ชุมชนบ้านข้าวเม่า แหล่งเรียนรู้ย่านบางกอกน้อยที่สัมผัสได้ถึงวิถีการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้วิธีการทำข้าวเม่าแบบฉบับของชุมชน
ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ควบคู่ไปกับการทำข้าวเม่าเกือบทุกหลังคาเรือน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า คนในชุมชนนี้เดิมอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เมื่อย้ายมาแล้วยังยึดอาชีพดั้งเดิม คือ การขายข้าวเม่าที่ปรุงเอง จึงเป็นที่มาของชื่อชุมชน
ชุมชนบ้านข้าวเม่า แหล่งเรียนรู้ย่านบางกอกน้อยที่สัมผัสได้ถึงวิถีการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้วิธีการทำข้าวเม่าแบบฉบับของชุมชน
ชุมชนบ้านข้าวเม่าเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ผู้คนต่างอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 ส่วนใหญ่เป็นชาวไทย มีวิถีชีวิตทำสวน เดิมเรียกว่า ‘บ้านสวน’ ต่อมามีการทำข้าวเม่ากันภายในชุมชนเป็นจำนวนมาก และมีการทำสืบต่อกันมา จึงเรียกชุมชนนี้ว่า ‘บ้านข้าวเม่า’ เมื่อมีการตัดถนนซอยเล็กเข้ามาในพื้นที่บ้านข้าวเม่า จึงเรียกว่า ‘ตรอกข้าวเม่า’ สภาพตรอกเดิมซึ่งเป็นคันดิน บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ห่าง ๆ กระจายไปตามร่องสวน มีลักษณะเป็นบ้านไม้เรือนชั้นเดียวยกสูง ดังนั้นชาวบ้านจึงมีการประกอบอาชีพทำข้าวเม่าควบคู่ไปกับการทำสวน ปลูกผัก ผลไม้นานาชนิด
ในสมัยกรุงธนบุรีและสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณบ้านข้าวเม่าเป็นพื้นที่บ้านสวนมีคลองลัดวัดทองโอบทางทิศเหนือและทิศตะวันตก โดยมีลำปะโดงแยกจากคลองลัดวัดทองด้านตะวันตกไหลผ่านกลางชุมชน ทำให้พื้นที่บ้านข้าวเม่าเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำสวนแบบยกร่อง ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ ได้แก่ สวนทุเรียน มังคุด มะปราง ขนุน มะม่วง มะไฟ และละมุด บางพื้นที่ปลูกไม่กี่ชนิด ปลูกคละกันไปแบบสวนเบญจพรรณ
ชาวบ้านเล่าว่ารุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2450 ผ่านบ้านข้าวเม่าเคยปลูกทุเรียนหลายชนิด ได้แก่ หมอนทอง กระดุม กบตาแดง ก้านยาว และราชินี เป็นต้น โดยพันธุ์ราชินีจะขายดีเป็นที่นิยม เพราะเนื้อนุ่มนวล เม็ดลีบ รสชาติจะหวานแหลมชาวบ้านข้าวเม่าจะเรียกทุเรียนย่านบ้านข้าวเม่าว่า ‘ทุเรียนสวน’ และเรียกทุเรียนเมืองนนทบุรีว่า ‘ทุเรียนนอก’ ซึ่งชาวบ้านบ้านข้าวเม่าในอดีตปลูกผลไม้ต่าง ๆ ไว้รับประทาน และบางส่วนจะนำไปขายโดยวิธีล่องเรือไปตามลำคลองวัดทองไปขายที่ตลาดวัดทอง บ้านบุริมคลองบางกอกน้อยฝั่งใต้ แต่บางครั้งจะใช้วิธีหาบเดินจากบ้านข้าวเม่าข้ามทางรถไฟเข้าตลาดวัดทอง หรือต่อเรือที่ท่าน้ำตลาดวัดทองล่องออกปากคลองบางกอกน้อย แล้วข้ามฟากไปท่าช้างวังหลวง และหาบเดินไปขายยังตลาดท่าเตียน ชาวบ้านสวนบ้านข้าวเม่ามีวิถีชีวิตที่อัมพาสมบูรณ์ เพราะในคลองจะมีปลานานาชนิด เมื่อถึงฤดูหนาวของทุกปีจะมีกุ้งก้ามนำมาทำอาหาร ในสวนจะมีผัก มัน เผือก ข้าวโพด และพริก แม้กระทั่งข้าว ซึ่งในอดีตมักจะปลูกไว้ตามร่องสวน เรียกว่า ‘ข้าวท้องร่อง’ ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวเจ้า ปลูกด้วยการดำเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะนำข้าวมาตากแดดใส่ครกใหญ่ตำ จากนั้นนำมาร่อนเหลือเป็นข้าวสารและเก็บใส่โอ่งไว้สำหรับหุงข้าวรับประทานต่อไป
การปลูกข้าวตามร่องสวนได้เลิกไป ภายหลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2485 ส่งผลให้สวนผลไม้ของชุมชนบ้านข้าวเม่าเสียหายหลายปีกว่าจะฟื้นตัว ประกอบกับในช่วงปี พ.ศ. 2487 - 2488 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านได้พากันอพยพหนีภัยสงคราม ทำให้ชุมชนบ้านข้าวเม่าซบเซาไประยะหนึ่ง เมื่อสงครามสิ้นสุดลงผู้คนอพยพกลับมา หลังจากนั้นไม่นานได้มีการตัดถนนหลายสายในย่านฝั่งธนบุรี รวมทั้งถนนอิสรภาพด้วย ทำให้การเดินทางถึงชุมชนบ้านข้าวเม่าด้วยทางรถสะดวกรวดเร็วกว่าการคมนาคมทางน้ำ อีกทั้งชุมชนบ้านข้าวเม่าอยู่ไม่ไกลใจกลางพระนครทำให้มีผู้คนจากภายนอกอพยพเข้าไปซื้อที่ดินตั้งบ้านเรือน และมีกลุ่มคนที่เข้ามาเช่าบ้านอยู่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนสภาพความเป็นบ้านสวนหมดไป
สภาพพื้นที่โดยทั่วไป ของเขตบางกอกน้อยเป็นที่ราบลุ่ม มีคูคลองจำนวนมาก โดยแขวงทั้ง 5 แขวงของเขตบางกอกน้อยอยู่ในคุ้งลำน้ำเจ้าพระยาสายเก่า ในอดีตแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมนั้นไหลคดเป็นรูปโค้งเกือกม้า มีพื้นที่ทั้งสิ้น 11.944 ตารางเซนติเมตร
ชุมชนบ้านข้าวเม่า มีเนื้อที่โดยประมาณ 23 ไร่ มีบ้านเรือนประมาณ 750 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 1,200 คน โดยเป็นคนดั้งเดิมประมาณร้อยละ 50 คนใต้ร้อยละ 35 และคนจากสุพรรณบุรี ร้อยละ 15
1. นายอนุชา เกื้อจรูญ ปราชญ์ชุมชน ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า เล่าว่า แม้ชาวชุมชนนี้จะทำข้าวเม่ากันทุกบ้าน แต่ก็ไม่สามารถปลูกข้าวเองได้จึงต้องสั่งข้าวเปลือกจากอยุธยา โดยบรรทุกเรือล่องมาตามลำน้ำผ่านคลองบางกอกน้อย มาส่งถึงตามสวนบ้านต่าง ๆ นำมาเก็บไว้ในยุ้งฉาง ทยอยนำมาทำเป็นข้าวเม่าตลอดทั้งปี และนายอนุชา เกื้อจรูญ ยังอุทิศแรงกายแรงใจสร้างพิพิธภัณฑ์ประจำชุมชนขึ้นที่วัดสุทธาวาส วัดประจำชุมชน โดยนำข้าวของเครื่องใช้ วัตถุทางวัฒนธรรมในการประกอบอาชีพของวิถีชีวิตชุมชนบ้านข้าวเม่าตั้งแต่อดีตมาจัดแสดงถ่ายทอดเรื่องราวให้กับผู้คนที่สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ทุนทางวัฒนธรรม
- วัดสุทธาวาส เป็นวัดเก่าแก่ของเขตบางกอกน้อยที่มีอายุกว่า 200 ปี เดิมอยู่ตำบลบางเสาธง อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านเลขที่ 613 แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เดิมวัดสุทธาวาสมีชื่อเดิมว่า "วัดดุสิต" ตามทะเบียนวัดกล่าวว่าก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2315 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากรัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2330 ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันว่า ท้าวทรงกันดาร เป็นผู้สร้างหรืออีกในหนึ่งคาดว่าพระสนมดุสิต หรือเจ้าแม่ดุสิตที่หลบภัยสงครามมาจากอยุธยาม เมื่อบ้านเรือนสงบสุขปกติดีแล้ว จึงได้สร้างวัดขึ้นและขนานนามตามผู้สร้าง ในระยะแรกเป็นเพียงสำนักสงฆ์ โดยใช้ชื่อว่าวัดดุสิต ตามชื่อตนเอง ต่อมาภายหลังได้ขอเปลี่ยนชื่อวัดเป็น ‘วัดสุทธาวาส’ ซึ่งใช้ชื่อเป็นทางการมาจนถึงปัจจุบัน
- พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2554 โดยความร่วมมือของเจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส ประชาคมตรอกข้าวเม่าและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านนี้ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ชั้นล่างของศาลาการเปรียญให้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมดังนี้ (1) เรื่องราวและสิ่งของภายในท้องถิ่น (2) จัดแสดงเป็นนิทรรศการโดยการเชื่อมโยงกับข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรม (3) แหล่งภูมิปัญญาวัฒนธรรมการทำอาหาร งานช่าง งานฝีมือ และ (4) เรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลากหลายมิติที่ผนวกไว้ภายในพิพิธภัณฑ์
- ข้าวเม่า คือภูมิปัญญาทางด้านอาหารของชุมชนบ้านข้าวเม่า บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยการทำข้าวเม่าของชาวบ้านชุมชนตรอกข้าวเม่าเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งการทำข้าวเม่าสมัยโบราณจะใช้มือนวดเมล็ดข้าวและใช้เท้าเหยียบครกกระเดื่องในการตำข้าว การที่จะได้ข้าวเม่ามานั้น ต้องใช้ระยะเวลานานและใช้แรงกายเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงบางอย่างตามยุคสมัย แต่ยังคงใช้วัตถุดิบแบบดั้งเดิมและมักทำข้าวเม่าในงานบุญ
การเปลี่ยนแปลงของสังคมไปสู่ความทันสมัย ในอดีตนั้นการทำข้าวเม่าเป็นที่ได้รับความนิยมจากคนในชุมชน ซึ่งทำกันเกือบทุกครัวเรือนจึงเกิดเป็นอาชีพที่ทำให้เกิดรายได้ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน สิ่งแวดล้อมได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารสูงและบ้านพักอาศัยเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคม ทำให้การทำข้าวเม่ามีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหนึ่งในขั้นตอนการทำข้าวเม่า ต้องมีการจัดไฟตั้งกระทะเพื่อทำการคั่วข้าว ทำให้เกิดควันจำนวนมาก ประกอบกับเริ่มมีคนจากท้องถิ่นอื่นอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานภายในชุมชน ทำให้ในปี พ.ศ. 2535 มีชาวบ้านภายในชุมชนแจ้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้ดูแลชุมชนว่ามีควันจากการทำข้าวเม่าเข้าตาทำให้เกิดการระคายเคืองชาวบ้าน จึงมีการยุติการคั่วข้าวเม่า
ธนธรณ์ สาริกบุตร. (2562). แนวทางในการสืบทอดภูมิปัญญาการทำข้าวเม่า ชุมชนตรอกข้าวเม่า เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา.
Museum Thailand. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชุมชนตรอกข้าวเม่า. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2566, จาก museumthailand.com/
trueid. (2563). ย่านเก่าเล่าเรื่อง “ชุมชนตรอกข้าวเม่า” ชุมชนแห่งการเรียนรู้วิถีชีวิตชาวฝั่งธน. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2556. จาก https://travel.trueid.net/detail/oz811BmnvB49.
คนไทยวันนี้. (2555). 'ตรอกข้าวเม่า'. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2556. จาก https://centuryboydotme.wordpress.com/