Advance search

เกาะหลีเป๊ะ

เกาะหลีเป๊ะเป็นเกาะที่มีปะการังจำนวนมาก โดยเอกลักษณ์ของปะการังที่เกาหลีเป๊ะ เมื่อน้ำลดจะปรากฏลานกว้างใหญ่ของหมู่ปะการังโผล่มาให้เห็น

เกาะหลีเป๊ะ
เกาะสาหร่าย
เมืองสตูล
สตูล
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
30 เม.ย. 2023
เกาะหลีเป๊ะ

คำว่า “หลีเป๊ะ” เป็นภาษาของชาวอูรักลาโว้ย แปลว่า “แผ่นกระดาษ” เนื่องจากเกาะมีพื้นที่ราบเรียบ ไม่มีภูเขาสูง อยู่ทางตอนใต้ของเกาะอาดัง โดยห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร


ชุมชนชนบท

เกาะหลีเป๊ะเป็นเกาะที่มีปะการังจำนวนมาก โดยเอกลักษณ์ของปะการังที่เกาหลีเป๊ะ เมื่อน้ำลดจะปรากฏลานกว้างใหญ่ของหมู่ปะการังโผล่มาให้เห็น

เกาะหลีเป๊ะ
เกาะสาหร่าย
เมืองสตูล
สตูล
91000
อบต.เกาะสาหร่าย โทร. 0-7475-0905
6.492593713
99.30871636
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย

บ้านเกาะหลีเป๊ะ หมู่ 7 ตำบลเกาะสาหร่าย เป็นหมู่บ้านในหมู่เกาะอาดัง-ราวี โดยผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะและเกาะอื่น ๆ ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี มีอยู่ด้วยกันสองกลุ่ม ทั้งสองกลุ่มเป็นชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย โดยอูรักลาโว้ยกลุ่มแรกได้อพยพมาจากเกาะลันตาตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2440 ชาวอูรักลาโว้ยกลุ่มนี้ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นเกาะที่เอื้อต่อการตั้งถิ่นฐานมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเกาะอื่น ๆ ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นเกาะที่มีที่ราบสามารถตั้งบ้านเรือนและทําการเกษตรได้ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเลภายในหมู่เกาะอาดัง-ราวี ที่เอื้อต่อการทํามาหากินของชาวอูรักลาโว้ยในยุคดั้งเดิมนี้ด้วย ผู้เข้ามาบุกเบิกและเป็นผู้นําของอุรักลาโว้ยในยุคนี้คือ โต๊ะฆีรี ชาวมุสลิมจากอินโดนีเซียตั้งแต่ประมาณ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งได้ออกเดินทางจากอาเจะห์พร้อมเพื่อนอีก 4 คน เดินทางแสวงหาที่ดินทำกิน และได้มาพบรักกับภรรยาชาวอูรักลาโว้ย แล้วได้เดินทางมาที่เกาะหลีเป๊ะ พื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีบึงขนาดใหญ่กลางเกาะ อีกทั้งยังมีแหล่งทำมาหากินทางทะเล โต๊ะฆีรีจึงได้ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่เกาะหลีเป๊ะ เพื่อใช้พื้นที่ในการเพาะปลูก ถือเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านหลีเป๊ะตั้งแต่นั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 อูรักลาโว้ยอีกกลุ่มหนึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ และเกาะอื่น ๆ ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี ด้วยเหตุผลทางการเมืองเรื่องการปักปันเขตแดน เมื่อเกิดการร่างเส้นแบ่งเขตแดนไทย-มาเลเซีย เจ้าเมืองสตูล (พระยาภูมินารถภักดี) จึงให้โต๊ะฆีรี ชาวมุสลิมที่อูรักลาโว้ยให้ความเคารพนับถือ เดินทางมาชักชวนชาวเลจากเกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต และเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย ให้ไปตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะอาดัง- ราวี เพื่อเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าแผ่นดินส่วนนี้เป็นของสยาม เพราะมีครอบครัวชาวสยามอาศัยอยู่ ชาวอูรักลาโว้ยกลุ่มที่สองนี้ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะหลีเป๊ะ และกระจายไปยังเกาะอื่น ๆ ในเขต หมู่เกาะอาดัง-ราวี จึงกล่าวได้ว่าการตั้งถิ่นฐานแต่เดิม คือ ตั้งแต่ทศวรรษ 2440 นั้น ชาวอูรักลาโว้ยจะตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะเพียงแห่งเดียว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2452 เป็นต้นมา การตั้งถิ่นฐานของชาวอูรักลาโว้ยจึงกระจายออกไปยังเกาะอื่น ๆ ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี

การตั้งถิ่นฐานของชาวอูรักลาโว้ยในหมู่เกาะอาดัง-ราวี ได้เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2517 ทำให้ชาวอูรักลาโว้ยที่เคยตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี ต้องย้ายมาอยู่ในบริเวณที่ทางอุทยานฯ อนุญาต คือ บนเกาะหลีเป๊ะและบางส่วนของเกาะอาดังเพียงเท่านั้น ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ชาวอูรักลาโว้ยจึงมีพื้นที่อาศัยอยู่เพียงเกาะหลีเป๊ะ และบางส่วนของเกาะอาดัง โดยหน่วยงานภาครัฐได้กําหนดให้พื้นที่นี้เป็นหมู่บ้านที่ 7 ของตําบลเกาะสาหร่าย อําเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งเรียกหมู่บ้านที่ 7 นี้ว่า “บ้านเกาะหลีเป๊ะ”

ลักษณะภูมิประเทศ

เกาะหลีเป๊ะเป็นเกาะขนาดกลาง ตั้งอยู่ในหมู่เกาะอาดัง-ราวี ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่สําคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสตูล ในทะเลฝั่งตะวันตกทางภาคใต้ของประเทศไทย สภาพพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบเกือบทั้งเกาะ เหมาะต่อการตั้งถิ่นฐาน โดยทางทิศเหนือและทิศใต้มีที่ราบบริเวณกว้างติดกับทะเลเป็นหาดทรายสีขาวทั้ง 2 ด้าน ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นเนินสูงขึ้นเล็กน้อยแล้วลาดลงเป็นแนวโขดหินติดกับทะเล ชายหาดด้านตะวันออกของเกาะหลีเป๊ะเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน เกาะหลีเป๊ะเคยมีหนองน้ำเล็ก ๆ ตรงกลางเกาะ โดยครอบครัวของผู้นำอูรักลาโว้ยในยุคแรกจะใช้เป็นบริเวณสําหรับปลูกข้าว แต่ตอนนี้เหลือเพียงน้ำบาดาลเท่านั้น จุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะ คือ ธรรมชาติที่มีป่าปะการังรอบเกาะ โดยเฉพาะทางด้านหน้าของเกาะจะเห็นปะการังสวยงามหลากสี ซึ่งเอกลักษณ์ของปะการังในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะอยู่ที่เวลาน้ำลดจะปรากฏลานกว้างใหญ่ของหมู่ปะการังโผล่มาให้เห็น

สภาพภูมิอากาศ

หมู่เกาะอาดัง-ราวี ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และตั้งอยู่ในทะเลฝั่งตะวันตกของภาคใต้ ลักษณะภูมิอากาศโดยปกติทั่วไปจึงมีอากาศร้อนชื้น อุณหภูมิค่อนข้างสูงเกือบสม่ำเสมอตลอดทั้งปี หมู่เกาะอาดัง-ราวีอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุม 2 ฤดู คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรเข้าสู่ฝั่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน อูรักลาโว้ยเรียกลมนี้ว่า “ลมพรัด” ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทําให้เกิดพายุแรง คลื่นจัด มีฝนฟ้าคะนอง ชาวอูรักลาโว้ยจุงไม่ค่อยออกทํางานไกลจากฝั่งในฤดูนี้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลมที่พัดจากทะเลจีนและอ่าวไทยเข้าสู่ฝั่งภาคตะวันออก ผ่านภาคใต้ลงสู่ทะเลฝั่งตะวันตก พัดเข้าสู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ ชาวอูรักลาโว้ยเรียกลมนี้ว่า “ลมออก” ซึ่งเริ่มพัดตั้งแต่เดือน พฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ระยะนี้มีฝนตกน้อย คลื่นลมไม่ค่อยจัด เป็นฤดูที่เหมาะสําหรับการท่องเทียว

การคมนาคม

การเดินทางสู่หมู่เกาะอาดัง-ราวี เพื่อมุ่งหน้าสู่เกาะหลีเป๊ะ สามารถเดินทางมายังท่าเรือปากบารา อําเภอละงู โดยสามารถใช้พาหนะในการเดินทางได้หลายประเภท เช่น รถยนต์ รถตู้ปรับอากาศ รถโดยสารประจําทาง รถแท็กซี่ เป็นต้น ต่อจากนั้นจะเดินทางโดยทางเรือสู่หมู่เกาะอาดัง-ราวี โดยมีเรือโดยสารให้บริการที่ท่าเทียบเรือปากบารา อำเภอละงู ซึ่งระยะทางจากท่าเรือปากบาราถึงหมู่เกาะอาดัง-ราวี เป็นระยะทาง 80 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถใช้บริการเรือโดยสารแบบต่าง ๆ ได้ เช่น เรือธรรมดา เรือเร็ว (เรือเฟอร์รี่) เรือเร็วพิเศษ(เรือสปีดโบ๊ท) และเรือประมงที่ให้บริการเช่าเหมาเพื่อเดินทางไปสู่หมู่เกาะอาดัง-ราวี

สําหรับการเดินทางภายในหมู่เกาะอาดัง-ราวี จะมีเรือหางยาวของรีสอร์ทและของอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะคอยให้บริการ ส่วนการคมนาคมภายในเกาะจะมีเพียงเส้นทางเดินเท้าเท่านั้น และถนนขนาดกว้างพอสำหรับการขับรี่รถจักรยานยนต์เท่านั้น 

ประชากร

ก่อนการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตะรุเตาในปี พ.ศ. 2517 ชาวอูรักลาโว้ยได้อาศัยกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่เขตหมู่เกาะอาดัง-ราวี เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดังและเกาะราวี โดยเฉพาะที่เกาะหลีเป๊ะ จะมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่าเกาะอื่น ๆ เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นที่ราบเอื้อต่อการตั้งถิ่นฐาน แต่ภายหลังการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตามกฎของทางอุทยานฯ ส่งผลให้ประชากรจากเกาะต่าง ๆ ในหมู่เกาะอาดัง- ราวี ต้องอพยพมาอยู่อาศัยที่เกาะหลีเป๊ะ และบางส่วนของเกาะอาดังเพียงเท่านั้น ในปัจจุบันนี้ เกาะหลีเป๊ะมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 1,800 คน ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 1,200 คน คือชาวเลอูรักลาโว้ย

ความสัมพันธ์ในครอบครัว

ภายในครอบครัวของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายตั้งแต่เริ่มก่อตั้งถิ่นฐาน เมื่อแต่งงานกันผู้ชายจะต้องเข้าไปอยู่ในบ้านฝ่ายหญิง ต้องคอยเลี้ยงดูสมาชิกทุกคนในครอบครัว มีหน้าที่ทํามาหากิน โดยการทําประมงเป็นอาชีพหลักมาตั้งแต่อดีต รับผิดชอบในการสร้างและซ่อมแซมเครื่องมือทําประมง ปัจจุบันเมื่อการท่องเที่ยวมีบทบาทมากขึ้น ในช่วงฤดูท่องเที่ยวผู้ชายมักใช้โอกาสนี้ในการหารายได้เพิ่ม เช่น การนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ และการขับเรือรับส่งนักท่องเที่ยว ส่วนฝ่ายหญิงมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานบ้านต่าง ๆ และการเลี้ยงดูลูกเป็นหลัก

อูรักลาโวยจ

ชาวอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะทุกครัวเรือนมีอาชีพประมง เพราะความผูกพันกับท้องทะเลที่มีมาอย่างยาวนาน ในยุคแรกมื่อเริ่มก่อตั้งบ้านเรือน ชาวอูรักลาโว้ยจะทําประมงแบบพื้นบ้าน ลักษณะของเครื่องมือประมงและวิธีการจับสัตว์น้ำเป็นการใช้เครื่องมือประมงที่ทําขึ้นเอง ใช้แรงงานเป็นหลัก ตลอดจนอาศัยภูมิความรู้ที่สืบทอดกันมาในการทํามาหากิน สําหรับเครื่องประมงและวิธีการจับสัตว์น้ำของชาวอูรัลาโว้ย มีดังต่อไปนี้

  • เรือ สมัยก่อนชาวอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะใช้เรือพายหรือเรือแจว และมักจะติดใบเรือเมื่อมีลม หรือบางครั้งเรียกกันว่า เรือกรรเชียง ต่อมาได้วิวัฒนาการหันมาใช้เรือติดเครื่องยนต์ เนื่องจากเมื่อมีนายทุนเข้ามาให้ทุนสนับสนุนในการซื้อเครื่องยนต์ หรือให้เช่าเรือที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทําให้สามารถทําประมงได้ดีขึ้น

  • ฉมวกหรือชนัก เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้จับเต่าทะเลและปลา แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้แล้ว

  • การตกเบ็ด เป็นวิธีเก่าแก่ที่ใช้กันมานาน เบ็ดจะมีหลายขนาด ใช้เหยื่อหลายประเภท สามารถใช้ได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน โดยในช่วงมรสุมจะใช้วิธีการตกเบ็ดกันมาก

  • การดําน้ำจับสัตว์น้ำ นับว่าเป็นความสามารถพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอูรักลาโว้ย เพราะสามารถดําน้ำได้ครั้งละนาน ๆ โดยไม่ใช้เครื่องมือช่วยหายใจหรืออุปกรณ์ดําน้ำ การดําน้ำเพื่อจับสัตว์น้ำในทะเลเป็นวิธีการที่ใช้กันมานาน ปัจจุบันใช้วิธีการดําน้ำเพื่อหาปลาน้อยลง เพราะมีเครื่องมือประมงที่ทันสมัยและใช้ได้สะดวกรวดเร็วกว่า

  • ลอบหรือไซ ภาษาอูรักลาโว้ยเรียกไซว่า บูบู ไซเป็นเครื่องมือประมงที่ชาวเลนิยมใช้กันมาก มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งขนาดเล็กทํามาจากไม้ไผ่ ในขณะที่ไซขนาดใหญ่จะทําจากหวาย บริเวณที่นําไซไปวาง ได้แก่ พื้นทราย แนวปะการัง หรือกองหิน หรือรอบเกาะ ขึ้นอยู่กับขนาดของไซ ปลาที่จับได้ด้วยการใช้ไซ ได้แก่ ปลาข้างเหลือง ปลานกแก้ว ปลาสลิดหินทะเล ปลาตะมะ ปลากะพง ปลาเก๋า

  • อวน การจับปลาด้วยอวน นิยมทําในช่วงน้ำลง วิธีจับปลาด้วยอวน คือ การใช้อวนล้อมหิน หรืออวนบริเวณน้ำตื้น และใช้อุปกรณ์หรือสิ่งของตีน้ำให้ปลาตกใจกระโจนเข้าอวน ส่วนอวนอีกประเภทหนึ่งคือ อวนถ่วง โดยออกเรือไปวางอวนในช่วงหัวค่ำ

นอกจาการทำประมงแล้ว ในช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถออกทะเลได้ และช่วงฤดูกาลการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวที่เกาะหลีเป๊ะ รวมถึงเกาอื่น ๆ ในหมู่เกาะอาดัง-ราวีเป็นจำนวนมาก ในช่วงนี้ชาวอูรักลาโว้ยจะพักจากการทำประมงเพื่อไปทำงานในภาคการท่องเที่ยว ทั้งขับเรือหางยาวรับจ้าง แรงงานรับจ้างในร้านอาหาร รีสอร์ท สถานบริการต้าง ๆ รวมถึงการค้าขาย ซึ่งโดยปกติแล้วธุรกิจค้าขายของชาวอูรักลาโว้ยมักจะเป็นร้านขายของชำขนาดเล็กหรือเปิดร้านอาหาร 

วิถีชีวิตประจําวันของชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในแต่ละครอบครัวต่างหาอาหารและวัสดุต่าง ๆ ที่จําเป็นในครัวเรือน เพื่อนำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ โดยผู้ชายจะออกทะเลทําประมง จะทำหน้าที่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก หุงหาอาหาร และประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จําเป็น หรือออกไปเก็บหอยหรือตกเบ็ดอยู่แถบชายฝั่ง หลังจากได้สัตว์น้ำมาแล้วผู้หญิงจะมีหน้าที่ในการนํามาประกอบอาหารและแปรรูปสัตว์น้ำที่ได้จากทะเล ต่อมาวิถีชีวิตของชาวอูรักลาโว้ยเปลี่ยนแปลงจากเดิม เมื่อมีการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวเข้ามาบนเกาะหลีเป๊ะในช่วยฤดูการท่องเที่ยว คือระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม ฝ่ายชายจะทําอาชีพอื่น ๆ โดยเฉพาะการขับเรือรับจ้างให้กับนักท่องเที่ยว ส่วนฝ่ายหญิงนอกจากจะมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานบ้านและเลี้ยงดูลูกแล้ว ในช่วงท่องเที่ยวก็มักจะออกไปทํางานตามรีสอร์ทหรือร้านอาหารต่าง ๆ

ส่วนการตั้งบ้านเรือนในระยะเริ่มแรก มีการตั้งบ้านเรือนกระจายตัวอยู่ตามอ่าวและชายหาด ลักษณะบ้านเรือนเป็นบ้านที่สร้างแบบง่าย ๆ ด้วยวัสดุที่หาได้ภายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ โดยจะนิยมยกพื้นสูงในระดับหนึ่ง ตัวบ้านเป็นตัวเรือนเดี่ยว ฝาขัดแตะด้วยไม้ไผ่สาน ต่อมาเมื่อมีกลุ่มคนข้างนอกเข้ามาอยู่มากขึ้น เช่น กลุ่มเถ้าแก่ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้ามาปฏิบัติงานบนเกาะ มีการสร้างบ้านเรือนด้วยวัสดุที่แข็งแรง หาซื้อมาจากตลาด เช่น ไม้กระดาน สังกะสีและปูนซีเมนต์ ในขณะเดียวกัน การเข้าไปตัดไม้ในเขตอุทยานฯ ทําได้ยากขึ้น ชาวอูรักลาโว้ยจึงหันมาสร้างบ้านเรือนโดยใช้วัสดุที่คงทนมากขึ้น มีการใช้อิฐก่อเป็นผนังบ้านฉาบด้วยปูนซีเมนต์ มุงหลังคาด้วย กระเบื้อง และมีการย้ายที่ตั้งบ้านเรือนจากริมชายหาดเข้าไปอยู่ด้านในเกาะมากขึ้น

สําหรับการแสดงออกทางความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมของชาวเลอูรักลาโว้ยในอดีตยุคแรกของการตั้งถิ่นฐาน ชาวเลยังไม่มีการนับถือศาสนาใด แต่จะนับถือภูตผีและวิญญาณบรรพบุรุษ ความเชื่อเหล่านี้แสดงออกในรูปของประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ประเพณีลอยเรือ ต่อมาชาวเลอูรักลาโว้ยได้รับการระบุให้นับถือศาสนาพุทธจากหน่วยงานภาครัฐ เมื่อเริ่มให้ชาวเลทําบัตรประชาชน

  • ประเพณีลอยเรือ เป็นประเพณีที่สําคัญที่สุดของชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งจะจัดขึ้นสองครั้งในหนึ่งปี ช่วงของวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 และเดือน 11 การจัดพิธีลอยเรือจะจัดพร้อมกันทั้งบนเกาะลันตา เกาะสิเหร่ และเกาะหลีเป๊ะ ชาวเลจะใช้โอกาสนี้ในการแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ และเป็นการสะเดาะเคราะห์ไปกับการลอยเรือที่สร้างด้วยไม้ระกำ

นอกจากนี้ชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ การทํายาเสน่ห์จากน้ำตาปลาดุหยง (พะยูน) การใช้คาถาเวทมนต์ในการรักษาโรค การดูฤกษ์ยาม ความเชื่อเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ และความเชื่อเกี่ยวกับการใช้เครื่องลางของขลัง หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชุมชน พิธีกรรมบางอย่างของชุมชนชาวเลได้เริ่มลดความสําคัญลง เช่น พิธียาปืนยู การบูชาเต่าทะเล และพิธีปูยาลาโว้ยก็ถูกผนวกเข้ากับพิธีลอยเรือ ในปัจจุบันจึงเหลือแต่พิธีลอยเรือ เพราะเป็นพิธีกรรมที่ครอบคลุมทุกเรื่องอยู่แล้ว

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาที่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะใช้ในการสื่อสารภายในชุมชน คือ ภาษาอูรักลาโว้ย ซึ่งเป็นภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้บางคนยังสามารถใช้ภาษามาเลย์และภาษาไทยท้องถิ่น นั่นคือ ภาษาถิ่นใต้ ภาษากลางได้บ้าง เพื่อการติดต่อแลกเปลี่ยนผลผลิตกับคนต่างถิ่น หลังจากเกาะหลีเป๊ะได้เปิดให้มีการท่องเที่ยวเข้ามา จึงมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมเข้ามาเที่ยวมากขึ้น ทําให้เกาะหลีเป๊ะต้อนรับคนต่างภาษา ชาวเลที่ต้องประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวสามารถปรับเปลี่ยนและเรียนรู้วัฒนธรรมของกลุ่มคนที่เข้ามาจากภายนอกได้มากขึ้น สามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก วัยรุ่นและวัยกลางคน ที่สามารถพูดได้ทั้งภาษาไทยกลางและภาษาถิ่นใต้ และเมื่อมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามามา กลุ่มที่ต้องทํางานบริการนักท่องเที่ยวจึงสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง วิธีเดินทาง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.thailandlism.com/?p=1807 [สืบค้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566].

ดาฤนัย จรูญทอง. (2550). ประวัติศาสตร์ชุมชนอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ระหว่างปี พ.ศ. 2493-2549. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิยาลัยศิลปากร.

นฤมล ขุนวีช่วย และมานะ ขุนวีช่วย. (2553). ชีวิตและวัฒนธรรมชาวอูรักลาโว้ยแห่งทะเลอันดามัน. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). เกาะหลีเป๊ะ. ค้นจาก https://thai.tourismthailand.org/