
หมอลำที่เป็นเอกลักษณ์ และหัตถกรรมที่หลากหลายในชุมชนไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าขิด และหมอนขิด
หมู่บ้านตั้งอยู่ท่ามกลางลำห้วย มีหนองน้ำ สัตว์ป่า หมู่ปลาชุกชุมมาก ในลำห้วยที่เป็นคุ้งน้ำลึก เรียกว่า “กุด” มีปลาค้าวเนื้ออ่อนจำพวกหนึ่งตัวใหญ่และมีจำนวนมากมาย ซึ่งต่อมากลายมาเป็นท่มาของชื่อหมู่บ้าน “ปลาค้าว” นั่นเอง
หมอลำที่เป็นเอกลักษณ์ และหัตถกรรมที่หลากหลายในชุมชนไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าขิด และหมอนขิด
เมื่อประมาณ 150-200 ปี มาแล้ว มีนายพรานเกิ้นกับนายพรานสีโท พร้อมลูกน้องสมุนอพยพครอบครัวจากหนองบัวลำภู นั่งหลังช้างเดินทางมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านขามเฒ่า อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาสองนายพรานได้ออกหาล่าเนื้อในละแวกนี้ ซึ่งเรียกว่าป่าดงใหญ่ผู้คนทั้งหลายไม่กล้าที่จะเข้ามาเพราะกลัวผี กลัวสัตว์ร้าย แต่สองนายพรานผู้เชี่ยวชาญการล่าเนื้อ ไม่ได้มีความกลัวแม้แต่น้อย จึงชวนกันมาพักแรมล่าเนื้อในบริเวณป่าหนาทึบตรงที่ตั้งหมู่บ้านปลาค้าวในปัจจุบัน
ที่บริเวณตรงนี้มีลำห้วยมีหนองน้ำ มีสัตว์น้ำชุกชุมมาก ในลำห้วยที่เป็นคุ้งน้ำลึก เรียกว่า "กุด" มีปลาค้าวเนื้ออ่อนจำพวกหนึ่ง ตัวใหญ่จำนวนมากมาย ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าปลาค้าว สองนายพรานเห็นว่าที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์จึงพากันย้ายบ้านเรือนมาตั้งที่ป่าแห่งนี้ เนื่องจากมีปลาค้าวเยอะ จึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่าหมู่บ้านกุดปลาค้าว ซึ่งต่อมาการพูดเพี้ยนสั้นลงเหลือเฉพาะชื่อว่า "หมู่บ้านปลาค้าว" จนถึงปัจจุบัน
การตั้งบ้านสมัยก่อนไม่ตั้งอยู่รวมกัน พรานสีโท ได้แยกตัวไปตั้งบ้านที่ป่าดงใกล้ ๆ กัน เรียกว่า บ้านดงสีโทแต่พรานทั้งสองก็ไปมาหาสู่และออกล่าเนื้อร่วมกันเรื่อยมา ครั้งหนึ่งสองนายพรานได้พากันไล่ช้างไปทางทิศตะวันออกหมู่บ้าน บริเวณนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า ท่าดอนไล่ ตรงหนองที่พรานพุ่งหลาว ใส่ช้างเรียกว่า หนองบักหลาว เป็นต้น
พรานทั้งสองกับสมุนแบ่งเนื้อช้างกัน พรานสีโทอยากได้หัวช้างจึงหาบคอนเอาจะกลับไปบ้านดงสีโทแต่หัวช้างมีน้ำหนักมากพรานไม่สามารถนำไปได้จึงทิ้ง อันเป็นที่มาของชื่อเรียก ทุ่งหัวช้าง ต่อมาเมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่อาศัย จึงเกิดมีหมู่บ้านรอบข้างไม่ห่างไกลกันเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น หมู่บ้านหนองน้ำเที่ยง บ้านดอนก่อ บ้านนาดี บ้านถ่อนใหญ่ บ้านดอนชี บ้านดอนชาด บ้านหนองลุมพุก เป็นต้น
หมู่บ้านปลาค้าวเป็นหมู่บ้านเผ่าภูไทที่รักความสงบ ชอบความสนุกสนาน งานฝีมือเป็นเลิศ มีวัฒนธรรมที่ลือชื่อ คือหมอลำ มีทุนวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงคืองานแกะสลักตุ๊กตาไม้ขนุน การทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขิด หมอนขิด หมอนฟักทอง และการถักเสื้อไหมพรม รวมไปถึงมีชื่อเสียงด้านการแสดงดนตรี หมอลำ กลองยาว ร้องสรภัญญะ กล่อมลูก รำผญา สอย เป่าแคน และดีดพิณ ปัจจุบันมีคณะหมอลำที่ชื่อเสียงโด่งดัง นำรายได้สู่หมู่บ้านปีละหลายล้านบาท แต่ละปีจะมีบุญประเพณีที่สำคัญ คือ บุญบั้งไฟ บุญมหาชาติและงานลอยกระทงประจำปีของตำบล
ปัจจุบันหมู่บ้านปลาค้าว แบ่งการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้าน มีวัด 2 วัด คือ วัดศรีโพธิ์ชัย และวัดฉิมพลี มีโรงเรียน 2 แห่ง คือ โรงเรียนปลาค้าวหนองน้ำเที่ยง และโรงเรียนปลาค้าววิทยานุสรณ์ มีสถานที่ชุมชนเคารพนับถือ คือ ดอนหอเจ้าปู่
ชุมชนบ้านปลาค้าว มีความสามารถในเรื่องงานช่างฝีมือพื้นบ้าน การทอผ้า ทอเสื่อกก ตำรายาสมุนไพร และหมอลำ นอกจากนั้นยังมีการรำผญา เป่าแคน ดีดพิณ กลองยาว รวมถึงการร้องสรภัญญะ บ้านปลาค้าวได้รับรางวัล “ค่าของแผ่นดิน” ด้านการส่งเสริมและการอนุรักษ์ภาษาถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน มีภูมิปัญญาที่รักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมในการทำเครื่องสักการะบูชาอีสานโบราณอีกด้วย
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลเหล่าพรวน อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลไม้กลอน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลหนองมะแซว จังหวัดอำนาจเจริญ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอลือ จังหวัดอำนาจเจริญ
จากการสำรวจข้อมูล ณ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2566 ชุมชนหมู่บ้านปลาค้าว หมู่ 10 มีประชากรทั้งหมด 486 คน 166 หลังคาเรือน
ผู้ไทชุมชนแห่งนี้ได้จัดตั้งกลุ่มอาชีพเพิ่มเสริมสร้างรายได้ในครัวเรือนขึ้น คือ การทำธูป โดยได้ส่งออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ และนอกจากการทำธูป ผู้คนในชุมชนยังมีการทำผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นประจำชุมชนอีกหนึ่งสิ่ง คือ การทอผ้า จัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้า โดยมีลายดอกสะแบงที่เป็นเอกลักษณ์ของประจำชุมชน เพราะสะแบงเป็นไม้ยืนต้นที่มีอยู่มากในชุมชน ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่ตามไร่นาซึ่งมีลักษณะของผลคล้าย ลูกยาง จึงถูกนำมาทักถอจนกลายเป็นลายทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชุมชน
ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานหัตถกรรมในครัวเรือน หากมีเวลาว่างจะซ้อมแสดงหมอลำ ในงานบุญประเพณีตามจารีต 12 เดือนของอีสาน ปัจจุบันหมู่บ้านปลาค้าวเป็นที่รู้จักกันในนาม “หมู่บ้านหมอลำ”
สถานที่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวชุมชนบ้านปลาค้าวและชุมชนใกล้เคียง คือ "ตูบปู่ตา" และ "วัดศรีโพธิ์ชัย" เป็นวัดที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนกับวัดที่มีความผูกพันกันมายาวนานและยังมีวิหารที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่ศรีโพธิ์ชัย พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำนาจเจริญ
ทุนทางวัฒนธรรม
วัดศรีโพธิ์ชัย
วัดศรีโพธิ์ชัย บ้านปลาค้าว อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นวัดที่มีโบราณสถานที่สำคัญ ทั้งพระพุทธรูป อุโบสถและวิหารที่เก่าแก่ โดยมีวิหารที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่ศรีโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัด ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2478 ลักษณะของวิหารมีระเบียงรอบ และเสาค้ำเป็นซุ้มโค้งล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านข้างอุโบสถ หลังคาเป็นเครื่องไม้เดิมสันนิษฐานว่ามุงด้วยกระเบื้องดินเผา แต่ปัจจุบัน มีสภาพชำรุดและเปลี่ยนเป็นหลังคาสังกะสีแทน ปั้นลมและเชิงชายเป็นไม้แกะสลักและลายฉลุ เหนือประตูทางเข้ามีจารึกเป็นตัวเลขไทย และตัวเลขญวน ระบุปีพ.ศ.2478 ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียก วิหารญวน ภายในวิหารมีโบราณวัตถุล้ำค่า เช่น พระพุทธรูปไม้ ตู้พระไตรปิฎก โฮงฮดไม้แบบโบราณ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นสถานที่เก็บวัตถุโบราณส่วนหนึ่งที่จัดแสดงภายในคือชิ้นส่วนจากศาสนสถานของวัดศรีโพธิ์ชัยในอดีต เช่น ประตูวิหารรวมทั้งช่อฟ้า ใบระกา และรังผึ้งของวิหารหลังเดิม เป็นไม้ตะเคียนแกะสลักลาย ทาสีงดงาม มีอายุกว่า 100 ปี
วัดฉิมพลี
ภายในวัดมีโปงไม้ใหญ่ บ่อน้ำโบราณ ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ในสมัยโบราณชาวบ้านในหมู่บ้านปลาค้าว จะใช้น้ำดื่มจากบ่อน้ำโบราณหลายแห่ง ขณะนี้มีเหลืออยู่ในโรงเรียนปลาค้าวหนองเที่ยงและข้างปู่ตาอังกฮาดราชวงศ์ แต่บ่อน้ำโบราณในวัดฉิมพลี มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นศูนย์รวมชาวบ้าน พอถึงหน้าแล้ง น้ำในบ่อจะไหลซึมออกมาไม่ทันกับการใช้สอยของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงได้มารอเข้าเเถวตักน้ำ จากบ่อน้ำทั้งกลางวันและกลางคืน เกิดการเเย่งชิงกันตังน้ำ โต้เถียงกันคนนี้มาก่อนคนนี้มาหลัง ได้เกิดปาฎิหาริย์น้ำในบ่อแห้งขอด ไม่ไหลซึมออกมาอีก ชาวบ้านพากันเดือดร้อน ทั้งพระสงฆ์สามเณรในวัดก็เดือดร้อน จึงช่วยกันหาทางแก้ไขโดยการขุดบ่อขึ้นมาอีกหลายเเห่ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงปรึกษาว่าต้องทำพิธีขอน้ำจากกุดปลาขาว แหล่งน้ำใต้หมู่บ้าน หาบแห่ขึ้นมา เทลงในบ่อแต่ผลปรากฏว่าไม่มีเหมือนเดิม ชาวบ้านจึงเสนอให้หมอดูทำนาย จึงรู้สาเหตุที่น้ำไม่มี เพราะเจ้าที่เจ้าของน้ำท่านไม่ให้มี เพราพี่น้องทะเลาะกัน ไม่สามัคคีกัน ชาวบ้านทั้งหลายจึงพากันยินยอมรับปากว่าจะไม่ทะเลาะกันอีก จะไม่เเย่งชิงน้ำกันอีก จะสามัคคีกัน น้ำในบ่อจึงมีตราบเท่าทุกวันนี้ จึงเรียกบ่อน้ำนี้ว่า "บ่อน้ำศักดิ์ศิทธิ์"
ดอนปู่ตาป่าสมุนไพร
เป็นความเชื่อเกี่ยวกับกลุ่มผีให้คุณที่ชาวอีสานให้ความเคารพศรัทธาค่อนข้างมาก คือ “ผีปู่ตา” ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผีบรรพชน หรือกลุ่มผีประจำตระกูลที่ล่วงลับไปแล้วของชาวอีสาน แต่ดวงวิญญาณยังเป็นห่วงบุตรหลานอยู่จึงเฝ้าคอยดูแล รักษา คุ้มครอง ป้องกันภัยร้ายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นในชุมชนโดยมอบหมายกำหนดให้ “เฒ่าจ้ำ” ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงานสื่อสารระหว่างผีบรรพชนกับชาวบ้าน ความเชื่อถือ ศรัทธาเรื่องผีบรรพชน หรืออาจเรียกว่า “ผีปู่ย่าตายาย” ซึ่งชาวอีสานนั้นปฏิบัติบูชาสืบทอดกันมาเป็นประเพณีทุกท้องถิ่น เป็นที่น่าสังเกตว่าชุมชนจะยึดมั่นเคารพในผีเพศชายเป็นสำคัญ จึงคงเหลือชื่อเป็น “ผีปู่ตา” หรือ “ผีตาปู่” ส่วน “ผีย่ายาย” นั้นกลับเลือนหายไป อย่างไรก็ตามการคงชื่อ “ปู่” และ “ตา” อาจมุ่งหวังเป็นบรรพชนทั้งฝ่ายบิดามารดาให้ทัดเทียมกันด้วย “ปู่” เป็นญาติข้างฝ่ายชาย และ “ตา” เป็นญาติข้างฝายหญิง
องค์การบริหารส่วนตำบลปลาค้าว. (ม.ป.ป.). ประวัติที่มา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก http://plakhao.go.th/
ศูนย์ประสานงานเครื่อข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน. (ม.ป.ป). ปลาค้าว. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://thaicommunitybasedtourismnetwork.wordpress.com/
จะไปป่ะล่ะ : Ja pai pa la. (2563). เยือนถิ่นหมอลำ สัมผัสวิถีชุมชน ที่บ้านปลาค้าวจังหวัดอำนาจเจริญ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://th.readme.me/
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ. (2566).รายงานข้อมูลตำบลปลาค้าว. (2566). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://3doctor.hss.moph.go.th.
รศ.ดร.บุญยงค์ เกศเทศ. (2542). ป่าวัฒนธรรมอีสาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2566, จาก http://pttinternet.pttplc.com/