Advance search

ตลาดน้ำหลักห้า (คลองโพธิ์หัก)

ตลาดน้ำสองแผ่นดิน ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง 2 จังหวัด คือ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นชุมชนเก่าแก่มีอายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี ปรากฏอาคารบ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่มีความสำคัญกับชุมชนทั้งในด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจหลายแห่ง

ประสาทสิทธิ์
ดำเนินสะดวก
ราชบุรี
มนิสรา นันทะยานา
19 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
5 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
ตลาดน้ำหลักห้า (คลองโพธิ์หัก)


ตลาดน้ำสองแผ่นดิน ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง 2 จังหวัด คือ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นชุมชนเก่าแก่มีอายุไม่ต่ำกว่า 150 ปี ปรากฏอาคารบ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่มีความสำคัญกับชุมชนทั้งในด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจหลายแห่ง

ประสาทสิทธิ์
ดำเนินสะดวก
ราชบุรี
70210
เทศบาลประสิทธิ์ โทร. 0-3224-8001
13.556945
100.041035
เทศบาลตำบลประสาทสิทธิ์

“ตลาดน้ำหลักห้า” อยู่ตรงรอยต่อ 2 จังหวัด คือ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี จึงเรียกได้ว่าเป็นตลาดน้ำ 2 แผ่นดิน เป็นตลาดน้ำอยู่ปลายเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ชุมชนริมน้ำแห่งนี้มีอายุเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 150 ปี ถ้านับจากหลักฐานการสร้างวัดประสาทสิทธิ์ (วัดหลักห้า) พ.ศ. 2409 เป็นต้นมา วัดแห่งนี้สร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการขุดคลองดำเนินสะดวกได้สร้างวัดไว้เป็นอนุสรณ์

ในอดีต “ตลาดน้ำหลักห้า” ถือว่าเป็นตลาดน้ำที่ได้รับความนิยมจากผู้คนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะจำนวนและความหลากหลายของสินค้า ของกิน รวมไปถึงของใช้ที่มีจำหน่ายในตลาดแห่งนี้ และถึงแม้ว่าพื้นที่บริเวณคลองหลักห้าจะเป็นเพียงพื้นที่เล็ก ๆ แต่ก็หนาแน่นไปด้วยบรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวดำเนินสะดวกและชาวบ้านแพ้วที่ต่างนำสินค้ามาจำหน่าย แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไป การคมนาคมขนส่งทางบกเข้ามาเป็นเส้นทางหลัก วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านจึงค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ การขายสินค้าและการขนส่งทางเรือลดลงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดน้ำแห่งนี้เสื่อมความนิยมลง ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้องที่อาศัยอยู่ภายในบริเวณตลาดน้ำหลักห้า ได้ร่วมมือกันเพื่อฟื้นฟูให้ตลาดน้ำหลักห้าแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ปัจจุบัน “ตลาดน้ำหลักห้า” เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เก้าโมงเช้าไปจนถึงช่วงบ่าย โดยจะมีบรรดาพ่อค้า แม่ขาย ล่องเรือมาให้บริการกันอย่างไม่ขาดสาย

ชุมชนตลาดน้ำหลักห้า (คลองโพธิ์หัก) ห่างจากที่ว่าการอำเภอดำเนินสะดวก ประมาณ 14 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี ประมาณ 65 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 77 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนตลาดน้ำหลักห้า (คลองโพธิ์หัก) สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ และรถตู้

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

ชุมชนตลาดน้ำหลักห้า (คลองโพธิ์หัก) เป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่บริเวณหลักห้าของคลองดำเนินสะดวก (บริเวณคลองโพธิ์หัก) โดยเฉพาะบริเวณหน้าวัดประสาทสิทธิ์ และต่อเนื่องทั้งสองฝั่งของคลองดำเนินสะดวก โดยมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มที่มีคูคลองจำนวนมาก เหมาะสำหรับทำการเกษตร การอุปโภคและเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งผลผลิตทางการเกษตร

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปีพ.ศ. 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในตำบลประสาทสิทธิ์ จำนวน 1,297 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 4,621 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 2,314 คน หญิง 2,307 คน

ด้านกลุ่มอาชีพ 

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร รองลงมาทำอาชีพรับจ้าง และค้าขาย ตามลำดับ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

วัดปราสาทสิทธิ์

เมื่อ พ.ศ. 2371 รัชกาลที่ 3 ทรงปรารภว่าคลองสุนัขหอน ซึ่งเป็นคลองเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน ที่ตำบลรางเข้ มักตื้นเขินอยู่บ่อยครั้ง จะแก้ปัญหาอย่างไรเจ้าพระยาคลัง (ดิศ บุนนาค)     จึงกราบบังคมทูลว่าควรขุดคลองแยกจากคลองสุนัขหอนผ่านทุ่งริมหมู่บ้านโพหักพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงรับสั่งให้ขุดคลองดังกล่าว โดยชาวจีนเป็นผู้รับจ้าง ซึ่งชาวจีนเหล่านี้อาศัยอยู่ที่โคกสูงในเขตตำบลดอนไผ่ หรือปัจจุบันคือที่ตั้งพระอุโบสถของวัดปราสาทสิทธิ์ เมื่อขุดคลองดังกล่าวเสร็จ เจ้าพระยาคลังได้มาตรวจดูความเรียบร้อย โดยมีสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ติดตามมาพร้อมกับบิดาด้วยพระยาคลังได้ปรารภว่า โคกนี้สูงใหญ่และกว้าง วางเหมาะที่จะสร้างวัด แต่แล้วก็ยังมิได้สร้างวัด

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ. 2409  เห็นว่าการคมนาคมที่ไปมาระหว่างกรุงเทพมหานคร กับจังหวัดสมุทรสาคร มีคลองภาษีเจริญสำหรับการสัญจรไปมาได้สะดวกดี แต่ถ้าหากมีคลองระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดราชบุรี  ก็จะสะดวกขึ้นอีกเป็นอันมาก โดยอาศัยแม่น้ำแม่กลองเป็นสื่อกลาง การไปมาหาสู่ การเดินทางค้าขายทางน้ำจะมีความสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

ในปี พ.ศ. 2409 นั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่พระสมุหกลาโหม เมื่อครั้ง เป็นผู้อำนวยการในการขุดคลองดำเนินสะดวก เพื่อเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำท่าจีน กับแม่น้ำแม่กลอง ในระหว่างการขุดคลองดำเนินสะดวกนั้น เมื่อขุดคลองมาถึงหลักห้า ซึ่งเป็นพื้นที่สูงในเขตตำบลดอนไผ่ เจ้าพระยาศรีสุรยิวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ก็รำลึกถึงบิดา   คือ เจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ที่เคยปรารภถึงการสร้างวัด ณ ที่แห่งนี้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงตกลงใจสร้างวัดขึ้นด้วยเหตุ 3 ประการคือ

1.เพื่อปฏิบัติตามความประสงค์ของบิดามเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์

2.เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับน้องสาวที่วายชนม์ไปแล้ว

3.เพื่อมีไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้ประกอบศาสนพิธีต่าง ๆ

เมื่อสร้างวัดแล้วเสร็จเดิมให้นามวัดตามนามฉายาของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ว่า วัดสมเด็จพระปราสาทสิทธิดาราม ตั้งอยู่ห่างจากริมคลองดำเนินสะดวก ประมาณ 500 เมตร ต่อมาภายหลังได้ย้ายวัดมาอยู่ติดริมคลองดำเนินสะดวก ที่ตั้งวัดเดิมก็เหลือไว้แต่เพียงพระอุโบสถ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จมาตรวจทรงรับสั่งว่า วัดควรจะมีชื่อตามตำบลที่ตั้งอยู่ คือ ควรเรียกว่า วัดดอนไผ่ และให้ใช้ชื่อเป็นทางการว่า วัดปราสาทสิทธิ์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อท่านสร้างวัดนี้ขึ้นจึงเป็นวัดหลวงโดยปริยายและมีการพระราชทานกฐินหลวง กลางเดือน 12 เป็นประเพณีมาตลอด จนถึงสมภารองค์ที่ 3 จึงเลิกไป พระราชทานให้สกุลบุนนาคเป็นผู้ดำเนินการแทน เมื่อสกุลบุนนาคเสื่อมอำนาจลง วัดนี้ก็กลายเป็นวัดราษฎร์ จนถึงทุกวันนี้

หลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลวงพ่อไตรรัตน์โรจนฤทธิ์ วัดประสาทสิทธิ์      (วัดหลักห้า) จัดเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งของคลองดำเนินสะดวก เป็นองค์พระประธานที่ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารหลังใหม่ ริมคลองดำเนินสะดวก เป็นพระพุทธรูปหินเขียวปางสมาธิ ศิลปกรรมสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างและผู้สร้าง แต่สันนิษฐานตามพุทธลักษณะเชื่อว่า เป็นพระพุทธรูปโบราณ มีอายุยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มูลเหตุของการอัญเชิญหลวงพ่อไตรรัตน์โรจน์ฤทธิ์ มายังวัดประสาทสิทธิ์นั้น มีบันทึกเก่าแก่กล่าวไว้ว่า ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่สัดสร้างเสร็จ (ย้ายวัดมาใกล้คลองดำเนิน) พระมหาแจ่ม วรรณวงศ์ ได้เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยพระอาจารย์บุญนาค ลกฺขตฺตสีโล ซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสสมัยนั้น ได้จัดกองผ้าป่าไปทอดยังวัดเชิงเลน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเสร็จพิธีทอดผ้าป่าแล้ว คณะผ้าป่าจึงได้เอ่ยปากขอพระพุทธรูป เพื่อจะนำมาเป็นประธานในอุโบสถวัดที่เพิ่งสร้างเสร็จ เจ้าอาวาสวัดเชิงเลนท่านก็ไม่ขัดข้อง และได้มอบพระพุทธรูปหินเขียวให้กับคณะผ้าป่าอัญเชิญกลับไป ซึ่งคณะผ้าป่าได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานที่วัดปราสาทสิทธิ์ โดยการเดินทางมาทางน้ำ เมื่อถึงวัดประสาทสิทธิ์ ได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อประดิษฐานบนอาคารที่สร้างด้วยไม้ที่ได้ก่อสร้างเตรียมไว้ เมื่อขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปี พ.ศ. 2499

ร้านขายยาจีนแซตึ๊ง ร้านเครื่องยาจีน ยาไทย แนะนำเครื่องยา ตำรับยาจีนโบราณตั้งแต่สมัยเตี่ยที่มาจากเมืองจีน เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ OTOP ยาหม่องน้ำ ยาดมยี่ห้อ “นิยม”

เรือนอินทศร บ้านไม้สัก 130 ปี บ้านของนายอากรเก่า โดยในปัจจุบันตกทอดมาถึงรุ่นหลานซึ่งยังคงเก็บรักษาบ้านให้คงเสน่ห์สวยงามอย่างมีคุณค่าด้วยกาลเวลา พร้อมของใช้เก่าแก่ในสมัยนั้น

โรงพิมพ์โบราณเจริญสินการพิมพ์ โรงพิมพ์เก่าแก่ที่ยังใช้เครื่องพิมพ์โบราณและตัวเรียงพิมพ์โลหะผสมดีบุก ซึ่งโรงพิมพ์แบบนี้ปัจจุบันเหลืออยู่น้อยมากแล้ว รับพิมพ์จำพวกการ์ดงานต่างๆ ใบประกาศของตั๊ว วัด โรงเจ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในชุมชนตลาดน้ำหลักห้า (คลองโพธิ์หัก) มีจุดสนใจอื่นๆ เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวแม่ระเบียบ ร้านขายเครื่องจักสาน และเรือชมตลาด-บ้านเรือน

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียน จำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). แนะนำชุมชน “ตลาดน้ำหลักห้า”. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://thailandtourismdirectory.go.th/th/route/100679

พระครูปลัดสุรวุฒิ สิริวฑฺฒโก (อุกฤษโชค). (2564). การจัดการมรดกทางวัฒนธรรมชุมชนตลาดน้ำในจังหวัดราชบุรี. วารสารครุศาสตร์ปริททรศน์ฯ, 8(3). 1-12.

สำนักงานวัฒนธรรมจังวัดราชบุรี. (2565). วัดปราสาทสิทธิ์.  สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://ratchaburi.m-culture.go.th/th/db_26_ratchaburi_68/37982/?embed=true

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี. (2564). ชุมชนตลาดน้ำหลักห้า (คลองโพธิ์หัก). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site?page=227

MGR Online. (2561). “ตลาดน้ำหลักห้า” ชุมชนริมน้ำเก่าแก่ ไม่หวือหวา แต่มากด้วยเสน่ห์. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://mgronline.com/travel/detail/9610000063048