ชุมชนมีความโดดเด่นในเรื่องภาษา การแต่งกาย ศิลปะ ประเพณี และวัฒนธรรมตามแบบฉบับของชาวภูไท
ชื่อหมู่บ้านภู บ่งบอกลักษณะที่ตั้งชุมชนอยู่กับธรรมชาติ โดยคำว่า “ภู” เป็นคำท้องถิ่นอีสานหมายถึง “ภูเขา”
ชุมชนมีความโดดเด่นในเรื่องภาษา การแต่งกาย ศิลปะ ประเพณี และวัฒนธรรมตามแบบฉบับของชาวภูไท
ชาวบ้านในชุมชนบ้านภู ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าภูไทที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่อง ภาษา การแต่งกาย ศิลปะ ประเพณี และวัฒนธรรมตามแบบฉบับของชาวภูไทที่ทางชุมชนได้ร่วมกันสืบสานและอนุรักษ์ไว้
ผู้นำหมู่บ้านคนแรก ได้แก่ เจ้าสุโพสมบัติ โดยจากอดีตถึงปัจจุบัน มีผู้นำและผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน รวม 15 คน อาชีพหลักของคนในหมู่บ้านคือ การทำนา ผู้หญิงมักทอผ้า โดยอัตลักษณ์ของชุมชนคือ ผู้หญิงนุ่งซิ่นทิว ใส่เสื้อเย็บมือย้อมครามแถบชายขอบแดง ห่มผ้าสไบพาดไหล่ซ้าย ผู้ชายเลี้ยงสัตว์ จักรสาน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในระหว่างหุบเขาจึงให้ชื่อว่า บ้านหลุบภู ปัจจุบันเรียกชื่อว่า “บ้านภู”
ชุมชนบ้านภู มีภูเขาล้อมรอบ ตั้งอยู่บนเนินเตี้ย ๆ เป็นหมู่บ้านที่มีทิวทัศน์ สิ่งแวดล้อมสวยงามพื้นดินอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำ ข้าวจึงมีคุณภาพดี ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสารเคมี ปลูกข้าวเหนียวไว้รับประทาน ข้าวเจ้าไว้ขาย ชุมชนบ้านภูอยู่ห่างจากตัวจังหวัดมุกดาหารประมาณ 57 กิโลเมตร
ชุมชนบ้านภูแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านภูหมู่ที่ 1 และบ้านภูหมู่ที่ 2 ขึ้นกับ ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร พื้นที่ทั้งหมด 6,338 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 3549 ไร่
- บ้านภูหมู่ที่ 1 มี นายเผด็จศักดิ์ แสนโคตร ตำแหน่งกำนัน เป็นผู้นำหมู่บ้านจำนวนครัวเรือน 129 หลัง จำนวนประชากรชาย 197 คน หญิง 193 คน รวม 390 คน
- บ้านภูหมู่ที่ 2 มี นายพัฒนา นามเหล่า ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำหมู่บ้านจำนวนครัวเรือน 140 หลัง จำนวนประชากรชาย 175 คน หญิง 216 คน รวม 391 คน
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพทอผ้าไหมบ้านภู ตั้งอยู่เลขที่ 29/2 หมู่ 2 ถนน ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร รหัสไปรษณีย์ 49160 ผ้ามัดหมี่ลายแก้วมุกดาเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดมุกดาหาร เป็นการนำลายผ้าโบราณ มามัดเป็นลวดลายและย้อมสีบนเส้นไหมและทอเป็นผืนผ้า แต่ละลายมีเอกลักษณ์และความหมายสำหรับจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 5 ลาย ดังนี้
- ลายสายน้ำ (ลายง๊อกแง๊ก หรือลายซิกแซก) มีลักษณะเป็นเส้นโค้งสีขาว หมายถึงสัญลักษณ์แทนแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นสายน้ำคู่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นเส้นกันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว
- ลายนาคน้อย (หรือลายพญานาค) หมายถึง พญานาคที่อาศัยในแม่น้ำโขงเฝ้าดูแลความเป็นอยู่ของชาวเมืองมุกดาหาร นาคเป็นสัตว์แห่งความอุดมสมบูรณ์ด้านพุทธศาสนา ชาวอีสานจะมีการนับถือนาคเป็นวัฒนธรรมร่วมกัน จึงปรากฏลายนาคบนผืนผ้าของชาวอีสานหลายแบบ
- ลายดอกช้างน้อย (ลายดอกกระบวนน้อย) เป็นลายสีเหลืองดอกซ้างน้าว ซึ่งเป็นไม้มงคลจังหวัดมุกดาหาร
- ลายตุ้มเล็ก (ตุ้มลายไม้) แทนดวงแก้วเล็ก (ดวงดาวบนท้องฟ้า)
- ลายตุ้มใหญ่ หรือลายมุก มีลักษณะเป็นดอกสีขาว หรือที่เรียกว่าลายตุ้ม หมายถึงแก้วมุกดา ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองมุกดาหาร ลักษณะเด่นของผ้ามัดหมี่ลายแก้วมุกดาเป็นผ้ามัดหมี่ 5 สี คือ สีฟ้า สีเหลืองเข้ม สีน้ำเงิน สีขาว และสีบานเย็น คั่นด้วยเส้นไหม 4 สี ได้แก่ เส้นไหมหางกระรอก (สีน้ำเงิน+ขาว) สีบานเย็น สีเหลือง สีฟ้าคราม ทอแบบ 5 กระสวย
โฮมสเตย์บ้านภู ก่อตั้งขึ้นจากการริเริ่มของกลุ่ม ผู้นำหมู่บ้านที่ต้องการให้บ้านภูเป็นหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ รู้จักของผู้คนในวงกว้าง ผู้ใหญ่บ้านและกลุ่มชาวบ้านที่เป็นอาจารย์ในโรงเรียนซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่เป็นผู้นำทางความคิดของชาวบ้านภูจึงเริ่มต้นพิจารณาว่า บ้านภูมีสิ่งใดที่จะสามารถนำเสนอให้ผู้มาเยือนได้เห็นการดำเนินงานดังกล่าวกระทำภายใต้การแนะนำของพัฒนากรอำเภอหนองสูงซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านมาตลอดจากโครงการพัฒนาของรัฐหลาย ๆ โครงการที่ผ่านมา เช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้านมี “ผลิตภัณฑ์” เป็นของตนเอง ซึ่งเป็นที่มาอันสำคัญของการท่องเที่ยวบ้านภู ความคิดเรื่องผลิตภัณฑ์ได้ต่อยอดมาสู่ความคิดเรื่องการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่พัฒนากรและชาวบ้านภูที่เป็นผู้นำในด้านกิจกรรมของหมู่บ้านได้ช่วยกันคิดว่าบ้านภูมีสิ่งใดที่สามารถนำเสนอได้ และได้คำตอบว่าบ้านภูเป็น “ผู้ไท” และมีวิถีชีวิตของความเป็นผู้ไทซึ่งสามารถนำเสนอได้ จึงนำจุดเด่นของบ้านภูนี้เข้าสู่การก่อตั้งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรมผู้ไทที่ชาวบ้านจะเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวพักในรูปแบบของโฮมสเตย์ด้วย
1. พ่อถวัลย์ ผิวขำ ผู้นำของชุมชนเป็นผู้ที่แบ่งบทบาทคนในชุมชนจัดแบ่งงานให้ตามถนัด และความเหมาะสมในกิจกรรมแหล่งเรียนรู้ 6 ฐาน ประกอบด้วย ฐานลดรายจ่าย ฐานเพิ่มรายได้ ฐานประหยัดอดออม ฐานเรียนรู้ ฐานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฐานเอื้ออารี ซึ่งบริหารจัดการโดยให้นักท่องเที่ยวแบ่งกลุ่มเข้าไปศึกษาในแต่ละฐาน
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
- วัดศรีนันทาราม บ้านภู ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร วัดศรีนันทาราม ตั้งอยู่ในบ้านภู หมู่ 1 ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้เคียงกับศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชกับลานวัฒนธรรม และมีกุฏิเก่าที่มีความงดงามของสถาปัตยกรรม ที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ มีพระองค์ใหญ่ให้กราบไหว้
- ศูนย์การเรียนรู้บ้านภู เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ของชุมชนเป็นสถานที่ประชุม เสวนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นที่หลอมรวมภูมิรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน และใช้เป็นแหล่งบริการชุมชนด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะให้บริการด้านการท่องเที่ยวของชุมชน และเป็นศูนย์ประสานงานและบูรณาการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนผู้นำกลุ่มองค์กร เครือข่ายที่ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนบ้านภูให้มีความเข้มแข็ง มีกิจกรรมไฮไลท์ของชุมชนบ้านภู ซึ่งจะประกอบไปด้วย
- กิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ นักท่องเที่ยวร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญตามรูปแบบของชาวภูไทยบ้านภู โดยได้นำใบตองมาเย็บเป็นบายศรีอย่างสวยงาม ที่ประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียน ข้าวเหนียวนึ่ง สุรากลั่น ไข่ไก่ต้ม ไก่ต้มทั้งตัว ด้ายผูกข้อมือมีด้ายสายสิญจน์ ประกอบเป็น “พาขวัญ” โดยจะมีพราหมณ์เป็นผู้ ทำพิธีเรียกขวัญสร้างขวัญกำลังใจ และมีผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ทำการผูกข้อมือพร้อมอวยพรให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่น
- กิจกรรมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน จากกลุ่ม 3 วัย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงดังกล่าว อาทิ การเต้นบาสโลป การแสดงวงโปงลาง การแสดงลงข่วงเข็นฝ้าย การรับประทานอาหาร ในรูปพาแลง เป็นขันโตกอาหารพื้นบ้านของบ้านภู พร้อมกับรับชมการแสดงของชุมชน
- กิจกรรมนุ่งซิ่น ปูสาดใส่บาตรตอนเช้าหน้าวัดศรีนันทาราม เป็นกิจกรรมในตอนเช้ารุ่งอรุณ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสเสน่ห์ของชุมชน โดยการตักบาตรข้าวเหนียวบริเวณหน้าบ้านพักโฮมสเตย์หรือบริเวณหน้าวัดศรีนันทาราม ซึ่งจะได้รับบุญพร้อมสัมผัสอันบริสุทธิ์ของชุมชน
ทุนธรรมชาติ
- จุดชมวิวบ้านภูจุดชมวิวบ้านภู ตั้งอยู่บริเวณท้ายหมู่บ้าน เป็นที่ราบเชิงเขาเป็นแหล่งปลูกข้าวอินทรีย์ของชาวบ้าน เป็นสถานที่ชมทัศนียภาพของท้องทุ่งนาและสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของภูจ้อก้อ
- ฝายมีชีวิต ตั้งอยู่บริเวณลำห้วยกระเบียน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและระบบนิเวศห้วยกระเบียน ชุมชนเพื่อจะได้ชะลอน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่จะใช้ประโยชน์จากฝายเหล่านี้เป็นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ยังทำให้เกิดความชุ่มชื้นในต้นน้ำของชุมชน และสร้างระบบนิเวศที่ดีต่อป่าชุมชน
- แหล่งศึกษาธรรมชาติวัดถ้ำกระพุง ตั้งอยู่บนภูเขาท้ายหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแหล่งต้นน้ำของชุมชนและมีสมุนไพรต่าง ๆ มากมาย จึงเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและสมุนไพรของชุมชน
- แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอาจารย์ถวัลย์ ผิวขำ ตั้งอยู่บริเวณของบ้านอาจารย์ถวัลย์ ซึ่งได้ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรแบบพอเพียง การปลูกพืชผักสวนครัวและอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่น
กลุ่มภูไทดังกล่าวใช้ภาษาภูไทสื่อสารกันตลอดมา แต่สำเนียงอาจจะแตกต่างกันบ้างตามสภาพท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม
ในปี พ.ศ. 2563 มูลนิธิสัมมาชีพ เข้าดำเนินโครงการ “ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนไทยวิถีใหม่ด้วยมาตรฐานการบริการ” โดยความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท่องเที่ยวบ้านภู มีองค์ความรู้และทักษะการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยชุมชนมีความพร้อม และสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ด้วยการจัดแนวทางความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA)
บ้านภู มีความโดดเด่นด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชาวผู้ไทย ทั้งด้านภาษา การแต่งกาย ดนตรีพื้นบ้านวิถีการดำเนินชีวิตที่พอเพียง จนเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ และมีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม มีกิจกรรมท่องเที่ยวพร้อมทั้งฐานเรียนรู้ และบ้านพักโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวผู้ไทย ชาวบ้านภูได้กล่าวไว้ว่า ข้อดีของการมาเที่ยวบ้านภู คือ นักท่องเที่ยวจะได้รับของดี 3 อ. ได้แก่ อากาศดี อาหารดี และอารมณ์ดี
แหล่งเรียนรู้ 6 ฐาน แต่ละฐานนั้นกระจายอยู่ภายในหมู่บ้าน
- ฐานที่ 1 ด้านการลดรายจ่าย
- ฐานที่ 2 ด้านการเพิ่มรายได้ (เรียนรู้การทำสบู่สมุนไพร ผลิตภัณฑ์ชุมชน)
- ฐานที่ 3 ด้านการประหยัด
- ฐานที่ 4 ด้านการเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน วิถีชุมชนเผ่าผู้ไทยบ้านภู
- ฐานที่ 5 ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- ฐานที่ 6 ด้านการเอื้ออารี การจัดสวัสดิการสงเคราะห์ช่วยเหลือภายในชุมชน
เดินเล่นชมวิวทุ่งนายามเช้า-เย็น ชาวบ้านภูส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ดินบริเวณนี้ชาวบ้านบอกว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรน้อย ในฤดูทำนาทุ่งนาในหมู่บ้านจะเขียวขจี และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะเห็นทุ่งข้าวเหลืองเต็มทุ่ง ล้อมรอบด้วยภูเขา 5 ลูก ได้แก่ ภูผาขาว ผู้จ้อก้อ ภูหินเหล็กไฟ ภูผาแดง และภูผาเม่น บริเวณทุ่งนาจึงเป็นสถานที่เหมาะแก่การเดินเล่นรับลมในยามเช้าเย็น
ทดลองหาอาหารธรรมชาติพื้นบ้านแบบชาวผู้ไทยบ้านภู อาหารพื้นบ้านของชาวบ้านภู ส่วนใหญ่ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นตามลำห้วย ทุ่งนา และป่าชุมชน ชาวบ้านมีวิธีการหาของกินตามภูมิปัญญาของชาวผู้ไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และบางอย่างมีการดัดแปลงประยุกต์เอาอุปกรณ์สมัยใหม่ผสมกับภูมิปัญญาเดิมมาใช้ เช่น การดักหนูด้วยบ่วง การดักกุ้งในลำห้วย การขุดหอยขม เป็นต้น นำมาปรุงประกอบเป็นเมนูอาหารท้องถิ่นได้หลายเมนู เช่น แกงอ่อมหนูนา กุ้งเต้น แกงหอยขม เป็นต้น กิจกรรมนี้ได้ทั้งความสนุกสนาน ไปพร้อมกับการเรียนรู้วิธีการหาอาหารตามธรรมชาติ เห็นถึงการได้มาของอาหาร เรียนรู้การทำและลิ้มลองรับประทานอาหารท้องถิ่น
เรียนรู้การทำผ้าหมักโคลนและการทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ “ผ้าหมักโคลน” เป็นภูมิปัญญาของชนเผ่าผู้ไทยในอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ที่สืบทอดการทำมามาตั้งแต่โบราณ และยังคงสืบทอดการทำมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นต้นกำเนิดของการผลิตผ้าหมักโคลน จึงกลายเป็นเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ ข้อดีของการนำผ้าไปหมักโคลน คือ โคลนช่วยจับสีทำให้สีเข้มขึ้น สีติดทนนาน ทำให้ผ้านุ่ม อีกทั้งโคลนเป็นสมุนไพร มีคุณสมบัติดูดสารพิษออกจากร่างกาย
ชุมชนเผ่าผู้ไทยบ้านภู มีกลุ่มทำผ้าหมักโคลนและการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนทำจำหน่ายคือ ผ้าพันคอ และผ้าคลุมไหล่ ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า “ภูฝ้าย” นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจกิจกรรมการทำผ้าหมักโคลนและผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ สามารถร่วมเรียนรู้ ลงมือทำตั้งแต่ขั้นตอนการทำ เทคนิควิธีการ ตามแบบภูมิปัญญาชุมชน จนได้ผลิตภัณฑ์ฝีมือตัวเองมาเป็นของที่ระลึก ซึ่งเป็นผลงานที่ให้มีคุณค่าจากการลงมือทำ สัมผัสถึง “ไอดิน กลิ่นโคลน” สโลแกนของผ้าหมักโคลนบ้านภู
กิจกรรมพาแลง และพิธีบายศรีสู่ขวัญ การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีที่สำคัญของชาวอีสาน เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดี ชาวอีสานมีความเชื่อว่าการสู่ขวัญช่วยทำให้เกิดความเป็นมงคล มีความสุข มีโชคลาภ ปราศจากเคราะห์ร้าย ดังนั้นชาวบ้านภูจึงเชื่อว่ากิจกรรมบายศรีสู่ขวัญจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดสิริมงคลกับชีวิต โดยผู้นำในพิธีหรือหมอสูตรขวัญหรือพ่อพราหมณ์จะกล่าวเชิญขวัญให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวของผู้เข้าร่วมพิธีหรือเจ้าของขวัญ และให้ผู้เฒ่าผู้แก่ผูกข้อมือให้ เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเสร็จเรียบร้อย นักท่องเที่ยวและได้กินพาแลง เป็นอาหารท้องถิ่น เช่น แกงหวายใส่ไก่ ปลานึ่ง แกงหน่อไม้ แจ่วซอมภูไท ผักปลอดสารพิษตามฤดูกาล เป็นต้น ระหว่างกินพาแลง มีการแสดงฟ้อนกล้องตุ้มและฟ้อนภูไทยให้นักท่องเที่ยวได้ชม ปิดท้ายด้วยการเต้นรำวงร่วมกันระหว่างนักท่องเที่ยวกับชาวบ้าน กิจกรรมพาแลง และพิธีบายศรีสู่ขวัญนี้ ถือว่าเป็นไฮไลต์ในยามค่ำคืนของการมาท่องเที่ยวบ้านภูก็ว่าได้ เพราะเป็นงานเลี้ยงที่นักท่องเที่ยวจะได้สนุกสนานกับกิจกรรมการแสดง โดยกิจกรรมจะจัดขึ้นในช่วงค่ำ บริเวณลานวัฒนธรรม ภายในวัดศรีนันทาราม ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่ประสงค์จะพักค้างคืนบ้านพักโฮมสเตย์ แต่ตั้งใจมากินพาแลงและชมการแสดงแล้วเดินทางกลับก็สามารถทำได้เช่นกัน
พักค้างคืนโฮมสเตย์ บ้านภู มีที่พักโฮมสเตย์มีประมาณ 40 หลัง เปิดรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 บ้านพักโฮมเสตย์ ได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีการกินอยู่หลับนอนของชาวผู้ไทยได้อย่างลึกซึ้ง เช่น การร่วมกันทำอาหาร ตามชาวบ้านไปสวนไร่นา ตักบาตรยามเช้า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าของบ้านกับนักท่องเที่ยว กฎข้อห้ามการปฏิบัติตัวของผู้ที่มาท่องเที่ยว ได้แก่ ห้ามส่งเสียงดังหลัง 22.00-05.00 น. ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ห้ามทำในสิ่งที่เป็นการล่วงเกินผู้หญิงในหมู่บ้าน เช่น การจับมือ ต้องร่วมชมกิจกรรมที่ชุมชนจัด แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตเชิงสร้างสรรค์ ไม่เล่นการพนัน ไม่ดื่มสุราและยาเสพติด
ชุมชนต้องเที่ยว. (2565). ชุมชนบ้านภู จังหวัดมุกดาหาร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก : https://www.chumchontongtiew.com/
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านภู. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก : https://thai.tourismthailand.org/
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน. (2555). บ้านภู. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก : https://thaicommunitybasedtourismnetwork.wordpress.com/
มูลนิธิสัมมาชีพ. (2563). บ้านภู แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมผู้ไท. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.right-livelihoods.org/
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหนองสูง. (2561). บ้านภู หมู่1 2 ตำบลบ้านเป้า อำเภอหนองสูง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://district.cdd.go.th/nongsung/
ปริวรรต สมนึก. (2555). การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านภูกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม. วารสารศิลปศาสตร์. 8(1), 1-36.
พงศ์วิชญ์ เขียวมณีรัตน์ และคณะ. (2561). บ้านภู อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ผู้ไทกับการบริหารการพัฒนาในบริบทการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม. 8(2), 17-25.
TANTHIKA THANOMNAM. (2565). ชุมชนคุณธรรมบ้านภู จังหวัดมุกดารหาร. [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://jk.tours/