บ้านบางติบ เป็นชุมชนที่สมาชิกในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการป่าชายเลน โดยนำคำสอนทางศาสนามาเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
ความเป็นมาของชื่อบ้านบางติบมีอย่างน้อย 2 สำนวน ประกอบด้วย
- เดิมชาวบ้านเรียกว่า บ้านบางติด เพราะใช้เป็นเส้นทางลำเลียงแร่ดีบุกจากเขายามายังท่าเรือ เรือที่ขนแร่มักจะติดเกยตื้น ชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านบางติด
- ชื่อบ้านบางติบ มาจากพื้นที่มีทั้งป่าบกและพื้นที่ติดป่าชายเลน ชาวบ้านกลุ่มแรกเข้ามาตั้งถิ่นฐานและในพื้นที่มีหอยติบจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกชื่อ บ้านบางติบ กระทั่งปัจจุบัน
บ้านบางติบ เป็นชุมชนที่สมาชิกในชุมชนร่วมกันบริหารจัดการป่าชายเลน โดยนำคำสอนทางศาสนามาเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม
กลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่เป็นชุมชนบ้านบางติบในปัจจุบัน คือกลุ่มที่มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และ ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 ทว่าขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านคุรอด แยกออกมาเป็นบ้านบางติบเมื่อ พ.ศ. 2523 กลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาประกอบอาชีพตัดหวาย หาของป่า หายาสมุนไพร และการทำประมงชายฝั่ง อย่างไรก็ดีสาเหตุของการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านกลุ่มแรกเพราะพื้นที่บริเวณนี้เคยผ่านการทำสัมปทานตัดไม้มาก่อน ทำให้เหลือเพียงพื้นที่รกร้าง ซึ่งง่ายต่อการบุกเบิกที่ทำกิน
พื้นที่มีเส้นทางคมนาคมสะดวก ในขณะนั้นทางการเพิ่งเริ่มสำรวจเส้นทางเพื่อตัดถนนเพชรเกษม ช่วงจังหวัดระนอง ถึง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ก่อนหน้าโครงการตัดถนน คนในชุมชนใช้เส้นทางสัมปทานชักลากไม้ซุงมายังโรงเลื่อย และเส้นทางลำเลียงแร่จากเขายา เพื่อมาท่าเรือบางติบในการใช้เป็นเส้นทางสัญจร
ลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมแก่การประกอบอาชีพก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการย้ายถิ่นเข้ามาของชาวบ้านชุดแรก เพราะพื้นที่มีความหลากหลายทั้งพื้นที่ป่าบกและพื้นที่ป่าชายเลนทำให้สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย เริ่มแรกเข้ามาหักถางพงบุกเบิกมีการชักชวนญาติพี่น้องเข้ามาบุกเบิกขยายชุมชนใหญ่ขึ้นตามลำดับ
พัฒนาการของชุมชนบ้านบางติบ ลำดับเหตุการณ์ได้ดังนี้
- พ.ศ. 2509 ชาวบ้านจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และ ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เป็นชาวบ้านกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน
- พ.ศ. 2513 รัฐบาลประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนครอบคลุมถึงพื้นที่บริเวณที่ชาวบ้านเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำกิน เมื่อทราบเช่นนั้นชาวบ้านจึงสอบถามและลงชื่อคัดค้านการประกาศเขตป่าสงวนที่อำเภอคุระบุรี เพราะเกรงว่าพื้นที่ของตนเองจะถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งอำเภอรับปากจะดูแลเรื่องนี้ให้ชาวบ้านจึงไม่ได้ติดตามเพราะคิดว่าไม่มีปัญหาสามารถทำกินได้เหมือนเดิม
- พ.ศ. 2517 สร้างโรงเรียนบ้านบางติบ โดยนักศึกษาที่มาออกค่ายอาสาพัฒนา ร่วมกับชาวบ้านสร้างเป็นอาคารเรียนแบบง่าย ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เด็ก ๆ ต้องเดินทางไปเรียนที่บ้านคุรอด ตั้งอยู่อีกหมู่บ้าน ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร ตามทางชักลากไม้ชาวบ้านเรียกว่าทางเกวียน เมื่อโรงเรียนสร้างเสร็จทำให้ไม่ต้องเดินทางไปเรียนไกล ต่อมาโรงเรียนนี้คือ โรงเรียนบ้านบางติบ
- พ.ศ. 2519 รัฐบาลให้เจ้าหน้าที่ที่ดินออกรังวัดที่ดินให้แก่ชาวบ้านเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ให้กับชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน แก่ชาวบ้านที่ลงชื่อเอกสารแจ้งความจำนงจะได้สิทธิ์ในที่ดิน
- พ.ศ. 2520 มีการให้สัมปทานเผาถ่านไม้โกงกางอย่างเป็นทางการ ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ตัดไม้โกงกาง และนำไปสู่การลดลงของป่าชายเลนเป็นจำนวนมาก
- พ.ศ. 2522 ทางการประกาศให้ชาวบ้านที่รังวัดที่ดินแล้วได้รับเอกสารสิทธิ์ (นส.3ก) แต่เมื่อชาวบ้านไปรับเอกสาร เจ้าหน้าที่เรียบเก็บเงินค่าเอกสาร คนละ 750 บาท จึงมีชาวบ้านเพียงบางส่วนได้รับอกสารสิทธิ์ในครั้งนั้น ประมาณ 20 คน
- พ.ศ. 2523 ชุมชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงมีการแยกหมู่บ้านออกมาจาก หมู่ที่ 5 บ้านคุรอด เป็นหมู่ที่ 6 บ้านบางติบ จากนั้นเริ่มมีการอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นโดยเหตุผลของการอพยพเข้ามาคือ ต้องการหาที่ดินทำกิน
- พ.ศ. 2534 มีการขยายพื้นที่การเลี้ยงกุ้งในพื้นที่มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณป่าชายเลนและเกิดปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ ประกอบกับกิจการเผาถ่านไม้ชายเลน ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรม ส่งผลกระทบต่อป่าชายเลน และคุณภาพดินในป่าชายเลน ปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่ลดลงอย่างชัดเจน ชาวบ้านไม่สามารถจับสัตว์น้ำจึงเปลี่ยนอาชีพออกไปรับจ้างนอกชุมชน
- พ.ศ. 2539 สมาชิกในชุมชน 53 ครอบครัว หาอาชีพชดเชยช่วงฤดูมรสุมที่ไม่สามารถกรีดยางและทำเรือประมง โดยจัดตั้งกลุ่มขุนหอยนางรม มีการสร้างกระชังเลี้ยงหอยนางรม 26 กระชัง ใช้เวลาในการเลี้ยงหอย 8 เดือน สามารถจำหน่ายได้ราคาดี
- พ.ศ. 2541 สมาชิกในชุมชนขยายการรวมกลุ่มเลี้ยงหอยนางรมเป็น 100 ครอบครัว มีกระชัง 96 กระชัง และมีการก่อสร้างโรงอบยางด้วยพลังแสงอาทิตย์ โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อสังคม (SIF)
- พ.ศ. 2544 ชุมชนระดมปลูกป่าชายเลนในหมู่บ้าน ร่วมมือกับหน่วยงานราชการและเอกชนองค์กรท้องถิ่น โรงเรียนบ้านบางติบและชุมชนระแวกใกล้เคียง โดยตั้งเป้าหมายปลูกป่าชายเลน ในปีต่อ ๆ ไป เพิ่มขึ้นปีละ 20 ไร่ จนเต็มพื้นที่ชายเลนชุมชนและเป็นสมบัติของชุมชน
- พ.ศ. 2545 สมาชิกชุมชนบางติบมีข้อตกลงจากการประชุม เดือนธันวาคม พ.ศ. 2545 ว่าห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้ามาใช้เครื่องมือประมงประเภททำลายล้างในเขตปกครองของบ้านบางติบ รวมถึงการใช้ยาเบื่อเมา (สารพิษประเภทไซยาไนด์) ถ้าฝ่าฝืนจับส่งทางการดำเนินตามกฎหมาย โดยให้ชาวบ้านบอกต่อ ๆ ไปยังหมู่บ้านอื่น
- พ.ศ. 2546 บ้านบางติบได้รับการสนับสนุนการทำวิจัยท้องถิ่น จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และชุมชนมีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน โดยมีแนวคิด ปลูกต้นกล้าให้ขึ้นในใจก่อนที่จะนำไปปลูกลงดิน
- พ.ศ. 2547 เหตุการณ์สึนามิ ชายฝั่งทะเลอันดามัน แต่บ้านบางติบได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเพราะแนวป่าชายเลนชุมชนเป็นกำแพงป้องกันคลื่นที่ซัดเข้าสู่ชุมชน
- พ.ศ. 2548 ชุมชนบ้านบางติบขยายเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปยังหมู่บ้านอื่น และได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว จากนี้เป็นต้นมาชุมชนบ้านบางติบพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขยายเครือข่ายระดับชุมชน และจังหวัด (นิยม ทองเหมือน, 2550)
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 5 ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 5 ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ 5 ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อ่าวโต๊ะครก ทะเลอันดามัน ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
จำนวนประชากรของชุมชนบ้านบางติบ จากการสำรวจข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2566 รายงานจำนวนประชากรบ้านบางติบ หมู่ที่ 6 ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ประกอบด้วยจำนวนประชากรชาย 497 คน จำนวนประชากรหญิง 496 คน จำนวนประชากรทั้งหมด 933 คน และจำนวนหลังคาเรือน 335 หลังคาเรือน
โครงสร้างของชุมชนบ้านบางติบ มีความสำคัญกันในระบบเครือญาติ เพราะเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาบุกเบิกตั้งรกรากสร้างบ้านเรือนในบริเวณต่าง ๆ จากนั้นมาได้ชักชวนญาติพี่น้องมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณใกล้เคียงด้วยเหตุผลการทำมาหากินที่เหมือนกัน ต่อมามีการขยายฐานครอบครัวแต่ละสายตระกูลออกไปสร้างบ้านเรือนอยู่ในละแวกเดียวกันเป็นลักษณะชุมชนเครือญาติ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนบ้านบางติบอยู่กันฉันพี่น้อง มีความเอื้ออาทรให้ความเคารพซึ่งกันและกันตามศักดิ์และฐานะของแต่ละคน มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายเกื้อกูลกันทั้งคนและธรรมชาติ มีการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การทำมาหากินไม่ฝืดเคือง
สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีมัสยิดเป็นที่รวมตัวกันและเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวบ้านในชุมชน รวมทั้งใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นศูนย์รวมความร่วมมือในด้านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประชุม การอบรม การเรียนรู้ งานบุญต่าง ๆ และชุมชนใช้หลักการตามแนวทางของศาสนาอิสลามในการดำเนินชีวิต มีส่วนหนึ่งที่นับถือศาสนาพุทธ ถึงแม้ว่านับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่ก็ไม่มีความขัดแย้งกัน ทุกครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ดังคำกล่าวที่ว่า
"บ้านเรามีป่าชายเลนและป่าต้นน้ำ ผู้คนมีอาชีพทำสวน ทำเล ความสำคัญในชุมชนอยู่อย่างเอื้อเฟื้อกัน อยู่ร่วมกันทั้งพุทธและมุสลิมไม่แตกแยก......มีความสัมพันธ์กันแบบสายเครือญาติ มีการขยายครอบครัวการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในละแวกเดียวกัน"
กลุ่มในชุมชนบ้านบางติบ ประกอบด้วย
กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาบ้านบางติบ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 บทบาทหน้าที่ของกลุ่มสตรีอาสาพัฒนาบ้านบางติบ ดำเนินกิจกรรมด้านการส่งเสริมบทบาทของสตรี ในการทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน กิจกรรมส่งเสริมอาชีพ และกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมทำความสะอาดชุมชน การจัดการขยะภายในชุมชน กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาชุมชนบ้านบางติบ มีบทบาทในการประชาสัมพันธ์คนภายในชุมชน เพื่อให้ได้เข้าร่วมกิจกรรมของส่วนรวมและกลุ่มดำเนินการในเรื่องของการจัดการสวัสดิการของกลุ่มให้แก่สมาชิกในกลุ่ม เมื่อสมาชิกในกลุ่มมีความต้องการหรือได้รับความเดือดร้อนเจ็บไข้ไม่สบาย
กลุ่มประมงพื้นบ้าน เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 บทบาทหน้าที่ของกลุ่มประมงพื้นบ้านบางติบ ดำเนินงานกิจกรรมของชุมชนด้านการประมง การเฝ้าระวังการใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย การห้ามทำประมงในบางพื้นที่ การห้ามทำประมงในบางฤดูกาล การกำหนดขนาดตาอวน การกำหนดปริมาณการจับสัตว์น้ำ นอกจากนี้กลุ่มยังมีบทบาทในการรักษาป่าชายเลน การลักลอบตัดไม้และสอดส่องดูแลเมื่อมีชาวประมงจากต่างพื้นที่เข้ามาทำการประมงแบบทำลายล้าง
กลุ่มพัฒนาสวนสงเคราะห์ เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2539 บทบาทหน้าที่ของกลุ่มพัฒนาสวนสงเคราะห์ มีการดำเนินงานในกลุ่มสมาชิกที่มีอาชีพทำสวน เช่น สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และส่วนผสมอื่น ๆ โดยมีการให้สมาชิกมีทุนสำรอง ในการลงทุนซื้อปุ๋ยมาบำรุงต้นไม้ในสวนยางพารา และส่วนปาล์มน้ำมัน หรือการจัดหาพันธุ์ยางพารามาให้สมาชิก ในราคาถูกกว่า เป็นต้น นอกจากนี้มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าชายเลน หรือการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานจัดการป่าชายเลนในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชุมชนดำเนินการ เช่น กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมปลูกป่าชายเลน
กลุ่มประปาหมู่บ้าน ดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 บทบาทของกลุ่มประปาหมู่บ้านดำเนินการจัดการระบบน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค ดังนั้นชุมชนจึงดำเนินการจัดการเรื่องน้ำ โดยมีการกำกับระบบประปาภูเขาเพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 บทบาทหน้าที่ของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นการดำเนินงานเพื่อให้สมาชิกในชุมชน มาร่วมกันออมเงินเดือนละ 100 บาท เพื่อเก็บไว้เป็นทุนสำรองของตนเอง และสมาชิกในครอบครัว โดยมีการจัดการตามหลักศาสนา
กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ดำเนินงานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 บทบาทหน้าที่ของกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน จัดตั้งเพื่อสนับสนุนให้ชาวบ้านที่มีความต้องการด้านเงินทุน เพื่อประกอบอาชีพและการดำรงชีพ เงื่อนไขที่กลุ่มกองทุนหมู่บ้านร่วมกันกำหนด เพื่อให้สมาชิกช่วยกันตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลน กล่าวคือ ถ้ามีกิจกรรมปลูกป่าชายเลน หรือกิจกรรมส่วนรวมให้สมาชิกหรือตัวแทนภายในครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม และถ้าไม่ให้ความร่วมมือกับงานส่วนรวม การเป็นสมาชิกหรือการได้รับพิจารณาเงินกู้ของกองทุนหมู่บ้านจะต้องมีความเห็นร่วมกันของสมาชิกว่าควรที่จะพิจารณาให้กู้เงินหรือไม่
กลุ่มบริหารจัดการทรัพยากรบ้านบางติบ ชุมชนมีแนวคิดด้านการจัดการทรัพยากรราว ปี พ.ศ. 2545 ต่อมาได้พัฒนาและจัดตั้งเป็นกลุ่มอย่างเป็นทางการใน ปี พ.ศ. 2546 ดำเนินกิจกรรมด้านฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ชุมชนบ้านบางติบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมการทำสวน ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ สะตอ ทำสวนผลไม้ สมาชิกชุมชนที่ไม่มีสวนยางรับจ้างกรีดยาง และการทำประมงพื้นบ้าน และกระชังเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วงเวลาตลอด 1 ปี การประกอบอาชีพของชุมชน อย่างไรก็ดีการประกอบอาชีพทั้งด้านการเกษตรกรรมและการประมง มีฤดูกาลการเพาะปลูกและช่วงเวลาการจับสัตว์น้ำ ดังปฎิทินการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและปฏิทินการทำประมง
ทุนชุมชนบ้านบางติบ
“จักรวาลทั้งปวงเป็นสิ่งที่อัลเลาะห์ทรงสร้างขึ้นพร้อมกับระบบความสมดุลของธรรมชาติ เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องดูแลมนุษย์ด้วยกันและดูแลสิ่งที่องค์อัลเลาะห์สร้างขึ้น” การนำคำสอนในศาสนาอิสลามมาเป็นวิถีทางในการอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชน การจัดการป่าชายเลนมีความมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน ไม่เพียงความทางรู้วิทยาศาสตร์ในการจัดการป่าชายเลนเท่านั้น การปลุกจิตสำนึกผ่านความศรัทธาและคำสอนในทางศาสนาเป็นวิถีทางที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนได้ การปลุกสำนึกของชุมชนผ่าน การแสดงธรรม หรือ คุตบะห์ ที่ผู้ชายในชุมชนต้องมาละหมาดทุกวันศุกร์ที่มัสยิด ฉะนั้นจึงใช้ช่วงเวลานี้ที่สมาชิกมาพบกันในการพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าชายเลนชุมชนก็เป็นหนึ่งในคำสอนของศาสนาอิสลาม
หลักคำสอนศาสนาอิสลามที่สัมพันธ์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ร่อฮาร็อนฟาสาดู ผิลบัรรีวัลบะห์รี เกิดความเสื่อมโทรมแล้วในภาคพื้นดินและภาคพื้นทะเล
- บามากาสาบัตอัยดินน่าซี เพราะด้วยความพากษ์เพียรโดยฝีมือมนุษย์เอง ที่ทำลายทรัพยากร
- ลีญารี่ก่อฮุมบะห์ฎ็อลล่ารีอามีลู เพื่อพระองค์จะได้ให้พวกเขาลิ้มรสในสิ่งที่พวกเขาได้ปฎิบัติไว้เมื่อมนุษย์ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พระผู้ทรงอภิบาลทรงบอกว่าพระองค์ทรงเอากลับบ้าง เพราะให้มนุษย์ลิ้มรสว่า สิ่งที่มนุษย์ทำไว้นั้น มันเกิดอะไรขึ้นกับเขาแล้ว ให้บทลงโทษกับมนุษย์เสียบ้างเพื่อที่จะได้รู้ ได้เกิดจิตสำนึกในเรื่องการจัดการทรัพยากร
- ลาอัลล่าฮุมยัรญีอูน เพื่อพวกเขาจะได้กลับคืนสู่พระองค์ใครที่ได้ทำลายทรัพยากรอย่างไร มนุษย์เหล่านี้หมายถึง ต้องกลับคืนสู่พระองค์ทั้งสิ้น แห่งพระผู้อภิบาลพระองค์อัลเลาะห์
ชุมชนบ้านบางติบร่วมกันกำหนดเขตและระเบียบการใช้ป่าชายเลน ดังนี้
- เขตพิทักษ์รักษ์สัตว์น้ำ พื้นที่และเขตห้ามเข้าใช้ทำประโยชน์
- เขตเพื่อการศึกษาระบบนิเวศ ห้ามเข้าใช้ประโยชน์ยกเว้นเพื่อการศึกษาระบบนิเวศ
- เขตเพื่อการฟื้นฟู มีสภาพเสื่อมโทรมต้องการการฟื้นฟู
- เขตใช้สอย ทำการประมงได้แต่ต้องไม่ผิดกฎหมาย และให้ผู้ที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์จากไม้ได้ โดยขออนุญาตจากคณะกรรมการ และต้องปลูกทดแทน 10 เท่า
ภาษาถิ่นภาคใต้ จังหวัดพังงา
ป่าชายเลนในอดีตจากความทรงจำของสมาชิกในชุมชน
"เมื่อก่อนป่าชายเลนบ้านบางติบมีต้นไม้มีขนาดใหญ่ ลำต้นเท่าขาอ่อนเป็นอย่างน้อยไปจนถึงบางต้นคนโอบไม่รอบ พันธุ์ไม้ชายเลนประกอบด้วยต้นโกงกางใบใหญ่ ต้นโกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว แสม ปรงทะเล รวมทั้งพืชหน้าดินต่าง ๆ เป็นพื้นที่ป่าทึบตลอดลำคลองแสงแดดเกือบจะส่องลงมาไม่ถึงพื้นน้ำแทบทั้งหมด เป็นที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์น้ำนานาชนิดจำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและรายได้หลักของชาวบ้าน อาชีพของคนในชุมชนที่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวมาตั้งแต่อดีตอยู่ในป่าชายเลน หรือสัมพันธ์ผูกพันกับป่าชายเลน เกือบทั้งชุมชนมีการตกปูดำ เก็บหอยและวางอวน ปริมาณสัตว์น้ำที่มีอยู่ในป่าชายเลนมีมาก การทำมาหากินไม่ฝืดเคืองลำบาก"
การใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนของชุมชนบ้านบางติบ
- ด้านที่อยู่อาศัย ชุมชนใช้ไม้ชายเลนในการสร้างบ้านเรือน สะพาน เครื่องมือประกอบอาชีพอื่น ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมการเกษตรและการประมง
- ด้านพลังงาน ชุมชนใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน ในรูปผลผลิตของไม้ฟืนและไม้เผาถ่านที่ให้ความร้อนสูง
- ด้านอาหาร ป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา ก่อนเติบใหญ่ก่อนออกสู่ทะเล เป็นแหล่งประกอบอาชีพของชาวบ้านบางตึก
- ยารักษาโรค ป่าชายเลน เป็นแหล่งรวมของสมุนไพรหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคภัยต่าง ๆ
นิยม ทองเหมือน. (2550). การจัดการป่าชายเลนแบบมีส่วนร่วม ของกลุ่มบริหารจัดการทรัพยากรบ้านบางติบตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย. เอกสารภูมิปัญญาอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านบางติบ. แหล่งที่มา : https://www.tei.or.th/
คาราวานสำราญใจ. (2561, ธ.ค. 1). ชุมชนวาไรตี้ เที่ยวได้ทุกวัน ที่ชุมชนบ้านบางติบ จ.พังงา / คาราวานสำราญใจ ตอน 40 ซีซั่น 2. [วิดิโอ]. https://www.youtube.com/
เครือข่ายอนุรักษ์เขาแม่นางขาว. (2561). นวัตวิถีโอทอปชุมชนบ้านบางติบ. ค้นจาก https://maenangkhaow.com/