Advance search

ชุมชนบางจะเกร็งเป็นชุมชนเกษตรกรรมบริเวณรอยต่อระหว่างตำบลบางจะเกร็งและตำบลแม่กลอง โดยมีลำคลองบางจะเกร็งเป็นแนวเขตระหว่าง 2 ตำบล

บางจะเกร็ง
เมืองสมุทรสงคราม
สมุทรสงคราม
ละอองทิพย์ ทรัพย์ศิริ
29 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
บางจะเกร็ง

ชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนแล้วเห็นป่าชายเลนมีต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่มาก ต้นไม้ชนิดนี้คล้ายกับต้นเหงือกปลาหมอ ชาวมอญจึงเรียกว่า “ต้นจะเกร็ง” ทำให้เป็นที่มาของชื่อชุมชนที่มาจากชื่อพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนี้

ชุมชนชาติพันธุ์

ชุมชนบางจะเกร็งเป็นชุมชนเกษตรกรรมบริเวณรอยต่อระหว่างตำบลบางจะเกร็งและตำบลแม่กลอง โดยมีลำคลองบางจะเกร็งเป็นแนวเขตระหว่าง 2 ตำบล

บางจะเกร็ง
เมืองสมุทรสงคราม
สมุทรสงคราม
75000
13.3824557871
99.9958498888
เทศบาลตำบลบางจะเกร็ง

ชุมชนบริเวณบางจะเกร็งเป็นชุมชนเกษตรกรรมบน เป็นพื้นที่ราบชายฝั่ง บริเวณรอยต่อระหว่างตำบลบางจะเกร็งและตำบลแม่กลอง โดยมีลำคลองบางจะเกร็งเป็นแนวเขตระหว่าง 2 ตำบล ซึ่งมีบ้านเรือนมากมายตั้งอยู่บริเวณสองฝั่งคลองบางจะเกร็งตั้งแต่ถนนราชญาติรักษา (ทางทิศเหนือ) ต่อเนื่องลงมาจนถึงถนนราษฏร์ประสิทธิ์ (ทางทิศใต้)

ประชากรภายในพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนบริเวณบางจะเกร็งสืบเชื้อสายมาจากชาวมอญที่ลี้ภัยสงครามมาจากเมืองหงสาวดี โดยชาวมอญที่อาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณบางจะเกร็งคือ “ชาวมอญบ้านรามัญ” ชาวมอญในชุมชนบ้านรามัญตะวันตก เป็นชาวมอญที่อพยพจากด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี มาทางแม่น้ำแม่กลอง มาพบทำเลปากคลองบางจะเกร็งในปัจจุบัน จึงได้ตั้งถิ่นฐานขึ้นประมาณ 10 ครอบครัว

ต่อมาชาวมอญกลุ่มนี้ได้มีปัญหากับส่วนราชการที่ปกครองพื้นที่จนต้องขึ้นศาล แต่ชาวมอญที่มาตั้งชุมชนได้รับชัยชนะ จึงได้แผ้วถางพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งในชุมชน เพื่อสร้างสำนักสงฆ์ใช้ชื่อว่า "วัดราษฏร์ศรัทธาธรรม" โดยได้นิมนต์เจ้าอาวาสจากวัดบางลำพู อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และวัดนครชุม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มาจำพรรษาที่วัดราษฏร์ศรัทธาธรรม แต่ขณะนั้นยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสเป็นทางการ เนื่องจากวัดยังไม่มีโบสถ์ ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดศรัทธาธรรม” มีเจ้าอาวาสที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการองค์แรก คือ “พระครูสมุทรคุณ” ในระยะต่อมาได้มีชาวรามัญจากจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ย้ายถิ่นฐานมาอยู่เพิ่มจนถึงปัจจุบัน

พื้นที่ทั่วไปของชุมชนบางจะเกร็งเป็นที่ลุ่มชายฝั่งทะเลไม่มีภูเขา พื้นที่ของบ้านรามัญตะวันตกบางส่วนเป็นป่าจาก มีต้นโกงกาง ต้นลำพู ขึ้นอยู่ริมน้ำ ดินมีความเค็มปานกลางถึงเค็มมาก ไม่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก สภาพโดยทั่วไปโล่งเตียนเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ท่าเรือพาณิชย์ เป็นต้น โดยชุมชนบริเวณแหลมจะเกร็งเป็นชุมชนที่มีการอพยพของชาวมอญในหลาย ๆ พื้นที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน และมีวัดศรัทธารามเป็นศูนย์กลางชุมชน

ชุมชนบางจะเกร็งตั้งอยู่ในตำบลบางจะเกร็ง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มีเนื้อที่ทั้งหมดของตำบลประมาณ 4,156 ไร่ เนื่องจากมีประวัติการก่อตั้งชุมชนที่เป็นชุมชนแรกของตำบลบางจะเกร็ง คือ ชุมชนชาวมอญ ซึ่งเป็นพื้นที่ของตำบลในสมัยก่อนเป็นป่าชายเลน และชาวมอญที่อพยพมาจากที่ต่าง ๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง เช่น ปากเกร็ด จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดราชบุรี ได้มาแผ้วถางป่าก่อตั้งชุมชนบริเวณคลองบางจะเกร็ง ต่อจากนั้นจึงมีคนในพื้นที่อื่น ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่อยู่อาศัยกันภายหลัง อาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ่าวไทย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เทศบาลเมืองสมุทรสงครา

โดยตำบลบางจะเกร็งมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ได้แก่

  • หมู่ที่ 1 บ้านรามัญตะวันตก
  • หมู่ที่ 2 บ้านบางจะเกร็ง
  • หมู่ที่ 3 บ้านคลองกลาง
  • หมู่ที่ 4 บ้านฉู่ฉี่
  • หมู่ที่ 5 บ้านรามัญตะวันออก

ในชุมชนบริเวณบางจะเกร็งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย เนื่องจากผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้เป็นคนเข้ามาในชุมเมื่อหลายปีก่อน และมีครอบครัวมีลูกหลานขึ้นมา เมื่อมีคนเพิ่มมากขึ้นแต่พื้นที่ในการสร้างที่อยู่อาศัยน้อยลงบุตรหลานจึงจำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ก็มีบางที่คนในครอบครัวออกไปสร้างบ้านภายนอกชุมชน แยกออกไปเป็นครอบครัวเดี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวภายในชุมชนบ้านรามัญจะมีด้วยกัน 3 รุ่น คือ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ และลูก นอกจากนี้บางครอบครัวยังมีรุ่นที่ 4 เพิ่มเข้ามาด้วย เนื่องจากในปัจจุบันมีการหารายได้นอกชุมชนมากขึ้น คนที่อยู่ในบ้านก็จะปู่ย่าตายาย กับเด็กที่เป็นรุ่นล่าสุด คือรุ่นหลานหรือรุ่นเหลน เพราะคนในรุ่นพ่อแม่ หรือวัยทำงานต้องออกไปหารายได้เพื่อมาเลี้ยงดูครอบครัว เช่น เป็นข้าราชการ เป็นลูกจ้างทั่วไป ค้าขายหรือเป็นพนักงานโรงงานที่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านรามัญตะวันตกและภายนอก การแต่งงานมีทั้งฝ่ายหญิงแต่งงานเข้าบ้านของฝ่ายชายและฝ่ายแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายหญิง ส่วนใหญ่คนที่แต่งงานมักจะแยกออกไปตั้งบ้านเรือนภายนอก เนื่องจากการหารายได้ภายในชุมชนมีน้อยลง ต้องออกไปนอกชุมชนเพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว บางครั้งจะต้องออกไปสร้างบ้านเรือนนอกเพราะอยู่ใกล้กับที่ทำงานมากกว่า

ชาติพันธุ์

ชาวมอญ ชาวมอญมีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำกลองมายาวนานทั้งด้วยเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ติดต่อกับพื้นที่ตั้งถิ่นฐานเดิมและด้วยเงื่อนไขความไม่สงบในอาณาจักรของชาวมอญเองชาวมอญที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานก่อนปี พ.ศ. 2316 เหลือแต่เพียงบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น โดยทั้งหมดผสมผสานกลมกลืนกลายเป็นชาวมอญ - ไทย เหลือเพียงแต่ชาวมอญที่อพยพเข้ามาหลังจาก พ.ศ. 2316 เท่านั้น ที่ยังสะท้อนถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ได้ กลุ่มคนมอญในจังหวัดสมุทรสงครามตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณคลองบางจะเกร็งซึ่งคาบเกี่ยวสองหมู่บ้านคือหมู่ที่ 1 ตำบลบางจะเกร็งและชุมชนบางจะเกร็ง 3 - 4 ในเขตเทศบาลเมืองสมุทรสงคราม โดยตั้งถิ่นฐานเป็นแนวยาวริมคลองบางจะเกร็งชาวมอญกลุ่มนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าอพยพมาตั้งแต่ตอนไหนแต่ชาวมอญในชุมชนเล่าว่าเป็นกลุ่มชาวมอญที่แยกตัวมาจากกลุ่มมอญปทุมธานี หากอ้างอิงตามคำบอกเล่าแล้วชาวมอญบางจะเกร็งคงจะแยกตัวออกมาจากกลุ่มมอญสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอพยพจากเหตุการณ์กองทัพพม่าปราบกบฏที่เมาะตะมะในปี พ.ศ. 2357 ชาวมอญบางจะเกร็งยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีของตนอยู่ เช่น การทำกาละแม ประเพณีสงกรานต์แบบมอญ เป็นต้น

มอญ

กลุ่มอาชีพ

อาชีพหลัก : ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง/ ประมงน้ำลึก และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย เช่น ปูทะเล กุ้งทะเล ปลากะพง รวมทั้งการจับสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น การหยอดหอยหลอด และสัตว์น้ำขนาดเล็กอื่น ๆ และมีการประกอบธุรกิจต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว คือ จำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป และประกอบธุรกิจร้านอาหาร

อาชีพรอง : ชาวบ้านในชุมชนบริเวณบางจะเกร็งมีการประกอบอาชีพค้าขาย ทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ รับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ตลอดจนรับจ้างทั่วไปตามฤดูกาลและรับราชการ

อาชีพเสริม : การแปรรูปอาหารทะเล แปรรูปสมุนไพร ทำขนมกาละแมรามัญ สานตะกร้า ผลิตภัณฑ์จากต้นจาก ขนมกล้วยแก้ว ทำดอกไม้จันทน์ และพวงหรีด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

วัดบางจะเกร็ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านบางจะเกร็ง ตำบลบางจะเกร็ง เป็นสถานที่เคารพสักการะว่า “อินทคงคา” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2461 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงเห็นว่าพื้นที่ในตำบลบางจะเกร็งมีต้นจะเกร็ง หรือต้นเหงือกปลาหมอขึ้นในพื้นที่มากมายจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดบางจะเกร็ง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดบางจะเกร็ง เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อศิลา” สร้างขึ้นจากหินแกรนิต ศิลปะสมัยทวาราวดี เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดเป็น 1 ใน 3 องค์ของประเทศไทย (องค์หนึ่งอยู่ที่วัดทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย อีกองค์หนึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) และศาลาการเปรียญมีภาพจิตรกรรมสัตว์หิมพานต์ ซึ่งมีลวดลายอันวิจิตรบรรจง

วัดศรัทธาธรรม หรือวัดมอญสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2341 โดยเล่ากันว่าชาวมอญที่ตำบลบางจะเกร็งเป็นพวกที่หนีสงครามพม่า รวมถึงอพยพจากหลายที่ มาอาศัยที่ว่างเปล่าตั้งบ้านเรือนขึ้น ต่อมาทางราชการต้องการที่ตรงนี้ แต่ชาวมอญไม่ยอม จึงได้เกิดการฟ้องร้องกันศาลตัดสินให้ชาวมอญเป็นผู้ชนะ ชาวมอญจึงได้กันที่ดินไว้จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างวัดขึ้น ในระยะแรก วัดนี้ถูกสร้างเป็นสำนักสงฆ์ไม่มีชื่อ เพียงเรียกกันว่า “วัดมอญ” มีศาลาเล็ก ๆ เพียง 2 - 3 หลัง ตั้งอยู่ปากอ่าวไว้เป็นที่ทำบุญเมื่อมีอุปสมบท ก็สร้างแพขึ้นเพื่อประกอบพิธีบรรพชากลางน้ำ โดยถอยแพออกไปกลางแม่น้ำเพื่อทำพิธี เมื่อเสร็จพิธีก็ดึงแพกลับเข้ามา ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ได้สร้างโบสถ์ โดย “อาจารย์ลิ” (พระครูวิสุทธิ์วงศ์) เจ้าอาวาสในขณะนั้นจึงได้ขออนุญาตตั้งชื่อวัดว่า "วัดศรัทธาธรรม" ซึ่งได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งจัดขึ้นวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปีเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญ โดยเชื่อสืบต่อกันว่าการทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งถวายแด่พระสงฆ์จะมีอานิสงส์มากอุดมไปด้วยโชคลาภทั้งชาตินี้และชาติหน้าน้ำผึ้งถือเป็นยาที่พระสงฆ์นำไปใช้ในยามจำเป็นทำให้สุขภาพแข็งแรง บรรยากาศในวันงานประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งเต็มไปด้วยความงดงามในเชิงวัฒนธรรมชาวมอญแต่งชุดประจำชาติผู้หญิงใส่เสื้อแขนกระบอกสามส่วน นุ่งผ้าถุง ผมเก้ามวย ห่มสไบมอญ ผู้ชายชาวมอญสวมเสื้อคอกลมแขนยาวแขนสั้นก็ได้ นุ่งผ้าลอยชายพาดผ้าขาวม้า หรือสไบ ชาวบ้านจะจัดน้ำผึ้งบริสุทธิ์ใส่ถ้วยแก้วแล้วเดินเรียงแถวตักน้ำผึ้งใส่บาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์

ทรัพยากรธรรมชาติ

ดอนหอยหลอด ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม จัดเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ลำดับที่ 1,099 หรือ ลำดับที่ 3 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ครอบคลุมพื้นที่ 24.09 ตารางกิโลเมตร จากพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมด 546,875 ไร่ ซึ่งรวมทั้งพื้นที่ที่อยู่บนบกและในทะเลของ ตำบลบางจะเกร็ง ตำบลบางแก้ว ตำบลแหลมใหญ่ ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ดอนหอยหลอดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล

ลักษณะดิน จากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและตะกอนจากทะเลบริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง เป็นกลไกทางธรรมชาติที่ช่วงกรองตะกอนจากแม่น้ำก่อนที่จะออกสู่ทะเลเกิดเป็นสันดอนยื่นออกไปในทะเลราว 8 กิโลเมตร ลักษณะของพื้นที่เป็นชายฝั่งราบเรียบที่พื้นเป็นทรายและตะกอนโคลนเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหาร จึงเป็นพื้นที่อุมดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีความหลากหลาย รวมถึงหอยนานาชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะหอยหลอด บริเวณดอนหอยหลอดและป่าชายเลนที่อยู่ใกล้เคียงยังเป็นแหล่งอาศัยของนกทะเลและนกชายฝั่งอย่างน้อย 18 ชนิด ในจำนวนนี้มีอยู่ชนิดหนึ่งที่จัดเป็นนกที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย คือ นกกระสานวล และมีอีก 3 ชนิดที่จัดอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม ได้แก่ เหยี่ยวแดง นกนางนวลแกลบเล็ก และนกนางแอ่นกินรัง จากการสำรวจบริเวณดอนหอนหลอดยังพบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอีกอย่างน้อย 42 ชนิด ดอนหอยหลอดจึงมีความสำคัญในแง่ของแหล่งศึกษาทางนิเวศวิทยาที่มีความสมบูรณ์ ทั้งการค้นคว้าวิจัย ทดลอง รวมถึงการเก็บตัวอย่างเพื่อศึกษา และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดของสมุทรสงคราม ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต และวิถีการประกอบอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบริเวณบางจะเกร็ง จังหวัดสมุทรสงคราม

ชาวมอญในชุมชนบริเวณบางจะเกร็งมีภาษาพูดเป็นของตนเอง คือ ภาษามอญ ในประเทศไทยพูดกันในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายมอญในจังหวัดต่าง ๆ ในทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลางในบริเวณที่ราบลุ่มใกล้แม่น้ำ คือ จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งชุมชนมอญในเขตต่าง ๆ มักมีการไปมาหาสู่กันตลอดเวลา จึงมีการถ่ายเททางภาษามอญของถิ่นต่าง ๆ ให้เสมอ ทำให้แม้จะมีภาษามอญหลายถิ่นแต่ก็สามารถใช้สื่อสารได้เข้าใจกันดี


ปี พ.ศ. 2565 ปัจจุบันราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านในตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เรือยนต์ออกไปหาสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งทะเลดอนหอยหลอด ได้รับผลกระทบหนักเพราะต้องจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นแต่รายได้ไม่แน่นอนในแต่ละวันสวนทางกับรายจ่าย การปรับตัวของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงนี้อาจทำให้อาชีพประมงพื้นบ้านสูญหายไปในอนาคต

นอกจากชุมชนบริเวณจะเกร็งจะมีดอนหอยหลอดหรือป่าชายเลนให้เที่ยวชมแล้วยังมีสถานที่ภายในชุมชนบริเวณบางจะเกร็งอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรือนไม้หอม (สมุนไพร) กลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารทะเล กลุ่มกาละแมรามัญ ที่พักโฮมสเตย์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีร้านค้าของชาวมอญขายของฝากให้เลือกซื้อได้ คือขนมกาละแม ข้าวเกรียบปลาทู และหอยหลอดทอดกรอบหวาน

กระทรวงอุตสาหกรรม. (2562). แผนพัฒนาจะงหวัดสมุทรสงคราม ปี พ.ศ. 2561 - 2565. ม.ป.ท.

คณะกรรมการพัฒนาเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง. (2562). แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2561 - 2565) เทศบาลตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม. ม.ป.ท.

บริษัทสมุทรสาครพัฒนาเมือง. (ม.ป.ป.). งานประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2556. จาก: http://www.visitsk.org

วรินทร์ อาราม. (2552). อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่หลงเหลือของคนมอญในชุมชนบ้านรามัญตะวันตก ตำบลบางจะเกร็ง จังหวัดสมุทรสงคราม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต, ภาควิชามานุษยวิทยา, คณะโบราณคดี, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสงคราม. (2566). ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามลงพื้นที่ดอนหอยหลอดเพื่อพบปะพูดคยเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566. จาก: https://samutsongkhram.prd.go.th/