Advance search

คลองลำไทร

ดำรงเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นเป็นชุมชนสีเขียว เป็นชุมชนต้นแบบหลายอย่าง เช่น มีการใช้หลักศาสนาฟื้นฟูจิตใจ และฟื้นฟูชุมชน น้ำฝนสามารถดื่มได้ และมีการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่

หมู่ที่ 5
โคกแฝด
หนองจอก
กรุงเทพมหานคร
ศิริณภา นาลา, วีรวรรณ สาคร
27 ก.พ. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
14 เม.ย. 2023
ปวินนา เพ็ชรล้วน
30 เม.ย. 2023
แผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา
คลองลำไทร

"คอยรุตตั๊กวา" มีความหมายว่า คุณงามความดีที่มอบแด่พระเจ้า ด้วยเหตุนี้ชุมชุนมุสลิมในเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร แห่งนี้ จึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพื้นที่ของพวกเขาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กันและกัน เสมือนมอบคุณความดีคืนกลับแด่พระเจ้า

โดยชุมชนคอยรุตตั๊กวา มีอีกชื่อคือ หมู่บ้านลำไทร โดยคำว่า ลำ คือ ลำน้ำ ส่วน ไทร หมายถึงต้นไม้น้ำชนิดหนึ่งที่ชอบขึ้นตามริมขอบคันคูน้ำ


ดำรงเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นเป็นชุมชนสีเขียว เป็นชุมชนต้นแบบหลายอย่าง เช่น มีการใช้หลักศาสนาฟื้นฟูจิตใจ และฟื้นฟูชุมชน น้ำฝนสามารถดื่มได้ และมีการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่

หมู่ที่ 5
โคกแฝด
หนองจอก
กรุงเทพมหานคร
10530
13.831199
100.842795
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวาหรือชุมชนลำไทรถือเป็นชุมชนชาวอิสลามแห่งหนึ่งที่มีอายุกว่า 150 ปี ที่ตั้งอยู่ภายในกรุงเทพมหานครฯ โดยชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนชาวอิสลามที่อพยพมาจากปัตตานี ซึ่งในอดีตเมืองปัตตานีถือเป็นเมืองหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ซึ่งแต่เดิมความสัมพันธ์ของปัตตานีและสยามจะพบว่ามักจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงกับเมืองประเทศราช ทั้งนี้ความสัมพันธ์ลักษณะนี้คือ เมืองหลวงมักให้อิสระในการปกครองกันเองของชนพื้นเมืองหรือเมืองประเทศราชเหล่านั้น ส่วนเมืองประเทศราชจะต้องมีการส่งเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้เงินต้นไม้ทองเข้ามาถวายต่อกษัตริย์สยาม เพื่อเป็นการสวามิภักดิ์ และหากส่วนเมืองหลวงต้องการกำลังพลในการศึกเมืองประเทศราชจะต้องส่งกองกำลังเข้ามาสมทบกับเมืองหลวง ซึ่งเมืองปัตตานีในอดีตมีความสัมพันธ์กับสยามรูปแบบนี้เรื่อยมา ข้อน่าสังเกตคือเนื่องจากตำแหน่งของเมืองหลวงอยู่ห่างจากเมืองปัตตานีค่อนข้างมาก อีกทั้งส่วนกลางยังให้อิสระแก่การปกครอง ดังนั้นเมื่อส่วนกลางหรือเมืองหลวงอ่อนแอเมืองประเทศราชอย่างปัตตานีมักจะแข็งข้อและก่อกบฏได้ง่าย ดังนั้นเมืองปัตตานีกับสยามจึงมักปรากฏประวัติศาสตร์ถึงความสัมพันธ์ทั้งการเป็นเมืองประเทศราชเข้ามาสวามิภักดิ์และพื้นที่ที่เกิดกบฏ ซึ่งส่วนกลางของสยามนับตั้งแต่อดีตจึงมีการบันทึกถึงการเข้าปราบปรามเมืองปัตตานีอยู่บ่อยครั้ง 

โดยสมัยรัตนโกสินทร์การปราบกบฏในภาคใต้รวมถึงเมืองปัตตานีให้เข้ามาเป็นประเทศราชหรือให้ยอมสวามิภักดิ์กับส่วนกลางของสยามนั้น ได้เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 1-3 ซึ่งช่วงเวลานี้จากการปราบปรามได้ทำให้มีการกวาดต้อนชาวเมืองปัตตานีเข้ามาส่วนกลางหรือกรุงเทพฯอยู่หลายครั้ง ส่วนมากเป็นชาวมลายูจากเมือง "ปัตตานี" และ "ไทรบุรี" โดยชาวปัตตานีน่าจะมีจำนวนมากที่สุด เพราะในช่วงเวลานั้น ทางกรุงเทพฯ ได้มีสงครามครั้งใหญ่กับปัตตานีจำนวนหลายครั้ง อาทิ เมื่อปี พ.ศ. 2329 (ปัตตานีเสียเอกราชแก่สยาม) พ.ศ. 2334 (กบฏเต็งกูลามิดเด็น) และ พ.ศ. 2351 (กบฏดาโต๊ะปังกาลัน) นอกจากนั้น ยังมีสงครามย่อย ๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวเมืองปัตตานีหลังจากถูกแบ่งเป็น 7 หัวเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนรู้เห็นกับการร่วมก่อกบฏกับสุลต่านเมืองไทรบุรีในสมัยรัชกาลที่ 3 อีก 2 ครั้ง ทำให้เชลยศึกที่สยามกวาดต้อนมาจากเมืองปัตตานีผ่านสงครามทั้ง 5 ครั้งนี้อยู่ในปริมาณมากพอสมควร ซึ่งการอพยพจะพบว่าชาวบ้านที่ถูกกวาดต้อนมามักถูกโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานบริเวณพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ เช่น พื้นที่เขตพระโขนง เขตมีนบุรี เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง เป็นต้น โดยชาวบ้านที่อพยพมามักจะสร้างบ้านเรือนอยู่ตามริมคลองตลอดสองชายฝั่ง มีสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินและสามารถประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะประกอบอาชีพทำนา

อย่างไรก็ดีกลุ่มชาวบ้านปัตตานีที่ถูกกวาดต้อนในช่วงรัชกาลที่ 3 จะพบว่ากลุ่มนี้ได้ถูกรวมกับกลุ่มที่ตกค้างที่ถูกกวาดต้อนในสมัยรัชกาลที่1-2 เดินทางไปตั้งถิ่นฐานที่บริเวณคลองแสนแสบเหนือ ซึ่งการอพยพมาอยู่อาศัยบริเวณแสนแสบเหนือในครั้งนี้มาจากประสงค์ของรัชกาลที่ 3 ตามที่ปรากฎในหลักฐานบันทึกจดหมายหลวงอุดมสมบัติที่ว่า “...ถ้าข้างหน้ามีครอบครัวส่งข้าวไปอีกมากมายแล้ว จึงค่อยจัดแจงเอาไปตั้งที่แสนแสบข้างนอกทีเดียวฯ” และ “...อุส่าห์ดูแลรักษามันไว้ให้ดี ถ้ามีเข้าไปอีกมากมายแล้ว จึงจัดแจงให้ออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่นอกทีเดียวฯ” จากหลักฐานแสดงให้เห็นว่าพระองค์มีดำริให้ชาวปัตตานีที่อพยพในช่วงเวลานี้เข้าไปตั้งบริเวณแสนแสบนอก หรือบริเวณแสนแสบเหนือ ทำให้พระยาราชวังสวรรค์จึงได้นำชาวปัตตานีอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่คลองแสนแสบเหนือ นับตั้งแต่บ้านมหานาค บ้านครัว บ้านดอน คลองตัน คลองบางกะปิ บึงกลุ่ม หลอแหล มีนบุรี แสนแสบ คู้ เจียรดับ หนองจอก กระทุ่มราย ถึงบางน้ำเปรี้ยวปลายทาง ซึ่งชาวปัตตานีที่อพยพเหล่านี้ตั้งหลักปักฐานอยู่อาศัยตามริมคลองแสนแสบ โดยได้เข้าไปเปลี่ยนป่ารกร้างให้กลายเป็นไร่นาทำมาหากิน รวมถึงปลูกบ้านเรือนเรียงรายริมฝั่งคลอง จากการอพยพของชาวปัตตานีในบริเวณนี้จึงทำให้มีชุมชนมุสลิม มีมัสยิด สุสานและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามก่อตั้งขึ้นมาเป็นระยะจำนวนมาก

ซึ่งจากกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมคลองแสนแสบเหนือนี้เอง ต่อมาได้มีชายหญิงคู่หนึ่ง โดยผู้ชายชื่อว่า นายอิบรอฮีม ส่วนผู้หญิงชื่อว่านางซานี ทั้งสองได้แต่งงานกันและมีความต้องการที่จะตั้งรกรากเพื่อตั้งถิ่นฐานใหม่ จึงปรึกษาและแยกตัวออกมาจากกลุ่มผู้อพยพมาด้วยกันตรงบริเวณบ้านเจียรดับ และทำการเดินลัดทุ่งไปประมาณ 3 กิโลเมตร ทั้งสองได้พบพื้นที่ซึ่งมีลำคลอง 2 สายบรรจบกัน (คลองลำจระเข้ตายและคลองลำไทรในปัจจุบัน) โดยพื้นที่ที่พบนี้มีต้นไทรอยู่เป็นจำนวนมากและมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าอ้อและป่าแขม จึงได้เข้าไปจับจองพื้นที่บริเวณนี้ละทำการตั้งหลักปักฐานสร้างบ้านเรือนในบริเวณใกล้ต้นไม้ใหญ่ที่มีชื่อว่า ต้นสะตือ (ปัจจุบันต้นสะดือยังคงมีชีวิตอยู่ประมาณกันว่ามีอายุเกือบ 300 ปี) ทั้งนี้ต่อมานายอิรอฮิมและนางซานีได้ให้กำเนิดบุตรชายหญิงรวมกัน 9 คน ได้ให้นามสกุลว่า "บิดิลและ" แก่บุตร ทั้งนี้ต่อมานางซานีเสียชีวิต นายอิบรอฮิมได้มีภรรยาใหม่ชื่อนางปั้น ซึ่งเป็นผู้อพยพภายหลัง โดยเป็นชาวสุพรรณบุรี โดยมีบุตรกับนางปั้น 4 คน ซึ่งได้ใช้นามสกุล "บิดิลและ" เช่นเดียวกันกับบุตรคนอื่น ซึ่งบุตรทั้งหมดของนายอิบรอฮีมได้ช่วยกันถากถางและปรับปรุงพื้นที่ในการทำไร่นา โดยสามารถขยายออกไปอย่างกว้างขวางประมาณ 500 ไร่ ทั้งนี้ต่อมาบุตรของนายอิบรอฮิมได้มีการแต่งงานและสร้างครอบครัวกับผู้ที่อพยพเข้ามาในพื้นที่ภายหลัง ทั้งหมดได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่และก่อเกิดเป็นชุมชนขึ้นมา ชื่อว่า "หมู่บ้านลำไทร" หรือ "ชุมชนลำไทร" ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า "อิสลามลำไทร" เนื่องจากชาวบ้านภายในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม 

ในปี พ.ศ. 2492 ชาวบ้านในชุมชนร่วมกันช่วยบริจาคทรัพย์สิน เงินทอง รวมถึงสิ่งของตลอดจนกำลังแรงงาน ในการปลูกสร้างมัสยิดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งต่อมามัสยิดแห่งนี้ได้จดทะเบียนมัสยิดและใช้ชื่อว่า "มัสยิดคอยรุตตั๊กวา"

ในปี พ.ศ. 2537 ทางราชการได้มีประกาศนโยบาย "บรม" หรือ "บวร" ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างสรรค์ชุมชนต่าง ๆ ในเขตหนองจอก รวม 58 ชุมชน ให้เป็นชุมชนแผ่นดินทองหนองจอก ชุมชนลำไทรแห่งนี้จึงได้จดทะเบียนขึ้นเป็นชุมชนตามระเบียบของกรุงเทพฯและได้มีการใช้ชื่อว่า “ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

ในปี พ.ศ. 2549 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการจัดตั้ง "โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ กรุงเทพมหานคร" แห่งแรกที่ ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา การจัดตั้งโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่กรุงเทพมหานครสนองตอบพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ขององค์พระบาทสมเด็จภูมิพลอดุลยเดช และน้อมเกล้าถวายเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตร ทั้งนี้การเลือกชุมชนคอยรุตตั๊กวานั้นเนื่องด้วยภายในชุมชนยังคงเป็นพื้นที่การทำเกษตรกรรมไม่ว่าจะไร่นาหรือสวน ทำให้พื้นที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งชาวมุสลิมจะมีพื้นฐานของความพอเพียงเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของศาสนาอิสลามจึงเหมาะต่อการดำเนินโครงการโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2549 จึงมีการเปิดโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ขึ้น โดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนฯ ซึ่งการจัดตั้งโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่แห่งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากนายบุญเหลือ สมานตระกูล และญาติ ให้กรุงเทพฯ ใช้ที่ดินจำนวน 14 ไร่ เป็นประโยชน์ 10 ปี ทำให้กรุงเทพมหานครได้ใช้พื้นที่ภายในชุมชนคอยรุตตั๊กวาแห่งนี้เป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งสำนักงานหนองจอกได้มีการปรับพื้นที่เป็น 4 ส่วนในอัตราส่วนร้อยละ 10:30:30:30 คือ ที่อยู่อาศัย นาข้าว แปลงเพาะปลูก พืชผัก และแหล่งน้ำ การที่พื้นที่ชุมชนแห่งนี้มีโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ภายในชุมชน ทำให้มีผู้คนหรือประชาชนทั่วไปในพื้นที่อื่นเดินทางเข้ามาเรียนรู้และศึกษาดูงานภายในชุมชนอยู่ตลอดเวลา ถือเป็นพื้นที่แห่งหนึ่งที่สำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับวิถีชีวิตในหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ลักษณะพื้นที่ของชุมชนคอยรุตตั๊กวาก็เป็นเช่นเดียวกับพื้นที่ทั่วไปของกรุงเทพมหานคร ที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ และเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มระดับต่ำ โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกินหนึ่งเมตรครึ่ง มีลักษณะของดินเป็นดินตะกอน ประกอบด้วย พื้นหน้าของดินเหนียวและตะกอนละเอียด เป็นดินที่อุ้มน้ำและเนื้อดินอัดแน่น ซึ่งมักเป็นลักษณะของดินที่เกิดจากอิทธิพลของน้ำทะเลพัดพามาถม เรียกว่าดินตะกอน น้ำพัดพา (alluvial soils) จึงเป็นดินที่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรม แต่เนื่องจากพื้นที่ตั้งของชุมชนคอยรุตตั๊กวา มีลักษณะเป็นพื้นที่รอยต่อหรือเขตรอยต่อระหว่างเมืองกับชนบท (urban–rural fringe) ที่กระจายตัวโอบล้อมบริเวณพื้นที่เมืองที่พัฒนาแล้ว (urbanization) จึงส่งผลให้ลักษณะการใช้ที่ดินของชุมชนไม่ได้เป็นไปในรูปของชนบทอย่างแท้จริง แต่มีลักษณะการใช้ที่ดินเลนผสมผสาน (mixed used) คือ มีการใช้ที่ดินแบบเมือง (urban land used) และการใช้ที่ดินแบบชนบท (ural land used) ปะปนกันอยู่

ชุมชนคอยรุตตั๊กวามีพื้นที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 45 กิโลเมตร และห่างจากสำนักงานเขตหนองจอกประมาณ 3 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตพื้นที่ติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียง ตามลักษณะการปกครองท้องที่กรุงเทพมหานคร คือ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่หมู่ที่ 2 แขวงกระทุ่มราย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่หมู่ที่ 7 แขวงโคกแฝก
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ พื้นที่หมู่ที่ 6 แขวงกระทุ่มราย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ พื้นที่หมู่ที่ 4 แขวงโคกแฝก

ประชากร

ในปัจจุบันแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา มีจำนวนครัวเรือน 163 ครัวเรือน มีประชากร 677 คน แบ่งเป็นเพศชาย 354 คน เพศหญิง 323 คน โดยประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยผู้ใหญ่ มีช่วงอายุ 11-20 ปี และช่วงอายุ 31-40 ปี 

ชาติพันธุ์

ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา หรือลำไทร มาจากถิ่นฐานปาตานีดารุสสลาม หรือหัวเมืองทาง 7 หัวเมืองทางภาคใต้ ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กลันตัน ตรังกานู ปาลิส (ซึ่งตอนนี้ ปาลิส อยู่ในประเทศมาเลเซีย) ซึ่งเป็นเมืองแห่งความสันติสุข เมื่อมีได้มาตั้งถิ่นฐานในลุ่มน้ำคลองแสนแสบ ช่วงบ้านเจียรดับ อันเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ก็ต้องแผ้วถาง สร้างบ้านแปลงเมือง โดยรวบรวมคนที่มีความสามารถ 4 ด้าน อันได้แก่ เกษตร การช่าง อาหารการกิน และศาสนา ในการสร้างชุมชนซึ่งมีเจตนารมณ์ให้เป็นหมู่บ้านแห่งการพัฒนา

มีการบริหารจัดการเงินกองทุนหมู่ (เงินล้าน) ยังถือปฏิบัติตามหลักศาสนาในเรื่องการบริจาคทาน และใช้กระบวนการแบ่งสมาชิกออกเป็น 6 กลุ่มอาชีพที่เป็นการสร้างรากฐานความมั่นคงของชีวิต เช่น กลุ่มเกษตร กลุ่มการค้า กลุ่มสัตว์เศรษฐกิจ เป็นต้น และแบ่งปันเงินกองทุนทั้ง 6 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมีคณะกรรมการดูแลและมีสมาชิกที่สนใจในกิจกรรมกลุ่มจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ทุกคนจะนำเงินมาออมเป็นเงินทุนเพื่อดำเนินการในกลุ่มย่อยตามความสนใจ การจัดสรรเงินกองทุนโดยผ่านกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลุ่ม และตัวบุคคลจะบริหารจัดการเอง

โครงสร้างของชุมชน มี 133 หลังคาเรือน และคณะกรรมการชุมชน 7 คน โดยคัดเลือกจากคนในชุมชน มีหน้าที่ดูแลทั้งหมดทุกเรื่องในชุมชน งานบริหารคณะกรรมการ แบ่งออกเป็น 6 ฝ่าย ได้แก่ การศึกษา สาธารณสุข สังคมสังเคราะห์ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และกิจกรรมเยาวชน ซึ่งทั้งหมดมีการเรียนรู้ระหว่างชุมชนด้วยกันกับชุมชนรอบ ๆ ข้าง 

สมาชิกในชุมชนคอยรุตตั๊กวาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างตามบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรม รองลงมาประกอบอาชีกรับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ/ลูกจ้างในหน่วยงานราชการ นอกจากนี้ยังยึดหลักการ "ศาสนานำชีวิต" อาศัยศาสนาเป็นต้นแบบ มีวิถีการเกษตรที่เป็นรากฐาน มีการใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้

1.คุณสมใจ มณี

ประธานชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา เป็นผู้นำที่ดูแลชุมชนคอยรุตตั๊กวา ทั้งแนวทางการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งด้วยเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักศาสนาอิสลาม คอยให้คำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวชุมชน วิถีชีวิตของคนในชุมชน

2.อาจารย์บุญเหลือ สมานตระกูล

ผู้ให้ความรู้ด้านเกษตรกรรม และดูแลโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่

ทุนทางสังคม

โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริกรุงเทพมหานคร แห่งแรกที่ ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งขณะนี้สำนักงานเขตหนองจอกได้เข้าปรับพื้นที่เป็น 4 ส่วนคือ ปลูกข้าว ร้อยละ 30 พืชไร่ พืชสวน ร้อยละ 30 ขุดสระที่ไว้ใช้บริโภค การเกษตร เลี้ยงปลา ร้อยละ 30 ที่อยู่อาศัย ร้อยละ 10

ทุนวัฒนธรรม

มัสยิดคอยรุตตั๊กวา เป็นสถานที่เรียนรู้ทางด้านศาสนา และประกอบพิธีกรรมภายในชุมชน

 
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในปัจจุบันมีการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบชุมชน มีบ้านพักโฮมสเตย์ของชุมชนคอยรุตตั๊กวา ชุมชนคอยรุตตั๊กวาจะจัดบ้านของตนเองเป็นบ้านพักโฮมสเตย์ ไม่มีการสร้างที่พักเพื่อเป็นธุรกิจ จึงไม่มีเครื่องปรับอากาส ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น ผู้ที่เข้าพักต้องอาศัยอยู่กับเจ้าของบ้าน เน้นให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้คนในชุมชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งทาง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พัทธ์ปิยา จงชาณสิทโธ. (2551). การจัดการท่องเที่ยวตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษา : ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา ศูนย์บริการและถ่ายทอด เทคโนโลยีการเกษตร เขตหนองจอก กรุงเทพฯ. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566. https://km-ir.arts.tu.ac.th/s/ir/item/1440

ชัยวัฒน์ มีสันฐาน. (2559). ทบทวนความสัมพันธ์ สยาม-มลายู และการเข้ามาของชาวมลายู ในภาคกลางของประเทศไทย. วารสารรูสะมิแล. 37(2). 44-63.

สมชาย สมานตระกูล. (2548). โครงการวิจัยการสืบค้นประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นกรณีศึกษาการสืบค้น ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา. (โครงการวิจัย). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

เดวิตร์ สุขเสน. (2552). แนวทางการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางสีเขียวในเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร: กรณีศึกษา ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวาและพื้นที่ต่อเนื่อง. วิทยานิพนธ์ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

luehistory.com. (17 เมษายน 2565). จากเชลยมลายู สู่ชาวมุสลิมกรุงเทพฯ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2566. https://www.luehistory.com/