Advance search

บางตะบูน

ย่านชุมชนเก่าชาวประมงบริเวณปากน้ำบางตะบูน มีแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแครงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ อีกทั้งอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เช่น โกงกาง แสม ตะบูน ตะบัน เป็นต้น 

บางตะบูน
บ้านแหลม
เพชรบุรี
ศิริณภา นาลา
1 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
13 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
บางตะบูน

ตำบลบางตะบูนนั้นได้มีการตั้งชื่อตำบลตามชื่อของต้นไม้ชายเลนชนิดหนึ่ง คือ "ต้นตะบูน" ซึ่งพบได้มากในบริเวณที่ตั้งของตำบล ชาวบ้านจึงใช้ชื่อต้นไม้เป็นชื่อของตำบลมาโดยตลอด


ย่านชุมชนเก่าชาวประมงบริเวณปากน้ำบางตะบูน มีแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแครงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ อีกทั้งอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เช่น โกงกาง แสม ตะบูน ตะบัน เป็นต้น 

บางตะบูน
บ้านแหลม
เพชรบุรี
76110
อบต.บางตะบูน โทร. 0-3270-6033
13.2680728106
99.948017624
เทศบาลตำบลบางตะบูน

ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าตําบลบางตะบูนตั้งเป็นตําบลตั้งแต่เมื่อใด แต่จากการเล่าขานสืบต่อกันมาในอดีตทําให้ทราบว่าตําบลบางตะบูนนั้น ตั้งชื่อตามต้นไม้ชายเลนชนิดหนึ่ง ชื่อ “ต้นตะบูน” ซึ่งมีมากในบริเวณที่ตั้งตําบล ชาวบ้านจึงใช้ชื่อต้นไม้เป็นชื่อของตําบลมาโดยตลอดตําบลบางตะบูนในอดีตขึ้นอยู่กับอําเภอเขาย้อย ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 จึงได้มาขึ้นตรงกับอําเภอบ้านแหลม

เทศบาลตำบลบางตะบูนอยู่ในเขตการปกครองของอําเภอบ้านแหลมได้รับการจัดตั้งเป็นสุขาภิบาลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2506 โดยยกฐานะตําบลบางตะบูนและตําบลบางตะบูนออกบางส่วนขึ้นเป็นสุขาภิบาล ประกอบด้วยพื้นที่ของหมู่ที่ 1,2,3,4,5 และหมู่ที่ 6 บางส่วนตําบลบางตะบูน และหมู่ที่ 1,2,3 และหมู่ที่ 5 ตําบลบางตะบูนออก ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตําบลบางตะบูน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล  พ.ศ. 2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 116 ตอนที่ 9ก. ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542  และในปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกฎกระทรวงใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2555 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและการดํารงรักษาเมืองและบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภคบริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 129 ตอนที่ 126ก. ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555 มีพื้นที่ประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร

เทศบาลตําบลบางตะบูน อยู่ห่างจากอําเภอเมืองเพชรบุรีไปทางทิศเหนือประมาณ 14 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  3176 หรือสายเพชรบุรี – บ้านแหลมฝั่งตะวันตก  

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อําเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม  
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตําบลบ้านแหลม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย  
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตําบลบางครก

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ตำบลบางตะบูนอยู่ทางตอนเหนือสุดของอาณาเขตอำเภอบ้านแหลม โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบ้านแหลม ประมาณ 7 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 18 ตารางกิโลเมตร  หรือประมาณ  11,250 ไร่ (ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ. 2555 ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ตอนที่ 126ก  26 ธันวาคม 2555) เป็นพื้นที่ทำการเกษตร  (ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง หอย ปู  ปลา) ประมาณ 6,411 ไร่ และเป็นที่อยู่อาศัย 4,839 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเป็นเมืองชายทะเล สภาพชายฝั่งเป็นหาดโคลนเลนเกือบทั้งหมดไม่มีหาดทราย เมื่อเวลาน้ำลงจะปรากฏหาดโคลนทอดยาวออกไปจากฝั่งทะเลอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เช่น โกงกาง แสม ตะบูน และตะบัน เป็นต้น มีแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแครงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ปากอ่าวแม่น้ำมีป่าชายเลนไม่มีแร่ที่สำคัญ  พื้นที่ดินมีลักษณะเป็นดินเลน  ราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน คือแม่น้ำบางตะบูน ซึ่งเป็นลำน้ำธรรมชาติไหลมาจากอำเภอแก่งกระจานมาออกทะเลที่บริเวณปากอ่าวบางตะบูน  และประกอบด้วยคลองต่าง ๆ หลายสาย ได้แก่ (1) แม่น้ำบางตะบูน (2) คลองขุด (3) คลองลัด (4) คลองสามคลอง (5) คลองมอญ (6) คลองริม (7) คลองเหมืองตานิ่ม (8) คลองยายแตง (9) คลองบางกั้ง รวมความยาวของคลองทั้ง  9 คลอง

เทศบาลตำบลบางตะบูนมีจำนวนประชากร ทั้งสิ้น จำนวน  5,395 คน แยกเป็นชาย 2,654 คน หญิง 2,741 คน จำนวนครัวเรือน ทั้งสิ้น 1,752 ครัวเรือน มีความหนาแน่นเฉลี่ยของประชากร 300 คน/ตารางกิโลเมตร  

ภายในชุมชนมีการอบรมจาก กศน.อำเภอบ้านแหลม ได้จัดโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น โดยมีการจัดอบรมการทำเต้าหู้นมสด ข้าวมันไก่และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้คนภายในชุมชนมีอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในชุมชนบางตะบูนยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรีจึงทำให้เกิดโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในชุมชน เช่น การปั่นจักรยานท่องเที่ยวรอบชุมชน การชมวิถีชีวิต เป็นต้น การพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนจึงทำให้เกิดกลุ่มอาชีพเพิ่มมากขึ้น

ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลบางตะบูนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดในพุทธศาสนาที่สำคัญอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ วัดปากลัด วัดปากอ่าว วัดเพชรสุวรรณ  และวัดเกาะแก้ว โดยวิถีชีวิตประจำวันตามลักษณะทางเศรษฐกิจของตำบลบางตะบูน

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

  1. ประเพณีงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อแฉ่ง วัดปากอ่าวบางตะบูนในเดือนธันวาคมของทุกปี
  2. ประเพณีลอยกระทง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี
  3. ประเพณีสงกรานต์ ที่วัดปากอ่าวบางตะบูน วัดปากลัด  ในวันที่ 17 เมษายนของทุกปี
  4. ประเพณีงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อพี่น้อง (หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อวัดเขาตะเครา  หลวงพ่อพุทธโสธร  หลวงพ่อโต  และหลวงพ่อวัดไร่ขิง) ณ วัดปากลัด ตำบลบางตะบูน
  5. ประเพณีงานสงกรานต์ปิดทองสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี (หลวงพ่อโต) และปิดทองเจ้าแม่ทับทิม ณ วัดเกาะแก้ว ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี
  6. ประเพณีการจัดการแข่งขันเรือยาวและการฟื้นฟูกีฬาทางน้ำ ช่วงเดือน 9 และเดือน 10
  7. ประเพณีทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางพุทธศาสนาและวันสำคัญของชาติ
  8. ประเพณีการแข่งขันกีฬาเทศบาลชุมชนสัมพันธ์ ในช่วงเดือนธันวาคม
  9. เทศกาลตรุษจีน โดยจัดกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นประจำทุกปีเทศกาลกินเจ ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี
  10. เทศกาลทิ้งกระจาด ในช่วงเทศกาลกินเจ

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลบางตะบูน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการประมงประมาณ 80% เช่น การเลี้ยงกุ้ง การเลี้ยงหอยแมลงภู่โดยการใช้ไม้ปัก ฟาร์มหอยแครง การจับปลา การทำนากุ้ง การทำเรืออวนลาก อวนปลาทู อวนปลาอินทรี เรือคราด การค้าสินค้าสัตว์น้ำ ฯลฯ อาชีพการเกษตรประมาณ 10% เช่น การทำป่าไม้ชายเลน ไม้โกงกาง อาชีพการพาณิชย์ และอื่น ๆ ประมาณ 10% เช่น การต่อเรือ การค้าขาย ฯลฯ  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

วัดปากลัด เป็นวัดแรกในตำบลบางตะบูนไม่มีการยืนยันว่าผู้ใดเป็นผู้สร้างวัด ศิลปะเด่นของวัดนี้ คือสถาปัตยกรรมไทย ศาลาการเปรียญและศาลาบำเพ็ญกุศลที่ใช้เสาไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1.30 เมตร อันเป็นสิ่งดึงดูดให้ผู้คนทั่วไปอยากเข้าชมและพบเห็นเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีศาลาท่าน้ำที่สวยงามเหมาะกับการนั่งชมวิวทิวทัศน์ดูวิถีชีวิตของชาวบ้านบางตะบูน

วัดปากอ่าวบางตะบูน สร้างขึ้นโดยพระครูญาณสาคร (หลวงพ่อแฉ่ง  สำเภาเงิน) เมื่อ ปี พ.ศ. 2450 มีพระอุโบสถที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังเป็นอาคารไม้สองชั้นมีการฉลุลวดลายต่าง ๆ ที่วิจิตรสวยงามและมีพระปรางค์มารวิชัยประดิษฐานอยู่ในโบสถ์หลังนี้ด้วย อีกทั้งวัดนี้เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของการอยู่ยงคงกระพัน วัตถุมงคลที่ขึ้นชื่อ คือเชือกถักกระดูกงู

วัดเพชรสุวรรณ สร้างใน พ.ศ. 2509 มีพระพุทธรูปศิลปะสมัยศรีวิชัย พระพุทธรูปองค์นี้มีลักษณะงดงามมาก ได้มาจากวัดกลางเหนือ จังหวัดสมุทรสงคราม  ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้คือ “หลวงพ่อโชคชัย” และมีเจ้าแม่กวนอิม  ซึ่งทางวัดได้มาจากประเทศจีน แกะสลักด้วยไม้จันทร์หอมอายุประมาณ  1,000 โบราณวัตถุที่มีค่าสูงยิ่ง

วัดเกาะแก้ว เป็นวัดศูนย์รวมทางศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่นของชุมชนเกาะแก้ว และประชาชนชาวตำบลบางตะบูน โดยในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี จะจัดกิจกรรมวันสงกรานต์ปิดทองสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี (หลวงพ่อโต) และปิดทองเจ้าแม่ทับทิมและมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน

ทุนทางกายภาพ

ปากอ่าวตะบูน ในบริเวณนี้มีสะพานเฉลิมพระเกียรติ เชื่อมต่อระหว่างตำบลบางตะบูนและตำบลบางตะบูนออก ซึ่งสามารถชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำบางตะบูน ชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่สวยงามพร้อมบันทึกภาพความทรงจำ มีลานภูมิทัศน์ที่สามารถมองเห็นบริเวณปากอ่าวและกระเตงเฝ้าหอยแครงที่นักท่องเที่ยวนิยมไปพักค้างคืนเพื่อตกปลา มีสะพานเดินชมธรรมชาติที่มีพันธุ์สัตว์และพันธุ์พืชไม้ชายเลนหลากหลายที่อุดมสมบูรณ์เชื่อมต่อกับศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน

ศูนย์อนุรักษ์และศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน  ซึ่งเป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าชายเลน พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เช่น ต้นโกงกาง ต้นแสม ต้นถั่วขาว ต้นฝาด ต้นพังงา หัวสุม ต้นตาตุ่มทะเล ปลาตีน ปู ก้ามดาบ (ปูเปรี้ยว) ปูแสม ปูทะเล กั้ง กุ้งดีดขัน หอย ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ศึกษาสำหรับศึกษาและทำบทปฏิบัติการเรื่องระบบนิเวศป่าชายเลน ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนบางตะบูนวิทยา

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่ส่งเสริมรายได้หลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาด้านอาชีพให้กับชุมชนเกิดรายได้หลักอีกทางหนึ่งให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเทศบาลตำบลบางตะบูน ถือได้ว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้ส่งเสริมให้มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยอาศัยทุนทางทรัพยากรของท้องถิ่นที่มีอยู่ และสามารถพัฒนาให้เป็นประตูบานแรกที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากแหล่งอื่นให้ได้แวะเยี่ยมชมทัศนียภาพของตำบลบางตะบูนก่อนเดินทางเข้าสู่จังหวัดเพชรบุรี

ปัจจุบันตำบลบางตะบูนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้จากร้านอาหารและร้านขายของฝาก เช่น ปูม้า อาหารทะเลสดและแห้งต่างๆ ได้รับความสนใจนิยมซื้อกลับไปเป็นของฝาก ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการขยายฐานด้านเศรษฐกิจของตำบลได้เป็นอย่างดี ประกอบกับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยและยุทธศาสตร์จังหวัดเพชรบุรี ได้กำหนดให้ตำบลบางตะบูนเป็นจุดพักรถจุดแรกตามโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตอนบน (Royal Coast) โดยกำหนดให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เป็นกลุ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสุดในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานลำดับแรก

จากแนวคิดและความมุ่งมั่นที่จะทำให้บางตะบูนเป็นเมืองน่าอยู่ น่าท่องเที่ยว ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกอย่างดำเนินการให้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมและในอนาคตอันใกล้นี้ตำบลบางตะบูนก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากที่จะหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ส่งผลทำให้ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลบางตะบูนมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เทศบาลตำบลบางตะบูน. (2558). [ออนไลน์], สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566, จาก: http://www.bangtabooncity.go.th/site/index.phpoption=com_content&view=article&id=49&Itemid=98.

พนัชกร สิมะขจรบุญ. (2561). แนวทางการจัดการพื้นที่เทศบาลตำบลบางตะบูนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไร้ความเร่งรีบ. Veridian E-Journal,SilpakornUniversity. 11(1), 1924-1943.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2564). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566, จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3488.