Advance search

ชุมชนย่านตลาดการค้า บริเวณสองฝั่งของถนนในตลาดเทศบาลตำบลบางแพ ภายในชุมชนมีสถานที่ที่น่าสนใจ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบางแพ และ ณ สัทธา อุทยานไทย

บางแพ
บางแพ
ราชบุรี
มนิสรา นันทะยานา
18 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
8 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
ตลาดบางแพ

ที่มาของนามอำเภอว่า "บางแพ" ได้ความว่าเมื่อสมัยก่อนท้องที่อำเภอนี้เป็นที่ลุ่มจดชายทะเลเต็มไปด้วยป่าพง ป่ากก มีผู้คนอาศัยน้อย ถึงฤดูน้ำจะมีผู้คนพากันขึ้นไปตัดไม้ทางป่า ผูกเป็นแพล่องลงมาตามลำน้ำไปขายทางชายทะเล การเดินทางจะต้องนำแพไม้มาจอดพักค้างแรมที่บ้านบางแพนี้เมื่อมีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยน้อย จึงพากันเรียกที่แห่งนี้ว่า "บางแพ"                          


ชุมชนชนบท

ชุมชนย่านตลาดการค้า บริเวณสองฝั่งของถนนในตลาดเทศบาลตำบลบางแพ ภายในชุมชนมีสถานที่ที่น่าสนใจ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบางแพ และ ณ สัทธา อุทยานไทย

บางแพ
บางแพ
ราชบุรี
70160
13.690947
99.932411
เทศบาลตำบลบางแพ

“บางแพ” ในอดีตก่อนจะเป็นหมู่บ้าน บริเวณท้องที่นี้เคยเป็นที่ลุ่มจรดชายทะเลเต็มไปด้วยป่าพง ป่ากก มีผู้คนอาศัยน้อย ถึงฤดูกาลน้ำหลากชาวบ้านจะพากันไปตัดไม้แล้วนำมาผูกเป็นแพ ล่องลงมาตามคลองตาคตและคลองธรรมชาติ เพื่อออกไปค้าขายทางทะเล การเดินทางจะต้องนำแพไม้มาจอดพักค้างแรมเป็นจำนวนมากเป็นประจำ และเมื่อมีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนกันมากขึ้น จึงพากันเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านบางแพ” และมีหมู่บ้านหลาย ๆ หมู่บ้านรวมกันจัดตั้งเป็นตำบล เรียกว่า "ตำบลบางแพ"

ชุมชนตลาดบางแพ ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางแพ ประมาณ 300 เมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี ประมาณ 53 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 84 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนตลาดแพ สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนตัว และรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ

ชุมชนตลาดบางแพ เป็นชุมชนย่านตลาดการค้า บริเวณสองฝั่งของถนนตลาดในเขตเทศบาลตำบลบางแพ โดยมีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มที่มีลำคลองไหลผ่านทางฝั่งตะวันออก ซึ่งในอดีตเป็นบริเวณที่เป็นจุดจอดพักแพ จึงทำให้มีผู้คนมาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยมาก จนเกิดสาธารณูปการ อาคารพาณิชย์ และ “ตลาดบางแพ” ขึ้น ปัจจุบันพบอาคารเก่าและเรือนไทยอยู่บ้าง

จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปีพ.ศ. 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในบ้านตลาดบางแพ จำนวน 661 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 965 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 436 คน หญิง 529 คน

กลุ่มอาชีพ

ผู้คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น การทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรเริ่มหันมาเลี้ยงโคนม เลี้ยงกุ้งมากขึ้น ในปัจจุบันมีการส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มแม่บ้าน ผู้คนอีกส่วนหนึ่งได้หันไปประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากปัจจุบันมีนักธุรกิจเข้ามาก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมบ้างแล้ว เช่น โรงงานผลิตวุ้นเส้น โรงงานผลิตสแตนเลสเกี่ยวกับรถยนต์ โรงงานทอผ้าม่าน โรงงานผลิตกล่องกระดาษ เป็นต้น

วิสาหกิจชุมชนบ้านกุ่มพัฒนา

เป็นหมู่บ้านการเกษตรที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เคยทำอาชีพเลี้ยงโคนม แต่ประสบปัญหาต้นทุนสูง และขาดแรงงาน ต่อมาเกิดการรวมกลุ่มแม่บ้านเพื่อทำอาชีพเสริมสร้างรายได้ เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกุ่มพัฒนาในปี พ.ศ. 2549 หนึ่งในการสร้างรายได้คือ การเพาะเห็ด ซึ่งนำโรงเรือนที่เคยเลี้ยงโคนมมาเป็นสถานที่ในการแปรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด เช่น น้ำพริกเผาเห็ด แหนมเห็ด และกะหรี่ปั๊บเห็ด จนมาสู่กล้วยตากจากกล้วยน้ำว้าพันธุ์ดั้งเดิมของชุมชน พร้อมกรรมวิธีบ่มตามภูมิปัญญาโบราณของบรรพบุรุษ ภายใต้ชื่อ กล้วยตากแบรนด์กุ่มทอง

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกุ่มพัฒนา เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดในกระบวนการผลิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวคิด หลักคิด วิธีคิด แบบมีเป้าหมาย และลำดับขั้นการพัฒนา และกำหนดเป้าหมายแบบครบวงจร คือ ผลิต แปรรูป ท่องเที่ยว มีการนำภูมิปัญญาในการผลิตมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ กระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกกล้วยน้ำว้า สายพันธุ์มะลิอ่อง ควบคุมคุณภาพ ปริมาณ ให้เพียงพอกับตลาดกล้วยตากที่กลุ่มมีอยู่ แปลงกล้วยเป็นแปลงผสมผสาน ปลูกพืชสร้างรายได้ รายวัน สัปดาห์ เดือน ปี ใช้เปลือกกล้วยเป็นอาหารหยาบเลี้ยงโคนม ได้ปุ๋ยคอกบำรุงต้านกล้วย และส่งเสริมการเลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์ โดยใช้ต้นกล้วยเป็นอาหารหมักเลี้ยง เป็นการเสริมรายได้ และสร้างความปลอดภัยในอาหาร ร่องน้ำในแปลงปลา

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม

ประเพณีวิ่งวัวลาน

การวิ่งวัวลานของชาวราชบุรี จัดขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว คือระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม จัดขึ้นที่อำเภอบางแพ ภายในงานจะมีการแข่งขันวัวลาน ซึ่งวัวลาน หรือวัวระดอก เป็นการละเล่นพื้นบ้านในภาคกลางของไทย โดยใช้วัวพันธุ์ไทย มักจะเล่นในเวลากลางคืน เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ทำงานในตอนกลางวัน การเล่นวัวลานใช้วัวที่มีอายุประมาณ 5-9 ปี วัวแต่ละตัวจะมีเครื่องประดับวัวที่สวยงาม สำหรับสถานที่เล่นวัวลานนั้น นิยมเล่นกันในผืนนาที่ร้างไม่มีการทำนาหรือที่บริเวณกว้างและเรียบ

อย่างไรก็ดีจังหวัดราชบุรีมีการวิ่งวัวโดยใช้คนวิ่งแทนวัวด้วยคือมีผู้แข่งขัน 2 คนใช้เชือกยาวประมาณ 3 เมตร เอาปลายทั้งสองข้างผูกรอบเอวผู้เข้าแข่งขันคนละข้างแล้วคล้องเชือกไว้กับเสา แข็งแรง ผู้เข้าแข่งขันจะพยายามดึงกันเองตลอดเวลาก่อนออกวิ่ง พอได้รับสัญญาณปล่อย กรรมการจะตัดเชือกให้ขาดโดยใช้มีดหรือขวานสับเชือกส่วนที่พาดอยู่บนเสา พอเชือกขาด ผู้แข่งขันจะออกวิ่งไปแพ้ชนะกันที่เส้นชัย สำหรับสถานที่แข่งขันวัวลานที่อำเภอบางแพ จัดในที่โล่งแจ้งมีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ มีรั้วไม้ไผ่ล้อมรอบ ริมรั้วด้านหน้าทำเป็นนั่งร้านสูง 6 เมตร สำหรับกรรมการ รอบรั้วด้านในมีคอกสำหรับวัวพักผ่อนตรงกลางคือลานแข่งขัน  มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร ปูลาดด้วยฟาง กลางลานปักเสาเกียดโตขนาดเสาไฟฟ้าสูง 6-7 เมตร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรม

  • พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบางแพ แต่เดิมเป็นสถานที่ว่างเปล่า ทางโรงพยาบาลบางแพได้มีโครงการที่จะใช้เป็นสถานที่บำบัดน้ำเสีย แต่พระครูโสภณ เจ้าคณะอำเภอบางแพ ได้ขอสถานที่นี้มาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในอำเภอบางแพ ซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ หลายภาษา และหลายวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งเอกลักษณ์ของชาวอำเภอบางแพ โดยอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นเรือนครึ่งไม้ครึ่งปูนสองชั้น ภายในจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

  • วัดบางแพใต้ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัด จำนวน 32 ไร่ 2 งาน 27 ตารางวา ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2440 โดยมีพระครูประสาทวรคุณ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส
  • วัดบางแพเหนือ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2444 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีพระสมุห์จันทร์ คุณจนโล เป็นเจ้าอาวาส
  • ณ สัทธา อุทยานไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ มีพื้นที่กว่า 42 ไร่ ด้วยต้นไม้ทั้งน้อยใหญ่อายุนับสิบปี ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่เดินทางสะดวกและใกล้กรุงเทพฯ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ปลูกฝังรากเหง้าแห่งความเป็นไทยเพื่อการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะไทยที่งดงาม ตลอดจนศึกษาประวัติของผู้มีชื่อเสียงและพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วเมืองไทยในรูปแบบหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสส์ขนาดเสมือนจริงกว่า 60 รูป ผ่านเทคนิคจัดแสดงและวิธีการนำเสนอรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยมาประยุกต์เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ และเกิดการจดจำที่สนุกสนานยิ่งกว่าเดิม ภายในมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 8 โซน ได้แก่ มหาราชกษัตรา, ณ สัทธานุสรณ์, ณ สัทธาปฏิมา, ถ้ำพุทธชาดก, อริยสัทธา, สัทธาถิ่นเรือนไทย, ลานอภิรมย์ ลานอวโลสัทธา เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 16.30 น. และวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 09.00 - 17.00 น.
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตลาดไม้เก่า อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี  ถือว่าเป็นแหล่งค้าขายไม้เก่าที่ใหญ่ติดอันดับต้น ๆ ของตลาดค้าไม้เก่าในเมืองไทยทีเดียว ด้วยจำนวนร้านค้ามากกว่า 60 ร้าน ตั้งเรียงรายขนาบสองฝั่งของถนนทางหลวงหมายเลข 325 (บางแพ-สมุทรสงคราม) ยาวกว่า 6 กิโลเมตร ซึ่งร้านค้าเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีไม้เก่าไว้จำหน่าย แต่ยังรับสั่งทำเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย 

ข้อดีของไม้เก่าคือไม่เก่าจะไม่หด ไม่ยืด แต่ต้องไม่เก่าจนเกินไป เจ้าของร้านค้าไม้เก่าที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นคนจากที่อื่นส่วยใหญ่จะเป็นผู้ที่มีถิ่นกำเนิดจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มาเปิดร้านกว่า 20 ปี ส่วนไม้ที่นำมาก็มักจะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เช่น ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้ประดู่ เป็นต้น ส่วนช่างทำไม้ก็จะมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและกำแพงเพชร ซึ่งชำนาญเรื่องบ้านทรงไทย  

กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียนจำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/

เทศบาลตำบลบางแพ. (2563). ข้อมูลพื้นฐาน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก: https://bangphae.go.th/

ปณิตา สระวาลี. (2555). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบางแพ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก: https://db.sac.or.th/museum/

ประเพณีวิ่งวัวลาน. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก: https://www.hoteldirect.in.th

วิสาหกิจชุมชนบ้านกุ่มพัฒนา. (ม.ป.ป.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก: https://thailandtourismdirectory.go.th/

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี. ชุมชนตลาดบางแพ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566, จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/