
ชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี มีโบราณสถานเป็นสถานที่เคารพบูชาของคนในชุมชนและผู้คนที่ศรัทธาจากภายนอกชุมชน ได้แก่ วัดธรรมามูล และวัดปากคลองมะขามเฒ่า
ตั้งชื่อตามคนจีนนามว่า "สิงห์" ที่เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินและอาศัยอยู่ในชุมชนจนถึงแก่กรรมชาวบ้านจึงสร้างวัดให้ชื่อว่า วัดสิงห์ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่เจ้าของที่ดิน และกลายมาเป็นชื่อของชุมชน ต่อมาเมื่อประชาชนมาอยู่ร่วมกันมากขึ้น บ้านเมืองมีความเจริญ เขตที่ชาวบ้านอาศัยอยู่จึงถูกแต่งตั้งให้เป็นอำเภอวัดสิงห์ในที่สุด
ชุมชนเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี มีโบราณสถานเป็นสถานที่เคารพบูชาของคนในชุมชนและผู้คนที่ศรัทธาจากภายนอกชุมชน ได้แก่ วัดธรรมามูล และวัดปากคลองมะขามเฒ่า
ตามตำนานเล่าว่า วัดสิงห์ ตั้งชื่อตามวัดหนึ่งในอำเภอวัดสิงห์ คือ "วัดสิงห์สถิตย์" ที่ตั้งของวัดสิงห์สถิตย์เป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง แต่เมื่อมีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ สิงห์ เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินและอาศัยอยู่ในชุมชนวัดสิงห์สถิตย์ โดยประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกอ้อย และปลูกผักสวนครัว ด้วยความที่คนผู้นี้เป็นคนดีและตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม ประกอบอาชีพสุจริต เมื่อถึงแก่กรรมชาวบ้านจึงร่วมมือกันสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น และให้ชื่อว่า “วัดสิงห์” เพื่อเป็นที่ระลึกแก่เจ้าของที่ดิน ต่อมาเมื่อประชาชนมาอยู่ร่วมกันมากขึ้น บ้านเมืองมีความเจริญขึ้น เขตที่ชาวบ้านอาศัยอยู่จึงถูกแต่งตั้งให้เป็นอำเภอวัดสิงห์
ชุมชนตลาดวัดสิงห์เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลวัดสิงห์ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดชัยนาท มีเนื้อที่ประมาณ 682,741 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ ทิศใต้ขิงลำห้วยชุนแก้ว อำเภอหนองฉาง อำเภอหนองขาหย่าง และอำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท
- ทิศตะวันออก ติดกับ ทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและลำแม่น้ำท่าจีน เขตอำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะทั่ว ๆ ไปสภาพพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่สูงและลาดต่ำลงมาทางทิศตะวันออกถึงแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ระดับพื้นที่ระหว่างสุดตะวันออกและสุดตะวันตก ห่างกันในระดับประมาณ 19 - 100 เมตร จากระดับน้ำทะเล เนื้อดินโดยทั่ว ๆ ไปเป็นดินดานส่วนใหญ่ แม่น้ำสายสำคัญ มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอ 2 สาย คือแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ซึ่งไหลผ่านทางสุดเขต มีน้ำไหลผ่านตลอดปี
ชุมชนวัดสิงห์มีประชากรทั้งสิ้น 21,376 คน แบ่งออกเป็น ประชากรชาย 10,437 คน และหญิง 10,939 คน โดยประชากรส่วนใหญ่เป็นคนไทย และมีบางส่วนเป็นคนไทยเชื้อสายจีน แต่มีจำนวนน้อย
จีนวิถีชีวิตของคนในชุมชนส่วนใหญ่มักประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา โดยประชากรประมาณร้อยละ 95 ประกอบอาชีพทำนา มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวถึง 172,650 ไร่ การทำสวนผลไม้มักปลูกกันตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เช่น ทุเรียน ฝรั่ง เงาะ มังคุด มะม่วง ขนุน มะปราง และมะพร้าว เป็นต้น ไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลัก อีกทั้งยังมีการปลูกพืชอื่น ๆ เช่น ข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วฝักยาว ถั่วเหลือง ฟักทอง แตงกวา แตงโม พริก และมะเขือ เป็นต้น
ประชาชนชุมชนวัดสิงห์มีความเชื่อในลัทธิศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และได้ปลูกฝังความเชื่อนี้มาเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงมีโบราณสถาน โบราณวัตถุอันมีค่าหลายแห่งเป็นที่เคารพบูชาและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน
1. วัดธรรมามูลวรวิหาร วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่และเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมานับเป็นเวลาร้อยกว่าปี ตั้งอยู่บนไหล่เขาลูกหนึ่งที่ชื่อว่าเขาธรรมามูล วัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดธรรมามูล” พระวิหารซึ่งตั้งอยู่บนไหล่เขานี้เป็นประดิษฐานพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งขนานนามว่า “หลวงพ่อธรรมจักร” เป็นพระพุทธรูปยืน หลวงพ่อธรรมจักรนี้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอันมาก และเนื่องจากวัดธรรมามูลนี้เป็นวัดอารามหลวง ในเดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ของทุก ๆ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานผ้ากฐินโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการจังหวัดชัยนาทนมัสการกราบไหว้และปิดทองตามประเพณีโดยทั่วกัน
2. หลวงพ่อศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อศุขเป็นหลวงพ่อที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านชุมชนวัดสิงห์ หลวงพ่อศุขเป็นพระอาจารย์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หลวงพ่อศุขมีความศักดิ์สิทธิ์มาก ผู้คนในชุมชนวัดสิงห์จึงนับถือและบูชาและมีการจัดงานฉลองทุกปี
เนื่องจากอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท อยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษากลาง แต่อาจจะมีคำพูดบางคำที่เพี้ยนไปบ้าง และศัพท์แสลงต่าง ๆ เช่น คำว่า “ทุ่ม” ตอนนี้ 3 ทุ่มแล้ว เป็น ตอนนี้ 3 “ทุ้ม” แล้ว เป็นต้น เพราะบางพื้นที่มีผู้คนที่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สภาวัฒนธรรมอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท จัดงานย้อนรอยปิ่นโตไทย ใส่ใจในอดีตครั้งที่ 9 เพื่อสืบสานวัฒนธรรมในชุมชนวัดสิงห์ เพื่อสืบสานความเป็นอยู่ของชุมชน ชาวอำเภอวัดสิงห์ ให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในชุมชน และยังทำให้สามัคคีในชุมชน โดยงานจัดที่บ้านของคุณอารีย์ เรืองโพธิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอวัดสิงห์ ในการจัดงานแต่ละครั้ง จะจัดครั้งละ 1 วันของทุก 4 เดือน การแต่งกายภายในงาน จะใส่ผ้าถุง เสื้อลายดอกลูกไม้ ตามวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนชาววัดสิงห์ รวมทั้งบริเวณงานยังมีการแสดงกลองยาว และการแสดงพื้นบ้านอีกด้วย
ประจงจิต ตันตสุทธิกุล. (2514). ปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษาของอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท. สารนิพนธ์วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
เทศบาลตำบลวัดสิงห์. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2561-2565 เทศบาลตำบลวัดสิงห์ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท. ชัยนาท: กองวิชาการและแผนงาน.
สถาพร ถาวรอธิวาสน์. (2555). การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามวิถีชุมชนลุ่มแม่น้ำท่าจีน จังหวัดชัยนาท. (รายงานการวิจัย). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม.