Advance search

ชุมชนสมอเอก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแนวความคิดเรื่องการพึ่งตนเองและการช่วยเหลือกันตามหลักมุสลิมเป็นหลัก เกิดแนวคิดการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง

บ้านสมอเอก
ดอนฉิมพลี
บางน้ำเปรี้ยว
ฉะเชิงเทรา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
29 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 พ.ค. 2023
บ้านสมอเอก

มีการขุดพบสมอเรือขนาดใหญ่ในพื้นที่หมู่บ้าน จึงตั้งชื่อชุมชนตามสมอเรือที่ค้นพบว่า “สมอเอก” 


ชุมชนชนบท

ชุมชนสมอเอก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของแนวความคิดเรื่องการพึ่งตนเองและการช่วยเหลือกันตามหลักมุสลิมเป็นหลัก เกิดแนวคิดการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง

บ้านสมอเอก
ดอนฉิมพลี
บางน้ำเปรี้ยว
ฉะเชิงเทรา
24170
13.93205354
100.9578779
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนฉิมพลี

ในอดีตพื้นที่เต็มไปด้วยป่าดงดิบจึงเป็นทางเดินของสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ และมีควายป่าตัวใหญ่ที่สุดอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเจ้าของป่าชื่อว่า "คอนฉิมภาลี" แปลว่า ควายใหญ่ ต่อมา เปลี่ยนจากดอนฉิมภาลี มาเป็น “ดอนฉิมพลี”  ซึ่งแปลว่า “แผ่นดินแห่งวิมาน” จากคำบอกเล่าของผุ้อาวุโสชุมชนสมอเอกได้เล่าว่าเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา ฮัจยี สะโอ๊ะ หัสเสม ได้เป็นผู้บุกเบิกชุมชนสมอเอกโดยได้อพยพมาจากแขวงทรายกองดินเขตคลองสามวา จังหวัดกรุงเทพมหานคร ฮัจยีสะโต๊ะกับญาติ ๆ ได้หักร้างถางพงตั้งบ้านเรือนและสร้างชุมชนมุสลิมขึ้นในบริเวณตําบลดอนฉิมพลี อําเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยสร้างมัสยิดเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ สอนศาสนาเป็นที่ประชุม ปรึกษาหารือของชุมชน ซึ่งเป็นบริบทที่สําคัญของพี่น้องชาวมุสลิม มัสยิดเดิมนั้นเป็นเรือนไม้ซึ่งได้รื้อปลูกสร้างใหม่และน่าเสียดายที่ไม่มีภาพถ่ายในอดีตเอาไว้คงเหลือไว้เพียงความทรงจํา นอกจากการสร้างมัสยิดใหม่แล้ว ยังปรับให้เป็นโรงเรียนที่สอนทั้งศาสนาและสายสามัญด้วย ชุมชนสมอเอกได้ชื่อนี้ก็เพราะมีการขุดพบสมอเรือขนาดใหญ่ในคลอง (สิบหก) ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจ เนื่องจากคลองมีขนาดเล็กและแคบเกินกว่าที่เรือขนาดใหญ่จะเข้ามาได้ จึงตั้งชื่อชุมชนตามสมอเรือที่ค้นพบว่า “สมอเอก”

สภาพที่ตั้งของชุมชน

  • ทิศเหนือ จด หมู่ที่ 17 ตําบลดอนฉิมพลี บางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ทิศใต้ จด หมู่ที่ 15 ตําบลดอนฉิมพลี บางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ทิศตะวันออก จด หมู่ที่ 5 ตําบลดอนฉิมพลี บางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ทิศตะวันตก จด หมู่ที่ 12 ตําบลบึงน้ำรักษ์ บางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

ชุมชนบ้านสมอเอกมีทรัพยากรแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ คลอง 16 เป็นคลองที่อยู่คู่วิถีชีวิตชาวสมอเอกมาช้านาน ในอดีตชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำในลำคลองได้มากมาย ทั้งเพื่อการอุปโภค และการบริโภค เป็นทั้งแหล่งรายได้ และแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวสมอเอก ทว่า ปัจจุบันสภาพน้ำในลำคลองเกิดความเปลี่ยนแปลงไปมากเนื่องจากการปนเปื้อนของสารเคมีจากพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านไหลลงสู่ลำคลอง ส่งผลให้น้ำในลำคลองปนเปื้อนสารเคมี ระบบนิเวศในลำคลองพังทลาย น้ำเริ่มเกิดความเน่าเหม็น สัตว์น้ำลดจำนวนลง อีกทั้งประโยชน์ที่ชาวบ้านสามารถใช้จากคลอง 16 ก็ลดลงเช่นเดียวกัน

ความสัมพันธ์ภายในชุมชน

รูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนบ้านสมอเอกมีลักษณะเป็นแบบกันเอง เนื่องจากประชากรในชุมชนเป็นเครือญาติกันเกือบทั้งหมด แต่ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนมความผูกพันแน่นแฟ้นนั้น ขณะเดียวกัน ระบบความสัมพันธ์ในครอบครัวเริ่มเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยาย มาเป็นแบบครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ส่งผลให้ความดูแลเอาใจใส่กันในครอบครัวเริ่มมีน้อยลง เนื่องจากพ่อแม่ต้องทํางานกันเป็นส่วนใหญ่และเด็กก็ถูกส่งให้ไปโรงเรียน ทำให้ช่วงเวลาการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวลดน้อยลง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มระยะห่าให้แก่สมาชิกในครอครัวอีกด้วย

ระบบเครือญาติ

ชุมชนสมอเอกแรกเริ่มมาจากสี่ครอบครัว ได้แก่ สะโอ๊ะ สะอ๊ะ อับดุลเลาะห์ และสะอิ มาตั้งรกรากและสืบทอดตระกูลกัน ชุมชนสมอเอกส่วนใหญ่จะสืบทอดมาจากสี่ครอบครัวที่บุกเบิกมาตั้งรกรากอยู่ในบริเวณนี้ มีการแต่งงานระหว่างกันบ้างในช่วงเริ่มต้นและการเดินทางยังไม่ค่อยสะดวก แต่ในปัจจุบันมีการแต่งงานข้ามท้องที่กันมากขึ้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างในแง่ของเครือญาติ ที่ทําให้เกิดความสัมพันธ์ที่กว้างขวางมากขึ้นแต่ยังคงรัก ษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของอิสลามไว้อย่างเหนียวแน่น คือจะแต่งงานกับคนอิสลามด้วยกันหรือต้องเปลี่ยนมานับถืออิสลาม ทําให้ความเป็นชุมชนอิสลามยังคงยึดแน่นอยู่ในชุมชน

ชุมชนสมอเอกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร โดยมีการทำนาข้าวมากถึงร้อยละ 90 ประชาชนในชุมชนมีรายได้จากการทำนาข้าวเฉลี่ยประมาณ 107,000 /คน/ปี และรายได้ครัวเรือนประมาณ 420,000 /คน/ปี สายพันธุ์ข้าวที่เป็นที่นิยม คือ ข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี พิษณุโลก และปทุมธานี 

ลักษณะที่อยู่อาศัย

ลักษณะบ้านเรือนที่อยู่อาศัยชุมชนบ้านสมอเอกส่วนใหญ่เป็นลักษณะเรือนไทยในชนบทมีทั้งที่เป็นไม้ทั้งหลังและลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ หลังคาส่วนใหญ่เป็นสังกะสี มีบางครัวเรือนมีบ้านเป็นลักษณะก่ออิฐถือปูนและหลังคาเป็นกระเบื้อง บ้านบางหลังเป็นลักษณะบ้านไม้ยกพื้นสูงและบางหลังมีการต่อเติมด้านล่างภายหลัง ตัวบ้านส่วนใหญ่จะหันด้านหน้าเข้าสู่คลอง 16 ยกเว้นบ้านที่ปลูกไม่นานมานี้จะหันด้านหน้าเข้าหาถนน เนื่องจากในอดีตชาวชุมชนมีการใช้เส้นทางน้ำ คือ คลอง 16 ในการคมนาคมสัญจร การปลูกบ้านหันหน้าเข้าหาคลองก็เพื่อความสะดวกในการสัญจร แต่ปัจจุบันเส้นทางสัญจรสายหลัก คือ เส้นทางบก มีถนนตัดผ่านหมู่บ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนเริ่มเปลี่ยนทิศทางหันหน้าบ้านออกมาบริเวณริมถนนเสียส่วนใหญ่

ศาสนา และวัฒนธรรม

ชุมชนสมอเอกเป็นชุมชนมุสลิมที่เคร่งครัดต่อการปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านในชุมชนให้ความสำคัญกับศาสนา โดยแสดงออกผ่านการประกอบศาสนกิจต่าง ๆ เช่น การละหมาดวันละ 5 ครั้ง การถือศีลอด การบริจาคซะกาต และการไปฮัจญ์ เป็นต้น

การละหมาดตามคติของชาวมุสลิม คือ การเข้าเฝ้าองค์พระอัลลอฮ์ โดยในหนึ่งวันจะมีการทำละหมาด 5 เวลา ได้แก่ ย่ำรุ่ง กลางวัน เย็น พลบค่ำ และกลางคืน และหากขาดไม่ได้เข้าร่วมพิธีจะถูกตักเตือน สาเหตุเนื่องมาจากว่าเป็นวันที่ดีที่สุดในบรรดาวันที่มีอยู่คือวันศุกร์ เพราะเป็นวันที่อาดัมถูกสร้าง เป็นวันที่อาดัมเข้าสวรรค์ เป็นวันที่อาดัมถูกขับออกจากสวรรค์ และวันกิยามะฮฺ (วันสิ้นโลก) จะไม่เกิดขึ้นในวันอื่นนอกจากในวันศุกร์ การละหมาดในวันศุกร์จึงถือเป็นหลักปฏิบัติที่สําคัญที่สุดของชาวมุสลิมชุมชนสมอเอก เมื่อถึงเดือนที่เรียกว่า รอมฎอน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวก็คล้ายกับการเข้าพรรษาของภิกษุในศาสนาพุทธ และในระหว่างการถือศีลอดนั้นจะพูดในสิ่งที่ดี จะทําในสิ่งที่ดี ทําจิตใจให้สงบ ไม่กระทำสิ่งใดที่ถือเป็นการไม่เหมาะสม

หลักการปฏิบัติอีกประการของมุสลิมก็คือ การบริจาคซะกาต ซะกาตมี 2 แบบ คือ ทั่วไปและฟิฏเราะห์ (จ่ายในเดือนรอมฎอน) และต้องให้กับคน 8 ประเภทเท่านั้น คือ ได้แก่ ผู้ยากจน ผู้ขัดสน เจ้าหน้าที่ที่รวบรวมมัน พวกเขาคือผู้จัดเก็บ ผู้ดูแล ผู้แบ่งสรร ผู้นับถือศาสนาอิสลามใหม่ ไถ่ทาส ผู้ติดหนี้ ผู้ที่สู้รบในหนทางอัลลอฮฺเพื่อเชิดชูศาสนาของพระองค์ และผู้เดินทาง หรือผู้ที่กําลังเดินทางแล้วหมดเสบียงระหว่างเดินทาง (ณัฐวัชร์ เผ่าภู, 2554: 105)

วัฒนธรรมการกิน

อาหารที่คนมุสลิมรับประทานนั้นต้องเป็นอาหารฮาลาลเท่านั้น คําว่า “ฮาลาล” (Halal) เป็นคําภาษาอาหรับมี ความหมายทั่วไปว่า อนุมัติ เมื่อนํามาใช้ในทางศาสนา จะมีความหมายว่า สิ่งที่ศาสนาอนุมัติ (เช่น อนุมัติให้กิน อนุมัติให้ดื่ม อนุมัติให้ทํา อนุมัติให้ใช้สอย เป็นต้น “ฮาลาล” เป็นคําที่มีความหมาย ตรงข้ามกับคําว่า “ฮารอม” ที่มีความหมายทั่วไปว่า “ห้าม” เช่น สัตว์ที่อิสลามห้ามรับประทาน ได้แก่ สุกรและสุนัข สัตว์ที่ตายเองโดยไม่ได้ถูกเชือดตามหลักการของอิสลาม ยกเว้น กุ้ง หอย ปู ปลา สัตว์ที่ถูกเชือดเพื่อบูชาเจว็ด สัตว์มีเขี้ยวเล็บอสัตว์มีพิษ ชิ้นส่วนของสัตว์ที่หลุดมาจากสัตว์ที่มีชีวิต สัตว์เลื้อยคลาน และเลือดของสัตว์ทุกชนิด

การกวนข้าวอาซูรอหรือขนมอาซูรอ เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การนําอาหารที่รับประทานได้หลายสิ่งอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) ก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชุมชนสมอเอกจะเป็นชุมชนในภาคกลาง แต่ยังรักษาประเพณีการกวนข้าวอาซูรอเอาไว้ เป็นการแสดงให้เห็นความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง


เยาวชนชุมชนสมอเอกตั้งแต่ระดับอนุบาล-ประถมศึกษา 6 จะเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสุเหร่าสมอเอก ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 17 ซึ่งได้รับการบริจาคที่ดินจากมัสยิดนาซีฮะ ตุสซุนนะห์ และธนาคารกรุงเทพให้การอุปถัมภ์ในการก่อสร้าง เป็นสถานศึกษา โรงเรียนสุเหร่าสมอเอกมีการเปิดการเรียนการสอนทั้งวิชาสามัญและวิชาทางศาสนาอิสลาม นอกจากกนี้ ยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รับดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียน จัดตั้งเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็กเล็กขณะที่ผู้ปกครองต้องไปประกอบอาชีพ

นอกจากการสอนในหลักสูตรสามัญแล้ว ยังมีการสอนศาสนาควบคู่ไปกับการศึกษาด้านวิชาการ ทั้งที่โรงเรียนสุเหร่าสมอเอก และมูลนิธิมูลนี้รุ้ลอิสลาม (อารีบีอุปถัมภ์) โดยทําการสอนในตอนเย็นหลังเลิกเรียนปกติและวันเสาร์-อาทิตย์ โดยฝึกให้เด็กอ่านภาษาอาหรับและทําความเข้าใจกับหลักคําสอน โดยกําหนดให้เมื่อเด็กรู้ความก็ให้เรียนศาสนาควบคู่กันไป ถือเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในหลักการของศาสนามากยิ่งขึ้น 


ปัจจุบันชุมชนบ้านสมอเอกกำลังประสบปัญหาทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โดยเฉพาะดิน เนื่องจากการขาดการบํารุงรักษา และมีใช้สารเคมีตลอดเวลา ทําให้ดินเสื่อมสภาพและอินทรีย์สารในดินมีน้อยลง บางครัวเรือนพยายามใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการปรับปรุงดินซึ่งเป็นส่วนน้อย แต่ส่วนใหญ่ยังคงใช้สารเคมีทางการเกษตรอยู่ ประชาชนยังขาดจิตสํานึกในการร่วมกันดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำในลําคลองยังมีวัชพืชขึ้นเป็นจํานวนมาก ซึ่งชุมชนไม่สามารถจัดการได้ น้ำในลําคลองไม่มีคุณภาพ ไม่เหมาะสมในการบริโภคและอุปโภคเนื่องจากอาจจะมีสารเคมีตกค้างในลําคลอง ซึ่งแนวทางการทํานาในปัจจุบันนั้นมีการสูบน้ำเพื่อการเตรียมดิน หลังจากนั้นจะถ่ายน้ำออกเพื่อการหว่าน ทําให้สารเคมีที่ใช้ในการกําจัดวัชพืชและศัตรูพืชปนเปื้อนลงสู่ลําคลอง นอกจากนั้นในระหว่างการเพาะปลูกอาจมีเหตุที่ทําให้เกิดการปนเปื้อนสารเคมีได้อีก เช่น การพังทลายของขอบคันนา หรือการรั่วซึม ซึ่งจะทำให้น้ำจาที่นาไหลลงสู่ลำคลอง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้น้ำในลำคลองเกิดการปนเปื้อน 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ณัฐวัชร์ เผ่าภู. (2554). การพัฒนาอย่างยั่งยืน: ความเป็นเครือข่ายทางสังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมของชุมชนมุสลิมบ้านสมอเอก ตำบลดอนฉิมพลี อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์.

มัสยิดนาซีฮะตุสซุนนะห์ (สมอเอกคลอง 16). (ม.ป.ป.). ได้จาก: https://www.google.com/maps/place/ [สืบค้นเมือ่วันที่ 29 เมษายน 2566].

โรงเรียนสุเหร่าสมอเอก. (2564). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://web.facebook.com [สืบค้นเมือ่วันที่ 29 เมษายน 2566].