
เที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชมหัตถกรรมเครื่องทองเหลือง ชุมชนบ้านปะอาวเมืองอุบลฯ
สันนิษฐานว่า "ปะอาว" เพี้ยนมาจากคำว่า "ป๋าอาว" คำว่า "ป๋า" หมายถึง ละไว้ หรือทิ้งไว้ ส่วน "อาว" หมายถึง อา
เที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชมหัตถกรรมเครื่องทองเหลือง ชุมชนบ้านปะอาวเมืองอุบลฯ
บ้านปะอาว มีประวัติเล่าต่อกันมาว่า บรรพบุรุษของบ้านปะอาวอพยพมาจากเวียงจันทน์ โดยมีพระวอพระตานำไพร่พลอพยพหนีภัยมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) เข้ามาตั้งบ้านเมืองที่หนองบัวลุ่มภู (ปัจจุบัน คือ จังหวัดหนองบัวลำภู) โดยตั้งชื่อเมืองว่า นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ต่อมาเกิดศึกสงครามเจ้าเมืองศรีสัตตนาคนหุตได้ตามมารุกราน ทำให้พระวอพระตาตายในที่รบ ท้าวคำผงซึ่งเป็นบุตรของพระวอพระตาได้รวบรวมไพร่พลมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอนมดแดง และห้วยแจระแม อันเป็นที่ตั้งของเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน หลังจากนั้นไพร่พลของท้าวคำผง ได้ออกเดินทางไปหาทำเลที่มีความเหมาะสมในการก่อตั้งหมู่บ้านโดยมีพี่น้องสองคนพาหมู่ญาติมาถึงทำเลที่เหมาะสม ผู้เป็นน้องได้พาสมัครพรรคพวกตั้งหมู่บ้านขึ้นเป็นบ้านปะอาว ส่วนผู้พี่ได้อพยพขึ้นไปทางเหนือลงหลักปักฐานขึ้นเป็นบ้านโพนเมือง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี สันนิษฐานว่า "ปะอาว" คงเพี้ยนมาจากคำว่า "ป๋าอาว" คำว่า "ป๋า" หมายถึง ละไว้ ทิ้งไว้ ส่วน "อาว" หมายถึง อา คือน้องชาย ซึ่งเป็นบ้านที่ผู้เป็นพี่ละทิ้งผู้เป็นน้องชายไว้
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหนองเหล่า ตำบลโพนแพง และตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ และตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
จากการสำรวจข้อมูลของทะเบียนราษฎรพบว่า ในเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2565 ระบุจำนวนประชากรบ้านปะอาวทั้งสิ้น 5,407 คน แบ่งเป็นหญิง 2,729 คน และแบ่งเป็นชาย 2,678 คน
ภายในชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาและจารีดประเพณี โดยมีการจัดตั้งกลุ่มป่าท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน กลุ่มสินค้า OTOP กิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อให้มีการสืบทอดและส่งต่อรุ่นสู่รุ่นต่อไป และความพิเศษของชุมชนนี้ คือ การจัดตั้งกลุ่มหล่อหัตถกรรมทองเหลืองโบราณซึ่งทำด้วยมือ
นอกจากนี้ปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มสหกรณ์เพื่อผลิตผ้าไหม สร้างรายได้หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวให้กับชาวบ้าน ลวดลายที่นิยมทอขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด เช่น ผ้ากาบบัว ผ้าไหมลวดลายปราสาทผึ้ง ผ้าไหมลูกแก้ว ผ้าไหมมัดหมี่ รับประกันความประณีตงดงามด้วยรางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับมากมาย นอกจากนั้นแล้วยังมีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้งานหัตถกรรมทอผ้าไหมให้กับผู้ที่สนใจ
พื้นที่ของชุมชนโดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ในการทำนาข้าว และพื้นที่ป่าโคก หรือป่าเต็งรัง ทางด้านทิศเหนือของชุน เป็นชุมชนพักอาศัยแบบชนบท ประชากรในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีอาชีพเสริม เช่น กลุ่มช่างหล่อผลิตภัณฑ์ทองเหลือง กลุ่มสตรีผ้าไหม กลุ่มปลูกข้าวหอมมะลิ กลุ่มแปรรูปอาหารสำเร็จรูป
ลักษณะสังคมภายในชุมชนยังคงเป็นลักษณะของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบชนบทที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกษตร และพื้นที่ทางความเชื่อท้องถิ่น เช่น คนในชุมชนส่วนใหญ่เชื่อและนับถือศาลเจ้าปู่แสนนาน ผู้ก่อตั้งบ้านปะอาว
ทุนวัฒนธรรมหรือปัญญาท้องถิ่น
1. การผลิตทองเหลืองโบราณ
ชุมชนปะอาวกลายเป็นแหล่งขึ้นชื่อในด้านภูมิปัญญาการหล่อทองผลิตภัณฑ์ทองเหลืองโบราณ สืบทอดกันมากว่า 200 ปี โดยสมัยก่อนนั้นชาวบ้านปะอาวจะหล่อหลอมทองเหลืองเพื่อทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือน เช่น กระดิ่งแขวนคอควาย กระดิ่งแขวนตามโบสถ์และวิหารวัด เต้าปูน เชี่ยนหมาก กระพรวน ผอบ ขันน้ำ เป็นต้น ความโดดเด่นของงานทองเหลืองบ้านปะอาว คือ ลวดลายที่เกิดจากการเลียนแบบความงามตามธรรมชาติ มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ลายหมากหวาย ลายกลีบบัว ลายฟันปลา ลายต้นสน ลายไข่ปลา และลายลูกกลิ้ง และความโดดเด่น อีกอย่าง คือ ชาวบ้านปะอาวยังคงทำเครื่องทองเหลืองด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมตามที่สืบทอดกันมา ที่เรียกว่ากันว่า การหล่อแบบขี้ผึ้งหาย หรือ การแทนที่ขี้ผึ้ง ซึ่งการหล่อแบบนี้เป็นกระบวนการหล่อโลหะที่มีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่นับวันจะหาดูยากและกำลังจะสูญหายไป
2. การทอผ้าไหม
หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านปะอาว เกิดขึ้นจากสมัยก่อนนั้นชาวบ้านปะอาวได้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมไว้สำหรับใช้ในครัวเรือนมาโดยตลอดอยู่แล้ว ลวดลายของผ้าไหมก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีการถ่ายทอดและสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมาหลายรุ่น จนมีช่างทอผ้าฝีมือดีเกิดขึ้นในหมู่บ้านหลายคน จึงได้มีการรวมกลุ่มสตรีในหมู่บ้านที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการทำหัตถกรรมทอผ้าไหมและมีความสนใจจัดตั้งเป็นสหกรณ์ปะอาวขึ้น โดยมีวัถตุประสงค์ในการตั้งกลุ่มเพื่อผลิตผ้าไหมทอมือออกจำหน่ายและสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา โดย สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองอุบลราชธานี มีศูนย์การเรียนรู้และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ตั้งอยู่ทางเข้าหมู่บ้าน
ชุมชนนี้มีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมมาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มสหกรณ์เพื่อผลิตผ้าไหม สร้างรายได้หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวให้กับชาวบ้าน ลวดลายที่นิยมทอก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด เช่น ผ้ากาบบัว ผ้าไหมลวดลายปราสาทผึ้ง ผ้าไหมลูกแก้ว ผ้าไหมมัดหมี่ ด้วยความเชี่ยวชาญและฝีมือที่ประณีตในการทอผ้าไหมของชาวบ้านปะอาว ทำให้ผ้าไหมบ้านปะอาวเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ทางกลุ่มมีการนำผ้าไหมเข้าประกวดตามงานต่าง ๆ ได้รับรางวัลมากมาย ทำให้เป็นที่รู้จักกันทั่วและยอมรับฝีมือมากขึ้น นอกจากนี้ทางกลุ่มก็ได้มีการถ่ายทอดความรู้ในการทอผ้าให้กับนักเรียน ลูกหลาน และผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย
3. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านประจำชุมชนปะอาว
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 หัวเรือใหญ่ที่ริเริ่มคือหลวงพ่อพระครูธรรมสุทรนิวิฐ เจ้าอาวาส พระอาจารย์มหาพยนต์ สนตจิตโต รองเจ้าอาวาส และนายอภิชาติ พานเงิน กำนัน โดยขอรับบริจาคสิ่งของต่าง ๆ จากชาวบ้าน และของส่วนหนึ่งที่ทางวัดเก็บรักษาไว้ โดยวัตถุที่จัดแสดงมีหลากหลายชนิด วางบนชั้นไม้ และในตู้กระจก อาทิ พระเครื่อง ตู้พระคัมภีร์ อาสนะ เครื่องมือทอผ้า ที่ฟักไข่และออกใยไหมของตัวหม่อน โฮงกระบอง โปม(ถาดใส่ข้าวเหนียว) กระติบข้าว กระดึง เงินฮาง ผ้าหอคัมภีร์ ผ้าไหม-บังสุกุล เครื่องปั้นดินเผา เครื่องทองเหลือง พานหมาก ตะเกียง วิทยุเก่า เป็นต้น
สถานการณ์ในปัจจุบันของชุมชนพบว่ามีปัญหาการผลิตหัตถกรรมทองเหลือง ประกอบด้วย การใช้แหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพหัตถกรรมทองเหลือง 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1) ด้านการรักษาวิธีการหล่อทองเหลืองบ้านปะอาว (2) ด้านการออกแบบลวดลายหัตถกรรมทองเหลือง (3) ด้านการรักษาอัตลักษณ์รูปแบบทองเหลือง และ (4) ด้านค่านิยม ความเชื่อ ความพึงพอใจของหัตถกรรมทองเหลือง จึงได้จัดการแก้ไขโดย
- จัดให้มีการจัดทำคู่มือการประกอบเครื่องหัตถกรรมทองเหลือง ในการทำผลิตภัณฑ์ทองเหลืองบ้านปะอาวนั้น ต่างมีกรรมวิธีในการผลิต การค้นหา และวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อจำหน่ายหรือจ่ายแจก ทั้งยังเป็นการสืบทอดวิธีการผลิตหัตถกรรมทองเหลือง
- จัดกิจกรรมในรูปแบบการเรียนการสอน ในหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับการประกอบหัตถกรรมทองเหลืองและควรให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนแต่ละโรงเรียน อธิบายถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ในการผลิตหัตถกรรมทองเหลือง มีการสาธิตอนุรักษ์ ภูมิปัญญาพื้นบ้านและยังเป็นแนวทางการอนุรักษ์หัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาวอีกด้วย เนื่องจากการผลิตหัตถกรรมทองเหลืองแบบดั้งเดิมได้เปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นการค้าเชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน มีการพัฒนากระบวนการผลิตหัตถกรรมทองเหลือง ด้วยการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
- การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แนวทางการอนุรักษ์ค่าหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว เป็นการผลิตโดยชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนในระบบกลุ่ม องค์กร หรือครอบครัว เป็นกรรมวิธีในการผลิตที่อยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อม ต้องอาศัยระบบของนิเวศน์ในการดำรงชีวิตและให้การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ที่จะออกแบบหรือใช้จ่ายร่วมกันระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมนั้นต้องเข้ากันได้ไม่มีผลเสีย หรือระบบทำร้ายซึ่งกันและกัน มีการอาศัยและพึ่งพา และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
- แนวทางการอนุรักษ์ โดยการส่งเสริมสนับสนุนอาชีพเศรษฐกิจชุมชน ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว การนำเอาทรัพยากรความรู้ ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ในท้องถิ่นของบ้านปะอาว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนหรือเป็นลักษณะสากลที่หลาย ๆ ท้องถิ่นมีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่นเกิดจากการที่ชาวบ้านแสวงหาความรู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคทางธรรมชาติ
- พัฒนารูปแบบหัตถกรรมทองเหลือง โดยอาศัยหลักการตลาด ในแนวทางการเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว โดยการใช้การวางแผนการตลาด 4P (Product Price Place Promotion) ประกอบด้วย (1) Product ก็คือสินค้าหรือบริการในแนวทางการเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว (2) Price ราคาเป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญในการตลาด ในแนวทางการเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว (3) Place คือ วิธีการนำสินค้าแนวทางการเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาวไปสู่มือของลูกค้า และ (4) Promotion คือ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นแนวทางการเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว
- จัดตั้งองค์กรพหุภาคี การสร้าง เครือข่าย ด้านอาชีพเป็นแนวทางการอนุรักษ์ และแนวทางการเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว ที่จะสร้างความรู้และความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้ผลิตหัตถกรรมทองเหลือง เพื่อความสมดุลระหว่างผู้ผลิตต่อผู้ผลิต ผู้ผลิตกับผู้บริโภค เพราะการผลิตหัตถกรรมทองเหลือง เป็นการใช้ภูมิปัญญาร่วมกันและเป็นการไม่เอาเปรียบ ผู้บริโภค เกี่ยวกับหัตถกรรมทองเหลืองเพื่อส่งเสริม เศรษฐกิจชุมชน การสร้างเครือข่ายจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่คนทุกคนจะพึ่งทำงานร่วมกันและเป็นไปในทิศทาง เดียวกัน
องค์การบริหารส่วนตำบลปะอาว. (2564). [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566. จาก : https://www.pa-ao.go.th/
ชุมชนปะอาว. (2563). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566. จาก : https://communityarchive.sac.or.th/community/BanPaAo
ชุมชนปะอาว. (2561) [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566. จาก https://culturalenvi.onep.go.th/
สิริสิน ชุมรุม, ปวริน สุรัสวดี, ขนิษฐา วัชราภรณ. (2548). การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายและไหมพื้นเมืองของเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ธ.ก.ส ในจังหวัดอุบลราชธานี ศึกษาเฉพาะกลุ่ม: กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านปะอาว, กลุ่มเกษตรกรบ้านยางเกลือ, กลุ่มเกษตรกรบ้านโน่นสว่าง และกลุ่มเกษตรกรบ้านสมพรรัตน์. ใน การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 43 : สาขาสัตว์ สาขาอุตสาหกรรมเกษตร. กรุงเทพฯ. 2548. หน้า 513-520 : สืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566. จาก : https://kukr.lib.ku.ac.th/
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านปะอาว. (2561). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2566. จาก : https://www.museumthailand.com/
พระครูสุตบูรพาสถิต. (2538). แนวทางการอนุรักษ์และเพิ่มมูลค่าหัตถกรรมทองเหลือง บ้านปะอาว ตําบลปะอาว อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร. 6, (2) พ.ค. - ต.ค. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2566, จาก : https://so01.tci-thaijo.org/