Advance search

บ้านทรายมูลได้นำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ภายในชุมชน มาประยุกต์แปรรูปให้กลายเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าแก่แก่ครัวเรือน

บ้านทรายมูล
คลองนา
เมืองฉะเชิงเทรา
ฉะเชิงเทรา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
30 เม.ย. 2023
บ้านทรายมูล

ที่ชื่อบ้านทรายมูล เพราะมีทรายจากที่ดอนไหลลงสู่ที่ต่ำกว่าในพื้นที่หมู่บ้าน ทําให้เกิดกองทรายจํานวนมาก จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านทรายมูล"


บ้านทรายมูลได้นำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ภายในชุมชน มาประยุกต์แปรรูปให้กลายเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าแก่แก่ครัวเรือน

บ้านทรายมูล
คลองนา
เมืองฉะเชิงเทรา
ฉะเชิงเทรา
24000
13.64984961
101.101419
เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา

ตําบลคลองนา เป็นตําบลหนึ่งใน 18 ตําบลของอําเภอเมืองฉะเชิงเทรา แยกตัวจากตําบลบางตีนเป็ดเมื่อ พ.ศ. 2480 สาเหตุที่แยกเนื่องจากเดิมตําบลบางตีนเป็ดมีอยู่ถึง 17 หมู่บ้าน และมีสภาพภูมิประเทศเป็นที่นา ที่สวน ซึ่งส่วนใหญ่ของตําบลบางตีนเป็ดจะเป็นสวน ส่วนอีก 5 หมู่บ้าน มีสภาพเป็นพื้นที่นา จึงถูกแยกออกมา เป็นตําบลคลองนาทั้ง 5 หมู่บ้าน มีสภาพน้ำล้อมรอบลําน้ำนี้ เรียกว่าคลองนาบน ซึ่งเป็นคลองที่กั้นระหว่างอําเภอเมืองกับอําเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จากสภาพดังกล่าวจึงได้ชื่อว่าตําบลคลองนาสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน

สําหรับบ้านทรายมูล (เดิมเป็นหมู่บ้านหนึ่งของตําบลบางตีนเป็ด) ตําบลคลองนา อําเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มตั้งเป็นชุมชนครั้งแรกบริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ราว พ.ศ. 2367-2394 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังก่อตั้งชุมชน บ้านทรายมูลได้มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง มีคนจีนอพยพมาตั้งหลักแหล่งตามริมแม่น้ำสายต่าง ๆ รวมทั้งบริเวณแม่น้ำบางปะกง ระยะแรกเข้าไปตั้งหลักแหล่งในจังหวัดฉะเชิงเทราและพื้นที่ใกล้เคียงโดยเข้ามารับจ้างเป็นแรงงานในไร่อ้อย และโรงงานหีบอ้อยซึ่งตั้งอยู่ที่ตําบลบางไผ่ อําเภอเมืองฉะเชิงเทรา ต่อมาชาวจีนได้อพยพเข้ามาบุกเบิกป่าชายเลนให้เป็นสวนยกร่อง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนจีนแผ่นดินใหญ่ แล้วปลูกหมากพลู ผัก ผลไม้ มะพร้าว มะม่วง เลี้ยงหมูและอื่น ๆ ส่งผลให้พื้นที่ระหว่างปากคลองบางตีนเป็ดถึงบริเวณปากคลองบางไผ่มีสัตว์น้ำและพืชพรรณธรรมชาติ รวมทั้งสวนผสมยกร่องซึ่งมีมะพร้าวและหมากเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็มีการปลูกไม้ยืนต้น ผักสวนครัว ตลอดจนการเลี้ยงปลาในร่องสวนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งยังนับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด และยังได้สืบทอดมาสู่ลูกลานชาวบ้านทรายมูลในปัจจุบัน 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 5 ตําบลคลองนา
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 3 ตําบลคลองนา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ 4 ตําบลคลองนา
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ําบางปะกง

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านทรายมูล อยู่ห่างจากอําเภอเมืองฉะเชิงเทราตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 315 สายฉะเชิงเทรา-พนัสนิคม 7 กิโลเมตร มีรถประจําทางผ่านหน้าหมู่บ้าน การคมนาคมสะดวก ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำบางปะกงเป็นเขตกั้นกลางระหว่างหมู่ 2 บ้านทรายมูล กับตําบลบางกรูด อําเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีถนนสายพนัสนิคม-ฉะเชิงเทรา ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 315 ผ่ากลางหมู่บ้าน พื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะกับการทําเกษตรกรรมและทําการประมง โดยเฉพาะการทํานา ทิศตะวันตกของหมู่บ้านติดแม่น้ำบางปะกง มีคลองในหมู่บ้าน 2 คลอง คือ คลองทรายมูล และคลองใหม่

ตําบลคลองนามีพื้นที่ติดชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง เหมาะในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่พักผ่อน แก่ประชาชนทั่วไป ดังนั้นตําบลคลองนาจึงมีการลงทุนด้านกิจการให้บริการต่าง ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เหมาะแก่การพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ประกอบกับตําบลคลองนามีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก มีคลองส่งน้ำขนาดใหญ่ของโครงการชลประทานผ่านตําบล ทําให้มีน้ำไหลตลอดปี สามารถปล่อยลงสู่คลองธรรมชาติหลายคลอง โดยทุกหมู่บ้านในตำบลคลองนาจะมีคลองน้ำไหลผ่าน ซึ่งรวมถึงหมู่บ้านทรายมูลด้วย ทำให้สามารถสร้างอาชีพเกษตรกรรมและการประมงตลอดปี มีระบบประปาใช้น้ำจากการประปาส่วนภูมิภาคทุกหมู่บ้าน เป็นชุมชนที่มีอาณาเขตติดต่อใกล้กับเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ทําให้มีการกระจายความเจริญจากเทศบาลสู่หมู่บ้านที่ใกล้เคียง พื้นที่ดังกล่าวจึงเหมาะสําหรับการก่อสร้างอาคารสํานักงานพาณิชย์รูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้บ้านทรายมูลยังเป็นที่ตั้งขององค์การบริหารส่วนตําบลคลองนา และสถานที่สําคัญ ๆ เช่น ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า: 112 ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดําริเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียน และวัดใหม่พรหมสุวรรณ

แรกตั้งหมู่บ้านทรายมูลนั้น ประชาชนจากหลายถิ่นได้ย้ายมารวมกับชาวบ้านในถิ่นเดิม มีการขยายตัวของชุมชนออกไปจากการแต่งงานกับคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง และมีคนย้ายเข้ามาอยู่ แต่เมื่ออยู่ไปก็จะมีความผูกพันในลักษณะเครือญาติ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ระบบครอบครัวจะมีลักษณะเป็นโครงสร้างใหญ่ กล่าวคือ เป็นครอบครัวขยาย มีปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งลักษณะโครงสร้างของครอบครัวขนาดใหญ่จึงเป็นสถาบันที่มีความอบอุ่น ใกล้ชิด คอยดูแลซึ่งกันและกัน แต่ละบ้านในหมู่บ้านก็รู้จักกัน รักใคร่กันดีเปรียบเสมือนญาติมิตร มีความไว้เนื้อเชื่อใจ มีน้ำใจต่อกัน เอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 47.26 รองลงมา คือ รับราชการ ร้อยละ 16.49 ที่เหลือประกอบอาชีพค้าขาย ปัจจัยในการผลิตของชุมชนซึ่งต้องอาศัยกําลังคน ความร่วมมือของชุมชน มีการตกแรงช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้าน คือ การทํากะปิและขนมหวาน ฐานะทางเศรษฐกิจของชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ประชากรแฝงที่เข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนส่วนใหญ่จะเข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างก่อสร้าง นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านยังมีการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนมากแล้วจะเป็นการรวมกลุ่มอาชีพ และกองทุนหมู่บ้าน เพื่อสนับสนุนเงินสำรองให้สมาชิกกู้ยืมเป็นเงินหมุนเวียนสำหรับการประกอบอาชีพ เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนียน กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มสตรี เป็นต้น 

ประชาชนชาวบ้านทรายมูลส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งชาวบ้านมีการประพฤติปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนชาวพุทธทั่วไป ฉะนั้น ประเพณีพิธีกรรม ตลอดจนงานเทศกาลรื่นเริงต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในชุมชน โดยทั่วไปแล้วจึงมักมีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ได้แก่ วันสำคัญทางศาสนาตามวาระโอกาสต่าง ๆ เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันอัฐมีบูชา วันธรรมสวนะ รวมถึงประเพณีรอบเดือนต่าง ๆ เช่น เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ วันสารทเดือนสิบ บุญเดือนสาม ประเพณีสงกรานต์ ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมทางศาสนาที่ประกอบขึ้นนี้ ชาวบ้านจะเดินทางไปร่วมกันที่วัดพรหมสุวรรณ วัดประจำชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านทรายมูล 

1. นายฐิติกรณ์ ไชยอารีย์  ผู้นำชุมชนบ้านทรายมูล

2. นายสันต์ (ไม่ทราบนามสกุล)  ปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความชำนาญในศาสตร์การรักษาโรคด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน อีกทั้งยังเป็นมัคทายก ผู้นำประกอบพิธีกรรม เช่น การตั้งศาลพระภูมิ บวช ทำขวัญนาค ฯลฯ

3. นางยัง (ไม่ทราบนามสกุล)  ปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญการดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดด้วยวิธีการอบกระโจม 

ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน

นอกจากหน่วยบริการของภาครัฐแล้ว ชาวบ้านทรายมูลยังมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอโบราณหรือหมอพื้นบ้านรักษาอาการเจ็บป่วย เมื่อมีการพึ่งพาอาศัยกัน จึงเกิดความเคารพนับถือกัน การดูแลรักษาสุขภาพเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่าการรักษาด้วยเงินทอง เห็นได้จากค่าพยาบาลจะเป็นการให้ด้วยการบูชาครู ทั้งผู้ที่เป็นหมอและผู้ที่ป่วยต่างก็มีความเชื่อและเคารพในความเป็นครูของผู้ที่รักษาจะเห็นได้ว่าไม่ว่าระบบความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม และความศรัทธา เป็นที่รักษาสุขภาพชุมชนได้ทั้งกายและใจ โดยภูมิปัญญาทางการแพทย์ที่ยังคงปรากฏในบ้านทรายมูลปัจจุบัน คือ การรักษารักษาโรคด้วยสมุนไพร ทำการรักษาโดยนายสันต์ ไม่ทราบนามสกุล และการปฐมพยาบาลหญิงหลังคลอดวิธีการอบกระโจม โดยนางยัง ไม่ทราบนามสกุล 

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


โดยปกติในด้านการรักษาพยาบาล ชาวบ้านทรายมูลจะมาใช้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล (สถานีอนามัย) โรงพยาบาลพุทธโสธร และคลินิกเอกชน ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชน ทำให้สะดวกต่อการเดินทางสัญจร 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศศินันท์ อริยรัฐสินกุล. (2556). ทุนทางสังคมกับการป้องกันและแก้ไขปัญห้เอดส์ศึกษาเฉพาะกรณีบ้านทรายมูล หมู่ที่ 2 ตำบลคลองนา อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา. สารนิพนธ์ปริญญาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

องค์การบริหารส่วนตำบลคลองนา. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://earth.google.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].

วัดพรหมสุวรรณ. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.lovethailand.org [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].