Advance search

บางขุนชัย

ชุมชนบริเวณแหลมใหญ่เป็นชุมชนที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งไทย จีน และมอญ ที่มีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมานับ 100 ปี

บ้านแหลมใหญ่
แหลมใหญ่
เมืองสมุทรสงคราม
สมุทรสงคราม
ละอองทิพย์ ทรัพย์ศิริ
1 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
บ้านแหลมใหญ่
บางขุนชัย

เดิมชื่อ “บางขุนชัย” ชาวบ้านเชื่อกันว่าในสมัยก่อนบริเวณตำบลแหลมใหญ่เป็นทะเล เนื่องจากได้มีการพบเปลือกหอยและปะการังอยู่ใต้พื้นดินมากมาย แต่ต่อมาบริเวณนี้ได้ยื่นออกไปเป็นแหลมขนาดใหญ่ในทะเล จึงเรียกว่า “แหลมใหญ่” 


ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนบริเวณแหลมใหญ่เป็นชุมชนที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ทั้งไทย จีน และมอญ ที่มีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมานับ 100 ปี

บ้านแหลมใหญ่
แหลมใหญ่
เมืองสมุทรสงคราม
สมุทรสงคราม
75000
13.3719085988
99.9855087891
เทศบาลตำบลบางใหญ่

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของลักษณะทางธรรมชาติปากแม่น้ำแม่กลองและป่าชายเลนของพื้นที่บริเวณอ่าวแม่กลองอันเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนในอันสมบูรณ์ พื้นที่ของตำบลแหลมใหญ่จึงนับว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ทำให้มีผู้คนจากท้องถิ่นต่าง ๆ หลายกลุ่มพากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและทำมาหากินสืบทอดกันมานับ 100 ปีแล้ว

ตำบลแหลมใหญ่ปรากฏหลักฐานเป็นทางการจากแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อ ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2456) ได้ระบุชื่อหมู่บ้านหนึ่งในตำบลแหลมใหญ่ว่า บ้านมอบลัด และมีวัด 1 แห่งอยู่ตรงบริเวณที่เป็นที่ตั้งปากสมุทรในปัจจุบันนี้ ส่วนพื้นที่ทางด้านใต้ลงไปจดจรดชายทะเล ตามแผนที่ระบุเป็นป่าแสมดิบ และจากแผนที่ของกรมอุทกศาสตร์ในปี พ.ศ. 2463 ได้ระบุชื่อหมู่บ้านมอบลัดและวัดปากสมุทรไว้เช่นเดียวกัน ทั้งยังมีสัญลักษณ์การตั้งบ้านเรือนที่บริเวณคลองสองร่องและคลองน้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ระบุชื่อหมู่บ้านไว้ในแผนที่ฉบับนั้น

สำหรับการก่อตัวเป็นชุมชนแหลมใหญ่นั้นจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กล่าวว่า ชุมชนแหลมใหญ่น่าจะมีอยู่ก่อนปีที่ระบุไว้ในแผนที่ไม่ต่ำกว่า 100 ปี การก่อตัวของชุมชนในตำบลแหลมใหญ่อยู่บริเวณปากคลองต่าง ๆ อาทิ คลองมอบลัด คลองเตาปูนใหญ่ คลองยายหลงและคลองด่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลองมอบลัด ผู้คนที่อพเข้ามารุ่นแรก ๆ ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่บริเวณปากคลองแห่งนี้ และกระจายตัวตามแนวไปตามริมคลองทั้งสองฝั่ง

คำบอกเล่าจากความทรงจำของคุณยายผล บุตรกลับ อายุ 95 ปี ชาวบ้านมอบลัด ชุมชนเก่าแก่ที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ของคุณยายนั้นอยู่แถบคลองมอบลัด ซึ่งในเวลานั้นบ้านเรือนที่กระจายอยู่บริเวณปากคลองมอบลัด คลองเตาปูนเล็กและคลองยายหลงยังมีเพียงสิบกว่าหลังจนนับได้และรู้จักกันถ้วนหน้า อาทิ บ้านตาทองอยู่ ทองผลิ พ่อของคุณยายเอง บ้านป้าของคุณยายชื่อหลาบ บ้านโยมพ่อของอาจารย์เณรอดีตเจ้าอาวาสวัดปากสมุทร บ้านยายเริญ บ้านปู่สุก บ้านยายเปี่ยม บ้านตาเป้ากับภรรยาชื่อยายใหม่ บ้านยายเขียวกับสามีชื่อเจ๊กเคียด บ้านตาชิด กับภรรยาชื่อเผื่อน บ้านกำนันคล้อย แพตาแป๊ะ กับภรรยาชื่อพวง เป็นต้น ส่วนคลองยายหลงก็มียายหลงเพียงหลังเดียวปลูกอยู่ที่ปากคลองยายหลงตัดกับคลองมอบลัด โดยคนรุ่นแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในตำบลแหลมใหญ่ มี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ไทย จีน และมอญ

กลุ่มคนไทย นับเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่อพยพย้ายถิ่นมาจากที่ต่าง ๆ แม้ไม่ได้เข้ามาเป็นกลุ่มก้อนเมื่อเทียบกับคนมอญ แต่เป็นการทยอยเข้ามาหลายระลอก อาทิ กลุ่มหนึ่งอพยพมาตามลำน้ำแม่กลอง บางส่วนมาจากบางแก้ว บางตะบูน บ้านแหลม และเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี และบางคนล่องมาตามลำน้ำท่าจีน จากจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนจะกลายเป็นชุมชนบริเวณบางจะเกร็งที่มีจำนวนประชากรเป็นจำนวนมาก

กลุ่มคนมอญ เป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในตำบลแหลมใหญ่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่ามอญได้อพยพตั้งถิ่นฐานในบริเวณสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองอย่างหนาแน่นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น

กลุ่มคนจีน สำหรับกลุ่มคนจีนที่เข้ามาในระยะแรกมีจำนวนไม่มากนัก อุทัย ดำรงธรรม นักธุรกิจท้องถิ่นคนแหลมใหญ่ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดแม่กลองพัฒนาเล่าว่า "ก๋งของตนเป็นชาวจีนที่อพยพหนีความอดอยากยากจนและความหนาวเย็นมากับกลุ่มชาวจีนในตำบลหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยอาศัยเรือสำเภาเดินทางมาขี้นบกที่กรุงเทพมหานคร แล้วพากันเดินทางต่อมาเป็นกลุ่ม ๆ มาตั้งรกรากอยู่ตามเมืองท่าจอดเรือในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี" ก๋งของนายอุทัยเดินทางเข้ามาที่แหลมใหญ่ แล้วตั้งหลักปักฐานที่นี่จนชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามาอยู่อาศัยภายในพื้นที่แหลมใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม

ตำบลแหลมใหญ่ตั้งอยู่บริเวณบนผืนแผ่นดินฝั่งขวาของปากแม่น้ำแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ประมาณ 12,361 ไร่ หรือ ประมาณ 19.78 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 หมู่บ้าน ได้แก่

  • หมู่ที่ 1 บ้านทรัพย์เจริญ
  • หมู่ที่ 2 บ้านคลองด่านใน
  • หมู่ที่ 3 บ้านเตาปูน
  • หมู่ที่ 4 บ้านแหลมใหญ่
  • หมู่ที่ 5 บ้านมอบลัด
  • หมู่ที่ 6 บ้านบางเรือหัก
  • หมู่ที่ 7 บ้านคลองสองร่อง
  • หมู่ที่ 8 บ้านคลองด่านนอก

ซึ่งชุมชนแหลมใหญ่มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลท้ายหาด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ แม่น้ำแม่กลอง และอ่าวไทยตรงปากแม่น้ำแม่กลอง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบางขันแตก และตำบลคลองโคลน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

ชุมชนแหลมใหญ่มีประชากรประมาณ 8,000 คน เป็นชาย 3,955 คน เป็นหญิง 4,002 คน จำนวนครัวเรือน 245 ครัวเรือน ซึ่งผู้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์กันในระบบเครือญาติ

โดยทั่วไปชาวบ้านชุมชนบริเวณแหลมใหญ่ หากตั้งบ้านเรือนอยู่ในกลุ่มเดียวกันมักจะเกี่ยวดองเป็นญาติกัน ไม่ทางสายเลือดก็โดยการแต่งงาน การขยายตัวของชุมชนในตำบลแหลมใหญ่เป็นไปในลักษณะของการตั้งบ้านเรือนเพิ่มของกลุ่มเครือญาติ รูปแบบครอบครัวในสมัยก่อนมักจะเป็นแบบครอบครัวขยาย ฝ่ายชายมักแต่งเข้ามาอยู่ข้างฝ่ายหญิงและช่วยทำมาหากินสักระยะหนึ่งก่อน เพราะต้องการแรงงานมาช่วยในการผลิต ทั้งครอบครัวชาวสวนมะพร้าวและครอบครัวชาวประมง

ในกรณีของชาวสวนมะพร้าวตาลนั้น เนื่องจากการทำตาลต้องใช้แรงงานหนัก หากเว้นจากการปาดตาล ไม่ปาดสม่ำเสมอทุกวัน น้ำตาลจะหยุดไหล งวงตาลก็จะเน่าหากไม่ขึ้นเก็บกระบอกรองน้ำตาล น้ำตาลสดก็จะเสีย ถ้าหากทำความสะอาดกระบอกตาลไม่ดี กระบอกตาลก็จะมีเชื้อบูด จึงทำให้น้ำตาลที่ใช้กระบอกรองนั้นรองรอบต่อไปต้องเสียไปด้วย จึงเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านในสมัยก่อนนิยมมีลูกหลานหลายคน

แต่ในปัจจุบันหากมองในภาพรวมเรื่องความสัมพันธ์เชิงสังคมของชุมชนของคนในบริเวณแหลมใหญ่แล้ว ค่อนข้างจะมีลักษณะต่างคนต่างทำมาหากินไม่ค่อยมีการรวมกลุ่มร่วมปรึกษาหารือ หรือให้เวลากับกิจกรรมทางสังคมมากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ทำอาชีพประมงชายฝั่งที่มีวิถีชีวิตทำกินหาเลี้ยงชีพวันต่อวัน อาจจะมีการพบปะกันในกลุ่มของผู้ประกอบอาชีพทำสวน หรือทำประมงชายฝั่งอยู่บ้าง แต่ก็มักเป็นระดับชุมชนที่สนิทสนมกัน และมีกิจประชุมหรือกิจกรรมทางด้านการปกครองร่วมกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นเครือญาติกันส่วนมาก ความสัมพันธ์ของชาวบ้านจึงเป็นไปโดยราบรื่นไม่ค่อยมีความขัดแย้งรุนแรง ชาวบ้านยังมีการพึ่งพาอาศัยกันได้และร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรมส่วนรวมของชุมชนอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมที่เป็นงานประเพณี พิธีกรรมทางศาสนาของชุมชน ในขณะเดียวกันเรายังสามารถพบเห็นการแบ่งปันในหมู่เพื่อนบ้านหรือหมู่เครือญาติได้บ่อย ๆ ในชุมชนแหลมใหญ่ เช่น การแบ่งปันอาหาร ทั้งอาหารสดและปรุงสุกแล้ว เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการเอื้อเฟื้อให้ที่ดินปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยโดยมิได้คิดค่าเช่ามาเป็นเวลานานและยังไม่มีท่าทีว่าจะขับไสให้ย้ายออกไป

กลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชน

กลุ่มชาวมอญ ชาวมอญในพื้นที่บริเวณชุมชนแหลมใหญ่เข้ามาอยู่อาศัยที่บ้านบางเรือหัก หมู่ที่ 6 จึงมีการเรียกชาวมอญกลุ่มนี้ว่า “มอญบางเรือหัก” เมื่อเทียบกับมอญบางจะเกร็งที่อยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองแล้วมีจำนวนน้อยกว่า และมีอยู่บ้างจำนวนไม่มากนักในหมู่ที่ 4 บ้านเตาปูน มอญที่แหลมใหญ่นี้ คาดว่าเป็นกลุ่มคนมอญที่อพยพมาตามแม่น้ำท่าจีน รุ่นเดียวกับมอญบางกระดี่และเข้าไปตั้งหลักแหล่งกันมากตามคลองมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมอญที่นั่นเริ่มต้นด้วยการมาขุดคลอง คนมอญในบริเวณตำบลแหลมใหญ่แต่กิ่นทำนา ปลูกมะพร้าว เคี่ยวน้ำตาลแต่ภายหลังการทำน้ำตาลลดลง และหมดไปคนมอญในหมู่ที่ 6 จึงหันไปประกอบอาชีพอื่นกันหมด และมีคนไทยเข้ามาอยู่กันมากขึ้นและเริ่มออกทะเล โดยปัจจุบันมีแรงงานรับจ้างเป็นคนพม่า และมอญอพยพ 

กลุ่มชาวจีน สำหรับกลุ่มชาวจีนที่เข้ามาในระยะแรก มีจำนวนไม่มากนักเป็นคนที่อพยพหนีความอดอยากยากจน และความหนาวเย็น ดังนั้นทุก ๆ ปี จึงมีชาวจีนอพยพเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนปีละมาก ๆ โดยเดินทางอาศัยเรือสำเภามาขึ้นบกที่กรุงเทพมหานคร แล้วพากันเดินทางต่อมาเป็นกลุ่ม ๆ มาตั้งรกรากอยู่ตามเมืองท่าจอดเรือในจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี

จีน, มอญ

กลุ่มอาชีพ : การทำน้ำตาลมะพร้าว

อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวตำบลแหลมใหญ่ที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ มีคนเคยกล่าวว่า “น้ำหวานจากจั่นมะพร้าวคือภูมิปัญญาอันสุดยอดที่คนโบราณได้คิดค้นและทิ้งไว้ให้ลูกหลานได้ทำมาหากินจากวิธีอันแยบยลเหล่านั้น” ด้วยผืนดินในหมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 ของตำบลแหลมใหญ่เป็นพื้นที่ใหญ่กว่าที่ดินแถบชายทะเล บรรพบุรุษชาวสวนตาลจึงได้แผ้วถางป่าไม้ชายเลนปรับเป็นสวนยกร่องปลูกมะพร้าวทำน้ำตาล คนกลุ่มแรก ๆ ที่บุกเบิกทำสวนตาลคือ คนในตระกูล “คชรัตน์”

การปลูกจะต้องยกปลูกลงในดินเหนียว โดยการยกร่องให้สูงพ้นน้ำ หลังร่องสวนร่องหนึ่งปลูกมะพร้าวได้ประมาณ 7 – 12 ต้น ห่างกันประมาณต้นละ 4 วา ทำท้องร่อง ขุดลำประโดงหรือลำประโดงรอบขนัดสวน การขัดซอยร่องสวนและลำประโดงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ระบบน้ำไหลเวียนได้คล่องเชื่อมต่อถึงกัน คนแหลมใหญ่ปลูกมะพร้าวด้วยจุดประสงค์ 2 ประการ คือ ปลูกเพื่อใช้ประกอบอาหารคาวหวาน หรือในอดีตใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการจุดตะเกียงให้แสงสว่าง และเพื่อประกอบอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวและน้ำตาลสด รวมทั้งในปัจจุบันมีการทำอาชีพขายมะพร้าวขาว คือ ขายเนื้อมะพร้าวให้พ่อค้าแม่ค้านำไปขูดทำน้ำกะทิ มะพร้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของตำบลแหลมใหญ่ มีการปลูกเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับป่าโกงกาง

มะพร้าวน้ำตาลที่นิยมปลูก คือ พันธุ์หมูสีใหญ่ หมูสีเล็ก และหมูสีหม้อ ด้วยความที่เป็นพันธุ์ที่ทนน้ำเค็มได้โดยทั่วไปมะพร้าวทำตาลชอบน้ำลักจืดลักเค็ม หรือว่าสองน้ำ แต่สำหรับพื้นที่ของจำบลแหลมใหญ่ซี่งติดกับทะเลมากจึงมีน้ำทะเลท่วมถึงอยู่ตลอดเวลา จึงต้องปลูกมะพร้าวที่ทนน้ำเค็มได้ดีกว่าพันธุ์อื่น ๆ

ประชากรในชุมชนบริเวณแหลมใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ได้แก่ ประมงหอยแครง หอยแมลงภู่ นางรม ประมงอวนรากและประมงอวนลอย และรับจ้างทั่วไป นอกจากนั้นยังทำเกษตรกรรม ทำสวนมะพร้าว 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

วัดปากสมุทร วัดปากสมุทรตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 โดยมีประชาชนบริจาคที่ดินให้แล้วนิมนต์พระมาดูแลรักษา แต่มีพระบวชน้อยมาก เพราะสมัยนั้นประชาชนแถบนี้ยังไม่หนาแน่นมากนัก พระที่มาดูแลรับช่วงกันประมาณ 3 รูป สุดท้ายวัดไม่มีผู้ดูแล ในที่สุดก็กลายเป็นวัดร้าง ต้นไม้และเถาวัลย์ปกคลุมแทบมองไม่เห็นหลังคากุฏิเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะลิงแสมและเป็นซ่องสุมของพวกปล้นสะดม ชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดลิงโจร"

ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2450 - 2457 กลุ่มพระภิกษุจำนวนหนึ่งได้พายเรือมาจากบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี และได้ชักชวนชาวบ้านพัฒนาวัดขึ้นใหม่ จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2462 โดยใช้นามวัดว่า “วัดปากสมุทร” มาจนถึงทุกวันนี้ ในสมัยพระครูสมุห์มนตรีมังคโล เจ้าอาวาสรูปที่ 5 กุฏิมีสภาพทรุดโทรม จึงได้ดำเนินการสร้างกุฏิขึ้นมาเพื่อทดแทนหลังเก่า เป็นวัดที่รู้จักกันของคนในท้องถิ่นเนื่องจากมีโรงเรียนระดับประถม มีสถานีอนามัย และใช้พื้นที่บริเวณวัดเป็นตลาดนัดในวัดเสาร์ - อาทิตย์ และที่สำคัญบริเวณท่าน้ำของวัดปากสมุทรยังใช้เป็นที่จอดเรือประมงเพื่อขนปลาที่ชาวบ้านในชุมชนจับได้ไปสู่ตลาด วัดปากสมุทรแห่งนี้จึงเป็นวัดที่มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชาวบ้านในชุมชนบนิเวณแหลมใหญ่เป็นอย่างมาก

ทุนภูมิศาสตร์

นิเวศน้ำกร่อยปากอ่าวแม่กลอง พื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรสงครามมีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของทะเลอ่าวไทยตอนในรูปตัว ก ไก่ ด้านตะวันตก ซึ่งเป็นทะเลตมที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เกิดจากการตกตะกอนสะสมทับถมจากแม่น้ำสายสำคัญ 5 สาย ไหลลงสู่อ่าวไทย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำกลอง และแม่น้ำเพชรบุรี ทำให้พื้นที่บริเวณปากแม่น้ำทั้ง 5 สาย มีป่าชายเลนและหาดเลนยาวออกไปหลายกิโลเมตร ซึ่งเรียกลักษณะเฉพาะของสภาพพื้นที่ว่า “ทะเลตม” ของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพัดพาเอาตะกอนดิน สารอาหาร แร่ธาตุต่าง ๆ ที่สำคัญและมีคุณค่ามาทับถมจนเกิดเป็นทะเลตมอันอุดมสมบูรณ์กว้างใหญ่ และตามชายขอบทะเลตมคือ ป่าชายเลน แบ่งออกได้เป็น 2 บริเวณใหญ่ ๆ คือ บริเวณที่ติดกับทะเลจากริมฝั่งทะเลเข้ามาประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นเขตน้ำเค็มที่ยังมีน้ำทะเลท่วมถึงอยู่เสมอ บริเวณถัดจากเขตน้ำเค็มขึ้นมาอีกประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นพื้นที่น้ำกร่อย ส่วนบริเวณท้องทะเลที่ใช้ทำประมงน้ำกร่อยและน้ำเค็ม เริ่มจากชายฝั่งออกไปยังไหล่ทวีปจนถึงทะเลลึก จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของบริเวณน้ำกร่อยในเขตร้อน คือ พื้นที่หาดเลน ปากแม่น้ำ และป่าชายเลน ซึ่งเป็นป่าไม้ยืนต้นที่เจริญงอกงามในบริเวณน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีเอกลักษณ์ที่สำคัญคือ เป็นพื้นที่ที่ระบบนิเวศทะเล โดยมีระบบนิเวศน้ำกร่อยเป็นตัวเชื่อม

ทรัพยากรทางธรรมชาติ

ป่าชายเลน ป่าชายเลนมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากป่าบกประเภทอื่น เนื่องจากไม้แต่ละชนิดในป่าชายเลนมีการแบ่งเขตการเจริญเติบโตค่อนข้างชัดเจน โดยจะขึ้นอยู่เป็นเขตแนวของแต่ละชนิดอย่างมีแบบแผนจากบริเวณชายฝั่งทะเลเข้าไปทางด้านในของป่า เมื่อป่าไม้ชายเลนเจริญเติบโตมากขึ้น จะก่อให้เกิดผืนแผ่นดินเลนงอกใหม่ออกไปทางริมทะเล ส่วนป่าชายเลนตอนบน หรือผืนดินตอนในที่อยู่ไกลจากฝั่งทะเล หรือที่อยู่ถัดเข้าไปในแม่น้ำลำคลองนั้นจะค่อย ๆ ตื้นเขินขึ้นทีละน้อย ซึ่งไม่เหมาะกับความเป็นอยู่ของพรรณไม้ที่ชอบขึ้นบนเลน ในที่สุดป่าชายเลนบริเวณนั้นก็จะแปรสภาพเป็นป่าบกไป

สภาพดั้งเดิมของป่าชายเลนตำบลแหลมใหญ่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าโกงกาง” ตามลักษณะชนิดไม้ที่มีมากและมีบทบาทสำคัญที่สุดในป่าชายเลน ประกอบไปด้วยพืชพรรณและสัตว์น้ำนานาชนิด ดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลน น้ำกร่อย และมีน้ำทะเลท้วมถึง สังคมป่าชายเลนของแหลมใหญ่นั้นแนวป่าชั้นนอกสุดคือ แสมดำ และลำภู ทั้งแสมดำและลำพูเป็นพืชแนวหน้าที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ ต้นแสมมีรากอากาศที่ใหญ่ หนาแน่น และมีความแข็งแรง ชอนไชยึดเกาะกับดินได้ดี จึงสามารถขึ้นขอบนอกสุดได้ ส่วนลำพูมีรากอากาศเล็กจำนวนมากขึ้นอยู่โคนต้น ต้นไม้ทั้งสองชนิดนี้สามารถเป็นแนวป้องกันคลื่นลมได้เป็นอย่างดี

ดินดอนเนื้อละเอียดที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและตะกอนน้ำทะเลบริเวณปากอ่าวแม่กลองมีแร่ธาตุอาหารจึงเป็นที่อยู่สำคัญของสัตวน์น้ำหน้าดินและสัตว์น้ำวัยอ่อน ทั้งยังมีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์จำพวกหอยชนิดต่าง ๆ จึงทำให้มีสัตว์น้ำมากมายหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัยบนดอนทั้งเวลาน้ำขึ้นและน้ำลงเพื่อจะกินแพลงตอน ตะกอนดิน และสารอาหารที่อยู่ในน้ำ จนเจริญเติบโต ผสมพันธุ์ และวางไข่ที่นี่ ด้วยเหตุนี้ เนื้อที่หลายสิบไร่ของดอนปากอ่าวแม่กลองจึงเป็นที่เกิดของหอยนานาชนิด เช่น  หอยหลอด หอยลาย หอยแครง หอยตะกาย หอยพิมพ์ หอยกะพง หอยปากเป็ด หอยสังข์หมู และหอยม่วงหรือหอยทราย เป็นต้น โดยเฉพาะหอยกระปุกหรือหอยตลับจะมีจำนวนมาก ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของชาวบ้านบริเวณแหลมใหญ่ นอกจากหอยนานาชนิดแล้วยังมีสัตว์น้ำนานาชนิดที่อาศัยอยู่กับดอนในช่วงเวลาที่น้ำท่วมดอน เช่น ปลาดุกทะเล ปลาจวด ปลาสีกุน ปลากระบอก ปลากุเรา ปลาทู ปลาสะดือขอ ปลาเห็ดโดน ปลาข้างเหลือง ปลาไส้ตัน ปลาสิ้นหมา ปลาเก๋า  หมึก ปูม้า และแมงดา เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ปี พ.ศ. 2526 - 2528 การผลิตน้ำตาลมะพร้าวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งกั้นลำน้ำแคนใหญ่ (แม่กลอง) ที่บริเวณบ้านเจ้าเณร ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ในระหว่างการก่อสร้างช่วงปี พ.ศ. 2516 - 2523 เปิดเขื่อนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่างเป็นอย่างมาก เพราะเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำแม่กลองโดยตรงทำให้พื้นที่แห้งแล้ง ทั้งนี้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนมาจากการใช้เวลาการก่อสร้างที่ยาวนาน และทางการยังต้องปิดเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำให้เต็มเขื่อนอีกระยะหนึ่ง จึงไม่มีน้ำจืดไหลลงมาไล่น้ำเค็มอย่างเคย ทำให้น้ำเค็มหนุนสูงเป็นเวลา 2 – 3 ปี ติดต่อกันน้ำในคลองจึงกลายเป็นน้ำเค็ม ชาวบ้านขาดแคลนน้ำจืดที่ใช้ในชีวิตประจำวันและประกอบอาชีพอย่างหนัก


ปี พ.ศ. 2547 มีการสร้างฐานความรู้สำหรับแหล่งการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนลุ่มแม่น้ำกลอง บ้านคลองสองร่อง ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ประกอบไปด้วย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมใหญ่ (อบต.แหลมใหญ่) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จังหวัดสมุทรสงคราม และชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันจัดทำโครงการจัดการความรู้จากแหล่งการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนลุ่มแม่น้ำกลองขึ้น โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่บางส่วนของโรงเรียนบ้านคลองสองร่องเป็นที่แสดงนิทรรศการภาพของชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพสำหรับชาวบ้าน นอกจากนั้นยังใช้พื้นที่ส่วนอื่นของตำบลเป็นฐานความรู้ทางธรรมชาติ เพื่อศึกษาหาความรู้ในด้านต่าง ๆ สำหรับบุคคลภายนอก


ปี พ.ศ. 2501 ป่าชายเลนของตำบลแหลมใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสงครามที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ตลอดแนวชายฝั่งทะเลปากอ่าวแม่กลองระยะทาง 23 กิโลเมตร เป็นเนื้อที่ประมาณ 90,000 ไร่ ถูกทางราชการสั่งระงับการสงวนป่า และเพิกถอนสภาพป่าสงวนของจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดพื้นที่ป่าให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยจับจองเป็นกรรมสิทธิ์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ป่าชายเลนถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว

ปี พ.ศ. 2527 - 2535 ชาวบ้านในตำบลแหลมใหญ่ได้ปรับพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 นิยมเลี้ยงกุ้งกุลาดำกันมาก มีผลทำให้พื้นที่ป่าชายเลนถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วงเวลาเพียง 10 ปี การเลี้ยงกุ้งกุลาดำต้องล้มเลิกไปเพราะเกิดน้ำเน่าเสียเป็นมลภาวะทางทะเล คนในตำบลแหลมใหญ่ที่ทำบ่อกุ้งต่างก็ขาดทุนเช่นเดียวกันกับชาวสมุทรสงครามอีกจำนวนไม่น้อย ในเวลาเดียวกันนั้นความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวแม่กลองก็หมดสิ้นไปพร้อม ๆ กับการหมดไปของป่าชายเลน

ปี พ.ศ. 2535 ทางจังหวัดสมุทรสงครามได้ดำเนินโครงการส่งเสริมให้ปลูกป่าชายเลนบนที่ดินงอกชายฝั่งทะเลของตำบล เพื่อทดแทนพื้นที่ป่าซึ่งถูกทำลายไป โดยทำบลแหลมใหญ่เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา รวมทั้งยังมีป่าชายเลนที่เป็นป่าปลูกในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของเอกชนซึ่งส่วนใหญ่ปลูกไม้โกงกางอีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บางกอกทูเดย์. (2563). สัมผัสเสน่ห์ชุมชนแหลมใหญ่ เรียนรู้วิถีวีชิตประมงชาวบ้าน เที่ยวอุโมงค์ต้นไม้ ปลูกป่าชายเลน เล่นกระดานเลนบก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566. จาก: https://bangkok-today.com/

พรทิพย์ อุศุภรัตน, เสาวภา พรสิริพงษ์ และอภิญญา บัวสรวง. (2556). แหลมใหญ่ : การพลิกฟื้นวัฒนธรรมชุมชนเพื่อการจัดการทรัพยากร. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

อภิญญา บัวสรวง, อนุชาติ พวงสำลี. (2547). ชุมชนแหลมใหญ่: วิถีชีวิตจากความทรงจำ หนังสือชุดการวิจัยโครงการ การจัดการทรัพยากรเพื่อสันติภาพและความยั่งยืน เล่มที่ 3. นนทบุรี: สหมิตรพริ้นติ้ง.

องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมใหญ่. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานตำบล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566. จาก: https://leamyai.go.th/public/