรือของกรมสรรพากร ยังคงมีโรงเรือนที่พักของข้าราชการกรมสรรพากรเหลืออยู่ 2 - 3 หลัง แต่ตัวโรงเรือนซึ่งเป็นไม้มุงด้วยกระเบื้องดินแดงได้ถูกรื้อไปหมดแล้ว

วิถีชีวิตด้านวัฒนธรรม

  • สงกรานต์ปากลัด เป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญคล้ายคลึงกับประเพณีสงกรานต์ทั่ว ๆ ไป แต่ที่เห็นว่าแตกต่างจากประเพณีสงกรานต์อื่น ๆ คือ การจัดงานสงกรานต์พระประแดงจะช้ากว่าวันสงกรานต์ปกติ คือแทนที่จะจัดในวันที่ 13 เมษายน กลับเป็นวันอาทิตย์ต่อถัดจากวันสงกรานต์อีกหนึ่งสัปดาห์ อย่างเช่นในปีนี้ (พ.ศ. 2546) สงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายน แต่สงกรานต์พระประแดงจะจัดหลังจากวันสงกรานต์ 1 อาทิตย์
  • การละเล่นสะบ้าทอย การแข่งขันสะบ้าทอยการแข่งขันกันเพียงทีมละ 1 คนเท่านั้น โดยการจับฉลากว่าใครจะอยู่ด้านเหนือลมหรือใต้ลม หนุ่ม ๆ ที่ลงเล่นสะบ้าทอยแต่ละครั้งจะต้องแต่งกายด้วยเสื้อลายดอกหลากสี และที่สำคัญต้องนุ่งผ้าลอยชาย

1. คุณเสมียนนุ่ม ลักษณสุต มีตำแหน่งสำคัญในราชการ คือเป็นตำแหน่งบัญชีพลทหารเรือ เมื่อขณะป่วยและถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้เสด็จมาเยี่ยม และพระราชทานเพลิงศพทั้งสองพระองค์ ตระกูลนี้จึงเป็นตระกูลที่รุ่งเรืองมั่งคั่งมาก และมีบุตรหลานเป็นพระยาหลายคน

2. พระครูปริยัติวรานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดประดิษฐาราม เป็นพระครูสัญญาบัตร เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ

วัดประดิษฐาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2293 เดิมเป็นวัดไทย มีกุฏิพระเป็นฝาไม้ไผ่ขัดแตะ แต่เมื่อชาวมอญมาอาศัยอยู่บริเวณนี้และได้ทำนุบำรุงวัดจึงกลายเป็นวัดมอญในที่สุด เมื่อมีชุมชนเกิดขึ้นสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือวัด เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลร่วมกัน หรือเป็นที่พบปะกันในแต่ละโอกาส วัดที่ชาวมอญสร้างไว้ในชุมชนจึงเรียกกันมาแต่เดิมว่า “วัดมอญ” หรือ “วัดรามัญประดิษฐ์”  ชื่ออย่างเป็นทางการในขณะนี้คือ “วัดประดิษฐาราม”  

โบสถ์เป็นโบสถ์ขนาดเล็กมีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเป็นไม้พื้นเรียบ เซาะร่องทำลายประดับกระจกสีอย่างลายเครือเถาดอกพุดตาน มีวิหารหลังเล็กอยู่ข้างโบสถ์ หน้าบันวิหารเป็นลายปูนปั้นเครือเถา กรอบหน้าบันด้านล่าง ปั้นรูปนกในท่าเอี้ยวตัว  1 ตัว ซ้ายมือของโบสถ์เป็นระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ที่ดินหลังระเบียงคดพระพุทธไสยาสน์เป็นวังพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ระเบียงคดเดิมมุงด้วยกระเบื้องหางปลา ต่อมาได้รื้อลงมุงด้วยสังกะสีลอนเล็กแทน วัดมีเจดีย์บรรจุอัฐิน้อยใหญ่ 4–5 องค์ เป็นเจดีย์ทรงไทยย่อมุมไม้สิบสอง ด้านหลังโบสถ์มีเจดีย์มุมละ 1 องค์ คงเหลือเพียงองค์เดียว เป็นเจดีย์ทรงไทยย่อไม้สิบสองเช่นเดียวกัน

ประชาชนใช้ภาษามอญในการติดต่อสื่อสารเป็นหลัก 


ชุมชนวัดประดิษฐารามแต่เดิมแบ่งเป็น 3 ส่วน คือหัวบ้าน กลางบ้าน และท้ายบ้าน ซึ่งหัวบ้านและท้ายเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน และมีคลองบางไส้ไก่ขวางอยู่ ส่วนกลางบ้านเดิมอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีคลองบ้านสมเด็จ หรือคลองสมเด็จผ่านกลางระหว่างหัวบ้านกับกลางบ้าน ซึ่งในระหว่างนั้นได้มีกลุ่มชนมอญอาศัยอยู่ ด้วยเหตุที่ทางการต้องการขยายพื้นที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทำให้กลุ่มคนที่อาศัยอยู่บริเวณกลางบ้านต้องย้ายมาอยู่ที่หัวบ้านแทน หลังจากนั้นกลางบ้านต้องสลายไป เหลือเพียงชุมชนหัวบ้านและท้ายบ้านที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน ภายหลังทางการได้จัดเขตการปกครองใหม่ จึงได้ตัดท้ายบ้านให้ไปขึ้นอยู่ในการปกครองของชุมชนวัดใหญ่ศรีสุพรรณแทน ดังนั้นในปัจจุบันจึงเหลือเพียงหัวบ้านมอญ

ชาวมอญในชุมชนวัดประดิษฐารามมีฝีมือทางด้านทหารเรือ และมีบ้านใกล้เรือนเคียงเป็น “บ้านลาว” และ “บ้านแขก” ซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน เชื่อว่าล้วนทำงานอยู่ใต้บังคับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

คณะกรรมการชุมชนวัดประดิษฐาราม. (2562). ชุมชนวัดประดิษฐาราม. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://www.facebook.com/

นายท่องเที่ยว. (2564). วัดมอญ (วัดประดิษฐาราม). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://th.trip.com/

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2549). ฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/ethnicredb/

njoy. (2552). ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก http://www.openbase.in.th/