จากชุมชนที่ประสบปัญหาถูกช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ ก่อเกิดแนวคิดการฟื้นฟู 3 ระบบนิเวศ สู่ชุมชนเจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 21 ประเภท สิปปนนท์ เกตุทัตฯ
เดิมเรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านพรุจูด ตั้งชื่อตามพืชที่พบมากในพื้นที่ คือ ต้นจูด ปริมาณต้นจูดที่มีมากจึงชาวบ้านจากพื้นที่รอบ ๆ มักพายเรือมาตัดจูด (หวะจูด) ต่อมาจึงเรียกเป็น บ้านท่าจูด
จากชุมชนที่ประสบปัญหาถูกช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ ก่อเกิดแนวคิดการฟื้นฟู 3 ระบบนิเวศ สู่ชุมชนเจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 21 ประเภท สิปปนนท์ เกตุทัตฯ
หมู่บ้านท่าจูดตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 3 ตําบลบางนายสี อําเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นชุมชนเล็ก ๆ ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตะกั่วป่า ทางทิศเหนือของตลาดย่านยาว ประกอบด้วย 4 ชุมชนย่อย คือ บ้านควนถ้ำ บ้านท่าพูด บ้านนาใน และบ้านฝ่ายท่า
ตามตํานานเล่ากันว่าบ้านท่าจูด หรือเดิมเรียกว่าบ้านพรุจูด มีนายนุช บุญรอด เป็นผู้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อน แล้วจึงชักชวนพรรคพวก ได้แก่ นายไส ศรีเทพ ซึ่งเป็นหมอแผนโบราณ (เป็นผู้บริจาคที่ดินให้ตั้งโรงเรียนบ้านท่าพูดหลังปัจจุบัน) และนายสม เปรียบปาน เป็นนายหนังตะลุงมาหักร้างถางพงทําสวน จากนั้นลูกเขยนายนุช คือ นายยิ้ม อิ่มตื้น ก็ลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หัวท่าเพิ่มขึ้นอีก จากนั้นคนก็เริ่มทยอยตามกันมาตั้งบ้านเรือน ส่วนใหญ่จะมีอาชีพทําการประมง ทําจากมุงหลังคา ทําใบจากมวนยาสูบ
สําหรับการทําเหมืองแร่นั้นในอดีตเฟื่องฟูมาก เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน บ้านท่าจูดมีนายหัว (ผู้มีอิทธิพล) ซึ่งเป็นผู้มีอํานาจมากจนถูกขนานนามว่า “ฮิตเลอร์” แห่งบ้านท่าจูด ซึ่งเป็นเจ้าของเหมืองแร่อยู่หลายแห่ง แต่ในท้ายที่สุดแล้วเหมืองแร่ก็เริ่มหมดไป ซ้ำร้ายเหมืองแร่ของฮิตเลอร์มีการปล่อยน้ำเสียลงไปที่ หมู่บ้าน โดยเฉพาะบริเวณอําเภอสิชล ทําให้เกิดการประท้วงของชาวบ้าน ทําให้เหมืองแร่นี้จําต้องปิดตัวไป ปัจจุบันนายหัวได้เสียชีวิตไปแล้ว เป็นการปิดตํานานฮิตเลอร์แห่งหมู่บ้านท่าจูดไปโดยปริยาย ในปัจจุบันนี้การทําเหมืองแร่แห่งบ้านท่าพูดได้หมดลงแล้ว เนื่องจากทรัพยากรแร่ขาดแคลน (สุทธิรักษ์ หวันกะมา, 2555: 14)
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านบางใหญ่ ตำบลบางนายสี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 2 บ้านโคกยาง ตำบลบางนายสี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลโคกเคียน อำเภอตะกั่วป่า
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 6 บ้านบางนายสี ตำบลบางนายสี
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศบ้านท่าจูดมีสภาพเป็นที่ราบริมเขา และเนินเขา พื้นที่บางส่วนมีลักษณะเป็นที่ราบริมคลองตะกั่วป่าไหลผ่าน ที่ดินส่วนใหญ่ถูกใช้สำหรับการเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนยางพาราและผลไม้
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศบ้านท่าจูดมีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น และมีฝนตกชุก จำแนกได้ 2 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูฝน และฤดูร้อน โดยฤดูฝนจะอยู่ระหว่างเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม เป็นระยะเวลา 8 เดือน ส่วนฤดูร้อนจะอยู่ระหว่าเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งชาวบ้านเรียกฤดูกาลลักษณะนี้ว่า “ฝนแปดแดดสี่”
รายงานสถิติประชากรเทศบาลตำบลบางนายสี รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านท่าจูด ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า มีประชากรทั้งสิ้น 577 คน
ในอดีตชาวบ้านท่าจูดประกอบอาชีพรับจ้างร่อนแร่ดีบุกเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากเคยมีเหมืองแร่ในพื้นที่หมู่บ้านและบริเวณโดยรอบหลายเหมือง แต่เมื่อแร่หมด เหมืองแร่ก็จำเป็นต้องปิดตัวลง ชาวบ้านจึงต้องหันไปประกอบอาชีพใหม่ ซึ่งส่งผลให้อาชีพของชาวบ้านท่าจูดมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แต่เพียงการรับจ้างร่อนแร่เท่านั้น ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนอาชีพรองนั้นค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งการทำปศุสัตว์ งานบริการ อุตสาหกรรม รับจ้าง แปรรูปหัตถกรรม และรับราชการ
ประมงชายฝั่ง: ประมงชายฝั่งของชาวบ้านท่าจูดนั้นมีหลายรูปแบบ อาทิ การโหละปลา (การส่องไฟหาปลา) การใช้อวนเล็ก การตกปู และการหาหอยหวาน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจของบ้านท่าจูด ทั้งนี้ แม้ว่าชาวบ้านท่าจูดจะมีการประมงเป็นอาชีพหลัก ทว่า ชาวบ้านยังคงตระหนักและคำนึงถึงคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเล ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรเหล่านั้นเป็นอย่างดี ทำให้สัตว์น้ำยังคงความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้เศรษฐกิจการประมงเฟื่องฟู และสามารถหมุนเวียนได้ตลอดทั้งปี
การทำจากมุงหลังคา: ในอดีตอาชีพการรับทำจากมุงหลังคาเป็นที่นิยมมาก แต่ปัจจุบันนี้ความนิยมเริ่มถดถอยลงไป เนื่องจากการสร้างบ้านในปัจจุบันชาวบ้านนิยมเปลี่ยนไปใช้หลังคากระเบื้องมากขึ้น เพราะมีความคงทนมากกว่า
การทำใบจากมวนยาสูบ: คือการทํามวนยาสูบโดยการใช้ยอดใบจากนํามาสับให้เป็นชิ้น จากนั้นจึงนําไปลอกเยื่อออก ตากแดดให้แห้ง แล้วจึงนํามาลงใบจาก (หมายถึง เอามามวนแล้วผูกเชือก) เพื่อส่งขาย การทำใบจากมวนยาสูบมีมูลค่าการซื้อขายถึง 35 กิโลกรัม 400 บาท และปัจจุบันก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาด แต่เนื่องจากในปัจจุบันใบจากเริ่มหายาก เพราะต้นจากถูกทําลายไปมาก และไม่มีการปลูกเพิ่มอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ที่ทำอาชีพนี้ลดน้อยลง
สวนยางพารา: ชาวบ้านท่าจูดนิยมทําสวนยางพารากันมากเนื่องจากรายได้ดี แต่สวนยางพาราส่วน ใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ห่างออกไปจากตัวชุมชน ซึ่งการทําสวนยางพารานั้น ชาวบ้านจะทําในลักษณะผู้ประกอบการ เนื่องจากเป็นการทําอุตสาหกรรมการเกษตรโดยใช้แรงงานที่เป็นคนชาติ เช่น พม่า และคนจากภาคอีสาน เป็น แรงงานหลัก ส่วนชาวบ้านท่าจูดที่ทําสวนยางพาราก็มีบทบาทเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
สวนผลไม้: ชาวบ้านท่าจูดเกือบทุกครัวเรือนมีสวนผลไม้เป็นของตัวเอง ทั้งการเพาะปลูกเพื่อจำหน่ายและบริโภคเองในครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ทุเรียนควนถ้ำ (ทุเรียนที่ปลูกบริเวณที่โคกสูง) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทุเรียนที่มีรสชาติดีเยี่ยม เอกลักษณ์ของทุเรียชนิดนี้คือ จะผูกคู่ด้วยตอไม้ไผ่ หรือการการขึงเสาไม้ขนาบเพื่อกันล้ม แต่ปัจจุบันไม่ได้ทําเช่นนั้นแล้วเนื่องจากมีความยุ่งยาก จากแม้จะได้ผลผลิตดีก็ตาม
หมู่บ้านท่าจูด นับว่าเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ภายใต้ความแตกต่างทางความเชื่อด้านการนับถือศาสนาชาวพุทธ ชาวคริสต์ และอิสลาม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในชุมชน ซึ่งนอกจากกิจกรรมทางศาสนาแล้ว การทํากิจกรรมสาธารณะอื่น ๆ ร่วมกันนั้นถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจําวัน โดยประเพณีท้องถิ่นที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องในชุมชนบ้านท่าจูดนั้นมีหลากหลายประเพณี อาทิ ประเพณีบุญเดือนสิบ การตักบาตรเทโวในวันมหาปวารณาออกพรรษา การทำบุยถวายผลไม้ประจำปี แห่เทียนพรรษา กินเจ บวชนาค และการไปทำบุญในวันพระและวันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนา
ประเพณีทําบุญเดือนสิบ เป็นการทําบุญให้กับบรรพบุรุษและญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทําบุญตายาย ทุกบ้านทุกเรือนต้องไปทําบุญที่วัดอย่างน้อยหนึ่งคน มีการแห่กระจาดบรรจุเครื่องครัว ผัก ผลไม้ ข้าวสาร อาหารแห้ง และขนมเดือนสิบ เช่น ขนมต้ม ขนมเทียน ไปที่วัด นอกจากนี้ยังมีการจัดทําโทงเปรต (กระทงเปรต) เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติพี่น้องที่มีบาปต้องไปเกิดเป็นเปรต ไม่สามารถรับส่วนบุญได้เหมือนผู้อื่น (โทงเปรตต้องนำออกไปวางนอกวัดต่างหาก จะนำมาวางหน้าพระไม่ได้)
ผู้เฒ่าประวิง บุญรอด: ผู้ประพันธ์เพลงกล่อมเด็กด้วยภาษาใต้ (สืบทอดมานานกว่า 100 ปี)
นายสัมพันธ์ คงเพชร: ผู้มีความสามารถในการทำเรือนไทยท้องถิ่น โดยสานฝาไม้ไผ่ขัดแตะลาย
นางพิณ จินดาพร: หัตถกรรมจากกระจูด เพื่อทำเสื่อ ตะกร้า และกระเป๋า
นางสมจิตร ต่างจิตร์ นางปราณี หลีเกี้ยน และนายโรจน์ คงเทพ: หัตถกรรมจากใบเตย ไม้ไผ่ก้านจาก และก้านมะพร้าว
ทุนทางเศรษฐกิจ
ชาวบ้านท่าจูดมีแหล่งเงินทุนสำหรับกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) สหกรณ์การเกษตร กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มกองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน (กองทุนเงินแสน)
ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน: ภาษาไทย
บ้านท่าจูดเป็นหมู่บ้านกลางหุบเขา ที่มีทั้งคลองน้ำจืดและคลองน้ำเค็ม มีผืนป่าชายเลนกว่า 3,000 ไร่ มีธรรมชาติ 4 ระบบนิเวศ คือ ป่าบก ป่าชายเลน ป่า (ต้น) จากริมคลอง และป่าพรุ แต่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้เคยเผชิญกับการช่วงชิงทรัพยากรอย่างหนัก ครั้งแรกจากการทำสัมปทานเหมืองแร่ดีบุกในป่าชายเลนและป่าพรุ ส่งผลให้คลองรอบพรุตื้นเขิน เกิดน้ำเสียและน้ำทะเลหนุนสูง ชาวบ้านไม่สามารถทำนา ต้นจูดที่เคยสร้างเศรษฐกิจชุมชนลดจำนวนลง ครั้งที่สองจากการทำสัมปทานป่าไม้ (ป่าบก) ชาวบ้านรวมตัวคัดค้านจนกลุ่มทำสัมปทานถอนตัว แต่พื้นที่ที่เสื่อมโทรมก็ถูกบุกรุกเข้ามาทำการเกษตร ครั้งที่สามเป็นการเปิดสัมปทาน “เตาถ่าน” แล้วตามด้วยธุรกิจทำนากุ้งที่นอกจากส่งผลให้ป่าชายเลนเสื่อมโทรมแล้ว หลายครอบครัวยังละทิ้งอาชีพประมงพื้นบ้าน หลังจากเศรษฐกิจผันผวน ธุรกิจนากุ้งล่ม ปริมาณสัตว์น้ำลด จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ชาวบ้านท่าจูดหันมาฟื้นฟูทรัพย์ในดิน สินในน้ำ เพื่อให้สามระบบนิเวศกลับคืนมา โดยชาวบ้านได้จัดทำป่าชุมชนป่าคุ้งควนถ้ำ 70 ไร่ และทำเส้นทางเดินในป่าเพื่อสร้างห้องเรียนธรรมชาติ สำรวจพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และอนุรักษ์ทรัพยากรและระบบนิเวศให้สามารถคืนคงความอุดมสมบูรณ์ได้อีกคำรบ (สถาบันลูกโลกสีเขียว, 2563: ออนไลน์)
สถาบันลูกโลกสีเขียว. (2563). ชุมชนบ้านท่าจูด ต.บางนายสี อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.greenglobeinstitute.com [สืบค้นเมื่อวันทื่ 22 เมษายน 2566].
สุทธิรักษ์ หวันกะมา. (2555). การดูแลแลใช้ประโยชน์ป่าจากของชุมชน บ้านท่าจูด หมู่ที่ 3 ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา. สารนิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Jassada pattan. (2562). บ้านท่าจูด. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com [สืบค้นเมื่อวันทื่ 22 เมษายน 2566].
Suchon Pattan. (2562). บ้านท่าจูด. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com [สืบค้นเมื่อวันทื่ 22 เมษายน 2566].