แหล่งทรัพย์สมบัติ ขุมปัญญา และร่องรอยทางประวัติศาสตร์ชาติ ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองไปจนกระทั่งความล่มสลายของคอมมิวนิสต์
แหล่งทรัพย์สมบัติ ขุมปัญญา และร่องรอยทางประวัติศาสตร์ชาติ ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองไปจนกระทั่งความล่มสลายของคอมมิวนิสต์
อดีตที่ผ่านมาของบ้านท่ายูงต้องเผชิญสถานการณ์แห่งความรุนแรงและความสูญเสียจากความเห็นต่างทางการเมืองโดยเหตุการณ์สําคัญของหมู่บ้าน คือ ช่วงเวลาของการเป็นพื้นที่สีแดงของประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2503-2525 กล่าวคือ
- พ.ศ. 2503 ลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มเผยแพร่แนวความคิดในวงจํากัด
- พ.ศ. 2507 คอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้ามาในพื้นที่ชุมชนบ้านเขาแก้วและบ้านท่ายูง (บ้านคลองเรือและบ้านสวนหลวงในช่วงเวลานั้น)
- พ.ศ. 2509 เริ่มมียุทธการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) เกิดขึ้น มีการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรม มีทั้งจับกุมคุมขัง และบางส่วนก็ถูกวิสามัญ หรือถูกฆ่าโดยการเผาในถังแดง ทําให้ชาวบ้านบางส่วนต้องหนีเข้าป่า เพื่อเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์นั้น และหาทางตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงเวลาแห่งความรุนแรงนั้น บ้านเขาแก้ว (บ้านเหนือ) กลายเป็นพื้นที่ของค่ายคอมมิวนิสต์ (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน และไม่มีการตั้งบ้านเรือนแล้วในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2513 เริ่มต้นของเหตุการณ์ “เผาถังแดง” ที่ จ.พัทลุง เมื่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ดําเนินนโยบาย 3 เรียบ (จับเรียบ ฆ่าเรียบ และเผาเรียบ) ทําให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่เพิ่มขึ้น (ถังแดง หมายถึง ถังสีแดงบรรจุน้ำมันรถยนต์ขนาด 200 ลิตร ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารใช้ในการเผาผู้ต้องหาในถังแดง เพื่อกําราบปราบปรามประชาชนที่ลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลในสมัยนั้น)
- พ.ศ. 2513-2524 ได้มีการอพยพชาวบ้านมาอยู่รวมกันทั้งหมดที่บ้านท่ายูง ทําให้บ้านเขาแก้ว (บ้านใต้) คือ หย่อมบ้านเขาแก้วในปัจจุบันนี้ (บางครั้งรียก บ้านเหนือ) เพราะเป็นกลุ่มคนที่เคยอยู่อาศัยที่บ้านเหนือ-คอมมิวนิสต์ แต่ได้ถอยร่นมาตั้งบ้านเรือนในปัจจุบัน เกิดสภาพเป็นชุมชนร้าง ชาวบ้านท่ายูงจึงเหมือนกันชนที่ถูกกดดันจากทั้งญาติพี่น้องที่หนีเข้าป่า ซึ่งต้องการความช่วยเหลือ และเป็นโล่มนุษย์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องการการสนับสนุนจากชาวบ้าน เพราะเป็นที่ตั้งค่ายของเจ้าหน้าที่รัฐ ทําให้ชาวบ้านทั้งหมดที่อาศัยในท่ายูงได้รับความหวาดระแวงจากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ ทําให้พื้นที่บริเวณหมู่บ้านเป็นพื้นที่สีแดงในช่วงเวลานั้น
- พ.ศ. 2523 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้มีนโยบาย 66/23 ชาวบ้านจึงวางอาวุธและร่วมพัฒนาชาติไทย หมู่บ้านบนเทือกเขาบรรทัดแต่เดิมซึ่งเป็นหมู่บ้านของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ จึงสลายไปกลายเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน และชาวบ้านเหล่านั้นได้โยกย้ายมาปลูกสร้างบ้านเรือนบริเวณบ้านเขาแก้วในปัจจุบันนี้
- พ.ศ. 2527 สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ที่หลงเหลือยอมวางอาวุธ ออกจากป่าเข้ามอบตัวเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ยุติการเป็นพื้นที่สีแดงอย่างถาวร
ผลที่สืบเนื่องตามมาจากนโยบายการปราบปราม ผกค. ในช่วงเวลานั้น คือ ความสัมพันธ์แบบ “สหาย” ซึ่งก่อตัวขึ้นจากสาเหตุความรุนแรงในพื้นที่จนชาวบ้านในชุมชนต้อง หลบหนีเข้าป่าเพื่อรักษาชีวิต ชาวบ้านที่หนีเข้าป่าทั้งชายและหญิงจะได้รับการตั้งชื่อใหม่และไม่มีนามสกุล โดยชื่อใหม่หรือฉายาใหม่ จะมีคํานําหน้าว่า “สหาย” เช่น สหายผัน สหายวิเชียร เป็นต้น ใช้เรียกขานกันในการดําเนินกิจกรรมภายในค่ายพรรคคอมมิวนิสต์ฯ เมื่อเหตุการณ์ความขัดแย้งทางวามคิดได้สิ้นสุดลง ชาวบ้านได้ออกจากป่ากลับเข้ามาหมู่บ้านอีกครั้ง จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ชาวบ้านหลายคนได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพในตัวเองกลายเป็นกลุ่มแกนนําของหมู่บ้านท่ายูงในปัจจุบัน (สุรวุฒิ ยิ่งสุขไพศาล, 2560: 9-10)
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยครก ม.4 ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านคอกเสือ ม.8 ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านตะแพน ม.9 ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง
ลักษณะภูมิประเทศ
บ้านท่ายูงตั้งอยู่บริเวณแนวเทือกเขาบรรทัดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เป็นพื้นที่ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ทําให้การตั้งบ้านเรือนเป็นไปตามแนวเส้นทางสัญจรที่มีมาแต่เดิม ตั้งแต่ครั้งที่เป็นสภาพป่าดงดิบ
การปลูกสร้างบ้านเรือนมีลักษณะเกาะกลุ่มในบริเวณเดียวกัน ซึ่งมี 2 หย่อมบ้านหลัก คือ บ้านเขาแก้ว และบ้านท่ายูง ภายหลังเหตุการณ์การเป็นพื้นที่สีแดงได้ผ่านพ้นไป มีการขยายพื้นที่อยู่อาศัยออกไปอีก 3 หย่อมบ้าน คือ สวนหลวง คลองเรือ และหน้าโรงเรียน ทำให้ในปัจจุบัน บ้านท่ายูงมีทั้งหมด 5 หย่อมบ้านหลัก ได้แก่ บ้านเขาแก้ว บ้านท่ายูง บ้านสวนหลง บ้านคลองเรือ และหน้าโรงเรียน
รายงานสถิติจำนวนประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลตะแพน ปี พ.ศ. 2565 ระบุว่า หมู่ที่ 5 ตำบลท่ายูง ประชากรทั้งหมด 690 คน
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่เป็นเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว คือ การปลูกยางเป็นพืชหลัก บางส่วนทําสวนมังคุด ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และหมาก ส่วนพืชเศรษฐกิจอื่นที่มีการปลูกเสริม คือ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง อาชีพรองลงมา คือ การเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โค สุกร แพะ ไก่ เป็ด และปลา
ระบบเศรษฐกิจในบ้านท่ายูงส่วนหนึ่งเป็นไปในลักษณะของทุนนิยมแบบพึ่งพา คือ มีกลไกทางด้านตลาด มีการผูกขาดราคาสินค้า ซึ่งเน้นผลกําไรเป็นหลัก เช่น ร้านค้าในหมู่บ้าน ร้านรับซื้อน้ำยาง เป็นต้น ซึ่งราคาของพืชผลทางการเกษตรถูกกำหนดโดยพ่อค้าคนกลาง ทําให้คนในชุมชนจําหน่ายผลผลิตได้ในราคาต่ำ แต่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงกว่าปกติ หรือร้านรับซื้อน้ำยางที่มีสวนยางเป็นของตนเอง จะบังคับให้ผู้ตัดยางต้องนําน้ำยางมาขายกับตนเอง ไม่สามารถไปขายร้านที่ให้ราคาสูงกว่าได้ สถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ชุมชนเผชิญมาอย่างต่อเนื่อง จนทําให้กลายเป็นความเคยชินและมองว่าเป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้รายได้ของแต่ละครอบครัวไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทั้งนี้ คนในชุมชนยังมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป่า มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ผักท้องถิ่น พืชสมุนไพร เนื้อสัตว์ที่หาได้จากป่า มาประกอบเป็นอาหาร ซึ่งอาหารที่หาได้จากป่าถือว่ามีอิทธิพลต่อการอยู่รอดของคนบางกลุ่มในชุมชนบ้านท่ายูง
บ้านท่ายูง มีธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญประจำชุมชน ดังนี้
วันสงกรานต์: ที่บ้านท่ายูงมีงานเพียงวันเดียว คือ วันที่ 13 เมษายนของทุกปี โดยตอนเช้าแต่ละบ้านจะจัดเตรียมสํารับกับข้าว และมีการทําข้าวหลามเพื่อจะนํามาทําบุญเลี้ยงพระอุทิศส่วนบุญกุศลให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เมื่อเสร็จพิธีในวัด จึงจะเป็นการรดน้ำดําหัวผู้สูงอายุในหมู่บ้าน การเล่นสาดน้ำสงกรานต์ และงานสังสรรค์ในแต่ละครอบครัว
ประเพณีเดือนสิบ (วันสาทรเดือนสิบ): มีการจัดงานเป็น 2 วัน คือ
วันรับเปรต จัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 โดยมีการทําขนมรู ขนมลา และขนมพื้นบ้านอื่น ๆ ไปทําบุญที่วัด โดยวันนี้คนส่วนใหญ่ที่จะไปวัดจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่
วันส่งเปรต จัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันที่มีการชิงเปรต และเป็นวันที่มีผู้เข้าร่วมจํานวนมาก รวมถึงลูกหลานที่ทํางานต่างถิ่นจะกลับมาทําบุญ ในวันนี้ทางวัดจะมีการตั้งโต๊ะเพื่อให้วางของหวาน ผลไม้และเงิน แล้วจึงล้อมสายสิญจน์ เพื่อสวดอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการจึงเริ่มมีการแย่งชิงของทําทาน
ทั้งนี้ บ้านท่ายูงเป็นชุมชนที่ให้ความสำคัญกับธรรมเนียมงานศพเป็นอย่างมาก ชาวบ้านต้องพิถีพิถันและให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน เนื่องจากถือว่าเป็นการสร้างกุศลครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้วายชนม์ ธรรมเนียมในงานศพของบ้านท่ายูงที่ต้องมีการหาฤกษ์เข้างาน คําว่า ฤกษ์เข้างาน หมายถึง วันแรกที่มีการเปิดโรงครัว เพื่อเลี้ยงรับรองแขกที่มาในงานด้วยสํารับกับข้าว ก่อนที่จะมีการฌาปนกิจในวันถัดไป ส่วนที่บ้านจะมีการเตรียมอาหารไว้รับรองแขกที่มาให้กําลังใจผู้ที่ยังอยู่ตั้งแต่ วันที่สมาชิกในครอบครัวถึงแก่กรรม จนถึงวันฤกษ์เข้างานจึงจะปิดบ้านไปอยู่ที่วัดกันหมด ในการทําครัวจะมีการเลือกเชือดวัวหรือล้มหมูขึ้นกับเศรษฐฐานะของเจ้าภาพ ทั้งนี้ฤกษ์เข้างานจะถูกกําหนดโดยปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งจะพิจารณาจากวันเดือนปีเกิดและวันถึงแก่กรรมของผู้วายชนม์ ร่วมกับวันเดือนปีเกิดของหัวหน้าครอบครัวของผู้วายชนม์ หลายครอบครัวที่มีสมาชิกถึงแก่กรรมและยังไม่ได้ฤกษ์เข้างาน จึงต้องตั้งศพไว้ที่วัดโดยระหว่างที่รอฤกษ์เข้างาน อาจจะมีการสวดพระอภิธรรมหรือไม่มีก็ได้ แม้ว่าหลังจากถึงแก่กรรมญาติพี่น้องจะไปหาปราชญ์ชาวบ้านเพื่อขอฤกษ์เข้างานในทันทีและปราชญ์ชาวบ้านจะให้ฤกษ์มาก็ตาม แต่วันที่เหมาะสมจึงมักจะเป็นวันสะดวกของญาติผู้ตาย จึงจะได้ฤกษ์เข้างานโดยมีความเชื่อที่ว่า ฤกษ์เข้างาน คือวันที่สามารถจัดงานได้อย่างราบรื่น ไร้อุปสรรคปัญหาต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังมีธรรมเนียมความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งศพ อาทิ ถ้าคนตายอายุมากกว่า 80-100 ปี จะนิยมตั้งสวดที่บ้าน เพราะถือว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นมงคลของคนเฒ่าคนแก่ แต่จะนําไปตั้งที่วัดก็ได้
อนึ่ง บ้านท่ายูงยังมีประเพณีสำคัญอีกหนึ่งประเพณี คือ ประเพณีแข่งโพน ประเพณีของชาวภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง จัดขึ้นในเทศกาลออกพรรษาควบคู่กับประเพณีชักพระ เนื่องจากโพนในที่นี้มาจาก ตะโพน เครื่องดนตรีที่ใช้ตีในเรือพระช่วงประเพณีชักพระ ประเพณีแข่งโพนและประเพณีชักพระจึงเป็นประเพณีที่มีความสัมพันธ์กันอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับชุมชนบ้านท่ายูงมาอย่างยาวนาน อันเนื่องมาจากการขาดที่ทำกิน ที่ดินทำกินไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก หรือการที่ที่ทํากินทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ป่า ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิและไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างคุ้มค่า เกิดเป็นข้อพิพาทในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่เขตป่าสงวนกับชุมชมที่อาศัยมาอย่างยาวนาน ชาวบ้านกลายสถานะจากเจ้าของที่ดินเป็นผู้บุกรุกป่า ถูกจำกัดสิทธิในการพัฒนาที่ดิน บางรายถูกดำเนินคดี และถูกตัดโค่นทําลายพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อปลูกป่าทับที่ทํากิน หรือการไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินหรือทรัพยากรในที่ดินได้ ซึ่งกระทบต่อการประกอบอาชีพทําสวนยางเป็นอย่างมาก เพราะชาวบ้านที่มีสวนยางพารา เมื่อครบวงรอบของการโค่นต้นยาง เพื่อปลูกกล้ายางวงรอบใหม่ ไม่สามารถทําได้ เนื่องจากเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนกฎหมายป่าไม้ ชาวบ้านจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจําต้องเปิดหน้ายางที่สูงขึ้นไปจากหน้ายางเดิมมากขึ้น และยางที่ครบอายุแล้วมีปริมาณน้ำยางน้อย ไม่คุ้มค่าแรงและเวลา เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ จึงมีการรวมตัวกันเสนอภูมิปัญญาของชุมชนในการใช้และจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน เพื่อต่อรองกับอํานาจรัฐและแสดงออกถึงการอยู่ร่วมกันของชาวบ้านกับป่า ไม่ว่าจะเป็นการกําหนดข้อตกลงร่วมกันของคนในหมู่บ้าน และมีบทลงโทษด้วยการปรับสินไหมแก่ผู้โค่นไม้ใหญ่ในป่าเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งเป็นการแสดงเจตจํานงในการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน (สุรวุฒิ ยิ่งสุขไพศาล, 2560: 2)
เขาปู่-เขาย่า
การแข่งโพน
งานประเพณีแข่งโพนลากพระ เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นในวันขึ้น 14-15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับเทศกาลออกพรรษา ซึ่งตรงกับประเพณีชักพระหรือลากพระของภาคใต้ โดยทั่วไปแล้วประเพณีลากพระจะมี 2 รูปแบบ คือ ลากพระทางบก และลากพระทางน้ำ สำหรับจังหวัดพัทลุงเป็นการลากพระทางบก ซึ่งจะมีการตีโพน (กลอง) เพื่อควบคุมจังหวะในการลากพระ ขบวนพระลากของแต่ละวัดก็จะมีผู้ตีโพนอยู่บนขบวน เมื่อผ่านวัดต่าง ๆ ก็จะมีการตีโพนท้าทายกัน ทำให้มีการแข่งขันตีโพนหรือประโคมโพนขึ้น โพนที่นำมาตีนิยมใช้กัน 2 ใบ เป็นเสียงแหลม 1 ใบ ทุ้ม 1 ใบ ยิ่งใกล้วันลากพระก็อาจจะประโคมกันตลอดทั้งคืน ผู้ที่ประโคมมักเป็นศิษย์วัดหรืออุบาสกที่อยู่ใกล้ ๆ วัด โดยปกติจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตี อาจตีคนเดียว 2 ใบ หรือคนละใบสลับเสียงกัน และเชื่อกันว่าผู้ร่วมคุมโพนจะได้บุญกุศลด้วย แต่เนื่องจากวัดส่วนมากจะอยู่ในละแวกเดียวกันเสียงประโคมโพนที่ตีดังออกไปไกล บางครั้งชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าเป็นเสียงประโคมโพนของวัดใด จึงทำให้วัดต่าง ๆ แข่งเสียงโพนกันว่าโพนของวัดใดเสียงดังกว่า
การแข่งโพนแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ
- การแข่งขันมือ (ตีทน) การแข่งขันแบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยม เพราะต้องใช้เวลาแข่งขันนานนาน ผู้ร่วมแข่งขันต้องแข่งกันตีจนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมืออ่อนหรือหมดแรง จึงตัดสินแพ้ชนะ
- การเข่งขันเสียง การแข่งขันนี้เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะใช้เพียงเวลาสั้น ๆ ก็สามารถคัดเลือกผู้ชนะได้
ส่วนมากจะเริ่มแข่งขันกันในช่วงปลายเดือน 10 และสิ้นสุดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันลากพระ จะแข่งขันกันวันไหน สถานที่ใดแล้วแต่คู่แข่งขัน หรือคณะกรรมการผู้จัดจะตกลงกัน แต่นิยมแข่งขันกันในเวลากลางคืน ตั้งแต่เวลา 21.00 น. เป็นต้นไป (ที่มา: https://archive.clib.psu.ac.th)
การแข่งโพน. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://archive.clib.psu.ac.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].
กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://gnss-portal.rtsd.mi.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].
ประเพณีตีโพน. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://sites.google.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].
สุรวุฒิ ยิ่งสุขไพศาล. (2560). ผักเหนาะกับความมั่นคงทางอาหารบ้านท่ายูง ต.ตะแพน อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง. ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.