
ดินแดนเมืองท่าโบราณ แหล่งโบราณสถานเมืองหน้าด่าน
ปากน้ำกัวลาบารา หรือตําบลปากน้ำ มีฐานะเป็นตําบลหนึ่งในอําเภอละงู มีพื้นที่ติดกับทะเลอันดามัน มี ลักษณะเป็นอ่าวและลําน้ำชายฝั่ง ถือเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สําคัญของชาวประมงพื้นบ้านที่ อาศัยอยู่บริเวณนี้
ตําบลปากน้ำมีลักษณะเด่นคือเป็นแหลม ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับเกาะอยู่ที่บริเวณปลายแหลมที่บ้านปากบารา ซึ่งเดิมเรียกว่า “กัวลาบารา” ซึ่งเป็นภาษามลายู แปลว่า “อ่าวถ่าน” ที่มาจากปากคลอง ในอดีตเป็นท่าเรือที่สําคัญ มีเรือต่างประเทศเข้ามาบรรทุกสินค้าประเภทจําพวกไม้สําหรับทําฟืน ถ่านไม้ นําไปเผาถ่านที่เกาะหมาก หรือเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังเป็นสินค้าขาออกประเภท ปลาเค็ม หอยแห้ง เป็ด ไก่ มะพร้าวแห้งและยางพารา สินค้าขาเข้าประเภทบุหรี่ น้ำมันก๊าซ น้ำตาล ผ้า ผ้าปาเต๊ะ เชือก น้ำอัดลม ตะปู ฯลฯ บ้านกัวลาบาราเป็นท่าเรือที่สําคัญ เรือสินค้าที่มาจากเกาะปีนังแวะรับสินค้าจะต่อไปยังท่าข้ามและท่าเรือกันตัง จังหวัดตรัง
ต่อมาราวปี พ.ศ. 2472 กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตได้เสด็จมาบ้านกัวลาบารา กํานันยูโซ๊ะ มะสันต์ รับเสด็จ ได้ดําริให้เปลี่ยนชื่อบ้านกัวลาบาราเป็น “บ้านปากบารา” และตําบลปากบารา จากนั้นในปี พ.ศ. 2489 ปลัดอําเภอประจําตําบลได้เสนอให้รวมตําบลปากบารากับตําบลละงูบางส่วนเป็นตําบลเดียวกัน ให้ชื่อว่า “ตําบลปากน้ำ” จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อ ตําบลแหลมสน ตําบล กําแพง อําเภอละงู
- ทิศใต้ ติดต่อ ตําบลละงู อําเภอละงู
- ทิศตะวันออก ติดต่อ ทะเลอันดามัน
- ทิศตะวันตก ติดต่อ ทะเลอันดามัน
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนปากน้ำเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล มีสภาพเป็นป่าชายเลน ดินมีสารประกอบกํามะถันปะปนอยู่มาก มีกรดแฝง ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืช แต่เหมาะที่จะใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และรักษาให้คงสภาพเป็นป่าชายเลน มีคลองที่สําคัญ คือ คลองปากบารา คลองพราน คลองบ่อเจ็ด ลูก คลองละงู และคลองท่ามาลัย แหล่งโบราณสถาน ได้แก่ โบราณสถานบ่อเจ็ดลูก เป็นต้น มีทรัพยากรธรรมชาติที่สําคัญ ได้แก่ ป่าชายเลน ทรัพยากรประมง และปะการัง
คลองปากบาราเป็นพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทิศเหนือเป็นป่าชายเลน ส่วนทางด้านทิศใต้เป็นหาดทรายทอดยาวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากหาดทรายนี้ไปทางด้านตะวันตกประมาณ 4 กิโลเมตรเป็นที่ตั้งของเกาะเขาใหญ่ที่มีระดับความสูงของยอดเขาสูงสุด 270 เมตร และความยาวของเกาะจากทิศเหนือจดใต้ประมาณ 4 กิโลเมตรทําให้พื้นที่ระหว่างเกาะเขาใหญ่และหาดทราย บริเวณปากคลองปากบาราเป็นพื้นที่ท้องทะเลที่ปลอดจากสภาพคลื่นลมแรง เนื่องจากมีเกาะเขาใหญ่เป็นแนวกําบังคลื่นลม ชาวประมงจึงมักใช้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวเป็นที่สําหรับจอดเรือประมงหลบลมฝนในช่วงหน้ามรสุม
สภาพภูมิอากาศ
ตําบลปากน้ำ ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ มี 2 ฤดู
- ฤดูร้อน จะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยได้รับอิทธิจากลมมรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศทั่วไปร้อนและมีความชื้นต่ำ ในช่วงนี้จะมีอากาศร้อน
- ฤดูฝน จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทําให้มีฝนตกชุกตลอดฤดู
สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ
- โบราณสถาน “บ่อเจ็ดลูก”
- หน้าผาใช้หนี้
- เกาะบุโหลน
- อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
- ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
- กะลิดี
- อ่าวก้ามปู
- หาดอ่าวนุ่น
- เกาะเขาใหญ่: ปราสาทหินพันยอด
- หาดโต๊ะหงาย
- เขาโต๊ะท่าน
- ท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา
- ชายหาดปากบาราและลานกัวลาบารา
ชุมชนตำบลปากน้ำมีประชากรรวม 10,030 คน จำนวนครัวเรือน 2,534 ครัวเรือน เป็นประชากรตามทะเบียนราษฎร์แยกจำนวนประชากรแต่ละหมู่บ้าน ดังนี้
หมู่ที่ | หมู่บ้าน | ชาย | หญิง | รวม | ครัวเรือน |
1 | บ้านบ่อเจ็ดลูก | 493 | 475 | 958 | 227 |
2 | บ้านปากบารา | 2,023 | 2,012 | 4,035 | 1,176 |
3 | บ้านเกาะบูโหลน | 222 | 222 | 444 | 143 |
4 | บ้านตะโละใส | 1,366 | 1,318 | 2,684 | 567 |
5 | บ้านท่ายาง | 253 | 247 | 500 | 107 |
6 | บ้านท่ามาลัย | 542 | 485 | 1,027 | 229 |
7 | บ้านท่าพยอม | 186 | 196 | 382 | 85 |
รวม | 5,085 | 4,945 | 10,030 | 2,534 |
เนื่องจากสภาพพื้นที่ตั้งของชุมชนปากน้ำที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล ทำให้ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพประมง รองลงมาคืออาชีพรับจ้าง เกษตรกรรม ค้าขายและรับราชการ ตามลำดับ
ประเพณีและวัฒนธรรม
เนื่องจากประชากรในชุมชนปากน้ำส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งส่วนมากมักเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ซึ่งจะยกตัวอย่างประเพณีพิธีกรรมสำคัญ ดังนี้
- การโกนผมเด็กแรกเกิดและฮากีเกาะฮ์ เด็กทารกในชุมชนปากน้ำทุกคนเมื่อมีอายุครบ 7 วัน พ่อแม่หรือผู้ปกครองจะทําความสะอาดเด็กน้อยตามหลักศาสนาอิสลาม ให้มีการโกนหรือตัดผม พร้อมทั้งให้ตั้งชื่อเด็กในวันนั้น และมีการเชือดแพะหรือแกะ (ถ้ามีความสามารถ) เลี้ยงญาติพี่น้อง เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่ออัลลอฮ์ที่ให้มีลูกสืบวงศ์ตระกูล
- การเข้าสุหนัต หรือการขลิบปลายอวัยวะเพศชาย โดยปกตินิยมทำช่วงที่มีอายุ 7-15 ปี การเข้าสุหนัต เป็นพิธีกรรมที่สําคัญอย่างหนึ่งของคนมุสลิม โดยผู้ชายมุสลิมต้องผ่านการเข้าสุหนัต ถ้าไม่เข้าถือว่าเป็นมุสลิมที่ไม่สมบูรณ์
- การละหมาดวันศุกร์ วันศุกร์เป็นสําคัญที่สุดในรอบสัปดาห์ ชายมุสลิมจะต้องไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิด มีการฟังการปฐกฐาธรรม (คุตบะฮ์) เป็นการอบรมสั่งสอนให้อยู่ในหลักการและจริยธรรมของศาสนาอิสลาม โดยมีข้อห้ามว่า ห้ามขาดละหมาดวันศุกร์เกินติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง โดยไม่มีเหตุผลสมควร มิเช่นนั้นจะถือว่าบุคคลนั้นได้ถูกตัดขาดจากศาสนาอิสลาม
- การถือศีลอด (ชาวบ้านเรียกว่า ปอซอ หรือบวช) การถือศีลอด ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ชาวมุสลิมพึงปฏิบัติ ซึ่งจะทํากันในเดือนรอมาฏอนของทุกปีตามปฏิทินอิสลามเป็นเวลา 30 วัน เป็นการงดกินอาหารในเวลา กลางวันตั้งแต่เวลาประมาณตี 5 จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตระหนักถึงความทุกข์ยากของคนที่อดอยาก ยากจน ไม่มีอาหารกิน ซึ่งเป็นการฝึกให้มุสลิมทุกคนเป็นคนอดทนและมีจิตใจเมตตา เอื้ออาทรต่อคนที่ลําบากกว่า
การตั้งบ้านเรือน
การตั้งถิ่นฐานของประชากรในชุมชนปากน้ำ ส่วนมากจะอยู่บริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล กระจุกตามเส้นทางคมนาคม กระจุกตามเส้นทางคมนาคม ชุมชนที่มีความหนาแน่นที่สุด ได้แก่ ชุมชนบ้านปากบารา ชุมชนบ้านตะโละใส ชุมชนบ้านท่ามาลัย ชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก เนื่องจากการเจริญของเมืองอย่างรวดเร็วและขาดการควบคุมที่ดี
ภาษา : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาพูด : ภาษาไทย
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของชาวชุมชนปากน้ำ
สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนปากน้ำในอดีตมีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย กลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยในหมู่บ้านมีจํานวนไม่มากนักในช่วงแรก ลักษณะครอบครัวเป็นแบบญาติพี่น้องสนิทสนมรู้จักกัน ส่วนใหญ่การใช้ชีวิตเป็นแบบพึ่งพิงธรรมชาติโดยอาศัยการทําประมงพื้นบ้านเป็นอาชีพหลักในการเลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัว
สําหรับในยุคปัจจุบันวิถีชีวิตมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเนื่องจากการย้ายที่อยู่อาศัยจากบริเวณ ชายหาดมาอยู่ในพื้นที่หน่วยงานรัฐจัดสรรให้ การเพิ่มขึ้นของจํานวนประชากรในชุมชนซึ่งเกิดจากการอพยพ ของแรงงานต่างถิ่นทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะชาวพม่าซึ่งได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทํามาหากินเป็นลูกจ้างเรือประมงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเป็นวิถีชุมชนประมงชายฝั่งดั้งเดิม ความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติเริ่มลดน้อยลง ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวขนาดเล็ก ลงมาเหลือ 2-5 คนการใช้ชีวิตพึ่งพาเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ชุมชนยังคงสืบทอดตามรอยวิถีของบรรพบุรุษมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ การทําประมงพื้นบ้านชายฝั่ง แม้ว่าจะมีบางส่วนที่หันไปประกอบอาชีพทํานา สวนผักสวนผลไม้ สวนยาง เลี้ยงสัตว์และมีกิจกรรมนอกเหนือภาคการเกษตร ได้แก่ ค้าขาย รับจ้าง บริการนักท่องเที่ยว เป็นไกด์นําเที่ยว ทําเรือทัวร์ เป็นต้น
การเดินทาง คือ การเรียนรู้. (2565). ท่าเรือปากบารา สตูล. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://th.trip.com/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566].
หุดดีน อุสมา อารัญย์ มัจฉา นภาวรรณ จวนใหม่ และคณะ. (ม.ป.ป.). การสร้างความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่าง ๆ ผ่านประวัติศาสตร์ของชุมชนตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น.
ไพศาล วิภูษณะภัทร์. (2565). ปราสาทหินพันยอดเกาะเขาใหญ่. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/maps/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566].
Chayanis Vanarin. (2562). ปราสาทหินพันยอดเกาะเขาใหญ่. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/maps/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566].