Advance search

วิถีชีวิตชาวไทยโย้ย มีการทำการประมง และการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ในการดักจับสัตว์น้ำ

หมู่ที่ 19
หนองสนม
วานรนิวาส
สกลนคร
ปรายฟ้า ตั้งจิตติวัฒนา
27 มี.ค. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
11 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
บ้านโพนแพง

มีที่มาจาก "โพน" ของชาวไทยโย้ยบ้านโพนแพง คือ พื้นดินที่สูงจากพื้นที่ราบ เป็นเหมือนจอมปลวก แต่ใหญ่กว่า จึงตั้งชื่อบ้านว่า โพน ขึ้นก่อน คำว่า "แพง" ต่อท้าย ภาษาโย้ยหมายถึง ของรัก ของหวง ของมีค่า รวมความแล้ว โพนแพง หมายถึง โพนที่ชาวบ้านโพนแพงรักมาก


ชุมชนชาติพันธุ์

วิถีชีวิตชาวไทยโย้ย มีการทำการประมง และการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้ในการดักจับสัตว์น้ำ

หมู่ที่ 19
หนองสนม
วานรนิวาส
สกลนคร
47120
17.58084
103.8692
เทศบาลตำบลหนองสนม

ประวัติบ้านไทยโย้ยบ้านโพนแพง จากการได้สอบถามและพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นลูกหลานชาวโย้ยที่พ่อแม่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโพนแพง ในขณะนี้มีศักดิ์เป็นหลานแต่อายุของท่านก็ 80 ปีกว่าแล้ว ท่านคือ พ่อเฒ่าหอน บัวพินธ์ และแม่เฒ่าช้อน โพธิ และอีกหลายท่านพอ สรุปได้ดังนี้

ชาวไทยโย้ยบ้านโพนแพงเดิมอยู่บ้านชาด เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากบ้านวานรนิวาส ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านวานรนิวาส ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เพราะเป็นทุ่งนาโล่งกว้าง สมัยก่อนสามารถมองเห็นหมู่บ้านชาด มีป่ามะม่วง ป่ามะขาม ต้นไผ่เขียวครึ้มอยู่ เดี๋ยวนี้ชาวบ้านวานรนิวาสก็ยังเรียกบ้านร้าง (บ้านฮ้าง) จนถึงทุกวันนี้

สาเหตุที่ย้ายบ้าน พ่อเฒ่าหอน บัวพินธุ์ และ แม่เฒ่าช้อน โพธิ บอกว่า เนื่องจากเกิดโรคระบาด เรียกโรค "ห่า" คือ โรคฝีดาษระบาดติดต่อกัน โดยไม่มีหมอรักษา ถ้าใครเป็นแล้วปล่อยให้ตาย ไม่มีใครเข้าไปใกล้ ถ้าเข้าใกล้ก็ติดต่อกันได้ มีคนตายเป็นจำนวนมาก พวกที่อพยพหนีโรคระบาดก็หนีกันไป โดยรื้อบ้านเก่าหนีไปด้วย แล้วแต่จะไป ชาวบ้านบางครอบครัวก็เข้าไปอยู่บ้านวานรนิวาสก็มี ส่วนพวกที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านโพนแพงก็มีแต่พี่น้องเดียวกัน มีนามสกุลโพธิ แก้วมะณี แก้วไพฑูรย์ บัวนิพนธ์ และอินธิฤทธิ์

   สกุลโพธิ มี นายเทพสุริวงศ์ โพธิ, นายไชยราช โพธิ

   สกุลแก้วมะณี มี นายขี่เกี้ยน, นายมณี, นายแอ๋ง

   สกุลแก้วไพรฑูรย์ มี นางล้าน นางแซว นางพรม นายบุดดา นางพุดทา

   สกุลอิทธิฤทธิ์ มี นายเชียงอิน

   สกุลบัวนิพนธ์ มี นายเชียงโห

ผู้ที่มีสกุลเหล่านี้พากันมาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2407 ที่บ้านโพนแพง ห่างจากบ้านวานรนิวาส 14 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านวานรนิวาส 

สาเหตุที่เลือกมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านโพนแพง เนื่องจากมาจากนายพรานคนบ้านชาด พากันเข้าป่าล่าสัตว์ หาสัตว์ป่ามากินเป็นอาหาร จะพากันมุ่งหน้ามาหาอาหารที่ริมน้ำยาม สัตว์ป่าต่างๆ มีมาก ปลาในน้ำยามก็มีมาก หาได้พอกินกันทุกคนแล้วก็พากันกลับบ้านมาแบ่งเพื่อนบ้านกินกัน พออาหารหมดก็พากันกลับเข้าป่าหาอาหารได้ง่าย เมื่อมีปัญหาโรคระบาดจึงคิดปรึกษากัน เมื่อต้องการหาตั้งถิ่นฐานใหม่ย่อมคิดว่าผืนดินที่ไปตั้งใหม่ย่อมต้องดีกว่าเก่า น้ำเป็นปัจจัยสำคัญแรก อาหารตามมา ที่ทำกินตามมา ประกอบกับบรรดาสกุลเหล่านี้ลงความเห็นควรมาตั้งที่บ้านโพนแพง จึงพากันรื้อบ้านอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านโพนแพง เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์อยู่ติดริมน้ำยาม มีห้วยหนองมากมาย น้ำดื่มน้ำใช้สะดวก หาอาหารกินง่าย ดินดี ทำเลกว้างขวาง สัตว์ป่ามีมาก เป็นต้นหมูป่ามีมากมาย ทำตูบอยู่ริมน้ำยาม ตรงที่หมูป่าชอบลงมากินน้ำ จนได้สมญานามว่า บ้านโพนแพงตูบ คำว่าตูบ คือ ห้างยิงหมูป่าตรงริมฝั่งน้ำยาม เพราะสมัยอดีต 60 ปีก่อน สัตว์ป่า หมูป่า เก้ง กวาง กระต่าย ปลาในน้ำยาม ตามลำห้วยหนองมีมาก เอาแหไปทอดปลาตามลำน้ำยามได้ปลาเป็นจำนวนมาก ก็สามารถเลือกเอาแต่ปลาตัวโตๆ ตัวเล็กปล่อยไป การจะกินอาหารแต่ละมื้อ ก็ต้องไปหาอาหารก่อนแล้วกลับมาทำอาหารกินทันที ถ้าจะเก็บอาหารไว้กินนานต้องทำแห้งตากแดด ย่าง หรือไม่ก็หมักเค็ม เช่น เนื้อเค็ม ดังนั้นถ้าใครไปหาอาหารก็สั่งว่าหาเผื่อบ้างนะ ได้มาก็แบ่งกันอาหารจะได้ไม่เน่า จะได้กินอาหารสดๆ คือ จะได้อร่อย เช่น ต้ม ปิ้ง ลาบ ก้อย ซอยแช่ เป็นต้น อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ส่วนมากจะทำอาหาร "ซอยแช่" (กินดิบ) ซึ่งชาวโย้ยชอบมาก

พื้นที่ทำเลตั้งบ้านส่วนมากจะมีโพนใหญ่ๆ ขึ้นตามบริเวณบ้าน คำว่า "โพน" ของชาวไทยโย้ยบ้านโพนแพง คือ พื้นดินที่สูงจากพื้นที่ราบเป็นเหมือนจอมปลวกแต่ใหญ่กว่า จึงตั้งชื่อบ้านว่า "โพน" ขึ้นก่อน คำว่า "แพง" ต่อท้าย ภาษาโย้ย หมายถึง ของรัก ของหวง ของมีค่า รวมความแล้วโพนแพง หมายถึง โพนที่ชาวบ้านโพนแพงรักมาก ห่วงมาก และเป็นโพนที่มีค่ามาก เลยตั้งชื่อว่า บ้านโพนแพง มาจนถึงทุกวันนี้ การมาตั้งบ้านครั้งแรกประมาณ 6 ครอบครัว และขยายครัวเรือนออกมากขึ้นจนกระทั่งมีสิทธิ์ให้ตั้งผู้ใหญ่บ้านได้ จึงมีผู้ใหญ่บ้านปกครองหมู่บ้านโพนแพงมาตามลำดับ ดังมีรายชื่อดังต่อไปนี้

   1.นายไชยราช โพธิ   ปกครอง 12 ปี

   2.นายบุดดา แก้วไพฑูรย์   ปกครอง 15 ปี

   3.นายเทพสุริวงศ์ โพธิ   ปกครอง 10 ปี

   4.นายบุดดา แก้วไพฑูรย์   ปกครอง 16 ปี

   5.นายพิมพ์ แก้วไพฑูรย์   (เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาเป็นกำนันดีเด่น) ปกครอง 29 ปี

   6.นายบ่าย ไชยมาตย์   (เป็นครู ลาออก ต่อมารับเลือกเป็นกำนัน) ปกครอง 16 ปี

บ้านโพนแพง ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำและหนองน้ำธรรมชาติ สภาพดินเป็นดินทรายปนดินเหนียว  โดยปกติมี 3ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูหนาวและฤดูฝน ปริมาณน้ำฝนตกแต่ละปีอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีอาณาเขตดังนี้
  • ทิศเหนือ จรดเขตอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย และเขตอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม
  • ทิศใต้         จรดเขตอำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกรนคร
  • ทิศตะวันออก จรดเขตอำเภอศรีสงคราม และเขตอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม
  • ทิศตะวันตก จรดเขตอำเภอคำตากล้า

กลุ่มชาติพันธุ์โย้ยแต่เดิมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่มณฑลไกวเจา กวางสี ประเทศจีน ตามตำนานเล่าว่ากลุ่มโย้ยได้อพยพย้ายที่อยู่ในช่วงที่เกิดศึกเจือง ซึ่งในการอพยพขณะนั้นมีพญาท้าวยี่ เป็นหัวหน้ากลุ่มในการอพยพ โดยมาตั้งที่อยู่ในบริเวณบ้าน “ห้อมท้าวฮูเซ” แขวงคำม่วน สปป.ลาวปัจจุบัน จากนั้นได้อพยพมาฝั่งขวาแม่น้ำโขงในช่วงสงครามระหว่างเวียงจันท์กับกรุงเทพฯ จากกรณีของเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ.2369-2370) ได้กระด้างกระเดื่องต่อกรุงเทพฯในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ครั้นกองทัพกรุงเทพฯปราบกบฏเสร็จแล้ว จึงได้เกลี้ยกล่อมและกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายให้ข้ามมาอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งรวมทั้งกลุ่มครัวไทย้อยซึ่งมีท้าวสีสุราช ท้าวจันทนาม ท้าวนามโคดเป็นผู้นำด้วย โดยได้อพยพไพร่พลกว่า 2,339 คนเข้ามาอาศัยอยู่แถบแม่น้ำศรีสงครามและแม่น้ำยามตามลําดับ จนกระทั่งได้มาตั้งถิ่นฐาน บริเวณ “บ้านม่วงริมยาม” ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตเมืองไชยบุรี เมืองท่าอุเทน เมืองสกลนครต่อกับเมืองนครพนม

ไทยโย้ยที่บ้านม่วงริมยามได้แยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่มีท้าวสีสุราชเป็นหัวหน้า กับกลุ่มที่มีท้าวจันโสมเป็นหัวหน้า ซึ่งกลุ่มหลังนี้ได้ขอสมัครไปขึ้นกับเมืองยโสธรเพราะมีความจงรักภักดีกับพระสุนทรราชวงศา (ฝ้าย) ซึ่งเมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วได้เดินทางกลับเมืองยโสธร ครัวโย้ยกลุ่มดังกล่าวจึงขอติดตามกลับไปด้วย โดยได้มาตั้งอยู่ที่บ้านกุดลิง (เขตอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) ขึ้นกับเมืองยโสธร ต่อมาท้าวจันโสมเห็นว่าบ้านกุดลิงคับแคบลำบากในการทำมาหากิน จึงได้อพยพกลับมาใกล้ที่ตั้งถิ่นฐานครั้งแรกใกล้กับบ้านม่วงริมยาม โดยได้มาตั้งอยู่บ้านกุดแร่ และยังคงใช้ชื่อเดิมของ "บ้านกุดลิง" ภายหลังได้อพยพครัวโย้ยหนีความแห้งแล้งมาอยู่ “บ้านชุมแสงหัวนา” โดยยังยังคงใช้ชื่อบ้านกุดลิงเช่นเดิม

ต่อมาใน พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อเมืองสกลทวาปีน "เมืองสกลนคร" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็น “เมืองวานรนิวาส” ขึ้นกับเมืองสกลนคร โดยตั้งท้าวจารคำ (ผู้นำคนใหม่ที่รับช่วงต่อท้าวจันโสม) เป็นหลวงประชาราษฎร์รักษา (ต้นตระกูลศรีถาพร) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองคนแรกต่อมาใน พ.ศ.2396 พระสุนทรราชวงศา (ฝ้าย)        เจ้าเมืองนครพนมและควบตำแหน่งเมืองยโสธรด้วย ได้ขอพระราชทานโปรดเกล้าฯยกบ้านม่วงริมยามเป็นเมืองอากาศอำนวย โดยขอให้ท้าวสีสุราชเป็นเป็นหลวงพลานุกูลดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ท้าวจันทนามเป็นราชวงศ์ ท้าวนามโคดเป็นราชบุตร พร้อมทั้งราชทานเครื่องยศตามตำแหน่ง   

ต่อมาใน พ.ศ. 2457 การคมนาคมและการติดต่อไปมาระหว่างอำเภออากาศอำนวยกับจังหวัดนครพนมไม่สะดวกเพราะอำเภออากาศอำนวยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดมาก จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่ โดยยุบอำเภออากาศอำนวยเป็นตำบลอากาศ แล้วให้ขึ้นต่อกับอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ก่อนจะย้ายให้มาขึ้นกับอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

ไทโย้ย

คนโย้ยตั้งอดีตจนถึงปัจจุบันส่วนใหญ่จึงทำการเกษตร โดยมีอาชีพทำนาและประมงเป็นหลัก ซึ่งการปลูกข้าวในอดีตนั้นนิยมปลูกข้าวเหนียวเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันได้ปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว โดยจะเก็บข้าวเหนียวเอาไว้กินส่วนข้าวเจ้าจะปลูกเอาไว้ขาย นอกจากนี้ยังนิยมทำไร่ทำสวน เช่น ไร่ฝ้าย สวนครามและปลูกผักสวนครัวตามตลิ่งลำน้ำยาม แล้วยังทอผ้าไว้ขาย ปัจจุบันในชุมชนชนบทหลายๆ แห่งเริ่มมีการเปิดร้านค้าที่ใต้ถุนบ้าน ขายสิ่งของเบ็ดเตล็ดหรืออาหารสดและสำเร็จที่ซื้อมาจากในตัวอำเภออีกทอดหนึ่ง  ส่วนหลังฤดูทำนามักจะทำอาชีพเสริม คือ รับจ้าง โดยช่วงแรกรับจ้างในหมู่บ้าน ต่อมาประมาณราวปี พ.ศ. 2520 จึงเริ่มออกไปรับจ้างต่างถิ่น โดยเฉพาะในกรุงเทพ และบางคนยังนิยมไปทำงานรับจ้างในต่างประเทศด้วย ในช่วงปี พ.ศ. 2540 มีชาวบ้านออกไปทำงานต่างประเทศถึงร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมดส่วนรับราชการ และค้าขายนั้นมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นคนภายนอกเข้ามาประกอบกิจการดังกล่าวเพื่อทำการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าเบ็ดเตล็ดต่างๆ ซึ่งอาชีพค้าขายและอาชีพบริการต่างๆ ปรากฏเห็นได้ชัดในชุมชนตัวเมืองอากาศอำนวย วานรนิวาส และสว่างแดนดิน 

สำหรับการทำประมงนั้น ตั้งแต่อดีตชาวโย้ยมักทำหาปลาตามลำน้ำยามเป็นหลัก รองลงมา คือ ห้วย หนอง คลอง บึง ซึ่งปัจจุบันนี้ยังได้รับการใช้ประโยชน์กันอยู่ เช่น บ่ออ้อ สบห้วย น้ำจั้น บ่อลุบ หนองพักกูด หนองดินดำ วังดินดำ หนองปลาซวาย หนองพักแว่น หนองหวาย หนองลาดควาย เป็นต้น ด้วยรูปแบบของระบบนิเวศโดยรวมเป็นพื้นที่ทามน้ำท่วมถึงในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้ก่อเกิดภูมิปัญญาการทำประมงและเครื่องมือในการจับปลาที่มีการปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของธรรมชาติดังกล่าว เช่น ซวาง ส่อน ไซ จั่น ตุ้ม โทงขา ลอบ เสือนอนกิน ผีน้อย ลัน แห มอง แหลมสอด เบ็ดโก่ง เบ็ดคัน เบ็ดเผียก เบ็ดสะโน สุ่ม จะดุ้ง(ยอ) เป็นต้น โดยต้องจดจำ ทดลองและสังเกตว่าในการจับปลาชนิดใด ต้องใช้เครื่องมือชนิดใด เช่น ปลาไหลต้องใช้ลันไปดัก ปลาค่าวต้องใส่ซวางหรือเบ็ดโก่ง เป็นต้น (ไพรี อินธิสิทธิ์, สัมภาษณ์) ส่วนอาชีพการล่าสัตว์ปัจจุบันไม่ค่อยปรากฏให้เห็น ส่วนหนึ่งเพราะสภาพพื้นที่ตั้งชุมชนโดยทั่วไปป่าโปร่งหรือป่าโคกและป่าบุ่งป่าทาม จึงไม่ค่อยมีสัตว์ใหญ่จะมีเฉพาะสัตว์เล็ก เช่น หนู นกต่างๆ ซึ่งเครื่องดักสัตว์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เช่น จ่องเจ๊าะ ซิงนกคุ่ม ตางบาน ซุ่มแอ้ว เพนียด แฮ้ว ฮุบ เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดักนกและไก่ป่า สำหรับ ซิง หล่วง กั๊บหยัน เป็นเครื่องมือสำหรับดักกระต่ายและหนู

ในปัจจุบันอาชีพที่เป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนมีทั้ง การทำนา เปิดร้านค้าโดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเบ็ดเตล็ด หรือพวกอาหารสำเร็จ หรือบรรดาเครื่องที่ใช้ประกอบในการทำอาหาร นอกจากนั้นยังมีอาชีพสร้างบ้าน หาปลาที่ทำเป็นบางครอบครัวหรืออาชีพปลูกพืช ปลูกเห็ด และอีกอาชีพที่เป็นที่นิยมในชุมชนคืออาชีพทอผ้า ทอเสื่อ โดยได้จัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพภายในหมู่บ้านขึ้นมา หลังจากนำไปขายก็จะนำรายได้มากระจากให้เท่าๆ กันไป

ธนาคารข้าว  ธนาคารควาย

เมื่อ 4 - 5 ปีผ่านมาชาวบ้านจะช่วยกันตั้งธนาคารข้าว โดยชาวบ้านตั้งครั้งแรกจะช่วยกันเอาข้าวไปรวมกัน แล้วนำไปไว้ที่ฉางข้าวกลางของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "ธนาคารข้าว" เก็บไว้ให้ชาวบ้านที่ขาดแคลนข้าวไปกู้ยืมเพื่อนำไปบริโภคภายในครอบครัว พอสิ้นปีก็จะนำข้าวที่กู้ยืมนั้นไปคืน บางปีชาวบ้านก็จะจัดงานประจำปีขึ้น ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า "บุญกองข้าว" ชาวบ้านก็จะนำข้าวไปกองรวมกันยังลานวัดกลางบ้านทุกครัวเรือน คนละนิดคนละหน่อย เมื่องานเสร็จชาวบ้านก็จะช่วยกันเก็บเอาข้าวไปไว้ที่ฉางข้าว หรือถ้ามีชาวบ้านคนใดต้องการจะกู้ยืมข้าวไว้กินในยามคับขัน ก็จะกู้ยืมข้าวจากฉางข้าวไปเก็บกักตุนเอาไว้ พอสิ้นปีก็จะนำข้าวที่ได้จากการเก็บเกี่ยวนำไปคืนไว้เหมือนเดิม และพอสิ้นปีถ้ายังมีข้าวเหลืออยู่ในฉาง ชาวบ้านก็จะนำไปขายเพื่อหาเงินเก็บไว้เป็นเงินของชาวบ้าน การดำนเนินงานเกี่ยวกับธนาคารก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเป็นผู้บริหาร โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ดอกผลที่ได้จากการเก็บผลผลิตก็จะนำไปปรับปรุง ส่วนที่เป็นของชาวบ้านส่วนมากจะเป็นการบูรณะซ่อมแซมวัดหรือประปาชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็จะเก็บไว้เสริมในการจัดงานบุญประจำปีของชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่

  • ฮีตประเพณีของชาวบ้าน

การทำบุญตามประเพณีของบ้านโพนแพงนั้น ได้ปฎิบัติกันมาตามโบราณกำหนดให้ นอกจากการทำบุญตามประเพณีแล้ว ยังมีฮีตประเพณีที่ชาวไทยโย้ยบ้านโพนแพงยึดถือปฎิบัติเช่นเดียวกับชาวพุทธไทยลาวทั่วไป คือ

บุญเดือน 4 บุญมหาชาติ หรือบุญพระเวสสันดร

บุญเดือน 5 บุญสงกรานต์ วันเนา

บุญเดือน 6 -

บุญเดือน 7 -

บุญเดือน 8 บุญเข้าพรรษา

บุญเดือน 9 บุญห่อข้าวประดับดิน

บุญเดือน 10 บุญห่อข้าวสาก

บุญเดือน 11 บุญออกพรรษา ลอยเรือไฟ

บุญเดือน 12 บุญกฐิน

บุญเดือน 1 - 2 บุญปีใหม่ บุญกองข้าว

บุญเดือน 3 เป็นการทำบุญเลี้ยงพระสู่ขวัญผู้สูงอายุ ข้าว และควาย

  • ความเชื่อเรื่องผีปู่ตา

ในสมัยก่อนประมาณ 80 ปีที่แล้วเรียกปู่ตาว่าแสง เพราะในเวลากลางคืนหรือวันสำคัญๆ จะมีแสงออกที่หอปู่ตา ทำให้สว่างไสวไปทั่ว และแสงนั้นก็จะดับไปในไม่นาน ชาวบ้านจึงนับถือแสงนั้นว่าศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันได้ตั้งหอขึ้นมาใหม่ชื่อว่าหอปู่ตา ประมาณ 70 ปีก่อน ได้ย้ายหอปู่ตาไปไว้ที่ริมยามใกล้สะพานไปบ้านส้งเปือย หอนั้นทำด้วยไม้ทำเป็นทรงไทย 2 หลัง เป็นที่อยู่ของเจ้าปู่และทหารรักษาบ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 นายเฉลิมพร เขื่อนพงษ์ นายภิพจน์ ได้รวบรวมเงินจากคนที่ไปทำงานประเทศซาอุดิอาระเบียมาสร้างหอปู่ตาหลังใหม่ 2 หลัง สวยงามมาก และในปี พ.ศ. 2538 ได้ตั้งที่พักของชาวบ้านเพื่อให้ได้เป็นที่พักบังฝนเมื่อฝนตก

การเลี้ยงปู่ตามี 2 ลักษณะ คือ

ลักษณะที่ 1 การเลี้ยงปู่ตาทำเป็นประจำ ในรอบ 1 ปีจะเลี้ยงปู่ตาเป็นทางการ 2 ครั้ง คือ ในเดือน 6 ก่อนจะลงนา และเดือน 12 ก่อนข้าวขึ้นเล้าขึ้นฉาง การเลี้ยงนั้นชาวบ้านจะตกลงกันเป็นคุ้ม และผลัดเปลี่ยนไปโดยรอบทุกคุ้ม แต่ทุกหลังคาบ้านจะต้องนำเทียน ดอกไม้สีแดง และห่อข้าวหุง ไปสมทบทุกครั้ง

ลักษณะที่ 2 เป็นการเลี้ยงปู่ตาของลูกหลานชาวบ้านที่ไปทำงานต่างถิ่น เมื่อก่อนจะไปลูกหลานชาวบ้านจะนำเทียนไปหาหมอจ้ำให้พูดกับปู่ตา (บะ) บอกว่าคนชื่อนี้จะไปทำงานที่... ให้เขาอยู่ดีมีสุข ให้คนรัก ไม่ให้เกิดอันตรายแก่เขา ให้ดูแลรักษาเขาจนเขากลับมา เมื่อเขากลับมาแล้วเขาจะเลี้ยงท่านภายหลัง และเมื่อคนที่มาบะไว้เขาจะมาเลี้ยงจะเป็นแบบนี้ตลอดไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนกายภาพ

จากวิถีชีวิตของชาวพื้นบ้านจะใช้ชีวิตอยู่กับทางธรรมชาติ มีทางน้ำทั้งลำน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง และสัตว์ทางน้ำประเภท ปลา หอย และนอกจากสัตว์น้ำ ยังมีป่าโปร่ง ป่าโคก ป่าบุ่ง ป่าทาม และบรรดาสัตว์เล็ก ที่ช่วยในการดำรงชีวิต

ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น

จากอดีตที่อพยพไปมาหลายที่ทำให้ชาวไทยย้อยสามารถประดิษฐ์เครื่องมือที่ถูกนำไปใช้ในการดักจับสัตว์ให้เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ เช่น เครื่องมือดักสัวต์เฉพาะสัตว์เล็กจะใช้เครื่องมือพวก จ่องเจ๊าะ ซิงนกคุ่ม ตางบาน ซุ่มแอ้ว เพนียด แฮ้ว สำหรับจับสัตว์น้ำจะใช้จำพวก ซวาง ลัน เป็นต้น

ตระกูลภาษา ไท-กะได (Tai-Kadai Language Family) , ภาษาพูด จะใช้เป็น ภาษาโย้ย ภาษาลาว/ไทอีสาน ภาษาไทย และตัวอักษรที่ใช้เขียน คือ ภาษาไทย

โดยชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง ผู้ย้อย ย้อย ลาวย้อย ไทย้อย ไทโย้ย โย้ย โย่ยแต่เมื่อสื่อความหมายกับคนนอกกลุ่มจะปรับตัวใช้สำเนียงไทยลาว หรือไทยกลาง

ในภาษาโย้ย จะมีลักษณะคล้ายกับภาษาย้อและคล้ายกับภาษาอีสานบางคำ แต่สำเนียงจะต่างกัน สำเนียงของชาว โย้ยจะอ่อนหวานและช้ากว่า มักจะพูดทอดเสียงยาวและออกเสียงหนักทุกพยางค์ คำพูดบางคำไม่สามารถเขียนเป็นภาษา หนังสือได้ เอกลักษณ์ของชาวโย้ย คือ มีสร้อยคำว่า “ฮ่อ” ท้ายประโยค ภาษาโย้ยจะไม่มี ฟ แต่จะใช้ พ แทน สามารถ เปรียบเทียบภาษาโย้ยกับภาษาไทยกลางได้ นอกจากสำเนียงภาษาที่ใช้ การพูดช้า ๆ ทำให้ชาวโย้ยมีลักษณะเด่นเฉพาะกลุ่มมากซึ่งยังคงรักษาเอกลักษณ์ดังกล่าวนี้ไว้ สามารถวิเคราะห์ได้ว่าจากลักษณะการพูดช้าๆ ทำให้สอดคล้องกับอุปนิสัยใจคอของชาวโย้ยลักษณะเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เพราะเมื่อวิเคราะห์ดูความเป็นอยู่จะสอดคล้อง กันด้วยก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีการแข่งขันอยู่อย่างสบาย จะเอาอาหารมากินร่วมกันไม่มีการแบ่งแยกกันเหมือนสังคมเมือง และยังปรากฏในทุกวันนี้เครื่องเมือ        ทอผ้ายังสามารถหยิบยืมกันได้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาตลอด แม้สังคมจะพัฒนาไปแต่ชาวโย้ยยังรักษาเอกลักษณ์ทางสังคมได้ เหมือนเดิม ปัจจุบันชาวโย้ยที่เป็นกลุ่มคนสมัยใหม่จะมีสำเนียงพูดที่เร็วขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทโย้ย

ในอดีตนั้นก่อนมีการแต่งงานต้องสืบลำดับญาติกัน โดยฝ่ายชายต้องมีศักดิ์เป็นพี่ถึงจะแต่งได้ และต้องเป็นคนในหมู่บ้าน

อดีตการจัดพิธีแต่งงานนั้นหากหนุ่มสาวตกลงใจที่จะแต่งงานกันก็จะให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เรียกว่า ”พ่อล่าม” ไปสู่ขอตกลงเรื่องค่าสินสอดและกำหนดวันแต่งงาน ก่อนการจัดพิธีแต่งงานฝ่ายหญิงจะเตรียมเครื่องสมมา เช่น ซิ่นหมี่ ผ้าขาวม้า เสื่อ ฯลฯเพื่อมอบให้ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เมื่อใกล้วันแต่งงานทั้งสองฝ่ายจะเตรียมอาหารเพื่อไว้เลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน และก่อนวันจัดงานหนึ่งวันทั้งบ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเตรียมพาขวัญหรือพานบายศรี ตอนกลางคืนจะเชิญญาติพี่น้องเพื่อนฝูงมากินข้าวที่บ้านหรือเรียกว่า "งันดอง" เมื่อถึงวันจัดงานเจ้าบ่าวจะแห่ขบวนขันหมากไปบ้านเจ้าสาว แล้วจะมีญาติผู้ใหญ่มารับขันหมาก จากนั้นจึงมาที่บ้านเจ้าบ่าวเพื่อสู่ขวัญให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาว

ขั้นต่อไปเมื่อบายศรีสู่ขวัญเรียบร้อยแล้วจะจัดเลี้ยงอาหารแขกที่มาเป็นเกียรติในงาน ในช่วงบ่ายเจ้าสาวก็จะกลับมาที่บ้านเพื่อเตรียมของสัมนา เช่น ที่นอน หมอน และตอนเย็นญาติของทางเจ้าบ่าวก็จะไปรับตัวเจ้าสาวกลับมาที่บ้านเจ้าบ่าวพร้อมด้วยของสัมนาที่ฝ่ายเจ้าสาวเตรียมไว้ 

ครั้นมาถึงจึงทำการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าหอ ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็จะอวยพรให้ทั้งสองมีแต่ความสุขความเจริญ ส่วนของสมมานั้นหลังผ่านวันส่งตัวประมาณ 2-3 วัน เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวจึงนำของสมมาที่เตรียมไว้ไปมอบให้กับญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายที่นับถือนอกจากนี้ยังมีกรณีที่ชายหญิงที่รักกัน ตั้งใจจะเลี้ยงดูอยู่ด้วยกันกัน แต่ฝ่ายชายไม่มีเงินค่าดอง (ค่าสินสอด) หรือพ่อแม่ไม่เห็นดีเห็นชอบด้วย ชายหญิงมักจะตกลงแต่งกันเอง ซึ่งเรียกว่า “ซู” กล่าวคือ ผู้ชายไปตกลงกับหญิงว่า คืนนั้น เวลาเท่านั้นจะมาหาที่บ้าน ขอให้พาดบันไดไขประตูให้ ตอนนี้หญิงจะต้องระวังชายให้มาก เพราะเคยปรากฎว่าฝ่ายชายแอบหนีไปโดยไม่บอกกล่าวหลังเสร็จกิจ ดังนั้น พอสว่างหญิงจะต้องไปบอกพ่อแม่ให้รู้ว่ามีชายมาซู พ่อแม่จะจัดให้คนไปบอกญาติพี่น้องของตนและพ่อแม่ของชายมาพูดจากันเป็นหลักฐาน รับรองว่าจะทำตามจารีตประเพณีบ้านเมือง จึงปล่อยให้ผู้ชายออกจากห้องได้ ในอกจากนี้ยังมีกรณีผู้หญิงไปซูผู้ชาย เรียกว่า “ไปซูผู้บ่าว” หรือ “แล่นนำผู้บ่าว” ซึ่งจะใช้วิธีการจัดการให้เรียบร้อยเหมือนฝ่ายชายจึงเป็นอันสิ้นสุด

ครั้นเมื่อแต่งงานฝ่ายหญิงจะมาอยู่บ้านฝ่ายชายเพื่อมาดูแลพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าว ในลักษณะครอบครัวขยายแบบปิตาลัย (patrilocal) เมื่ออยู่จนมีเงินเก็บแล้วจึงจะแยกตัวออกไปสร้างบ้านหลังใหม่ หลังแต่งงานเรียบร้อยแล้วหากอยู่กันไปแล้วมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน พ่อล่ามก็จะเป็นคนอบรมและไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองคืนดีกัน แต่ทุกวันนี้คนไม่ค่อยอยากเป็นพ่อล่ามเพราะญาติของฝ่ายหญิงจะให้พ่อล่ามเป็นผู้จัดเลี้ยงภายหลังจัดพิธีแต่งงานเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้พ่อล่ามจะมีพ่อล่ามใหญ่ทำหน้าที่ประสานงานกับญาติเจ้าบ่าวเจ้าสาวและดูแลคู่บ่าวสาว ส่วนพ่อล่ามน้อยจะทำหน้าที่ช่วยเหลือพ่อล่ามใหญ่ ตัวอย่างเช่นถือขันเทียนและอื่นๆ สำหรับคนที่จะมาทำหน้าที่เป็นพ่อล่ามจะต้องมีชีวิตการสมรสที่ดีไม่หย่าร้าง

ความเชื่อ เรื่องภูตผี ชาวไทโย้ยมีความเชื่อว่าผีมีจริง จากข้อมูลที่ได้ พบว่า ผีที่ชาวบ้านไทโย้ยนับถือ ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ เป็นผีประจำตระกูล หมายถึง ผีปู่ย่า ตา ยาย ที่คอยดูแลรักษาลูกหลานในครอบครัว และผีเรือน เป็นผีประจำครอบครัว ส่วนผีแฮกเป็นผี ดูแลไร่นาไม่ให้เสียหายจาก ภัยพิบัติต่างๆ และให้ได้ผลผลิตมากๆ โดยเฉพาะชาวไทโย้ย บ้านอากาศทำพิธีเซ่นสรวงหรือเลี้ยงผีเหล่านี้เสมอโดยเฉพาะผีตาแฮกเพราะถือว่าจะอำนวย ผลดีในการทำนา เซ่น สรวงผีบรรพบุรุษ เมื่ออยู่ดีกินดีมีความอุดมสมบูรณ์ก็ไปวัดอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใด จะไปไหนมาไหน ก็มีความสุขกายสุขใจ จะมีการเซ่นสรวงผีทุกครั้ง และจะไม่ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เรียกว่าการผิดผี ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองเห็น การผิดผีอาจเกิดขึ้นได้จากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความคึกคะนอง หรือการผิดประเพณีอย่างใดอย่างหนึ่ง

ชนเผาโย้ย. (2562). (ออนไลน์ ). สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก https://sakonnakhonguide.com/information/997.html.

ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี. (2562). กลุ่มชาติพันธุ์ : ไทโย้ย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566, จาก: https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/ethnicGroups/82.

ประวัติศาสตร์ไทยโย้ย. (2549). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก https://www.akatumnuay.go.th/index.php?option=com_content&task=view&id=73&Itemid=1&limit=1&limitstart=1.

สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, เกษษา ขันธุปัทม์, บุญแพง ศรีพรหมทัต, ปรีดา เถายบุตร, กิตติยา ผากงคำ, อัมพิกา แก้วไพฑูรย์, ธัญพิมล ปักสังคะเณย์. (2539) วิถีครอบครัวและชุมชนชาติพันธุ์ไทยโย้ย บ้านโพนแพง ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรงศึกษาธิการ.

อ้ายโอ๊ต. (2550). ชาติพันธุ์และชนเผ่าต่างๆใน19จังหวัดอีสาน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก http://www.isan.clubs.chula.ac.th/ webboard/ index.php?transaction=post_view.php&room_no=0&id_main=1311&star=10.