ชุมชนเกษตรกรรม ทำนาด้วยวิถีดั้งเดิม หวงแหนในเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง "ข้าวอัลฮัม" ที่ยังคงมีไว้ให้ลูกหลานได้ กิน อยู่ อย่างพอเพียง
ในอดีตก่อนการก่อตั้งหมู่บ้าน พื้นที่บริเวณนี้มีต้นโพธิ์ใหญ่ตระหง่านแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาอยู่บนควนสูง จึงเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า “บ้านควนโพธิ์” (ควน เป็นภาษาถิ่นใต้ แปลว่า เนิน)
ชุมชนเกษตรกรรม ทำนาด้วยวิถีดั้งเดิม หวงแหนในเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง "ข้าวอัลฮัม" ที่ยังคงมีไว้ให้ลูกหลานได้ กิน อยู่ อย่างพอเพียง
ในอดีตประมาณ 200 - 250 ปีก่อน พื้นที่ของตําบลควนโพธิ์เคยเป็นทะเลที่มีเรือสําเภาแล่นผ่าน และมีตํานานเล่าขาน ดังปรากฏหลักฐานที่เป็นชื่อภูเขา และสถานที่ต่าง ๆ มากมาย เช่น เกาะสําเภา ภูเขาลูกรอก ภูเขาบังใบ ฯลฯ ตามคําบอกเล่าของชาวบ้านในชุมชนรุ่นหลัง คนเฒ่า คนแก่เล่าว่าได้มีการตกปลาทะเลบริเวณเขาน้อยด้านทิศตะวันออกมีปลาแดงชุกชุมมาก ชอบมีคนมาตกปลา ส่วนทางด้านทิศตะวันตกจะมีต้นโพธิ์ใหญ่ตระหง่านแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาอยู่บนควนสูง จึงเรียกพื้นที่แห่งนี้ว่า บ้านควนโพธิ์ หลังจากนั้นประมาณ 120 ปีต่อมา พื้นที่บริเวณดังกล่าวตื้นเขินขึ้น บริเวณที่ลึกสุด คือ ทุ่งปาดังกลิง ชาวบ้านจะเดินทางไปมาหาสู่กันโดยใช้เรือ ซึ่งจะมีเรือรับจ้างจากฝั่งควนโพธิ์กับฝั่งบ้านทุ่ง และมีการตัดถนนผ่านทุ่งปาดังกลิง ต่อมาได้มีการขุดลอกหนองปลักพระยา ได้ขุดพบใบโกงกางฝนพื้นที่ป่าชายเลย อีกทั้งยังค้นพบฟอสซิลของสัตว์ทะเลที่วัดเขาน้อย ทําให้เชื่อว่าพื้นที่บริเวณแห่งนี้ในอดีตเคยเป็นทะเลตามจริงดังที่ว่า ต่อมาพื้นที่บริเวณนี้ค่อยตื้นเขินมาเรื่อย ๆ สภาพพื้นที่เป็นป่าพรุ มีต้นเสม็ด ต้นปรือ ต้นเบร่ ขึ้นอยู่เป็นหย่อม ๆ
การตั้งถิ่นฐานของชาวตําบลควนโพธิ์มีอยู่ 5 แห่ง กระจัดกระจายไปตามพื้นที่เป็นเนินที่สามารถสร้างบ้านได้ เช่น บริเวณ ถ้ำแป๊ะ ท่าห้วยต้นพูด เกาะเปลว และบ้านนา การจับจองพื้นที่ของคนสมัยก่อนโดยการปักไม้แนวเขตตามกําลังที่จะทําได้ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีหลักฐานที่ดิน ผู้คนที่เข้าบุกเบิกพื้นที่ในยุคแรกเริ่มนั้น จะยึดอาชีพการทํานาเป็นหลัก เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศและภูมิลักษณ์ทางกายภาพที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ซึ่งการดําเนินชีวิตของคนทํานาในสมัยก่อนจะอยู่แบบพอเพียง ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน ทุกสิ่งอย่างสามารถหาได้จากพื้นที่ป่าชุมชน จึงอาจจกล่าวได้ว่า การดำเนินชีวิตของชาวบ้านควนโพธิ์ในยุคแรกตั้งมู่บ้านนั้น ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ควบคู่กับการมีอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยการใช้จ่ายจากเบี้ยอัฐเงินตราแต่อย่างใด
สภาพที่ตั้งบ้านควนโพธิ์มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบท่ามกลางหุบเขาพญาบังสา ทั้งยังมีบึงน้ำขนาดใหญ่เป็นสายน้ำหล่อเลี้ยง ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติในหมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน และทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเอื้อต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชนที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมทำนาเป็นหลัก
รายงานสถิติข้อมูลประชากรจากองค์การบริหารส่วนตำบลควนโพธิ์ ระบุจำนวนประชากรชุมชนบ้านควนโพธิ์มีจำนวนทั้งสิ้น 1,233 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 601 คน ประชากรหญิง 632 คน จำนวนครัวเรือน 340 ครัวเรือน
ในอดีตชาวบ้านควนโพธิ์มีอาชีพหลักเพียงอย่างเดียว คือ การทำนาข้าว ต่อมาเมื่อการปลูกยางพาราเริ่มเป็นที่นิยมประกอบกับราคายางแผ่นสูงขึ้น ชาวบ้านควนโพธิ์เริ่มหันมาปลูกยางพารามากขึ้น มีการเปลี่ยนที่นาเป็นสวนยาง นอกจากนี้ยังมีการปลูกปาล์มน้ำมัน การทำนาข้าวจึงค่อย ๆ ลดความนิยมลง
ต่อมาเมื่อกรมชลประทานได้สร้างคลองชลประทานตัดผ่านพื้นที่นาควนโพธิ์ ส่งผลให้ระบบน้ำไหลเวียนตลอดปี ชาวบ้านควนโพธิ์จึงหันมาทํานาหว่านมากขึ้น เพราะนาหว่านเหมาะกับพื้นที่นาที่น้ำไหลเวียนตลอดเวลา ในขณะที่การทํานาดําเริ่มลดลงเพราะปัญหาแรงงาน กล่าวคือ เมื่อสภาพเศรษฐกิจในชุมชนเปลี่ยนจากการทํานาเป็นอาชีพหลักสู่การเพาะปลูกยางพาราแทน มูลค่าเงินสูงกว่าในสมัยก่อน ชาวบ้านบางส่วนจึงเลิกทํานา นําเงินที่ได้จากการกรีดยาง ขายยาง มาซื้อข้าวสารไว้กินในครอบครัว ประกอบกับวัฒนธรรมการซื้อข้าวหายไป แรงงานหายาก ส่งผลให้การทํานาหว่านกลับมาเป็นที่นิยมในพื้นที่ควนโพธิ์มีการรวบรวมพันธุ์ข้าวได้ 16 ชนิด คือ ข้าวขวดราชินี ลูกปลา ข้าวอัลฮัมดุลิลละฮ์ ข้าวช่อรามัย ข้าวท้ายดํา ข้าวดอกละมุด ข้าวเล็บนก ข้าวโป๊ะ ข้าวสาดบาโหรม ข้าวเบาดอก ยอม ข้าวหางม้า ข้าวหอมนิล ข้าวหอมจันท์ ข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวไข่มดริ้น แต่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ ข้าวขวด และข้าวอัลฮัมดุลิลละฮ์ หรือข้าวฮัลลัม
ปัจจุบัน การทำข้าวยังคงเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านควนโพธิ์ ร่วมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา นอกจากนี้ สืบเนื่องจากมาจากภูมิประเทศบ้านควนโพธิ์ตั้งอยุ่บริเวณหุบเขาพญาบังสา ชาวบ้านในชุมชนจึงได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชนเขาพญาบังสา โดยเป้าหมายการท่องเที่ยวชุมชน คือ เรียนรู้วิถีชีวิตและทรัพยากร เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรอย่างมีกฎระเบียบ ด้วยทัศนียภาพเขาพญาบังสา กอปรกับนโยบายการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอนุรักษ์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความชื่นชอบในการท่องเที่ยวแบบนิเวศวิถี ส่งผลให้การดำเนินการของวิสาหกิจท่องเที่ยวเขาพญาบังสานับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และเปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากสังคมบ้านควนโพธิ์นั้นเรียกได้ว่าเป็นสังคมเกษตรกรรม ชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนา ฉะนั้นแล้วจึงส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละวันขึ้นอยู่กับฤดูกาลของการทำนาเป็นหลัก โดยวิถีชีวิตของชาวนาบ้านควนโพธิ์ในรอบหนึ่งปี จะสามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ตามฤดูกาลทำนา ดังนี้
- ช่วงฝนยังไม่ตก ผู้ชายทํายางดักนก ทําจากน้ำยาง ยางเงาะ น้ำมันก๊าด ขี้ชัน (จากต้นพะยอม) ผสมเข้าด้วยกัน แล้วนําไปดักนก เช่น นกเปล้า นกเฮียก ตามต้นไทร
- เดือนหกน้ำเริ่มติดที่มุมนา ฤดูกาลปลูกข้าว ชาวนานิยมหาปลาคู่ เครื่องมือหาปลาที่นิยมใช้ช่วงนี้ คือ สุ่ม เมื่อได้ปลามาก็จะนำมาประกอบอาหาร หรือสามารถขังไว้ในคุรี (โอ่งปากแคบ) สามารถเก็บไว้กินได้หลายวัน
- พอเริ่มดํานา ก็เริ่มดักเล่ คือ การดักกุ้งนาตามช่องน้ำ จะนําเล่ไปดักตอนหัวค่ำ และจะไปเอาเล่กลับตอนเช้ามืด เมื่อได้กุ้งนา ก็จำนำมาปรุงอาหาร ส่วนมากนิยมนํามายํากับยอดจิกหรือปลีกล้วย
- ภายหลังเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มหาปลาหนองด้วยวิธีการวิด หรือการสูบน้ำออกจากหนองเพื่อจับปลาในโคลน เมื่อสูบน้ำออกจากหนองจะสามารถจับปลาได้เป็นจำนวนมาก บางหนองอาจได้มากถึงร้อยกิโลกรัม
นอกจากนี้ชาวบ้านควนโพธิ์ยังมีพิธีกรรมและความเชื่อมนการทำนาซึ่งได้รับการสืบทอดมาตั้งแต่อดีต ดังนี้
- การบุกเบิกที่นาต้องทําพิธีขอที่ทํากินจากเจ้าที่เจ้าทาง
- ก่อนทํานา จะมีการบนบานก่อนเพื่อให้วัวควาย ที่ใช้ไถนาไม่เจ็บป่วย
- การแรกถอนกล้า ถอนประมาณให้ดําได้ 9 กอ
- คนในสมัยก่อนจะออกไปชมข้าว เรื่อย ๆ เป็นระยะ ๆ โดยจะมีคาถาหรือคําชมข้าว
- เมื่อถึงเวลาการเก็บเกี่ยว จะมีการทําพิธีแรกข้าว
- ก่อนที่จะเอาข้าวมากิน ให้ไปโกยข้าวที่ข้างปลวก เรียกว่าไปโกยข้าว
- การหุงข้าว เริ่มขั้นตอนแรกโดยการนําข้าวสารมากรอกหม้อ (นําข้าวสารมาใส่ในหม้อข้าว) เวลานําข้าวสารมาใส่ในหม้อ จะใช้กะลามะพร้าวผู้ในการตักข้าวสาร เวลาเทใส่ในหม้อจะใส่ไม่หมด จะเหลือไว้ที่ก้นกะลา ด้วยความเชื่อของคนสมัยก่อนจะเชื่อว่าข้าวจะไม่หมด มีกินมีใช้ตลอดปี
ภูมิปัญญาการทำนาโยน
การทำนาโยน เป็นวิธีการทำนาแบบใหม่ที่เข้ามาภายในชุมชนบ้านควนโพธิ์ภายหลังนาหว่านและนาดำ เป็นนวัตกรรมการทํานาที่ช่วยป้องกันปัญหาการเกิดข้าววัชพืชและการระบาดของศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถทํานาได้ต่อเนื่อง 3-4 ครั้ง/ปี โดยไม่ต้องใช้สารเคมีทุกชนิด ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น นับเป็นทางเลือกใหม่ของการทํานาแบบยั่งยืน และทําให้อาชีพชาวนาเกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น
สําหรับวิธีการทํานาโยนต้นกล้ามีรูปแบบซับซ้อนกว่าการทํานาทั่วไป เริ่มจากการเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวนําไปเพาะไว้ในถาดหลุมขนาดเล็กที่ใส่ดินแล้วใช้กระสอบป่านหรือแสลนคลุมถาดหลุมไว้ รดน้ำประมาณ 15 วัน ต้นพันธุ์ข้าวจะสูงประมาณ 15 เซนติเมตร จากนั้นจึงถอนต้นกล้านําไปโยนในแปลงนาที่เตรียมดินไว้พร้อม โดยใส่ปุ๋ยชีวภาพซึ่งทําให้ดินร่วนซุย รากต้นข้าวเจริญเติบโตดีขึ้น วิธีโยนต้นกล้าก็ต้องโยนให้ทั่วแปลงนาอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องปักดํา ทําให้ต้นกล้าไม่ช้ำหรือคอหัก ข้าวแตกกอได้ดีและรวดเร็ว หลังจากโยนต้นกล้าแล้ว 3 วัน จึงค่อย ๆ ปล่อยน้ำเข้านา
การทำนาโยน จะช่วยประหยัดปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าว เนื่องจากนา 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียง 2 กิโลกรัม จะได้ผลผลิตประมาณ 450 กิโลกรัม ช่วงเวลาและฤดูกาลที่เหมาะสมจะเริ่มทําในช่วงสิงหาคมถึงมกราคม เนื่องจากเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก มีน้ำมาก จึงเหมาะสมที่สุดสําหรับการทํานา
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ข้าวพันธุ์อัลฮัมดูลิลละห์
ข้าวพันธุ์อัลฮัมดูลิลละห์ หรือข้าวขาวสตูล เรียกสั้น ๆ ว่าข้าวอัลฮัม หมายถึง พระผู้เป็นเจ้า และลิลล๊ะ แปลว่า ขอบพระคุณ โดยนัยแล้วข้าวอัลฮัมจึงมีความหมายถึง พันธุ์ข้าวที่พระผู้เป็นเจ้าประทานผลผลิตตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยของชาวนา จึงเรียกพันธุ์ข้าวนี้ว่า “อัลฮัมดูลิลละห์” ที่แปลว่าขอบคุณอัลเลาะห์ หรือขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า
ข้าวพันธุ์อัลฮัมดูลิลละห์ เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของชาวมุสลิมทางภาคใต้ในพื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งชาวนาได้ปลูกติดต่อกันมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเล่าขานกันว่าชาวไทยมุสลิมในจังหวัดสตูล ได้นำพันธุ์ข้าวอัลฮัมมาจากหมู่เกาะลังกาวีในประเทศมาเลเซีย บางคำบอกเล่ากล่าวไว้ว่า ข้าวอัลฮัมเป็นข้าวที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศมาเลเซีย มีการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนแลมีการกระจายไปถึงจังหวัดพัทลุง โดยเรียกว่า “ข้าวขาวสตูล” เป็นข้าวที่ทนต่อความเป็นกรดของดินทางภาคใต้ได้ดี นิยมปลูกเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน มีรสชาติหวานมันคุณค่าทางอาหารสูง อิ่มท้องนาน ปัจจุบันข้าวอัลฮัม เป็นที่นิยมในการบริโภคของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดสตูล โดยวางจำหน่ายในท้องถิ่นจังหวัดสตูล และส่งขายยังประเทศมาเลเซีย (ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ, ม.ป.ป.: ออนไลน์)
ชุมชนท่องเที่ยวบ้านพญาบังสา. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thailandtourismdirectory.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].
วีรพจน์ ลำโป. (2556). การพัฒนารูปแบบการทำนาข้าวอินทรีย์ของชุมชนเขาพระยาบังสา ตำบลควนโพธิ์ อ.เมือง จังหวัดสตูล. สำนักงานกองทุนสนัยสนุนการวิจัย.
ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ. (ม.ป.ป.). ข้าวอัลฮัมดุลิลละห์. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.thairicedb.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].
องค์การบริหารส่วนตำบลควนโพธิ์. (ม.ป.ป.). กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เขาพญาบังสา. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://khuanpho.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566].