Advance search

เขาย้อย

เป็นอำเภอที่มีกลุ่มชาวไทดำที่ตั้งถิ่นฐานอยู่มากที่สุด มีศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเป็นแหล่งศึกษาวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทดำที่เป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

หมู่ที่ 5
เขาย้อย
เขาย้อย
เพชรบุรี
ศิริณภา นาลา
1 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
เขาย้อย


เป็นอำเภอที่มีกลุ่มชาวไทดำที่ตั้งถิ่นฐานอยู่มากที่สุด มีศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเป็นแหล่งศึกษาวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทดำที่เป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

หมู่ที่ 5
เขาย้อย
เขาย้อย
เพชรบุรี
76140
อบต.เขาย้อย โทร. 0-3256-1208
13.17069781068909
99.83744546771051
องค์การบริหารส่วนตำบลเขาย้อย

คนไทดำ (ลาวโซ่ง,ไทยทรงดำ) อพยพมาจากสิบสองจุไทเมื่อกว่าสองร้อยปีที่แล้ว โดยมีการกล่าวถึงการเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทยหลายระลอกด้วยกัน เมื่อครั้นแผ่นดินสมัยพระเจ้าตากสิน ในพ.ศ. 2323 คนไทดำเคลื่อนย้ายจากประเทศลาว ตั้งแต่เมืองหลวงพระบางมา เมืองม้วย และเมืองแถน (ปัจจุบันเมืองแถนอยู่ในประเทศเวียดนาม) มาตั้งรกรากในจังหวัดเพชรบุรี ใน 2 ปีต่อมา คนไทดำจากเมืองพวนในเชียงขวางและเมืองแถน ก็เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในเพชรบุรีเช่นกัน และมีต่อมามีการเคลื่อนย้ายอีกหลายระลอกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามลำดับ การอพยพของคนไทดำระลอกสุดท้ายเกิดขึ้นในช่วงที่ลาวเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2518 กลุ่มคนไทดำจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่จังหวัดหนองคาย แต่กลุ่มนี้อพยพไปยังประเทศที่สาม ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐ และออสเตรเลีย เป็นต้น

สำหรับชาวไทดำบ้านหนองจิก นับว่าเป็นหมู่บ้านที่มีชาวไทดำอาศัยอยู่มากที่สุด จนได้รับการขนานนามว่า เมืองหลวงของชาวไทดำ ซึ่งชาวไทดำในอำเภอเขาย้อยนี้เป็นชาวไทดำที่ถูกกวาดต้อนมา จากแคว้นสิบสองจุไทดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแถน หรือเมืองเดียน เบียน ฟู (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนาม) ตามที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น โดยกองทัพของเจ้าพระยาจักรี ที่ออกไปตีเมืองเวียงจันทน์เมื่อปีพ.ศ.2321 ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วให้เจ้าหลวงพระบางกวาดต้อนผู้คนจากเมืองเชียงขวาง ดินแดนชาวพวนและสิบสองจุไทลงมาที่กรุงธนบุรี เชลยศึกครั้งนั้นมีทั้งลาว มีทั้งชาวพวน ไทดำ ไทแดง และข่า ชาวพวนเป็นกลุ่มเชลยศึกที่มีจำนวนมากที่สุดและอยู่แยกกันในหลายจังหวัดของประเทศไทย แต่สำหรับชาวไทดำนั้นอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกไปตีเวียงจันทน์อีก ครั้งนี้กวาดต้อนคนลาว คนพวน รวมทั้งชาวไทดำลงมาอีก และโปรดให้ไทดำอยู่ที่เพชรบุรีและราชบุรีนับแต่นั้นมา

นอกจากกลุ่มชนไทดำที่ตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดเพชรบุรีแล้ว กลุ่มคนนี้ก็ได้เคลื่อนย้ายขยายครอบครัวไปตั้งรกรากยังจังหวัดอื่นๆ เช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร เป็นต้น และยังมีการเคลื่อนย้ายไปทางเหนือ ในจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก และบางกลุ่มไปตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเลย อีกด้วย

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ        ติดต่อกับ ตำบลหนองชุมพล

ทิศใต้           ติดต่อกับ ตำบลบางตะบูน

ทิศตะวันออก    ติดต่อกับ ตำบลหนองหญ้าปล้อง

ทิศตะวันตก     ติดต่อกับ ตำบลหนองปรง

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและ ที่ราบสูงทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งในส่วนที่มีเขตติดต่อกับพื้นที่ของอำเภอหนองหญ้าปล้องและเป็นพื้นที่ ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก มีพื้นที่ทำนาสลับกันไปในเขตพื้นที่ตำบลสระพังและตำบลเขาย้อย ลักษณะของดินภูเขา คือ ดินปนหินกรวดหรือลูกรัง ในเขตเทศบาลตำบลเขาย้อยมีภูเขาที่สำคัญอยู่จำนวน 1 ลูก คือ ภูเขาย้อย มีลำคลองสาธารณะและแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่านเขตเทศบาลจำนวนหลายสาย เช่น ห้วยตุ๊กลุ๊ก ห้วยหลวง ห้วยตาห้า เป็นต้น มีคลองชลประทาน ซึ่งรับน้ำจากจังหวัดราชบุรี สามารถมีน้ำที่ใช้ในการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

ระบบเครือญาติ

ชุมชนไทดำเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติเป็นแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม    ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการแต่งงานภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันและการนับถือผีร่วมกัน ทำให้ครอบครัวของคนไทดำมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย เนื่องจากเมื่อฝ่ายชายแต่งงานจะนำภรรยาเข้ามาอาศัยในบ้านพ่อแม่ของตน ส่วนฝ่ายหญิงเมื่อแต่งงานจะไปอาศัยที่บ้านสามีแต่มีการติดต่อไปมาหาสู่กับพ่อแม่ของตน แต่ในปัจจุบันครอบครัวของไทดำมีขนาดเล็กลง โดยบางคู่อาจปลูกบ้านเรือนอยู่ต่างหาก แต่ไม่ไกลจากกบ้านพ่อแม่มากนัก การสืบสกุลจะนับถือฝ่ายบิดา ลูกชายและภรรยานับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายพ่อ ส่วนลูกสาวจะนับถือผีฝ่ายสามี ซึ่งการแบ่งแยกเป็นตระกูลนั้นเรียกว่า “สิง” คล้ายกับการใช้แซ่ของคนจีน โดยภายหลังมีการเติมคำท้าย เช่น “สิงลอ” “สิงคำ” เป็นต้น กลุ่มคนในตระกูลสิงเดียวกันถือว่ามีความเกี่ยวข้องเป็นญาติกัน แต่ปัจจุบันคนไทดำมีการใช้นามสกุลเช่นเดียวกับคนไทย ส่วนคำว่าสิงมีไว้อ้างถึงในการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษ และยังคงนับถือผีฝ่ายบิดาดังเช่นอดีต

ไทดำ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีที่สำคัญคือ

เสนเฮือน คือการเซ่นผีเรือน หรือผีบรรพบุรุษของชาวไทยทรงดำ คำว่า “เสนเฮือน” เดิมคงเป็นเซ่นผีเฮือนแล้วกร่อนเป็น เซ่นเฮือน แล้วจึงกลายเป็น “เสนเฮือน” การเสนเฮือน แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1. เสนเฮือนธรรมดา 2. เสนผีเรียกขวัญ นับประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ดีกินดีของบ้านเมือง เพื่อให้เกิดความร่มเย็น อุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคร้ายและภัยพิบัติ 

พิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษนี้จะอัญเชิญผีบรรพบุรุษมาไว้บนเรือน ซึ่งจัดอยู่มุมหนึ่งของห้องเรียกว่า "กะลอห่อง" เป็นการแสดงถึงความกตัญญู คนไทยทรงดำเชื่อว่าในชีวิตหนึ่งจะต้องจัดพิธีเสนเรือน เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนและครอบครัวให้มีความสุขความเจริญ โดยนิยมจัดทุกๆ 2-3 ปี โดยจะกระทำในเดือนใดก็ได้ยกเว้นเดือน 9 และเดือน 12 เพราะเชื่อว่าผีเรือนไม่อยู่ไปเฝ้าแถน นอกจากนี้เดือน 5 ก็ไม่นิยมทำ เพราะเป็นช่วงหน้าแล้งไม่อุดมสมบูรณ์

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

สังคมชาวไทดำเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ยังชีพด้วยการทำนาเป็นหลัก รองลงมา คือ การประกอบอาชีพปลูกพืชไร่ เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด วัว และควาย สัตว์เลี้ยงที่สำคัญ คือ หมู เพราะต้องใช้ในพิธีกรรม แต่ในปัจจุบันนิยมซื้อหมูที่ฆ่าแล้วจากตลาดมาใช้มากกว่า ดั้งเดิมชาวไทดำบริโภคข้าวเหนียว แต่ในปัจจุบันหลายคนหันมาบริโภคข้าวจ้าว ข้าวเหนียวจึงถูกปลูกเพื่อใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น การทำนาแต่เดิมเน้นเพื่อการบริโภคในครัวเรือเป็นหลัก จึงทำนาน้ำฝน หรือ นาปี ที่ทำครั้งเดียวในช่วงฤดูฝน การเลือกพื้นที่ทำนาจะต้องเลือกบริเวณที่ระดับความสูงต่ำกว่าห้วย แต่อย่างไรก็ตามด้วยเหตุที่สภาพภูมิประเทศของจังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่ค่อนข้างราบ บางครั้งผืนนาต้องอยู่ในระดับเดียวกับหนอง ในอดีตปีใดที่น้ำฝนน้อยไม่เพียงพอต่อการทำนา จำต้องอาศัยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วยทดน้ำเข้านา เช่น โพง และระหัดวิดน้ำ ทั้งนี้จากนโยบายของรัฐที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจเน้นการส่งออกผลิตผลการเกษตร จึงทำให้ไทดำ ต้องเพิ่มการปลูกข้าวแบบนาปรัง 2-3 ครั้งต่อปี ดังนั้นการใช้น้ำฝนและน้ำจากหนองของหมู่บ้านจึงไม่เพียงพอ ระบบทดน้ำดั้งเดิมจึงถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างคลองชลประทานของรัฐและเครื่องสูบน้ำ การไถนาเดิมเคยใช้ควายก็เปลี่ยนเป็นรถไถ จึงไม่ค่อยได้พบเห็นการเลี้ยงควายไว้ใต้ถุนบ้านเหมือนแต่ก่อน ทั้งนี้ ในปัจจุบันการทำนาเริ่มไม่ค่อยได้ผลดี บางคนจึงเริ่มเปลี่ยนไปทำสวนมะพร้าวแทน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนด้านวัฒนธรรม

1. การแต่งกาย ชาวไทยทรงดำเดิมนิยมทอผ้าเอง และนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมความเชื่อ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทยทรงดำในจังหวัดเพชรบุรีที่สำคัญ คือ ผ้าซิ่นลายแตงโม เสื้อก้อม เสื้อไท เสื้อห่งเห่ง เสื้อฮี และผ้าเปียว สีของผ้าซิ่นที่เป็นสีดำหรือสีพื้นเข้มเป็นหลัก มีข้อสันนิษฐานว่า ด้วยเครื่องแต่งกายนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้เรียกความแตกต่างของกลุ่มไทดำให้แตกต่างจากกลุ่มไทอื่น ๆ คือ ความยาวของซิ่นระหว่างไทดำในลาวและเวียดนามกับไทยทรงดำในเพชรบุรีนั้นมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ภูมิประเทศน่าจะส่งอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

การแต่งกายไทยทรงดำ เน้นด้วยผ้าสีดำหรือสีกรมท่า โดยแบ่งออกเป็นของผู้ชายและผู้หญิงการแต่งกายผู้ชาย คือ ใส่เสื้อไทติดกระดุมเงินตั้งแต่ 11 เม็ดขึ้นไป สวมซ่วงก้อม หรือ (กางเกงขาสั้น)  คาดด้วยสายคาดเอว หรือ  (ฝักเอว)  ใส่เสื้อฮีชายในชุดพิธีกรรม การแต่งกายผู้หญิง คือ ใส่เสื้อก้อมติดกระดุมเงินไม่เกิน 11 เม็ด ฮ้างผ้าซิ่นลายแตงโม ทรงหน้าวัว หรือหน้าสั้นหลังยาว ผาดบ่าด้วยผ้าเปียว สะพายกะเหล็บ ใส่เสื้อฮีหญิงในชุดพิธีกรรม

2.วัฒนธรรมอาหาร

วัฒนธรรมการเรื่องอาหารของชาวไทยทรงดำ คือ วัฒนธรรมห้าไห อันประกอบด้วย ไหเกลือ ไหปลาร้า ไหหน่อไม้ดอง ไหมะขามเปียก และไหพริก ห้าอย่างนี้ เป็นเครื่องปรุงสำคัญของอาหารลาวโซ่ง และที่ขาดไม่ได้คือจะต้องมีมะแข่นเป็นส่วนผสมในการปรุง โดยอาหารพื้นถิ่นของไทยทรงดำนี้ เช่น ข้าวเหนียวควายลุย แกงหยวกกล้วยใส่หมู แจ่วเอือดด้าน ปลาอกกะแล้ทอดสมุนไพร และปิ้งงบปลาร้า เป็นต้น

3. ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ

เป็นสถานที่ที่เก็บรวบรวมภาพชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของชาวลาวโซ่งให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาผ่านการจัดแสดงเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันรวมทั้งรูปแบบบ้านเรือน อักษรดั้งเดิม รวมทั้งมีการสาธิตการทอผ้าและจำหน่ายสินค้าที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยวที่สนใจ รู้ก่อนเที่ยว สำหรับหมู่คณะ หากต้องการชมการแสดงประเพณีพื้นบ้าน เช่น พิธีเสนเรือนหรือการเซ่นผีบ้าน การอิ้นกอน การเล่นลูกช่วง การฟ้อนแคน 

วัฒนธรรมด้านภาษาท้องถิ่นของชาวไทยทรงดำ มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ภาษาไทยทรงดำมีลักษณะไม่แตกต่างไปจากภาษาไทยกลาง กล่าวคือมีลักษณะเป็นคำโดดพยางค์เดียว เช่น คำว่าอ้าย เอม แลง งาย ช่วง เสื้อ เสื่อ สาด เป็นต้น ถ้าจะมีคำหลายพยางค์ก็เอาคำโดดมาผสมกัน และภาษาของชาวไทยทรงดำจะไม่มีเสียงควบกล้ำ

ในด้านภาษาพูดของไทยทรงดำนั้นจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาขร้า-ไท (Kra-Dai) สาขาตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Tai Language Group) เช่นเดียวกับกลุ่มไทดำ ไทขาว ลื้อ และไทยสยาม ระบบเสียงภาษาลาวโซ่งคล้ายคลึงกับภาษาไทย ต่างกันที่ภาษาลาวโซ่งมีเสียง “ย” ขึ้นจมูกเหมือนภาษาไทยถิ่นอีสาน และมีหน่วยเสียงวรรณยุกต์ 6 หน่วยเสียง

ในส่วนของการวิจัยสถานการณ์ทางภาษาพูดของชาวลาวโซ่ง มีการวิจัยของสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ พบว่ากลุ่มตัวอย่างชาวลาวโซ่งในจังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี และราชบุรี ยังสามารถพูดภาษาลาวโซ่งเป็นภาษาแรกได้ทุกช่วงอายุ แสดงให้เห็นว่าในเขตพื้นที่สามจังหวัดนี้ชาวลาวโซ่งยังสามารถใช้ภาษาชาติพันธุ์ของตนเองเป็นภาษาที่พูดได้ดีที่สุด 

ในด้านตัวอักษรที่ใช้เขียนนั้นนักภาษาศาสตร์อธิบายว่าตัวหนังสือของกลุ่มลาวโซ่งในประเทศไทยสืบทอดมาจากตัวหนังสือของไทดำที่เรียกว่า “โตสือไตดำ” (ตัวสือไทดำ) ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากตัวอักษรสมัยสุโขทัยเมื่อเปรียบเทียบตัวอักษรของไทดำกับตัวอักษรไทยส่วนมากจะตรงกัน แต่บางตัวจะออกเสียงต่างกัน 

งานวิจัยฉบับเดียวกันของสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ ได้รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาเขียนของชาวลาวโซ่งในประเทศไทยไว้ว่า ชาวลาวโซ่งในเขตจังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี นครปฐม มีกลุ่มตัวอย่างของวัยสูงอายุบางคนที่ยังสามารถเขียนภาษาของลาวโซ่งได้ดี ในขณะที่ในจังหวัดอื่นที่มีชาวลาวโซ่งอาศัยอยู่ยังไม่มีกลุ่มตัวอย่างที่เขียนภาษาของลาวโซ่งได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีความพยายามในการฟื้นฟูและอนุรักษ์การเขียนด้วยอักษรของลาวโซ่งในประเทศไทยเกิดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งในอนาคตหากกระบวนการฟื้นฟูการเขียนอักษรลาวโซ่งเป็นที่สำเร็จก็จะมีชาวลาวโซ่งรุ่นใหม่ที่สามารถเขียนอักษรลาวโซ่งเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตามภาพรวมของสถานการณ์ทางภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวโซ่งในประเทศไทย ยังไม่มีแนวโน้มของการเกิดภาวการณ์ถดถอยทางภาษา ตามข้อสรุปจากงานวิจัยของสมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ ทั้งนี้เนื่องจากชาวลาวโซ่งเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งของการใช้และการสืบต่อทางภาษากลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาได้สะท้อนให้เห็นทัศนคติเชิงบวกต่อภาชาติพันธุ์ของตน เช่น ความไม่อายที่จะต้องพูดภาษาลาวโซ่งต่อหน้าผู้อื่น ไม่คิดว่าภาษาลาวโซ่งจะเรียนรู้ยาก ไม่เป็นการเสียเวลาที่จะเรียนรู้ภาษาลาวโซ่ง การพูดภาษาลาวโซ่งไม่ได้แสดงว่าเป็นคนหัวเก่าหรือหัวโบราณแต่อย่างใด ทัศนคติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างวัยหนุ่มสาวชาวลาวโซ่งในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันตกของประเทศไทย มีทัศนคติเชิงบวกต่อภาษากลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของภาษาชาติพันธุ์และยังมีการสืบทอดการใช้ภาษานี้ต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้จากการสำรวจสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีความพยายามในการฟื้นฟูและอนุรักษ์การใช้ภาษาทั้งในแบบที่เป็นภาษาพูดและระบบการเขียนของชาวลาวโซ่ง/ไทดำ กลุ่มที่มีบทบาทในประเทศไทยได้แก่ สมาคมไทดำ (ประเทศไทย) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการฟื้นฟูภาษาและระบบการเขียนให้ได้มีการใช้งานอย่างกว้างขวางขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) มีกลุ่มผู้รู้ นักปราชญ์ชาวลาวโซ่ง/ไทดำ ที่มีความสามารถหลายท่าน เช่น อาจารย์สุรีย์ ทองคงหาญ อาจารย์ชวลิต อารยุติธรรม อาจารย์วิเชียร เชื่อมชิต อาจารย์ศิริวรรณ บรรจง นางสาวอรุณี บุบผะศิริ ร่วมมือกันจัดทำคู่มือการเรียนภาษาไทดำ เพื่อเผยแพร่ให้กับชุมชนชาวลาวโซ่ง/ไทดำในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ใช้ร่วมกันอย่างเป็นวงกว้าง โดยการเลือกใช้แบบอักษรของไทดำจากกลุ่มไทดำที่ใช้ในเวียดนามมาเป็นแบบอักษรมาตรฐานในปัจจุบันเนื่องจากทางสมาคมไทดำเห็นว่า แบบอักษรของลาวโซ่ง/ไทดำในประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงและมีลักษณะกระจัดกระจายตามชุมชนต่าง ๆ มากว่าสองร้อยปี และยังไม่เคยมีการประมวลให้เป็นแบบเดียวกัน แต่อักษรที่ใช้ในประเทศไทยก็มีที่มาจากอักษรไทดำจากสิบสองจุไทในเวียดนาม บทบาทในการฟื้นฟูภาษาและอักษรไทดำของสมาคมไทดำ (ประเทศไทย) ได้เริ่มเด่นชัดตั้งแต่มีการตั้งสมาคมอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ปัจจุบันได้มีการจัดสอบวัดผลการเรียนภาษาและอักษรไทดำเป็นสนามสอบประจำในแต่ละปี 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป.). ชุมชนไทดำบ้านเขาย้อย. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/3486.

จิตติมา ผลเสวก. (2561). วัฒนธรรมห้าไหไทยทรงดำ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. จาก: https://www.technologychaoban.com/folkways/article_68597.

ทวี นวมนิ่ม. (ม.ป.ป.). ผ้าไทยทรงดำ ฐานข้อมูลท้องถิ่น (เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. จาก: https://localphetchaburi.net/eLocal/items/show/13#?c=&m=&s=&cv=&xywh=0%2C-229%2C862%2C1033.

เทศบาลตำบลเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี. (ม.ป.ป). ประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ วันที่ 23 มีนาคม 2566. จาก: https://www.khaoyoicity.go.th/about.

เยาวลักษณ์ จุลมกร. (2550). การสื่อสารกับการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อการธำรงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไทยทรงดำ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตรพัฒนาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วีรพงษ์ รามางกูร. (2559). ไทดำเพชรบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม2566. จาก: https://www.matichon.co.th/columnists/news_112476

ศรุติ โพธิ์ไทร. (2555). โลกทัศน์ลาวโข่งในบริบทใหม่ : ที่ว่างที่เปลี่ยนแปลง ประเพณีที่เลือนหาย. หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมไทย. 8(2011), 259-275.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน). (2563). กลุ่มชาติพันธุ์ : ไทดำ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. จาก: https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/132.

สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ. (2556). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์การแปรและการเปลี่ยนแปลงเสียงในภาษาไทยโซ่ง. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี. (2559). บ้านหนองจิกต้นกำเนิดชาวไทยทรงดำแห่งเพชรบุรี. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566. จาก: https://phetchaburi.cdd.go.th/services/%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99-2.