หลวงพ่อโตเลิศล้ำ วัฒนธรรมล้ำค่า พัฒนาดีเด่น
ก่อนการก่อตั้งหมู่บ้าน บริเวณนี้เดิมทีอยู่ทางชายทุ่งทิศตะวันออกของหมู่บ้านเดิม ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “นอก” ภายหลังชาวบ้านย้ายออกจากหมู่บ้านเก่ามาสร้างบ้านเรือนถิ่นฐานในพื้นที่ฝั่งนี้จึงเรียกว่า “บ้านนอก”
หลวงพ่อโตเลิศล้ำ วัฒนธรรมล้ำค่า พัฒนาดีเด่น
บ้านนอก ตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เดิมพื้นที่แห่งนี้เรียกว่า "นอก" เนื่องจากอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านเก่า เช่น บ้านกร่ำ บ้านซาดโดน บ้านเนินค้อ และเมื่อประชาชนย้ายออกจากชุมชนเดิม ก็ได้มาทำมาหากินอยู่ชายทุ่งทางด้านทิศตะวันออก ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านนอก” มาจนปัจจุบัน
ชุมชนบ้านนอก อยู่ห่างจากอําเภอแกลง ประมาณ 12 กิโลเมตร การคมนาคมสัญจรไปมาส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งการคมนาคมติดต่อกันระหว่างหมู่บ้านกับอําเภอแกลง สามารถติดต่อได้ 2 เส้นทาง คือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) และทางหลวงจังหวัด หมายเลข 3161 (แกลง-สุนทรภู่) โดยมีทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3163 (เนินดินแดง-สุนทรภู่) เป็นถนนลาดยางผ่านตําบลสองสลึง บ้านนอกมีถนนลาดยางจากอําเภอแกลงถึงหมู่บ้านนอก มีถนนภายในหมู่บ้านเป็นถนนลาดยาง รวม ระยะทางทั้งสิ้น 2.9 กิโลเมตร และเป็นถนนลูกรัง ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร ใช้ขนส่งสินค้าการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
สถานที่สำคัญ
วัดเขากะโดน เป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชนบ้านนอกในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมชุมชนต่าง ๆ รวมถึงเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดเขากะโดน
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดเขากะโดน (ศรช.) เนื่องจากชุมชนบ้านนอกได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา โดยมีพระครูพิทักษ์วิริยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขากะโดนในขณะนั้นเป็นผู้ริเริ่มโครงการการศึกษา โดยใช้สถานที่ของวัดเขากะโดนเป็นที่ให้ความรู้ ต่อมา พ.ศ. 2537 ได้มีการริเริ่มการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ โดยมีการรวมกลุ่มของชาวบ้าน เรียกว่า สถานที่พบกลุ่ม กศน. วัดเขากะโดน (การนัดพบกลุ่มจะเป็นการนัดกันมาเรียนของคนในตําบลชากโดน) พ.ศ. 2542 ได้เปลี่ยนชื่อสถานที่พบกลุ่มวัดเขากะโดน เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดเขากะโดน โดยเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาของคนในชุมชนบ้านนอก และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถประกอบวิชาชีพเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งนอกเหนือการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบระบบการศึกษาตามอัธยาศัยแล้ว ยังมีการจัดการเรียนการสอนด้านการฝึกทักษะอาชีพในรูปของการทําโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนนําความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น ความรู้ด้านคหกรรม ได้แก่ การทําโครงงานน้ำยาล้างจาน โครงงานทําแชมพู โครงงานทําขนม ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดการเรียนการสอนด้านงานช่างฝีมือให้กับผู้เรียน ได้แก่ โครงการทําชั้นวางหนังสือพิมพ์ โครงการทําชั้นวางรองเท้า โครงการทําตู้เสื้อผ้า โครงการซ่อมบํารุงเครื่องจักรกลต่าง ๆ ตามความสนใจของผู้เรียน จึงเหมาะสําหรับผู้เรียนที่ต้องการฝึกฝนทักษะในการประกอบอาชีพ
ห้องสมุด จัดตั้งร่วมกับศูนย์การศึกษาชุมชนเฉลิมพระเกียรติวัดเขากะโดน
พิพิธภัณฑ์ชุมชน พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านนอก ริเริ่มจากท่านพระครูพิทักษ์วิริยาภรณ์ได้เล็งเห็นว่าสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องมือของชาวบ้านท้องถิ่นนับวันจะหาดูได้ยาก จึงมีการเก็บรักษาเครื่องใช้พื้นบ้านที่สําคัญ ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้องใต้ฐานโบสถ์จํานวนมาก ล้วนแต่เป็นของมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและหลายชิ้นดู “มีราคา” นับตั้งแต่ พระพุทธรูปต่าง ๆ เครื่องเคลือบ แจกัน เครื่องปั้นดินเผาสมัยต่าง ๆ ตัวหนังตะลุง ตลอดจน เครื่องใช้ไม้สอยในบ้านเรือน เช่น วิทยุ เครื่องโม่แป้ง โอ่งน้ำ เครื่องจักสานต่าง เป็นต้น
อาคารแสดงนิทรรศการเครื่องใช้กสิกรรม อาคารแสดงนิทรรศการเครื่องใช้กสิกรรม ตั้งอยู่บริเวณลานกีฬา เนื่องจากอาชีพกสิกรรมเป็นอาชีพหลักของคนไทยรวมถึงชาวบ้านนอก ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น เครื่องใช้ในอดีตจึงถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ถูกนํามาใช้ คนรุ่นใหม่ มักจะไม่รู้จัก ดังนั้นจึงมีการรวบรวมและจัดแสดงเครื่องมือกสิกรรมและเกวียนควายแบบต่าง ๆ ไว้ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมของชุมชนอีกแหล่งหนึ่ง
ประชากร
ชุมชนบ้านนอก ตำบลชากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นชุมชนขนาดเล็กที่ปัจจุบันมีประชากรเพียง 254 คน วงศ์ตระกูลเก่าแก่ของชุมชนบ้านนอก มี 4 ตระกูล คือ ตระกูลรัตนวิจิตร ตระกูลสุวรรณโชติ ตระกูลวงศ์อยู่และตระกูลบุญกอบเกือ
ปัจจุบัน วงศ์ตระกูลเหล่านี้ยังคงมีลูกหลานดํารงชีวิตอยู่เป็นครอบครัวใหญ่และเกิดความผูกพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งตระกูลเหล่านี้ปัจจุบันได้แพร่ขยายไปทั่วหมู่บ้าน ชุมชนบ้านนอกแห่งนี้จึงเกิดความรัก ความผูกพันกันอย่างเหนี่ยวแน่น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีความสัมพันธ์เครือญาติกัน
ระบบเครือญาติ
ชุมชนบ้านนอกมีลักษณะความสัมพันธ์แบบระบบเครือญาติ มีลักษณะเป็นแบบครอบครัวขยายคือ บ้านแต่ละหลังจะประกอบไปด้วยบ้านพ่อแม่ ลูกหลาน หรือบ้านพี่บ้านน้อง จะตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียงกันหรือบริเวณใกล้เคียงกันทําให้เกิดความอบอุ่นพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันอย่างใกล้ชิดแนบแน่น
ชาวชุมชนบ้านนอกมีการดำเนินชีวิตโดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก โดยอาชีพหลักคือ อาชีพเกษตรกรรม ทําสวนยางพาราและผลไม้ เน้นการปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด มะม่วง ลองกอง และยางพารา โดยเฉพาะยางพารามีจํานวนมากที่สุด โดยชาวบ้านมีรายได้จากการทำงานในภาคเกษตรกรรมโดยเฉลี่ยประมาณ 43,470 บาท/คน/ปี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพที่ได้ปฎิบัติสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ แต่ก็มีบางส่วนที่ประกอบอาชีพรับจ้าง ทํางานบริษัทต่าง ๆ หรือรับราชการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนวัยหนุ่มสาว ทั้งนี้ ก็เพื่อหารายได้ให้มากขึ้น ไม่เพียงแต่การประกอบอาชีพเท่านั้นที่สืบทอดต่อกันมา แต่ยังหมายรวมถึงวิถีชีวิตที่พอเพียง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพนันชนิด หรือเครื่องดื่มมึนเมา โดยสังเกตได้ว่าเวลามีงานรื่นเริงต่าง ๆ ชาวชุมชนบ้านนอกมักจะกลับบ้านก่อน ไม่เล่นการพนันเหมือนหมู่บ้านอื่น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น และมักจะปิดบ้านนอนกันเร็ว ทําให้หมู่บ้านดูเงียบสงบแม้จะเป็นช่วงหัวค่ำเท่านั้น แต่เมื่อเวลามีงานต่าง ๆ ที่วัดหรือหมู่บ้านใกล้เคียง ชาวบ้านจะช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มเตรียมงานไปจนถึงเสร็จงาน
ในวิถีชีวิตของชาวชุมชนบ้านนอกส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และให้ความเคารพศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยมี “วัด” เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของคนในชุมชน สังเกตได้จากเวลาที่วัดจัดงานหรือมีพิธีกรรม กิจกรรมต่าง ๆ ชาวบ้านในชุมชนก็จะมาช่วยงานกันอย่างพร้อมเพรียง
เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนบ้านนอกมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชุมชน ซึ่งชาวบ้านทั้งหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ ประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ของชุมชน โดยทั่วไปจึงจะเป็นประเพณีที่มีความเกี่ยวข้องและอยู่บนพื้นฐานของหลักศาสนาพุทธ เช่น การประกอบศาสนกิจในสำคัญทางศาสนา อาทิ วันวิชาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ฯลฯ ซึ่งชาวบ้านปฏิบัติเป็นประจำทุกปีสม่ำเสมอ
1. พระครูนิวาสธรรมสาร (หลวงพ่อโต) ผู้วางรากฐานทางการศึกษาแก่ชาวชุมชนบ้านนอก
ในช่วงสมัยที่หลวงพ่อโตปกครองวัดเขากะโดน ได้ทําการเปิดโรงเรียนสอนนักธรรมชั้นตรีถึงชั้นเอก ทั้งพระและเณรในแถบตําบลเนินค้อ ตําบลกร่ํา และใกล้เคียง ต่างก็มาเล่าเรียนภาษาบาลีที่นี้ ต่อมาได้ก่อตั้งโรงเรียนประชาบาลวัดเขากะโดนขึ้น รวมทั้งโรงเรียนสาขาของโรงเรียนประชาบาลในท้องที่อื่น ๆ ในปี พ.ศ. 2510 ท่านได้ตั้งโรงเรียนแกลง (นิวาสบํารุง) ซึ่งต่อมาได้ร่วมกับโรงเรียนบ้านชากบกเปิดสอนถึงชั้นประถมปีที่ 7 และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนนิวาสกัลยาประชารักษ์” หรือ “โรงเรียนบุนนาค” ในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2478 หลวงพ่อโตท่านได้จัดตั้งโรงเรียนแผนกบาลีขึ้นที่วัดเขากะโดน เป็นสํานักบาลีแห่งแรกของจังหวัดระยอง โดยสร้างอาคาร รวบรวมหลักสูตรการศึกษาบาลีไว้ครบถ้วน จัดหาพระจากเมืองหลวงที่มีความสามารถและชํานาญมาเป็นครูสอนบาลี และทางกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โตวิทยาคม” แต่ต้องปิดตัวลงในภายหลัง นอกจากการวางรากฐานทางการศึกษาให้แก่ชาวบ้านชุมชนบ้านนอก และชาวจังหวัดระยอกแล้ว หลวงพ่อยังเป็นเถราถุระที่มีชือ่เสียงด้านวิชาอาคม วัตถุมงคล และเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ทำให้หลวงพ่อโตมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากอยู่ทั่วทุกสารทิศ
2. พระครูพิทักษ์ วิริยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขากะโดนรูปปัจจุบัน ผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเขากะโดน
รําโทน
รําโทน เป็นการละเล่นที่แพร่หลายและเฟื่องฟูในยุคก่อน ๆ อุปกรณ์การเล่นรำโทนมีกลองสองหน้า กรับ ฉิ่ง และนักร้อง การรําโทนจะใช้จังหวะรําวง เนื้อร้องของเพลงรําโทนกล่าวถึงวิถีชีวิตการทํามาหากิน ฤดูกาล ความเป็นมาของหมู่บ้าน ความรักความสามัคคีในหมู่บ้าน ตลอดจนความรักของหนุ่มสาว เนื่องจากเนื้อหาสาระของบทรำและปฏิภานของผู้รำในการปรับเปลี่ยนเนื้อร้องไปตามยุคสมัย สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ฟัง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้รำโทนได้รับการยอมรับอีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดเขากะโดน และชาวบ้านได้ร่วมกันรื้อฟื้นขึ้นมา คณะรําโทนที่ได้รับการฟื้นฟูนั้นประกอบด้วย ผู้ใหญ่พิน แม่นหมาย นางหมวย เมตตา นางไสว สันรัตน์ นายฉลวย วงศ์อยู่
ทอยกรอง
อุปกรณ์และวิธีการเล่นทอยกรอง
- กระเบื้องแตกหรือตุ่มแตก เอามาเคาะให้เป็นรูปกลม ๆ ขนาดจับถนัดมือ
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้างละ 50 เม็ด วางอยู่ในวงกลมกว้างประมาณ 1 ฟุต
จากนั้นขีดเส้นที่จะยืนถอยประมาณ 2 เมตร คนไหนทอยออกจากวงมากกว่าคนนั้นจะเป็นผู้ชนะการลงเม็ดมะม่วง จะลงครั้งละเท่าไหร่ก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน จะเล่นสอง สาม หรือสี่ก็ได้ กติกาเด็ก ๆ จะตกลงกันเอง เมื่อเล่นได้หรือเสียก็จะเลิก เด็ก ๆ ก็จะเอาเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปคั่วแล้วนั่งล้อมวงกินกัน
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นสำเนียงระยอง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ชุมชนบ้านนอกได้รับรางวัล “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข ปี 2551” เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนได้นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิต ชาวบ้านในชุมชนแห่งสามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามเป้ามาย ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ปัจจุบันกิจกรรมที่ชุมชนบ้านนอกได้ร่วมกันทําในหมู่บ้าน โดยยึดหลักเศรษฐกิจ พอเพียงนั้น ได้แก่ การจัดตั้งกลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มผลิตน้ำปลา กลุ่มชุมชนน้ำดื่ม กลุ่มเลี้ยงกุ้ง กลุ่มศูนย์สังเคราะห์ราษฎร กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข และกลุ่มพลิกฟื้นวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงบ้านนอกหรือกลุ่มทํานา โดยเป็นการช่วยกันทํานาเพื่อลดรายจ่ายภายในครัวเรือน และยังมีเหลือเพื่อจําหน่ายเพิ่มรายได้อีกด้วย
ชลานิทร์ กันทา. (2554). กระบวนการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเขากะโดน ตำบลชากโดน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง. สารนิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Mew Ruttanaporn. (2559). วัดเขากะโดน. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://th.foursquare.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566].
Suchawadee Saetung. (2559). วัดเขากะโดน. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://th.foursquare.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566].