เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟปากท่อ มีวัดปากท่อ เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน ภายในชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทเรือนไม้ ลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น ของชาวไทยเชื้อสายจีน
เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟปากท่อ มีวัดปากท่อ เป็นศาสนสถานสำคัญประจำชุมชน ภายในชุมชนปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทเรือนไม้ ลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น ของชาวไทยเชื้อสายจีน
เทศบาลตำบลปากท่อเดิมจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบของสุขาภิบาลเรียกว่า “สุขาภิบาลปากท่อ” จัดตั้งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 มีเนื้อที่ 1.12 ตารางกิโลเมตร มีสำนักงานอยู่ที่ทำการปกครองอำเภอปากท่อ โดยมีนายอำเภอปากท่อเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลปากท่อคนแรกคือ นายสง่า โอสถสภา และประธานกรรมการสุขาภิบาลคนสุดท้ายที่เป็นนายอำเภอคือ นายสำราญ บุญรอดฤทธิ์ ต่อมาสุขาภิบาลปากท่อมีฐานะการคลังเพียงพอที่จะบริหารงานประจำของสุขาภิบาลได้ จึงมีการเลือกตั้งประธานกรรมการสุขาภิบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีนายอำเภอเป็นที่ปรึกษาตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 โดยมีนายพรเทพ วณิชย์ธิติกาล เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาล
เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาลใน พ.ศ. 2542 ตามราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 116 ตอนที่ 9ก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ทำให้สุขาภิบาลทั้งหมดทั่วประเทศ จำนวน 981 แห่งเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบลทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542
เทศบาลตำบลปากท่อมีตราสัญลักษณ์ประจำเทศบาลตำบลปากท่อคือ ต้นกร่างมีเทพารักษ์ยืนโคนต้น ซึ่งที่มาของตราเทศบาลตามความเชื่อถือของคนในท้องถิ่นว่าต้นกร่างต้นนี้มีเทพารักษ์สถิตย์อยู่ ซึ่งคอยปกปักษ์รักษาให้ชาวบ้านได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเก่าแก่ ซึ่งปัจจุบันต้นกร่างยังคงอยู่อย่างสง่างามเป็นศรีแก่คนปากท่ออยู่บริเวณข้างสถานีรถไฟ
ชุมชนรอบสถานีรถไฟปากท่อ ห่างจากที่ว่าการอำเภอปากท่อประมาณ 2 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรีประมาณ 33 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 104 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังชุมชนรอบสถานีรถไฟปากท่อสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทางปรับอากาศและรถไฟ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
พื้นที่เทศบาลตำบลปากท่อเป็นที่ราบมีคลองธรรมชาติผ่านทางด้านทิศเหนือ คือ คลองปากท่อและคลองระบายน้ำทิ้งชลประทานผ่านทางด้านทิศใต้ คือ คลองวันดาว ส่วนทิศตะวันออกเป็นพื้นที่เกษตรกรรมบางส่วน
ชุมชนรอบสถานีรถไฟปากท่อ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟปากท่อที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ซึ่งปัจจุบันพบเห็นบ้านเก่าลักษณะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น (ของชาวไทยเชื้อสายจีน) อยู่บ้าง โดยเฉพาะบริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสถานีรถไฟตรงถนนเลียบทางรถไฟและถนนราษฎรเกษม ซึ่งบริเวณรอบนอกของชุมชนนั้นจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยปี 2554 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรในเขตเทศบาลตำบลปากท่อจำนวน 1,433 หลังคาเรือน ประชากรรวมทั้งหมด 2,728 คน แบ่งเป็นประชากรชาย 1,322 คน หญิง 1,406 คน
ด้านกลุ่มอาชีพ ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย รองลงมาทำอาชีพรับจ้าง และการเกษตรกรรมตามลำดับ
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
ประเพณีและประจำปีที่สำคัญ ได้แก่ งานวันปีใหม่จัดในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีโดยมีการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง งานวันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี และงานวันลอยกระทงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี
หลวงพ่อเส็ง พุทธสโร หรือพระพิบูลธรรมเวที ท่านมีนามเดิมว่า "กิมเส็ง แซ่ภู" พื้นเพเป็นคนบ้านโคกพระเจริญ ตำบลปากท่อ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ปี พ.ศ. 2466 หลวงพ่อท่านมีอายุครบอุปสมบท จึงได้รับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากท่อ ตำบลปากท่อ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2466 ได้รับฉายาว่า “พุทฺธสโร” เมื่ออุปสมบทแล้วช่วงแรกก่อนเข้าพรรษาท่านอยู่ที่วัดโคกพระเจริญ และครั้นจวนเข้าพรรษาจึงได้ย้ายมาอยู่ที่วัดปากท่อเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย หลวงพ่อเส็งท่านเป็นพระที่มีสติปัญญาเป็นอันมากสอบได้นักธรรมขั้นตรีนวกภูมิได้ในสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2467 ซึ่งสอบได้ในพรรษาแรกที่อุปสมบท
ปี พ.ศ. 2480 ทางวัดปากท่อ โดยพระราชธรรมเสนานี (สุข สุภัททเถระ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระคูธรรมรสรูจีเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอปากท่อได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมขึ้นเป็นสำนักเรียน จึงได้อาราธนาหลวงพ่อเส็งมาจำพรรษาเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรม
ปี พ.ศ. 2482 ได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยางงาม ต่อมาได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นที่วัดยางงามตามแบบอย่างที่มีอยู่ที่วัดปากท่อฝึกอบรมพระภิกษุและสามเณรจำนวนมาก ซึ่งพระภิกษุหรือสามเณรองค์ไหนมีสติปัญญาเปรื่องปราชญ์ ท่านเจ้าคุณเส็งจะส่งไปศึกษาต่อที่กรุงเทพและท่านยังได้บูรณะปฏิสังขรณ์และก่อสร้างวัดเพิ่มเติมภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก
ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบลจอมประทัด)
ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2487 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ในปีต่อมา วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสงฆ์อำเภอฝ่ายการศึกษาและได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอปากท่อ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ด้วยคุณงามความดีของท่าน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2491 ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร นามว่า "พระครูพิบูลสมณวัตร"
หลวงพ่อเส็ง ได้ครองเจ้าอาวาสวัดยางงาม จนถึงวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2501 และได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากท่อ
วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะที่ “พระพิบูลธรรมเวที” นับเป็นพระราชาคณะรูปที่ 2 ของอำเภอปากท่อ
หลวงพ่อเส็ง ท่านปกครองวัดปากท่อเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2514 นับรวมศิริอายุได้ 68 ปี 3 เดือน 7 วัน 89 พรรษา
ทุนวัฒนธรรม
วัดปากท่อ ตั้งอยู่ตำบลปากท่อ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2380 ชื่อวัดตั้งตามชื่อของตลาดเพราะตั้งอยู่ใกล้ตลาดปากท่อ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2467 อาณาเขตทิศเหนือจรดคลอง ทิศใต้จรดโรงดรียนวัดปากท่อ ทิศตะวันออกจรดตลาดปากท่อ ทิศตะวันตกจรดทางรถไฟ อาคารเสนาสนะประกอบด้วยกุฏิสงฆ์จำนวน 6 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง และตึก 4 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศลจำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
ในปี พ.ศ. 2566 ผู้คนในชุมชนเผชิญกับปัญหาจากการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ที่ทำการปิดกั้นเส้นทางข้ามทางรถไฟ เนื่องจากทางการรถไฟนั้นทำรั้วกั้นแบ่งเมืองปากท่อเป็นสองฝั่ง ทำให้การไปมาหาสู่ของชาวบ้านเพื่อไปจับจ่ายซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ในตลาดปากท่อ ที่อยู่ทั้งสองฝั่งของทางรถไฟนั้นไม่สามารถที่จะข้ามไปหา หรือค้าขายกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กนักเรียนที่จะเดินทางมาเรียน จำเป็นต้องเดินอ้อมไปข้ามสะพานข้ามทางรถไฟ และไปกลับรถกลับมา ซึ่งมีระยะทางมากกว่า 4 กิโลเมตร เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งที่หากทางรถไฟสร้างสะพานให้ข้ามก็จะใช้ระยะทางแค่เพียง 50 เมตร โดยผู้คนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้มีการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากการรถไฟแห่งประเทศไทย
กรมการปกครอง. (2565). ระบบสถิติทางการทะเบียนจำนวนประชากร. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://stat.bora.dopa.go.th/new_stat/webPage/statByYear.php.
เทศบาลตำปากปากท่อ. ข้อมูลเทศบาล. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: http://www.pakthomunic.go.th/index.php.
วัดปากท่อ. (ม.ป.ท.). (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.lovethailand.org/travel/th/13-ราชบุรี/10574-วัดปากท่อ.html.
ส.แม่กลอง. (2565). ประวัติวัตถุมงคลหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ราชบุรี ผู้สร้างเหรียญทศพลญาณวัดดางงามที่หายาก. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.pra-maeklong.com/2022/04/watpaktor.html.
สายชล โอชะขจร. (2566). ชาวปากท่อรวมตัววอนขอทางเดินข้ามทางรถไฟรางคู่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก: https://www.77kaoded.com/news/saichol/2390517.