การรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองมีการขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนให้ดีขึ้นและยังมีความโดดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวจนถึงทุกวันนี้
ที่มาของชื่อ “ซะซอม” เรียกตามลักษณะพื้นที่ที่น้ำขังตลอดปี ชาวบ้านเรียกว่า “ซะ” โดยมักมีสัตว์ป่านานาชนิดมากินน้ำบริเวณนี้ ชาวบ้านจึงแอบซุ่มดูเพื่อจับสัตว์ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า “ซอม” รวมกันจึงเป็นคำว่า “ซะซอม”
การรวมกันเป็นกลุ่มเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองมีการขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวโดยชุมชน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนให้ดีขึ้นและยังมีความโดดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวจนถึงทุกวันนี้
บ้านซะซอม เริ่มตั้งเป็นหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ. 2493 เดิมชื่อของหมู่บ้านคือ “บ้านน้อย” ส่วนที่มาของชื่อ “ซะซอม” เพราะเรียกตามลักษณะพื้นที่ที่น้ำขังตลอดปีแม้ในฤดูแล้ง ซึ่งสัตว์ป่านานาชนิดจะมากินน้ำบริเวณนี้ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ซะ” ชาวบ้านจึงแอบซุ่มดูเพื่อจับสัตว์ ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า “ซอม” รวมกันจึงเป็นคำว่า “ซะซอม” จึงได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่า “ซะซอม”
ในปัจจุบันได้มีการจัดทำ ซะซอมโฮมสเตย์ หรือชุมชนบ้านซะซอมให้เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นทางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน โดยจะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนในบรรยากาศป่าเขาลำเนาไพร อากาศที่บริสุทธิ์ ชมวิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมถึงธรรมชาติที่งดงามในวิถีชีวิตแบบชาวพุทธ บรรยากาศร่มรื่นแบบชาวชนบทที่มีแต่ความยิ้มแย้มแจ่มใส อบอุ่นและจริงใจต่อกัน
บ้านซะซอม มีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงสลับเนินเขาสูง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 170 เมตร ทางทิศตะวันออกติดกับแม่น้ำโขงเป็นที่ราบสูง บริเวณชายขอบที่สูงเป็นหน้าผาสูงชัน บางตอนของที่ราบสูงเป็นแอ่ง
จากการสำรวจข้อมูล ณ วันที่ 26 มีนาคม 2566 ชุมชนหมู่บ้านซะซอม หมู่ 7 พบว่า มีประชากรทั้งหมด 429 คน มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 16 หลังคาเรือน
ชุมชนซะซอมมีการจัดตั้งกลุ่มกิจกรรมขึ้นมาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนโดยมีกลุ่มกิจกรรม คือ กลุ่มกินข้าวเซาเฮือน กลุ่มฉางข้าว กลุ่มกองทุนร้านค้า กลุ่มป่าชุมชน กลุ่มทำหลา กลุ่มสมุนไพรเยาวชน กลุ่มทอผ้า กลุ่มไม้กวาด กลุ่มกลองยาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากฐานของทรัพยากรหรือต้นทุนของชุมชน นอกจากนี้ ชุมชนซะซอมยังได้รับการอบรมให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับการทำกิจกรรมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ จึงทำให้ชุมชนพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่มีอยู่เดิมเพิ่มขึ้นมาจำนวน 4 กิจกรรม คือ ฐานกิจกรรมเปลือกไม้ ฐานกิจกรรมพวงกุญแจนำโชค ฐานกิจกรรมแปรรูปอาหารแจ่วบอง และฐานกิจกรรมแปรรูปอาหารแกงไก่ไส้ตัน สินค้าที่ระลึกของชุมชนเป็นสินค้าที่มาจากกลุ่มอาชีพที่มีอยู่เดิมภายในชุมชน เช่น ผ้ามัดย้อม ผ้าฝ่ายทอมือ การแปรรูปผ้าฝ่ายเป็นกระเป๋า เสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าพันคอ เป็นต้น
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
1. ถ้ำลายมือผีกองกอย อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ 1 กิโลเมตร สาเหตุที่เรียกชื่อนี้เป็นเพราะมีนายพรานผู้หนึ่งไปล่าสัตว์แล้วนำสัตว์มาวางไว้ที่ถ้ำนี้ ผีกองกอยก็เดินมาขโมยสัตว์ป่าของนายพรานจนหมด จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า ถ้ำลายมือผีกองกอย ซึ่งแท้จริงเเล้วเป็นภาพเขียนสีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์รูปลายมือ ดังเช่นที่พบในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม
2. ถ้ำวัวแดง เป็นถ้ำที่มีอากาศพัดผ่านเย็นสบายตลอดปี ในสมัยโบราณมักมีวัวขึ้นมานอนพักอยู่เป็นประจำภายในถ้ำ และภายในถ้ำมีภาพเขียนสีแดงตามผนังถ้ำ จึงเรียกว่าถ้ำวัวแดง
3. อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มปรากฏภาพเขียนสีโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี เป็นภาพเขียนบนผนังหินปรากฏเรียงรายอยู่เป็นระยะ ซึ่งเป็นกลุ่มภาพเขียนสีที่มีขนาดใหญ่ มีความยาวของภาพต่อเนื่องกันประมาณ 180 เมตร ภาพเขียนสีที่มองเห็นได้ มี 5 ประเภท ได้แก่ คน สัตว์ (ช้าง เต่า ปลาบึก ปลากระเบนน้ำจืด) วัตถุ (เครื่องมือจับปลาที่ชาวอีสานเรียกว่า “ตุ้ม”) สัญลักษณ์ และฝ่ามือคน โดยเป็นภาพเขียนสีที่มีเทคนิควิธีการ คือการลงสีเน้นการใช้สีแดง สีดำ และมีสีขาวบ้าง จำนวนกว่า 300 รูปและเทคนิคการสลักหินหรือการทำรอยลงในเนื้อหินโดยใช้วิธีการฝนเซาะร่องอยู่ด้วย
4. วัดภูอานนท์ วัดภูอานนท์ อยู่ทางทิศเหนือของบ้านซะซอม ตำบลนาโพธิ์กลางอำเภอโขงเจียม ตั้งอยู่ห่างจากถนนหมายเลข 2112 ที่บ้านนาโพธิ์กลาง ประมาณ 10 กิโลเมตร สภาพภายในบริเวณวัดภูอานนท์ มีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ เช่น ลานหิน รอยเท้าใหญ่ ตุ่มหินธรรมชาติ ภาพเขียนสีศิลปะถ้ำ เป็นต้น เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวชมธรรมชาติในช่วงสั้น ๆ
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
1. การตักบาตรข้าวเหนียว วัฒนธรรมประจำชุมชนอย่างการตักบาตรข้าวเหนียวร่วมกับชาวบ้านที่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถพบได้จากภายในหมู่บ้านนี้ในทุกเช้า
2. การทำผ้ามัดย้อม ลายผ้ามัดย้อมที่เป็นเอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่างของทางหมู่บ้านซะซอม ผ้ามัดย้อมจะย้อมด้วยสีธรรมชาติและผ้าฝ้ายทอมือที่มีลวดลายโดดเด่นเป็นหนึ่งเดียว โดยลายที่เป็นเอกลักษณ์ประจำของที่นี่คือ ลายแสงแรก ซึ่งได้รับแรงบรรดาลใจมาจากแสงทองของรุ่งอรุณที่เกิดขึ้นภายในหมู่บ้านนี้จนกลายเป็นเอกลักษณ์และถูกสืบทอดกันมาจนถึงในปัจจุบัน
ทุนทางธรรมชาติ
เนื่องจากพื้นที่ตั้งของชุมชนอยู่บริเวณที่ราบสูงสลับเนินเขาสูง จึงทำให้พื้นที่โดยรอบถูกล้อมรอบไปด้วยป่าเขา คนในพื้นที่ชุมชนจึงนิยมเก็บของป่า มีบรรดาพืชพันธุ์ และเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาที่หมู่บ้านได้ นอกจากนั้นยังมีต้นน้ำ ที่เป็นสิ่งจำเป็น เกิดเป็นความร่มเย็น และยังมีบรรดาสมุนไพรที่สามารถหาเก็บได้จากในป่าได้ ตัวอย่างทุนทางธรรมชาติ เช่น บ่อน้ำบุ้น (ตะระหง่าย) อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านระยะทางประมาณ 500 เมตร เป็นน้ำที่ไหลออกมาจากช่องหินตลอดปี
โครงการ “แสงแรกแห่งการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเกษตรแปรรูป และการท่องเที่ยววิถีธรรมชาติอย่างเป็นอัตลักษณ์” ตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศสู่ Thailand 4.0
หมู่บ้านซะซอม เป็นหมู่บ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี คัดเลือกให้เป็นหมู่บ้าน CIV หรือ Creative Industry Village เนื่องจากเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์เชิงผาชนะได มีแหล่งต้นทุนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวิถีชีวิตที่สงบเรียบง่ายของชาวชุมชน แต่ยังขาดการสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ดังนั้นสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน (Big brother) และชาวชุมชนร่วมกันดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ และพัฒนาศักยภาพชุมชน หมู่บ้านซะซอม โดยจัดทำแผนพัฒนาและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน มีการผลักดันการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยมีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25
ภาคีที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เนื่องจากเป็นรูปแบบการเที่ยวที่ใหม่สำหรับชุมชน โดยส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เหมือนกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ชุมชนเคยทำมาแต่เดิม จึงทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และภาคีที่เกี่ยวข้องก็มีความพยายามที่จะเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว เพื่อมาพัฒนาการท่องเที่ยว ความพิเศษของชุมชน คือ เป็นชุมชนที่พึ่งพาป่า ความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านวิถีชีวิต ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวอีสาน โดยมีตัวอย่างสะพานข้ามหุบเขาที่เป็นภูเขาสองลูกและมีการทำสะพานเชื่อม เป็นต้น
กุลวดี ละม้ายจีน. (2563). การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรองชุมชซะซอม ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://so01.tci-thaijo.org/
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชนบทซะซอมโฮมสเตย์. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://thailandtourismdirectory.go.th/
Deaw kiti Seenuan. (2564). ชุมชนบ้านซะซอม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://www.tripniceday.com/
กรกช ภูมี. (2561). กระทรวงอุตสาหกรรม ดึงหมู่บ้านซะซอม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เข้าโครงการยกระดับอุตสาหกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยว หรือ หมู่บ้าน CIV. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://thainews.prd.go.th/
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ. (2566). รายงานข้อมูลตำบลนาโพธิ์กลาง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://3doctor.hss.moph.go.th
welovelocal. (2561). ชุมชนวังซะซอม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก https://www.welovelocal.asia/
โอเชี่ยนสไมล์ทัวร์. (ม.ป.ป.). ผาแต้มกับแม่น้ำโขง อุบลราชธานี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก http://www.oceansmile.com/