Advance search

บ้านคลองจรเข้น้อยเป็นชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชุมชนคงความเป็นต่อทางชัยภูมิพื้นที่ต่อไป 

บ้านคลองจรเข้น้อย
เกาะไร่
บ้านโพธิ์
ฉะเชิงเทรา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
30 เม.ย. 2023
บ้านคลองจรเข้น้อย

บ้านคลองจรน้อยมีลําคลองอยู่เส้นหนึ่งทอดยาวไปตามหลังหมู่บ้าน เรียกว่า คลองรางปีกนก วันหนึ่งมีจระเข้พลัดหลงเข้ามาในคลองแห่งนี้ และได้กัดคนชื่อ “น้อย” ตาย ชาวบ้านจึงตั้งชื่อคลองแห่งนี้ใหม่และเรียกกันต่อมาว่า “คลองจรเข้น้อย" เป็นผลทําให้หมู่บ้านก็มีชื่อเรียกว่า “บ้านคลองจรเข้น้อย” ในเวลาต่อมา 


บ้านคลองจรเข้น้อยเป็นชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน เพื่อให้ชุมชนคงความเป็นต่อทางชัยภูมิพื้นที่ต่อไป 

บ้านคลองจรเข้น้อย
เกาะไร่
บ้านโพธิ์
ฉะเชิงเทรา
24140
13.68968587
100.9528
องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะไร่

พื้นที่บริเวณบ้านจรเข้น้อยเดิมทีเคยเป็นทะเลมาก่อน มีเรือสําเภาเข้ามาติดต่อค้าขายสินค้ากันอยู่เป็นประจํา จนกระทั่งเรือสําเภาลําหนึ่งประสบภัยถูกพายุพัดอับปางลง บริเวณที่เรือสําเภาอับปางลงนั้นได้กลายเป็นพื้นดินมีลักษณะคล้ายเกาะขึ้นมา ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “เกาะไร่” ซึ่งแม้เวลาจะล่วงผ่านมานานมากแล้ว ชาวบ้านก็ยังมีความเชื่อว่าในวันสําคัญ ๆ เสากระโดงของเรือสําเภาที่ฝังอยู่ใต้พื้นดินบริเวณตําบลเกาะไร่แห่งนี้จะแสดงปาฏิหาริย์ โดยโผล่ขึ้นมาปรากฏให้ชาวบ้านผู้มีบุญวาสนาได้เห็นบ้างเป็นครั้งคราว

สําหรับหมู่บ้านคลองจรเข้น้อยแห่งนี้ เริ่มมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่และตั้งถิ่นฐานทํากิน เมื่อประมาณหนึ่งร้อยห้าสิบปีมาแล้ว ก่อนหน้านี้พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ไม่มีผู้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ทํามาหากิน เพราะมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นปกคลุม จนกระทั่งเมื่อหมู่บ้านหนองงูเห่ามีผู้คนอาศัยอยู่กันหนาแน่นมากขึ้น พื้นที่สําหรับทํามาหากินที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ทําให้ชาวบ้านต้องขยับขยายออกหาที่ดินทำกินแห่งใหม่ โดยเลือกพื้นที่บริเวณบ้านจรเข้น้อยแห่งนี้

บ้านคลองจรน้อยมีลําคลองอยู่เส้นหนึ่งทอดยาวไปตามหลังหมู่บ้าน เดิมทีคลองนี้เรียกว่า "คลองรางปีกนก" เพราะมีนกกระจาบอาศัยทํารังอยู่เป็นจํานวนมาก ซึ่งหากต้องการจะกินไข่นกหรือนําไข่นกมาประกอบอาหารเมื่อใด ก็สามารถไปเทเอามาจากรังได้เลย จนกระทั่งครั้งหนึ่งมีจระเข้พลัดหลงเข้ามาในคลองแห่งนี้ และได้กัดคนชื่อ “น้อย” ตาย ชาวบ้านจึงตั้งชื่อคลองแห่งนี้ใหม่และเรียกกันต่อมาว่า “คลองจรเข้น้อย" เป็นผลทําให้หมู่บ้านก็มีชื่อเรียกว่า “บ้านคลองจรเข้น้อย” 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลคลองเปรม อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

ลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม

บ้านคลองจรเข้น้อย นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ทั้งทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ รวมถึงทรัพยากรดิน ทำให้ชาวบ้านจรเข้น้อยสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่สารพัด เช่น การนำไม้มาสร้างบ้าน อาคาร วัด โรงเรียน ตลอดจนสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทุกสิ่งอย่างล้วนแล้วแต่ประกอบสร้างจากทรัพยากรของชุมชนทั้งสิ้น

บ้านจรเข้น้อยมีลำคลองซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของผู้คนชาวจรเข้น้อยถึง 3 สาย ทางทิศเหนือของหมู่บ้านมีคลองประเวศบุรีรมย์ ภายในหมู่บ้านมีคลองจรเข้น้อย และทางด้านใต้ของหมู่บ้านก็มีคลองตัน เหล่านี้ผู้คนในชุมชนสามารถใช้สอยทําการเกษตร และใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอตลอดปี นอกจากนี้ ชาวบ้านยังปลูกสร้างบ้านเรือนเรียงกันเป็นแนวขนานไปตามคลองทั้ง 3 สาย ทําให้สามารถใช้การสัญจรทางน้ำไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

สำหรับลักษณะภูมิประเทศของบ้านจรเข้น้อยนั้น มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะของพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทอดยาวไปตามลําคลองจรเข้น้อย จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการทําเกษตรเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่สาธารณะบางส่วนไว้สําหรับใช้สอยและทําประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้นว่า การหาสมุนไพรมาทําเป็นยารักษาโรค การหาสิ่งของที่เกิดตามธรรมชาติมาทําอาหาร รวมถึงเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ก็สามารถหาได้จากพื้นที่พื้นสาธารณะแห่งนี้ หรือเรียกว่า พื้นที่ป่าชุมชน

ข้อมูลจากองค์บริหารส่วนตำบลเกาะไร่ระบุถึงจำนวนประชากรชุมชนบ้านจรเข้น้อย มีประชากรทั้งหมด 128 ครัวเรือน 706 คน แบ่งเป็นชาย 366 คน และหญิง 340 คน 

อาชีพหลัก : การทำนา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา (บ่อปลา)

อาชีพเสริม : พนักงานโรงงาน ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป 

ผู้คนในชุมชนบ้านคลองจรเข้น้อยส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา มีวัดประจําชุมชน คือ วัดจรเข้น้อย ซึ่งนี้ถือว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชน เกือบทุกกิจกรรมของหมู่บ้านที่ชาวบ้านหรือทางราชการจัดขึ้น จะใช้วัดเป็นสถานที่ดําเนินการเกือบทั้งหมด รวมถึงสิ่งของหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในงานบุญก็จะใช้ของส่วนรวมที่วัด และเมื่อมีกิจกรรมงานบุญชาวบ้านทุกคนจะร่วมมือร่วมใจกันนําสิ่งของมาทําบุญทําอาหารถวายพระสงฆ์ และรับประทานร่วมกันที่วัด นอกจากนี้ ภายในวัดจรเข้น้อยยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก คือ พระพุทธรูปมีนามว่า หลวงพ่อทิม เป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่กับวัด ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ

วัดจรเข้น้อยนอกจากจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านคลองจรเข้น้อยในด้านต่าง ๆ แล้วยังทําหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ความรู้แก่ผู้คนในชุมชนอีกด้วย กล่าวคือ สถานศึกษาหรือโรงเรียนแห่งแรกของชุมชนบ้านคลองจรเข้น้อยเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยความคิดของท่านเจ้าอาวาสวัดจรเข้น้อย ที่จะให้ผู้คนในชุมชนซึ่งถือเป็นลูกหลานของท่านได้มีความรู้เพื่อทําประโยชน์แก่ชุมชนและประเทศชาติต่อไปในอนาคต จึงปรึกษาหารือกับผู้นําชุมชนรวมถึงชาวบ้านที่พร้อมใจกันสนับสนุนการศึกษา และได้ส่งบุตรหลานของตนเข้ามาเรียนโดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดจรเข้น้อยเป็นสถานศึกษาแห่งแรกของชุมชน

สำหรับประเพณีพิธีกรรมของชุมชนบ้านคลองจรเข้น้อยนั้นมีความคล้ายคลึงกับชุมชนชาวพุทธอื่นทั่วไป เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ ประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนวิถีทางการดำเนินชีวิตต่าง ๆ จึงตั้งอยู่บนหลักศาสนาพุทธ ได้แก่ ประเพณีวันสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เข้าร่วมการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเนื่องในวาระโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ ตลอดจนงานบุญประเพณีประจำปีของจังหวัดฉะเชิงเทรา  

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ

ชุมชนบ้านคลองจรเข้น้อย เป็นชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรดิน และทรัพยากรน้ำ ความเป็นต่อของทรัพยากรเป็นต้นทุนสู่การประกอบอาชีพ ซึ่งชาวบ้านสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และจากการมีทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตนี้ ทำให้ชุมชนบ้านคลองจรเข้น้อยได้มีการสั่งสมภูมิปัญญาในการประกอบอาชีพ ซึ่งเน้นความพอเพียงเป็นหลัก มีการจัดการทุนทางทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านในชุมชนต้องสำนึกหวงแหน และเห็นคุณค่าของสมบัติที่ชุมชนมอบให้ 

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง


แผนพัฒนาเศรษฐกิจกับวิถีชีวิตชาวบ้าน

การประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการเข้ามาของระบบทุนนิยม ก่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจและระบบทุนนิยม ส่งผลกระทบทําให้ชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงแบบแผนการผลิต จากการผลิตแบบพอยังชีพไปเป็นการผลิตเพื่อขายเป็นหลัก ซึ่งการผลิตเพื่อขายนั้น เน้นการผลิตจํานวนมาก ๆ ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ส่งผลให้เกิดการทําลายสภาพแวดล้อม การบุกรุก พื้นที่ป่า และที่สําคัญคือทําให้ชาวบ้านมีระบบการผลิตสินค้าทางการเกษตรเพียงไม่กี่ชนิด จึงจําเป็นต้องลดหรือเลิกการผลิตพืชผลหลากหลายชนิด หันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งระบบการผลิตของหมู่บ้านคลองจรเข้น้อยนี้ จากเดิมที่เคยทําการเกษตรแบบผสมผสานไม่ทําลายธรรมชาติ ปลูกพืชผลเพื่อการบริโภคภายในชุมชนของตนเองเป็นหลัก เหลือจากนั้นจึงขาย ก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจหรือพืชเชิงเดี่ยวที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐเพื่อมุ่งให้ได้ผลผลิตสูงสุดซึ่งผู้คนในชุมชนไม่สามารถกินได้มาแทนที่ เช่น มันสําปะหลัง และยูคาลิปตัส เป็นต้น ทําให้พื้นดินเสื่อมสภาพ และระบบนิเวศเสื่อมโทรมลงไป ครั้นจะหันกลับมาปลูกพืชผลหมุนเวียนเหมือนเดิมอีกก็ไม่สามารถทําได้ ชาวบ้านจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่เสียใหม่ มาทําเป็นนาข้าวแทน (กวิพัฒน์ สุขแจ่ม254783)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กวิพัฒน์ สุขแจ่ม. (2547). ทุนทางสังคมกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด : กรณีศึกษาบ้านคลองจรเข้น้อย ตำบลเกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา. วิทยานิพนธ์พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

แผนชุมชนบ้านคลองจรเข้น้อย หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: http://www.kaorai.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566]