Advance search

ชุมชนเกษตรกรรมบนพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตะวันออก) ที่มีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก เห็นได้จากปัจจุบันที่ชุมชนได้กลายเป็นแหล่งสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้า

หมูที่ 5 ถนนลูกเสือ
หมู่บ้านท่าลาภ
ธรรมามูล
เมืองชัยนาท
ชัยนาท
ชุติมา คล้อยสุวรรณ์
15 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
บ้านท่าลาภ


ชุมชนชนบท

ชุมชนเกษตรกรรมบนพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตะวันออก) ที่มีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก เห็นได้จากปัจจุบันที่ชุมชนได้กลายเป็นแหล่งสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้า

หมู่บ้านท่าลาภ
หมูที่ 5 ถนนลูกเสือ
ธรรมามูล
เมืองชัยนาท
ชัยนาท
17000
15.2194219069
100.097670556
เทศบาลเมืองชัยนาท

ชุมชนบ้านท่าลาภเป็นย่านชุมชนเก่า ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรมบนพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งตะวันออก) ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่ที่ 7 ตำบลธรรมามูล โดยมีถนนพหลโยธินตัดผ่านทางฝั่งตะวันออกของพื้นที่ เหมาะสมในการทําการเกษตร มีวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ได้แก่ ประเพณีตักบาตรเทโว การแข่งเรือพาย และมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำไปสู่การทำสินค้า OTOP ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากกล้วย เป็นต้น

พื้นที่ชุมชนมีความเหมาะสมในการทําการเกษตร อีกทั้งภายในชุมชนมีป่าไม้ที่มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง มีไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง และไผ่รวกขึ้นอยู่ทั่วไป ชนิดพันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ ประดู่ แหนนา พฤกษ์ สะเดา ยอป่า แคนา แจง กระโดน กระพี้จั่น โมก งิ้วดอกขาว ส้มเสี้ยว กระทุ่ม และไผ่รวก มีพืชผักอาหารป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด และผักเปราะ ไม้พื้นล่างที่พบคือสาบเสือ สัตว์ป่าที่พบ ได้แก่ กระรอก งู กระแต หนูนา และนกชนิดต่าง ๆ

พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำท่วมถึง และมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 25 – 55 เมตร ลักษณะดินเป็นดินเหนียว มีพื้นที่ป่าอยู่บริเวณทิศเหนือของหมู่บ้าน

อาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลคุ้งสำเภา 
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลเขาท่าพระ
  • ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลหางน้ำสาคร 
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลหาดท่าเสา 

จำนวนประชากร 1017 คน แบ่งเป็นชาย 504 คน และหญิง 513 คน โดยมีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

ปัจจุบันชุมชนบ้านท่าลาภ เป็นแหล่งสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้าทำให้มีการรวมกลุ่มของแม่บ้านเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป็นทางการที่เกิดจากการร่วมมือกันของคนในชุมชน จนก่อให้เกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่าลาภ

กลุ่มเป็นทางการ 

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านท่าลาภ ตั้งอยู่เลขที่ 241 หมู่ที่ 7 ถนนลูกเสือ ตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่อแปรรูปกล้วย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย เพราะปลูกกันมากในหมู่บ้านท่าลาภและหมู่บ้านใกล้เคียง ด้วยความที่ผลผลิตมีจำนวนมาก หากจำหน่ายไม่ทันจะเน่าเสีย จึงได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย แปลกใหม่ อร่อย และน่ารับประทาน

วิถีชีวิตด้านเศรษฐกิจ

ชุมชนบ้านท่าลาภเป็นแหล่งสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้าทำให้มีการรวมกลุ่มของแม่บ้าน เพื่อนำสิ่งที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปและส่งออกเป็นสินค้า OTOP

วิถีชีวิตด้านวัฒนธรรม

ประเพณีตักบาตรเทโว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรในวันสำคัญ เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ได้ตระหนักถึงวันสำคัญ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความผูกพัน ความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน พร้อมทั้งการส่งเสริมและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

นางอัมพร เผ่าพงษ์ศักดิ์ วิทยากรจุดสาธิตการเกษตร ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรท่าลาภ วัย 50 ปี โดยอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 241 หมู่ที่ 7 ตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท และด้วยความสามารถของคุณอัมพรจากที่กล่าวไปยังมีการเปิดร้าน Amporn Banana อัมพรของฝากชัยนาท ไว้ขายผลิตภัณฑ์จากกล้วยน้ำว้า ซึ่งถือเป็นพืชผลทางการเกษตรที่เด่น ๆ ภายในชุมชนอีกด้วย

ทุนวัฒนธรรม 

1. วัดธรรมามูลวรวิหาร ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาธรรมามูลริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ศิลปะแบบอู่ทองได้มาจากเมืองสรรคบุรี และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาไว้เป็นพระหล่อแบบช่างแม่น้ำนครชัยศรี มีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร สร้างด้วยศิลามีลวดลายสลักเป็นรูปกลมตามวงจักร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

2. แหล่งโบราณคดีบ้านท่าลาภ เป็นแหล่งโบราณคดีในสมัยอยุธยา ได้รับการสำรวจทางโบราณคดีโดย สุนิสา มั่นคงและคณะ เมื่อปี พ.ศ. 2526 แต่ยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การเปลี่ยนแปลงที่ก้าวสู่การพัฒนาชุมชน เนื่องจากชุมชนบ้านท่าลาภเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ทำให้ผลผลิตมีจำนวนมาก หากจำหน่ายไม่ทันจะเน่าเสีย จึงได้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกล้วยในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย แปลกใหม่ อร่อย และน่ารับประทาน โดยมีรสชาติที่ไม่เหมือนที่ไหน เช่น “กล้วยสมุนไพรไรซ์เบอร์รี่” วัตถุดิบส่วนใหญ่รับซื้อจากสมาชิกในชุมชนทั้งสิ้น ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตการเกษตรและการเข้าร่วมจัดทำผลผลิต กล้วยสมุนไพรไรซ์เบอร์รี่เป็นสินค้าใหม่ของกลุ่ม เป็นผลิตภัณฑ์ที่จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ

กล้วยสมุนไพรไรซ์เบอร์รี่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี และแกมมาโอไรซานอลในปริมาณสูง ทั้งจากกล้วยหักมุก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และสมุนไพรที่นำมาเป็นเครื่องปรุง ซึ่งการผลิตกล้วยสมุนไพรไรซ์เบอร์รี่ดังกล่าว เป็นการเปิดตลาดเข้าสู่สินค้าเพื่อสุขภาพของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรท่าลาภ และเพิ่มมูลค่าจากกล้วยและข้าวให้สูงขึ้นเกือบเท่าตัว

ชุมชนบ้านท่าลาภมีป่าชุมชนบ้านท่าลาภ ขึ้นทะเบียนพร้อมจัดทำโครงการป่าชุมชนบ้านท่าลาภเมื่อปี พ.ศ. 2561 ลักษณะเป็นป่าโปร่งมีไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง และมีไผ่รวกขึ้นอยู่ทั่วไป

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม. (2564). แคตตาล็อกผลิตภัณฑ์ต้นแบบ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://ipc10.dip.go.th/Portals/0/2558/.

ชญาดา สุวรัชชุพันธุ์. (2555). ความสัมพันธ์ของชุมชนโบราณในจังหวัดชัยนาทกับชุมชนภายนอกในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 24. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์. (2564). ชุมชนบ้านท่าลาภ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/2860.

naxsolution. (2557). เทศบาลตำบลธรรมามูล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://www.thanmamoon.go.th/home.

SoClaimon. (2558). กล้วยสมุนไพรไรซ์เบอร์รี่ของกลุ่มแม่บ้านท่าลาภ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2566, จาก https://soclaimon.wordpress.com.