Advance search

เกาะโด, เกาะประดู่

บ้านเกาะประดู่เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานมายาวนานกว่า 200 ปี

เกาะประดู่
ท่ามะเดื่อ
บางแก้ว
พัทลุง
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
30 เม.ย. 2023
บ้านเกาะประดู่
เกาะโด, เกาะประดู่

เกาะโด หรือเกาะประดู่ เป็นชื่อที่เรียกตามสภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรเด่นของชุมชน คําว่า “ประดู่” คือชื่อต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในชุมชนมาช้านาน มีขนาดใหญ่ประมาณ 3 คนโอบ ขึ้นอยู่บริเวณริมคลองฝั่งตะวันตก และคําว่า “เกาะ” นั้นมาจากลักษณะของพื้นที่ที่ต้นประดู่ขึ้นอยู่เป็นเนินดินที่ยื่นออกมาในคลอง และรอบ ๆ ต้นประดู่เป็นลานทรายกว้างดูแล้วคล้ายเกาะจึงทําให้ชาวบ้านต่างเรียกพื้นที่นี้รวมกันสั้น ๆ ว่า “บ้านเกาะโด” หรือ “บ้านเกาะประดู่”


ชุมชนชนบท

บ้านเกาะประดู่เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานมายาวนานกว่า 200 ปี

เกาะประดู่
ท่ามะเดื่อ
บางแก้ว
พัทลุง
93140
7.437470
100.162766
เทศบาลตำบลท่ามะเดื่อ

ชุมชนบ้านเกาะประดู่เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีการตั้งถิ่นฐานมายาวนานกว่า 200 ปี มีคลองขนาดใหญ่ไหลผ่านเรียกว่า “คลองเกาะประดู่” โดยเริ่มตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณสองฝั่งคลองที่เรียกว่า “เกาะประดู่” หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “เกาะโด” ซึ่งคาดว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านในขณะนั้น

เนื่องจากคลองเกาะประดู่เป็นคลองที่มีขนาดใหญ่ บริเวณคลองมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เต็มไปด้วยไม้ใหญ่นานาพันธุ์ อาทิ ต้นยาง ตะเคียน มะม่วง มะขาม ไผ่ และยังเชื่อมต่อกับพื้นที่ต่างอําเภอ ทําให้การตั้งบ้านเรือนในระยะแรกจึงอยู่บริเวณริมคลองทั้งสองฝั่ง โดยมี 3 ตระกูลใหญ่ ๆ คือ ตระกูลพลเพชร ตระกูลแก้วนุ่น และตระกูลแป้นเนียม รวมแล้วประมาณ 11 ครอบครัว และกลายเป็นหย่อมบ้านหนึ่งที่มีการตั้งบ้านเรือนอยู่ร่วมกันของกลุ่มเครือญาติ แต่เนื่องด้วยลักษณะของพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางทั้งการปกครองและการค้าขาย เป็นเพียงเส้นทางคมนาคมสายหนึ่งที่มีพ่อค้าแม่ขายจากทะเลสาบสงขลาใช้เป็นทั้งเส้นทางผ่านและแวะค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับชาวบ้านบ้างเป็นระยะ ๆ ทําให้การตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยจึงเป็นลักษณะของหย่อมบ้านเล็ก ๆ ประกอบกับขณะนั้นในพื้นที่ไม่มีศาสนสถานหรือวัด และอยู่ลึกเข้าไปจากพื้นที่ชุมชนใหญ่พอสมควร ซึ่งขณะนั้นคือ บ้านสังเขย่า ที่มีวัดโบราณคู่ชุมชนคือ วัดสังฆวราราม ทําให้เมื่อมีงานหรือเทศกาลสําคัญ อาทิ สงกรานต์ (ปีใหม่) บุญเดือนสิบ คนบ้านเกาะประดู่จะไปร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่นั่น

โดยกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านเกาะประดู่มีความเชื่อร่วมกันว่าบริเวณริมคลองเกาะประดู่ทางด้านทิศใต้เป็นที่สถิตอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกกันว่า “ตาเภา” ทําให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนในชุมชน และถูกใช้เป็นสถานที่บนบานขอความช่วยเหลือจากเจ้าของสถานที่หรือ “ตาเภา” และด้วยลักษณะของพื้นที่บริเวณนั้นยื่นออกมาคล้ายเกาะชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่เล็ก ๆ บริเวณนั้นว่า “บ้านเกาะตาเภา” เรื่อยมา

บ้านเกาะประดู่ตั้งอยู่บริเวณริมคลองประดู่ ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ รวมไปถึงสัตว์น้ำในคลองที่ถือเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของคนในชุมชน อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านเกาะประดู่ส่วนใหญ่มีการทำนาเป็นอาชีพหลัก การที่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอุดมสมบูรณ์ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ทำกินจึงทำให้ชุมชนเกาะประดู่เป็นชุมชนที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรสำหรับการประกอบอาชีพ มากกว่าชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง  

ความสัมพันธ์ภายในชุมชนบ้านเกาะประดู่มีลักษณะการอยู่ร่วมกัน รักใคร่กันแบบญาติพี่น้องมิตรสหาย เคารพผู้อาวุโส เอื้ออาทรและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในวิถีของการดํารงชีวิตอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดของหมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ใกล้ ๆ กันจะมีความสนิทสนมกัน เป็นความสัมพันธ์ที่เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงชีวิต การทํามาหากิน ทั้งในยามปกติและมีปัญหา

ชาวบ้านชุมชนเกาะประดู่มีอาชีพทำเกษตรกรรมปลูกข้าวเป็นหลัก โดยการทํานาในอดีตแรกเริ่มเป็นการทํานาไร่ นาดอน หลังจากฤดูกาลนาก็ปลูกผักไว้กินข้างบ้าน มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ มีการแลกเปลี่ยนอาหารต่อกัน การซื้อขายมีน้อย การเพาะปลูกเป็นการทําเพื่อยังชีพ เมื่อเหลือก็แจกจ่ายหรือแลกเปลี่ยนกันทั้งในชุมชนและระหว่างคนในชุมชนกับคนข้างนอกที่เข้ามา แต่ปัจจุบันวิถีระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นหลัก ระบบเศรษฐกิจของชุมชนก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มีเป้าหมายหลักคือสร้างรายได้มากกว่ายังชีพ 

บ้านเกาะประดู่ถือเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานมายาวนานกว่า 200 ปี มีการดํารงชีวิตร่วมกับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำ ป่า และสัตว์ มีการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยใกล้กันระหว่างญาติพี่น้อง เป็นหย่อมบ้านเล็กที่มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติเชื่อมโยงต่อกัน มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายทํามาหากินในธรรมชาติที่อยู่ร่วม มีประเพณีพิธีกรรมเป็นกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ทั้งระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ มีผู้นําที่มาจากการเป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชนเป็นผู้ดูแลทุกข์สุข มีระบบอาวุโสเป็นเสมือนกลไกควบคุมสังคม โดยมีระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ การเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สามารถทําให้คนในชุมชนดํารงอยู่มาได้

ชาวบ้านเกาะประดู่มีความเชื่อเรื่องตายายและตายายโนรา (ครูหมอโนรา) มาแต่เดิม มีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สําคัญ คือ ทวดเกาะตาเภา ที่เชื่อว่าเป็นเจ้าของสถานที่ รวมถึงเจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่เจ้าทางอื่น ๆ พระพุทธรูปปางประทานพรที่มีอยู่คู่วัดในชุมชนตั้งแต่ พ.ศ. 2490 ความเชื่อเรื่องผีทั่ว ๆ ไป และเรื่องไสยศาสตร์ มีประเพณีบุญเดือนสิบเป็นการรวมญาติพี่น้องเพื่อทําบุญให้แก่ญาติที่ล่วงลับในแต่ละปี มีพิธีลอยแพสะเดาะเคราะห์ เป็นการแก้เคราะห์กรรม ประเพณีสงกรานต์เป็นการเลี้ยงฉลองปีใหม่ และพิธีกรรมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่เจ้าทาง ในการทํานาทําไร่ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเมื่อแรกเข้ามาตั้งถิ่นฐานใช้พื้นที่วัดสังฆวรารามและโรงเรียนสังเขย่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม จน พ.ศ. 2490 มีการสร้างวัดปัณณารามขึ้นและกลายเป็นวัดที่เป็นศูนย์รวมการประกอบประเพณีพิธีกรรมของชุมชนเรื่อยมานับแต่นั้น และใช้เป็นสถานที่เรียนหนังสือของคนในชุมชนเรื่อยมาจนตั้งเป็นโรงเรียนวัดปัณณารามในเวลาต่อมา

ความเชื่อเรื่องตายาย เป็นความเชื่อที่สืบทอดมากับคนในชุมชนทุกคนทุกบ้าน โดยมีความเชื่อว่า ตายาย คือ วิญญาณของบรรพบุรุษและคนในตระกูลทั้ง ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้องที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังมีวิญญาณคงอยู่ ดังนั้นแต่ละครอบครัวหรือตระกูลก็จะมีตายายของตนเอง หากครอบครัวใดมีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดก็จะมีตายายร่วมกันซึ่งก็หมายถึงเป็นญาติพี่น้องกัน

ครูหมอโนรา หมายถึง บรรพบุรุษของโนราที่เชื่อว่าคือครูของโนราที่มีมาแต่อดีต

ทวดเกาะตาเภา หมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในบ้านเกาะประดู่ต่างนับถือ โดยมีความเชื่อว่าทวดเกาะตาเภาคือเจ้าที่เจ้าทางของพื้นที่หมู่บ้านนี้ มีร่างกายเป็นงูจงอางหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “งูบองหลา” ตัวใหญ่ สีขาว

เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าที่เจ้าทาง หมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในความเชื่อโดยทั่วไปของชาวบ้านในชุมชน เป็นลักษณะความเชื่อที่มองร่วมกันหรือคล้าย ๆ กันว่าในชุมชน และสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป่า ทุ่งนา ล้วนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเจ้าของสถิตอยู่ แต่ไม่ได้เจาะจงชัดเจนว่าเป็นสิ่งใดหรือชื่อใดในลักษณะที่เฉพาะขึ้นมา

ไสยศาสตร์ เป็นความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนต์คาถาต่าง ๆ ซึ่งในอดีตมีผู้ที่มีความรู้ทางด้านนี้ คนในชุมชนเรียกว่า “หมอผี”

ประเพณีสำคัญ

  • ประเพณีบุญเดือนสิบ เป็นการทําบุญให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป จะประกอบพิธีกรรมที่วัดในเดือนกันยายน เป็นการรวมญาติพี่น้องให้มาร่วมกัน ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไป โดยจะใช้เวลา 2 วัน คือ วันรับและวันส่ง ด้วยมีความเชื่อว่าช่วงเวลานี้ จะเป็นช่วงเวลาที่ญาติที่ล่วงลับไปจะกลับมาเยี่ยมเยียนลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่
  • พิธีลอยแพสะเดาะเคราะห์ เป็นการทําพิธีเพื่อสะเดาะเคราะห์ของคนที่ไม่สบายเป็นระยะเวลานานหรือมีช่วงชีวิตที่ไม่ราบรื่น โดยมีความเชื่อว่าพิธีกรรมดังกล่าวจะเป็นการลอยเคราะห์ของคนออกไป โดยการนำหยวกกล้วยมาต่อเป็นแพและนำธูป เทียน ดอกไม้ เงิน ผม เล็บ รูปวาดของคนที่ไม่สบายมาใส่ในแพ แล้วนำรวงข้าวมาผูกติดกับปลายของไม้ไผ่ทั้ง 2 ด้าน เรียกว่า ข้าวหาบข้าวคอน มาวางร่วม และนำไปลอยที่คลองเกาะประดู่
  • ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีประจําปีของชุมชนบ้านเกาะประดู่ โดยเมื่อแรกตั้งหมู่บ้านเมื่อถึงวันสงกรานต์ในเดือนเมษายน ชาวบ้านจะไปที่บริเวณบ้านเกาะตาเภา นิมนต์พระสงฆ์จากวัดสังฆวรารามมาฉันอาหารที่ชาวบ้านต่างนํากันมาถวาย การทำบุญในวันสงกรานต์นอกจากจะถือเป็นวันที่บรรดาญาติพี่น้องได้มาทำบุญร่วมกันแล้ว ยังมีนัยเพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมคลให้ทั้งแก่เจ้าที่หรือ “ตาเภา” และชาวบ้านเอง และจะรวมตัวเล่นน้ำกันบริเวณลานต้นประดู่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางวัฒนธรรม

  • ครูหมอโนรา
  • ทวดเกาะตาเภา 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จีรวรรณ ศรีหนูสุด. (2552). ศิลปะการแสดงโนรา : ทุนทางสังคมในการฟื้นฟูพลังชุมชนบ้านเกาะประดู่ หมู่ที่ 2 ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง. วิทยานิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมขนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.