Advance search

ตำบลนาทอน พื้นที่ 1 ใน 7 พื้นที่ภาคใต้ที่มีชาวมานิเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับชาวท้องถิ่นเดิม ภายใต้ความถ้อยทีถ้อยอาศัยของคนทั้งสองกลุ่ม

นาทอน
ทุ่งหว้า
สตูล
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 พ.ค. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 พ.ค. 2023
มานินาทอน


ตำบลนาทอน พื้นที่ 1 ใน 7 พื้นที่ภาคใต้ที่มีชาวมานิเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับชาวท้องถิ่นเดิม ภายใต้ความถ้อยทีถ้อยอาศัยของคนทั้งสองกลุ่ม

นาทอน
ทุ่งหว้า
สตูล
91120
6.984366183
99.75855
องค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน

ชุมชนมานินาทอนในที่นี้ หมายถึง ชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวมานิบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำในตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล โดยทั่วไปแล้วชาวมานิเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีถิ่นฐานแน่นอน ย้ายที่อยู่อาศัยไปเรื่อย ๆ หรือเรียกว่า ย้ายทับ เหตุผลในการย้ายทับของชาวมานิในอดีตส่วนใหญ่เกิดจากการที่อาหารบริเวณใกล้ทับนั้น ร่อยหรอลงไป หรือเมื่อสัตว์ป่าเริ่มหนีไปที่อื่น แต่ชาวมานิบางคนเล่าว่านอกจากเหตุผลดังกล่าว แล้วยังมีอีกสาเหตุหนึ่งคือ ความใกล้ไกลของสิ่งปฏิกูล กล่าวคือ ตอนตั้งทับเสร็จในวันแรก ๆ เมื่อ ถึงเวลาขับถ่าย สมาชิกในทับก็จะเดินไปในทิศทางรอบ ๆ ทับแต่เป็นระยะทางไกล วันต่อมาก็ค่อยใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ จนมาถึงใกล้ทับ ทําให้ไม่สะดวกในการที่จะอยู่ใกล้สิ่งเหล่านั้น จึงต้องพากันย้ายทับไปยังแหล่งใหม่

แต่สําหรับชาวมานิกลุ่มตําบลนาทอน อําเภอทุ่งหว้านั้น การเดินทางเร่ร่อนครั้งสุดท้ายอยู่ในช่วงที่กลุ่มนี้เดินทางอยู่แถบแนวเขาในอําเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ต่อจากนั้นก็ย้ายที่อยู่มาสร้างกระท่อมแทนการสร้างทับที่ตําบลนาทอนมาจนกระทั่งปัจจุบัน

อาณาเขตและที่ตั้ง

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
  • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล
  • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลป่าแก่บ่อหิน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลขอนคลาน ตำบลทุ่งบุหลัง อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล

ที่อยู่อาศัยชาวมานินั้นตั้งอยู่บนเนินเขาซึ่งมีระยะทางห่างจากอําเภอทุ่งหว้า ประมาณ 30 กิโลเมตร โดยตําแหน่งที่อยู่อาศัยของชาวมานิจะอยู่บริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำตําบลนาทอน มีลักษณะเป็นเนินเขาและภูเขาที่สลับซับซ้อน โดยอยู่ในเขตพื้นที่สวนยางของชาวบ้าน มีเส้นทางเข้าไปยังตัวกระท่อมชาวมานิโดยนับจากเส้นถนนหลักเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร เส้นทางเป็นถนนลูกรัง รอบข้างเต็มไปด้วยสวนยางและป่าดิบชื้น

จํานวนประชากรชาวมานิที่อาศัยอยู่ในตำบลนาทอนรวมถึงพื้นที่อื่นในประเสไทยนั้น เป็นการยากที่จะกําหนดจํานวนอย่างชัดเจนว่ามีจํานวนเท่าไหร่ เนื่องจากชาวมานิไม่มีบัตรประชาชน และไม่มีสําเนาทะเบียนบ้านเพราะชาวมานิไม่ใช่พลเมืองของประเทศไทย มีการเดินทางไปมาระหว่างกลุ่มอยู่ ตลอดในบางครั้งก็เดินทางข้ามไปมาระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย แต่พบว่าปัจจุบันกลุ่มชาวมานิที่อาศัยอยู่ในภาคใต้มีประมาณ 7กลุ่ม กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล ยะลา โดยส่วนใหญ่จะเดินทางไปมาหาสู่กันตลอด โดยแต่ละกลุ่มจะมีหัวหน้ากลุ่ม ซึ่งมี จํานวนกลุ่มดังนี้

  • กลุ่มนายทวี ศรีธารโต อาศัยอยู่บริเวณตําบลนาทอน อําเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ประมาณ 14 คน

  • กลุ่มนายลอย ศรีธารโต อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เนินเขาอําเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง มีเด็กและผู้หญิงรวมกันประมาณ 8-9 คน

  • กลุ่มนายสังข์ ศรีธารโต อาศัยอยู่ในเขตตําบลเจ้าพะ อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประมาณ 20 คน

  • กลุ่มนายไข่ ศรีธารโต อาศัยอยู่บริเวณสันเขาในเขตตําบลเจ้าพะ อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประมาณ 20 คน

  • กลุ่มนายเจ๊ะ ศรีธารโต อาศัยอยู่บริเวณตําบลควนไม้ดํา อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประมาณ 10 คน

  • กลุ่มนายไข่ ศรีธารโต อาศัยอยู่บริเวณน้ำตกวังสายทอง ตําบลมะนัง อําเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ประมาณ 20 คน

  • กลุ่มนายโต๊ะ ศรีธารโต อาศัยอยู่ในบริเวณเขาติ่ง ตําบลทุ่งยาว อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประมาณ 20 คน

สภาพเศรษฐกิจ ขั้นพื้นฐานที่ทําให้ชาวมานิมีชีวิตอยู่รอดได้ไม่ใช่เพียงแค่การล่าสัตว์เพียงอย่างเดียว การทําสวนยางที่ชาวบ้านได้เป็นผู้สอนให้แก่ชาวมานินั้น ก็มีผลทําให้ชาวมานิมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ พื้นที่สวนใหญ่ทางภาคใต้ โดยเฉพาะตามชนบทหรือภูเขา จะเต็มไปด้วยต้นยาง ชาวมานิจะรับจ้างตัดยาง และบางครั้งก็ใช้พื้นที่ในสวนยางเป็นที่ปักหลักสร้างทับที่อยู่อาศัยถาวร

อาชีพการหาสมุนไพรก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สำคัญของชาวมานิ เนื่องจากชาวมานิมีความเชี่ยวชาญในการเดินป่า และรู้จักพืชพรรณนานาในป่าเป็นอย่างดี การหาสมุนไพรจึงเป็นสิ่งที่ชาวมานิชำนาญ โดยมักนิยมนำสมุนไพรที่หาได้ไปแลกกับเสื้อผ้าและอาหารจากชาวบ้านในท้องที่

ที่อยู่อาศัย

ที่พักอาศัย หรือทับของชาวมานิกลุ่มตําบลนาทอนในปัจจุบัน จะมีลักษณะเป็นกระท่อมสี่เหลี่ยมหลังเล็ก ๆ มุงหลังคาด้วยสังกะสีเก่า และกั้นฝาด้วยไม้กระดาน ชาวมานิต้องสร้างทับทุกครั้ง เมื่อพบพื้นที่ทํากินใหม่และจะทิ้งทับหลังเก่าไว้ เพราะการย้ายที่ทํากินนั้นมีอยู่ตลอดระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ชาวมานิจะหา ตําแหน่งพื้นที่อาศัยตามความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า โดยจะหาตําแหน่งที่ตั้งใกล้กับบริเวณแหล่งน้ำ

ภายในทับนั้น บางครอบครัวจะสร้างแคร่หรือที่เรียกในภาษามานิว่า “วะ” เพื่อไว้สําหรับยกพื้นที่ใช้นอน จะสร้างให้สูงกว่าพื้นดินประมาณ 1 ฟุต โดยใช้ไม้ง่ามมาค้ำไว้ 2 ด้าน และใช้ไม้ไผ่มาเรียงกันในแนวลาดเอียง เพื่อระบายน้ำฝนไม่ให้ขังบนแคร่ แต่เมื่อใดก็ตามที่ชาวมานิจําเป็นต้องมานอนค้างคืนในบ้านของชาวบ้าน พวกเขาจะไม่นิยมไปนอนบนเตียงหรือแคร่ที่จัดให้ แต่จะลงไปนอนกับพื้นบ้านหรือพื้นดินในบริเวณแทน

ทับที่ชาวมานิสร้างนั้นจะสร้างอยู่กันเป็นครอบครัว ในบางกลุ่มก็จะมีประมาณ 4-5 หลัง แต่ละหลังมีระยะห่างกันประมาณ 5-6 ฟุต บางครั้งก็สร้างหันหน้าเข้าหากัน ในทับจะมีการก่อไฟขนาดเล็กไว้ตลอดเวลา เพื่อให้ความอบอุ่นแก่เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวมานิดั้งเดิม (ทยา เตชเสะเสน์, 2553: 52)

วัฒนธรรมการแต่งกาย

การแต่งกายของชาวมานิในสมัยอดีตนั้นจะเก็บเอาใบพืชหรือเปลือกต้นโสนมาทุบจนนุ่มแล้วเอามาทําเป็นกางเกง หรือนําเอาใบไม้บางชนิด เช่น ใบพุด หรือใบที่มีลักษณะกว้างและยาวมาร้อยกับเถาวัลย์แล้วนํามานุ่ง แต่ในปัจจุบันชาวมานิจะมีการพบปะกับชาวบ้านบ่อยขึ้นจึงมักจะเอาอย่างชาวบ้าน เช่น ในจังหวัดตรัง ผู้ชายนิยมนุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะ หรือผ้าขาวม้าเปลือยท่อนบน ผู้หญิงนุ่งผ้าโสร่งปาเต๊ะเช่นกัน แต่ท่อนบนสวมเสื้อปกติอย่างชาวบ้าน

วัฒนธรรมการกิน

ชาวมานิมีวิธีการแปรรูปอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่หามาได้โดยการย่างสด ไม่มีการชําแหละ ชาวป่าเชื่อว่ากระทําเช่นนี้จะทําให้เนื้อสัตว์มีกลิ่นหอม ไม่เหม็นคาว สิ่งที่น่าสังเกตคือ ชาวมานิจะไม่กินของดิบ สัตว์ที่หามาได้จะทําให้สุกโดยการย่างหรือหมกไฟ ชาวมานิเป็นคนที่กินอาหารจุ สามารถกินได้ทั้งวัน ภายในทับจะมีกองไฟตลอดเวลา มีอาหารมาย่างได้ทุกครั้งที่หามา สุกเมื่อใดก็หยิบมากินได้ตลอด แต่ชาวมานิไม่มีการกักตุนอาหารไว้กิน เมื่ออาหารหมดเมื่อใด จึงจะออกไปหาใหม่ หากหาได้ถือว่าโชคดี หากหาอาหารไม่ได้เลยก็จะไม่ได้กินอาหารกันทั้งวัน จึงเป็นเหตุให้ชาวมานิต้องการหาตําแหน่งที่อยู่อาศัยที่เป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์

นอกการแปรรูปอาหารโดยการย่างสดแล้ว ยังมีวิธีการแปรรูปอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า การหลาม คือ การนําเนื้อใส่ในกระบอกไม้ไผ่ นําเอาใบไม้มาอัดเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ แล้วเอาไปย่างบนไฟอ่อน ๆ น้ำจากเนื้อสัตว์จะไหลออกมาจะนิยมนำมาผสมกับเนื้อสัตว์เพื่อให้รสชาติดีขึ้น

อุปกรณ์ที่ใช้ในการออกล่าสัตว์ที่สําคัญในภาษามานิเรียกว่า บอกตุด (กระบอกตุ๊ด) หรือบอเลา มีลักษณะเป็นไม้ไผ่ปล้อง ยาวประมาณ 5 ฟุต เป็นไม้ไผ่ชนิดพิเศษที่มีลักษณะข้อเดียวและนํามาต่อกันประมาณ 4 ท่อน เชื่อมต่อโดยยางไม้ ใช้ลูกดอกที่ทําจากไม้ปลายแหลม ยาวประมาณ 2 ฟุต ตรงปลายแหลมเคลือบด้วยยาพิษที่ผสมจากยางไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า ยางน่อง

ความเชื่อ

ความเชื่อในสังคมของชนเผ่าที่ต้องเดินทางหาอาหารและย้ายถิ่นไปเรื่อย ๆ นั้น เป็นความเชื่อในเรื่องของวิญญาณจากสิ่งแวดล้อม จากต้นไม้ จากสัตว์ ในสังคมชาวมานินั้นเรื่องเกี่ยวกับภูตผี เป็นสิ่งที่ชาวมานิไม่อาจป้องกันได้ ผลของความเชื่อจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจําวัน เช่น การล่าสัตว์ พิธีกรรมต่าง ๆ อาทิ ความเชื่อเรื่องลูกหับ เครื่องรางที่ชาวมานินิยมนำมาแขวนที่คอ โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะเชื่อว่าสามารถปกป้องผู้สวมใส่จากภัยอันตรายได้  วัสดุบางชิ้นทําจาก เกร็ดนิ่ม ลูกหับ และเศษไม้ยืนต้น หลายชนิดที่นํามาเจาะรูตรงกลางแล้วร้อยด้วยเชือกสําหรับแขวน

ในสังคมมานิให้ความสําคัญในเรื่องพรหมจรรย์ของหญิงสาวอย่างเคร่งครัด การแตะเนื้อต้องตัวจะกระทําเพียงผู้ที่เป็นสามีเท่านั้น หากมีการแตะเนื้อต้องตัวฝ่ายหญิงจะถือฝ่ายชายคือสามีของฝ่ายหญิงแล้ว ฝ่ายชายจะต้องทําการมาสู่ขอฝ่ายหญิง นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพระจันทร์ว่า เมื่อถึงฤดูฝนจะมีเสียงฟ้าร้องอยู่เสมอ กลุ่มมานิก็จะพาสมาชิกออกมาที่โล่งแจ้ง แล้วพูดในความหมายอ้อนวอนต่อพระจันทร์พร้อม ๆ กัน ว่า “เอ ตะ ปิ บา ลา แก แบ อา ตึง” ซึ่งแปลว่า ท้องฟ้าอย่าร้องเสียงดัง หรือคํารามให้พวกเราตกใจเลย พวกเรากลัวมาก

ประเพณีการทำศพ

ในสมัยปัจจุบันชาวมานิตำบลนาทอนประเพณีเกี่ยวกับการตาย โดยการนำร่างของผู้ตายไปฝังในระยะเวลาหลังจากเสียชีวิตประมาณ 12 ชั่วโมง หรือหากเสียชีวิตตอนกลางคืนก็จะฝังในตอนเช้า หากเสียชีวิตตอนกลางวันก็จะฝังในตอนเย็น ส่วนขั้นตอนในการฝัง เป็นการขุดหลุมให้พอดีกับศพ แล้วจับร่างของผู้ตายนอนตะแคง แล้วใส่ลงไปในหลุม หากเป็นสมัยโบราณ จะมีหมอผีของกลุ่มมานิมาทําพิธีสวดอยู่ที่บริเวณรอบหลุมฝังศพพร้อมกับญาติของผู้ตาย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เครื่องดนตรีของชาวมานิในตำบลนาทอน

  • กลองบัง เป็นเครื่องให้จังหวะประเภทกลอง มีหลักของการให้เสียงคล้ายเครื่องดนตรีของชาวสุรินทร์ชนิดหนึ่ง คือ บั้ง ที่นำท่อนไผ่มากระแทกกับพื้นให้เกิดเสียง ซึ่งกลองบังของชาวมานินาทอนจะใช้วิธีการใช้กาบหมากตีบริเวณปากลำปล่องให้เกิดเสียง

  • ลาแบ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย มีลักษณะการบรรเลงคล้ายจะเข้ของไทย

  • จองหน่อง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ทำจากไม้ต้นเหนา ซึ่งจะเจริญเติบโตเฉพาะในเขตป่าดิบชื้นเท่านั้น

  • บองบง มีลักษณะคล้ายพิณเพียะหรือพิณน้ำเต้าทางภาคเหนือ จัดอยู่ในเครื่องดนตรีประเภทดุริยธนู

ภาษามานิในเขตตำบลนาทอน คือ ภาษาเกนซิว ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก โดยมีลักษณะคล้ายภาษามลายูทางภาคใต้ของไทย ปัจจุบันชาวมานิยังใช้ภาษานี้อยู่หลายแห่ง ในเขตจังหวัดตรัง สตูล พัทลุง นอกจากนี้ ชื่อของตระกูลภาษา ยังใช้เรียกชื่อแทนกลุ่มอีกด้วย เช่น มานิกลุ่มเกนซิว หรือมานิกลุ่มยะไฮ ซึ่งเป็นชื่อของภาษามานิอีกกลุ่มหนึ่ง


เด็กชาวมานิเมื่ออายุได้ประมาณ 5 ขวบ จะได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนช่องไทร ในตำบลนาทอน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่หน่วยงานจังหวัดได้เข้ามาจัดหาให้ เพื่อสนับสนุนการศึกษาของชาวมานิที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย โดยการเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนช่องไทรนั้น เด็กชาวมานิจะได้ร่วมกิจกรรมเหมือนกับเด็ก ๆ ในท้องถิ่นทั่วไป เช่น การเล่นกีฬา การแข่งขันกิจกรรมต่าง ๆ ฯลฯ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทยา เตชเสะเสน์. (2553). ดนตรีซาไกกรณีศึกษาตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ดนตรีชาติพันธุ์วิทยา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.