ชุมชนเก่าแแก่ริมคลองประชาชมชื่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางธรรมชาติ, วัด, แหล่งผลิตสินค้า OTOP และพิพิธภัณฑ์บ้านดนตรี
บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ติดกับบริเวณริมคลองประชาชมชื่น จึงเรียกชื่อชุมชนที่ตั้งในพื้นที่ดังกล่าวว่า "ชุมชนริมคลองประชาชมชื่น"
ชุมชนเก่าแแก่ริมคลองประชาชมชื่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ตลอดเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางธรรมชาติ, วัด, แหล่งผลิตสินค้า OTOP และพิพิธภัณฑ์บ้านดนตรี
คลองประชาชมชื่นเป็นคลองที่แยกจากแม่น้ำแม่กลองไปทางฝั่งตะวันตก ปากคลองประชาชมชื่น คือปากคลองบางลี่ (บางนางลี่) เดิม อยู่ตรงข้ามกับปากคลองอัมพวา ชาวบ้านบริเวณนั้นยังคงเรียกติดปากกันว่า คลองบางลี่ คลองประชาชมชื่น เมื่อแรกขุดใช้ชื่อคลองบางลี่ แบ่งได้เป็น 3 ช่วงโดยสังเขป คือช่วงต้น จากปากคลองถึงสามแยกบางลี่ โดยแยกขวา (หันหลังให้ปากคลอง) คือคลองบางลี่เดิม ชาวบ้านเรียกช่วงต้นนี้ว่า “คลองบางลี่” (บางนางลี่) ตามชื่อคลองเดิมนั้นเอง ช่วงกลางจากสามแยกไปจนถึงแยกคลองวัดศรีสุวรรณ เรียกว่า “คลองประชาชมชื่น” และช่วงปลายจากแยกคลองวัดศรีสุวรรณ ลอดถนนพระรามที่ 2 ไปจนถึงคลองยี่สาร เรียกว่า “คลองขุดดอนจั่น” คลองประชาชมชื่น ขุดเมื่อ พ.ศ. 2411 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จประจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เดิมใช้ชื่อ “คลองบางลี่” ตามชื่อคลองที่มีอยู่เดิม คลองประชาชมชื่นจึงถือเป็นคลองขุดในชุดคลองฝั่งตะวันตกของพระนครของรัชกาลที่ 4 โดยการขุดคลองฝั่งตะวันตกของพระนครมีเพื่อความสะดวกในการคมนาคมขนส่งเป็นหลัก ทำให้การเดินทางจากพระนครสู่เมืองสำคัญ ได้แก่ นครชัยศรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม อัมพวา ราชบุรี และเพชรบุรี สะดวกรวดเร็วขึ้น และในทางกลับกันสามารถขนส่งทรัพยากร และสินค้าจากสวนและชายฝั่งทะเลได้มากและรวดเร็วขึ้นด้วย เมื่อแรกขุดระบบนิเวศคงเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แต่ไม่นานผู้คนจะปรับตัว เข้าบุกเบิกเป็นสวนยกร่องเพิ่มขึ้น เกิดเป็นพื้นที่สวนมะพร้าว เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลมะพร้าวที่ใหญ่ที่สุดบริเวณหนึ่งของเมืองสมุทรสงคราม
บ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ริมน้ำ และบ้านเดี่ยวยกพื้นในบริเวณสวนผลไม้ สภาพทางภูมิศาสตร์เหมาะกับการทำเกษตรกรรม ผู้คนในชุมชนมีการรวมกลุ่มทำสินค้าส่งออกจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้แก่ตนเองและชุมชน อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน มีการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงความรู้แต่ยังคงสภาพเดิมไว้
อาณาเขตที่ติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติตต่อกับแม่น้ำแม่กลอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับแม่น้ำแม่กลอง
- ทิศใต้ ติดต่อกับถนนพระรามที่ 2
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับคลองชุด
ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยาตอนกลางที่จังหวัดสมุทรสงครามเป็นเมืองหน้าด่าน และคงบทบาทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง หลังจากการตั้งถิ่นฐานของชุมชนดั้งเดิม เริ่มมีการทำมาหากินโดยการใช้พื้นที่เพื่อเกษตรกรรมสวนยกร่อง นาข้าว นาเกลือ การถางป่าชายเลนเพื่อนำไม้เผาถ่าน และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการดำรงชีวิต เมื่อมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้นจากการติดต่อค้าขาย นำไปสู่การก่อตัวของเมืองแม่กลอง หรือจังหวัดสมุทรสงครามในช่วงสมัยต้นอยุธยา ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวอัมพวา ซึ่งภายในชุมชนบ้างเป็นเครือญาติใกล้ชิด หรือเป็นคนจากนอกพื้นที่ บริเวณนี้จึงเป็นพื้นที่ที่มีระบบเครือญาติและชาติพันธุ์ที่หลากหลาย
เป็นชุมชนเก่าบริเวณริมคลองประชาชมชื่น โดยประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สำคัญ เช่น น้ำตาล และมีการรวมกลุ่มกันเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ดีงานแก่ลูกหลานต่อไป ดังนี้
บ้านดนตรี "บ้านดนตรีไทย" ขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยภายในบ้านหลังนี้ แบ่งเป็นสองชั้น ชั้นล่างจัดแสดงเครื่องดนตรีไทย เศียรบรมครูที่นักดนตรีให้ความเคารพนับถือ ภาพถ่ายของครูเพลงชาวอัมพวา และชั้นบนแบ่งเป็นห้องเรียนดนตรีไทย ชนิดต่าง ๆ เช่น ห้องระนาด ห้องซอ ห้องขิม และห้องจะเข้ เป็นต้น
ชุมชนริมคลองประชาชมชื่น เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่ทำให้เหมาะแก่การเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำสวนลิ้นจี่ ส้มโอ และมะพร้าว
ด้านการกิน การดื่มน้ำสมุนไพร เนื่องจากการทำเกษตรภายในชุมชนตามบ้านเรือนจึงปลูกพืชผักสวนครัว สมุนไพรไว้ทานกันเอง ผู้คนในชุมชนจึงมักดื่มน้ำสมุนไพร
ด้านเศรษฐกิจ ด้วยสภาพของชุมชนเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จึงทำให้มีผลผลิตมากหมายที่สามารถส่งออกไปสู่ภายนอก เช่น สินค้า OTOP เป็นต้น
ทุนวัฒนธรรม
ด้านอาหาร เมนูอาหารของชุมชนเป็นการนำวัตถุดิบในพื้นที่มาปรุงอาหาร และมีเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน เช่น ยำหัวปี แกงคั่วยอดมะพร้าว ปลาทูชุบแป้งทอด และแกงส้มชะครามไข่และกุ้ง
ด้านภูมิปัญญา ชุมชนริมคลองประชาชมชื่นมีน้ำตาลมะพร้าว หากได้มาเยี่ยมชมที่ชุมชนจะได้เห็นถึงกระบวนการการทำน้ำตาลมะพร้าว ตั้งแต่การลงตาล การเก็บน้ำตาลสด การเคี่ยวน้ำตาล จนถึงการหยอดน้ำตาปึก
ด้านการท่องเที่ยว กล่าวคือชุมชนให้ความสำคัญกับการคงสภาพดั้งเดิมของชุมชนไว้ จึงไม่จัดการชุมชนให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวมากนัก แต่จะเป็นการนำวิถีชีวิตภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วของชุมชนมาเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้คนได้มาศึกษาแทน
การเปลี่ยนแปลงที่ได้รับผลกระทบวิกฤติน้ำเค็ม จากการกักเก็บน้ำที่ต้นน้ำ ขณะสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ สวนมะพร้าวน้ำตาลบริเวณนี้จึงได้รับผลกระทบรุนแรง แม้ว่าระบบนิเวศฟื้นตัวกลับมาให้สามารถทำสวนมะพร้าวน้ำตาลได้หลังจากเขื่อนเริ่มปล่อยน้ำจืดลงมาหลังจากนั้นไม่กี่ปี แต่ครอบครัวซึ่งเป็นระบบแรงงานหลักได้กระจัดกระจายกันไปเสียแล้ว
ชุมชนริมคลองประชาชมชื่นมีความโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เนื่องจากเป็นชุมชนตั้งอยู่ริมคลองประชาชมชื่น ทำให้เกิดเส้นทางธรรมชาติมากมายให้ผู้ที่มาเยือนได้ร่วมสัมผัส และยังได้ชมวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ซึ่งกิจกรรมนั้นมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตรทางเรือ, กิจกรรมปั่นท่องร่องสวน, ฐานการเรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าว และการทำขนมไทยโบราณ
กึกก้อง เสือดีน. (2563). คลองประชาชมชื่น: จากอัมพวาสู่เขายี่สาร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://xn--12cas3cfx9cdqx4fi4as1tza4jwc.com.
กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. (2561). ชุมชนริมคลองประชาชมชื่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3870.
บ้านคลองประชาชมชื่น. (2565). ชุมชนบ้านคลองประชาชมชื่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 23 มีนาคม 2566, จาก https://cddportal.cdd.go.th/portal/apps/storymaps/stories/ade0c6630d874ee8b01cc1e08a5d0030.