Advance search

กลุ่มสตรีบ้านทุ่งแกเจ้ย มีการนำแป้งสาคูจากต้นสาคูในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นของหวาน อาทิ ลอดช่อง ขนมขี้มัน รวมทั้งแปรรูปเป็นเม็ดสาคูและแป้งสาคูจำหน่าย ได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขึ้นชื่อของ ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง

หมู่ที่ 7
บ้านทุ่งแกเจ้ย
นาข้าวเสีย
นาโยง
ตรัง
ธำรงค์ บริเวธานันท์
4 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 พ.ค. 2023
บ้านทุ่งแกเจ้ย

ความเป็นมาของบ้านทุ่งแกเจ้ย เล่ากันว่า มีนักโทษชื่อ "เจ้ย" หนีการจับกุมมายังดินแดนที่เป็นทุ่งกว้างใหญ่ และมาพักอยู่ที่กระท่อมที่ตนเองสร้างขึ้น กระทั่งเสียชีวิตคากระท่อม นายพรานผ่านมาพบจึงสอบถามว่าตาแก่นี้คือใคร ต่อมาทราบว่าเป็นนักโทษหนีมาชื่อ "เจ้ย" ชาวบ้านจึงเรียกทุ่งบริเวณนี้ว่า "ทุ่งตาแก่เจ้ย" กระทั่งเพี้ยนมาเป็น "ทุ่งแกเจ้ย"


ชุมชนชนบท

กลุ่มสตรีบ้านทุ่งแกเจ้ย มีการนำแป้งสาคูจากต้นสาคูในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นของหวาน อาทิ ลอดช่อง ขนมขี้มัน รวมทั้งแปรรูปเป็นเม็ดสาคูและแป้งสาคูจำหน่าย ได้รับการยอมรับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขึ้นชื่อของ ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง

บ้านทุ่งแกเจ้ย
หมู่ที่ 7
นาข้าวเสีย
นาโยง
ตรัง
92170
7.52669975
99.73541558
องค์การบริหารส่วนตำบลนาโยง

สมัยก่อนชาวบ้านได้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ถางป่าให้โล่งเตียนจนกลายป็นทุ่งที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีลักษณะเป็นเกาะ ชาวบ้านสมัยนั้นปลูกผักทั้งเพื่การบริโภคในครัวเรือนและขายทั่วไป เช่น แตงกวา ถั่ว พริก ต่อมาเริ่มทำนา แต่การเตรียมพื้นที่ให้เป็นนาที่มีน้ำท่วมขังได้ สมัยก่อนต้องใช้ควายฝูงใหญ่ เหยียบย่ำให้เป็นหลุมลึกน้ำขังได้และทำคันนาเพื่อกักเก็บน้ำ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้ได้ผลิตที่ดีมาก อย่างไรก็ดีเมื่อได้ผลผลิตดีก็ต้องเสียภาษีมากเช่นกัน แต่มีชาวบ้านบอกกับผู้มาเก็บภาษีว่า ผลผลิตไม่ดีทั้ง ๆ ที่ข้าวออกรวงงอกงาม หน่วยราชการจึงเชื่อตามที่ชาวบ้านบอกมาโดยตลอด ดังนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อตำบล "นาข้าวเสีย" และในพื้นที่มีหมู่บ้านชื่อ นาปด ซึ่ง ปด หมายถึง โกหก

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านใสชมพู่ หมู่ที่ 5 ตำบลนาข้าวเสีย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ โคกสะบ้า
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลช่อง   
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านห้วยนุ้ย หมู่ที่ 8 ตำบลนาข้าวเสีย

ลักษณะภูมิประเทศ 

บ้านทุ่งแกเจ้ย เป็นที่ราบเชิงเขา ทางด้านตะวันออกของเทือกเขานครศรีธรรมราชหรือในท้องถิ่นเรียกว่าเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นเทือกเขาที่มีป่าไม้ปกคลุมอุดมสมบูรณ์ ฉะนั้นบริเวณพื้นที่บ้านทุ่งแกเจ้ยจึงมีลำน้ำจากเทือกเขาบรรทัดไหลผ่านในพื้นที่ ในพื้นที่มีป่าพรุเป็นป่าชุ่มน้ำ มีน้ำขังตลอดปีพืชพรรณที่พบในป่าพรุและชุมชนนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ต้นสาคู

จำนวนประชากรของชุมชนบ้านทุ่งแกเจ้ย จากการสำรวจข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2566 รายงานจำนวนประชากรบ้านทุ่งแกเจ้ย หมู่ที่ 7 ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ดังนี้ จำนวนประชากรชาย 425 คน จำนวนประชากรหญิง 412 คน จำนวนประชากรทั้งหมด 837 คน และจำนวนหลังคาเรือน 249 หลังคาเรือน

กลุ่มทางสังคมชุมชนบ้านทุ่งแกเจ้ย เป็นกลุ่มทางสังคมที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกที่ประกอบอาชีพด้านต่าง ๆ ในชุมชน การรวมกลุ่มยังมีการสร้างเครือข่ายในการจัดการท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มท่องเที่ยวเกษตร ตำบลนาข้าวเสีย จังหวัดตรัง ในการจัดการท่องเที่ยววิถีเกษตรตำบลนาข้าวเสีย กลุ่มในบ้านทุ่งแกเจ้ย อาทิ กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมือง กลุ่มเลี้ยงวัว กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มเลี้ยงหมู กลุ่มผลิตพันธุ์ยางดีร่วมใจ กลุ่มผลิตข้าวซ้อมมือ กลุ่มผักปลอดสารพิษ กลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มเครื่องแกง กลุ่มศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มผู้หญิงอนุรักษ์ป่าสาคูร่วมใจ ธนาคารกลุ่มผู้หญิงป่าสาคู

ชุมชนบ้านทุ่งแกเจ้ย นับถือพุทธศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมชุมชน จึงมีความสอดคล้องกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ในชุมชนยังประกอบด้วยวัฒนธรรมข้าว เช่น การสมโภชน์ข้าวเรียง พิธีมโนราห์โรงครู บุญเดือนสิบ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ชุมชนให้ความสำคัญ

  • พิธีสมโภชน์ข้าวเรียง เป็นประเพณีหลังฤดูเก็บเกี่ยว จะมีรถแวะมาแต่ละบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านจะนำข้าวที่เก็บจากนามาเรียงกันแล้วแต่กำมือของแต่ละคน จากนั้นนำมารวมกันที่วัดตบแต่งให้สวยงามแล้วทำพิธีสวด เมื่อเสร็จจากพิธีข้าวจะนำไปจำหน่าย ส่วนรายได้จากการขายข้าวถวายเพื่อบำรุงวัด
  • มโนราห์โรงครู เป็นส่วนหนึ่งในวิถีของคนภาคใต้มากระทั่งปัจจุบัน จุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึงการเคารพบูชาและแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่อแก้บนหรือแก้เหมฺรยและเพื่อการทำพิธีครอบครูโนรา รวมถึงการรักษาโรคต่าง ๆ 
  • สารทเดือนสิบหรือสารทไทย ประเพณีที่สำคัญของชุมชนภาคใต้ เป็นช่วงที่บรรพบุรุษเดินทางมาเยี่ยมลูกหลานยังโลกมนุษย์ ในช่วง 15 วัน เริ่มตั้งแต่ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ลูกหลานจะเตรียมสำรับอาหาร 2 ชุด คือ ปิ่นโตสำหรับถวายพระ และสำรับอาหารทั้งของคาว ของหวาน รวมทั้งสิ่งที่บรรพบุรุษชอบแยกไว้ เมื่อถวายอาหารพระเสร็จ สำรับอาหารที่เตรียมให้บรรพบุรุษ ลูกหลานนำไปนอกรั้ววัด รองด้วยหนังสือพิมพ์แล้วนำอาหารมาจัดวาง จุดธูปเรียกวิญญาณที่ไม่สามารถเข้าวัดให้มารับส่วนบุญ เรียกว่า วันรับ หลังจากครบ 15 วัน เป็น วันส่ง คือ เป็นการส่งตายายกลับ ทำพิธีเหมือนวันแรก แต่ของไหว้จัดชุดใหญ่และสวยงาม ขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของประเพณีประกอบด้วย ขนมรู ความหมายแทนเงิน ขนมบ้า ลักษณะกลมคล้ายไข่นกกระทาแทนลูกสะบ้า ขนมพอง ข้าวพองหลากสี แทนเรือขนส่งบรรพบุรุษ ขนมลา ขนมลักษณะขนาดเส้นเล็ก เป็นแพหรือแผ่น สำหรับเปรตปากเท่ารูเข็ม ขนมเทียน แทนเทียนส่องสว่าง

ด้านการประกอบอาชีพ

ชุมชนทุ่งแกเจ้ย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การทำสวนยางพารา การทำนา การปุสัตว์ การค้าขาย รับจ้าง ด้านการทำนาสมาชิกในชุมชนประกอบอาชีพนี้มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ อย่างไรก็ตามบางส่วนถมที่นาเป็นสวนยางพารา แต่ปัจจุบันการทำนาก่อให้เกิดมูลค่าทางการท่องเที่ยว การส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่นตำบลข้าวนาเสียทำให้เกิดการสร้างมูลค่าจากการทำนาในพื้นที่ตำบลข้าวนาเสียซึ่งรวมถึงบ้านทุ่งนาเจ้ย

1. นายทอง สุขคุ้ม (ตาทอง)  ปราชญ์ด้านความเชื่อในการรักษาและดูแลสุขภาพด้วยคาถา

2. นางกวน สุขคุ้ม (ยายกวน)  ปราชญ์ด้านความเชื่อในการรักษาและดูแลสุขภาพด้วยคาถา

3. นางเขื่อน หนูกล้า (ยายทวด)  ปราชญ์ด้านความเชื่อในการรักษาและดูแลสุขภาพด้วยคาถา

4. นางคอง ช่วยสงค์ (ยายคอง)  ปราชญ์ด้านความเชื่อในการรักษาและดูแลสุขภาพด้วยคาถา

5. นางอารีย์ จันทร์เกตุ (น้ารีย์)  ปราชญ์ด้านความเชื่อในการรักษาและดูแลสุขภาพด้วยคาถา

6. นางล่อง หนูแก้ว (ยายล่อง)  ปราชญ์ด้านความเชื่อในการรักษาและดูแลสุขภาพด้วยคาถา

7. นางละเมียด รัตนะ (แม่ละเมียด)  ปราชญ์ด้านความเชื่อในการรักษาและดูแลสุขภาพด้วยคาถา

ทุนวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น

1. ภูมิปัญญาดการรักษา

การรักษาอาการเจ็บป่วยโดยใช้คาถา สมัยที่การสาธารณสุขยังไม่เข้าถึงอย่างครอบคลุม ชุมชนมีการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยวิถีภูมิปัญญาของชุมชน จำแนกเป็น 2 ประเภท คือ

  • คาถาที่ใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยและบำรุงสุขภาพ มี 9 คาถา 16 บท
  • คาถาที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพจิตและบุคลิกภาพมี 23 คาถา 34 บท

อย่างไรก็ดีการรักษาแต่ละประเภทมีวิธีการรักษาแตกต่างกัน คือ

  • คาถาที่ใช้การเป่าเสก วิธีนี้ใช้ได้กับคาถาทุกประเภทเพราะการเป่าเสกเป็นวิธีการเริ่มต้นของคาถาอื่น ๆ
  • คาถาที่ใช้การกดบีบและนวด เป็นวิธีการรักษาต่อจากการเป่า เพราะการรักษาด้วยการบีบนวดต้องใช้อุปกรณ์การนวด เช่น น้ำมันขันหรือน้ำมันมะพร้าว ก่อนใช้ต้องมีการเป่ามนต์ก่อนเสมอ

ตัวอย่างการรักษาด้วยคาถา

1. คาถาที่ใช้ในการรักษาความเจ็บป่วยและบำรุงสุขภาพ ปัดพิษสัตว์มีพิษ คาถานี้ใช้รักษาพิษที่ทำให้คัน เช่น พิษงูที่ไม่ร้ายแรง ตะขาบ แมงป่อง ปลาดุกนา  เมื่อถูกจะมีพิษเหล่านี้กัดสามารถใช้คาถารักษาได้ โดยผู้ที่มีคาถาใช้รักษาตนเองและใช้รักษาผู้อื่นได้ด้วย

2. คาถาที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาพจิตและบุคลิกภาพ คาถาประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องมีส่วนประกอบอะไรให้เป็นพิธีการ มักจะเป็นการกล่าวคาถา เพื่อความสบายใจแต่ก็มีบางคาถา บางบทที่ต้องมีพิธีกรรมเล็ก ๆ ได้แก่ การเสกหรือเป่าสิ่งของให้กิน หรือสิ่งของให้ใช้ทาตามร่างกายและบางบทก็ต้องดูทิศทางที่จะกล่าวประกอบกับคาถาด้วย

คาถาเสกกล้วยให้เด็กกิน คาถานี้ใช้เสกกล้วยน้ำว้าหรือน้ำผึ้งรวงให้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนกว่าคลอด โดยที่ผู้เสกคาถานั้นจะเสกกินเองหรือเสกให้คนอื่นก็ได้

อุปกรณ์  1.กล้วยน้ำว้าหรือน้ำผึ้งรวง  2.เทียนขาว 1 เล่ม

วิธีการใช้

คาถานี้ใช้กับหญิงที่เริ่มรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ โดยการนำเอากล้วยน้ำว้าหรือน้ำผึ้งรวงที่หามาได้หรือตามแต่จะชอบกินมาให้ผู้ที่มีคาถาเสกให้ โดยผู้ที่มีคาถานั้นจุดเทียนขาวไว้ข้างหน้า แล้วนำกล้วยหรือน้ำผึ้งรวงพนมมือ จากนั้นกล่าวคาถา อุอุ อะอะ อะมะ อะตะ อะติ กล่าว 3 ครั้ง จากนั้นเป่าลงสิ่งที่เสกและนำกล้วยหรือน้ำผึ้งรวงที่เสกแล้วกินทุกวันหรือตามสะดวกที่จะกิน คาถานี้เชื่อว่าเมื่อเด็กเกิดมาจะฉลาดผิวพรรณดี และทำให้ผู้เป็นแม่คลอดง่าย (กษิดิ์เดช เดชกิตติกุล, 2548)

2. ภูมิปัญญาทำแป้งสาคู จากต้นสาคู

ต้นสาคู จัดเป็นพืชตระกูลปาล์ม ลำต้นสามารถนำมาผลิตแป้งสาคู กรรมวิธีการให้ได้มาซึ่งแป้งสาคู เริ่มจากการโค่นต้นสาคู จากนั้นนำมาตัดให้มีลักษณะเป็นท่อน ขนาดของท่อนต้นสาคูขึ้นอยู่กับความสามารถในการลำเลียงต้นสาคูออกมาจากพื้นที่ เมื่อได้ต้นสาคูจากนั้นฝนเปลือกออกด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า เล็บแมว มีลักษณะเป็นแผ่นไม้ขนาราว ๆ ฝ่ามือ ตอกด้วยตะปู สำหรับการขูด ปัจจุบันนำที่เครื่องขูดมะพร้าวมาใช้แทน เล็บแมว เพราะสะดวกรวดเร็วกว่าวิธีเดิม

เมื่อได้ไม้สาคูที่ลอกเปลือกขั้นตอนถัดมาคือ การตำต้นสาคูกระทั่งเนื้อไม้ละเอียดจากแล้วคั้นสาคู (เช่นเดียวกับคั้นมะพร้าว) ผ่านผ้าขาวบาง เนื้อแป้งสาคูจะผ่านผ้ากรองลงกะละมังที่รองน้ำแป้งสาคู  ควรคั้นให้ได้ 3 น้ำเพราะปริมาณแป้งจะมากกว่าคั้นเพียง 1 – 2 ครั้ง จากผ้ากรองสีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลนั่นคือยางของต้นสาคู แป้งสาคูคั้นได้จะตกตะกอนและจมอยู่ในน้ำสีน้ำตาลภายในภาชนะรอง กรรมวิธีการเก็บรักษาแป้งสาคูโดยการนำแป้งสาคูที่ได้ห่อด้วยผ้าขาวบาง ทุกพอแหลกนำออกจากแดดแรง 2 แดด ก็จะได้แป้งสาคู และหากนำแป้งสาคูที่ตากไว้หมาดๆ มาร่อนก็จะได้เม็ดสาคูกลม

กลุ่มผู้หญิงป่าสาคูร่วมใจชุมชนบ้านทุ่งแกเจ้ยแป้งสาคู นำแป้งสาคูที่ได้มาทำอาหารหวานซึ่งได้รับความนิยมจากทั้งสมาชิกในและนอกชุมชน อาทิ ขนมขี้มัน ลอดช่องแป้งสาคู กรรมวิธีการทำขนมขี้มันเริ่มจากการนำแป้งสาคู น้ำกะทิ น้ำตาลทรายแดงและเกลือ ผสมเข้าด้วยกันด้วยกันตั้งไฟเคี่ยวค่อย ๆ กวนให้แป้งจับตัวเหนียว  เมื่อได้ความเหนียวพอดีนำเทใส่พิมพ์หรือถาดรอให้เย็น กินพร้อมกับกะทิที่เคี่ยวให้ตกตะกอนเป็นก้อนกรวดสีน้ำตาล

ขนมลอดช่องน้ำตาลจาก เป็นอีกหนึ่งอาหารหวานทีสมาชิกกลุ่มใช้แป้งสาคูเป็นวัตถุดิบในการทำขนม ขั้นตอนการทำเริ่มจากนำแป้งสาคูผสมกับแป้งถั่วเขียว เติมน้ำตั้งไฟกวนกระทั่งเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อแป้งสุกเข้ากันพอเหมาะแกการทำเป็นลอดช่อง จึงเทแป้งใส่อุปกรณ์ที่เจาะรูโดยการใช้ฝาหม้อกดแป้งที่เทให้ไหลผ่านตามช่อง ก็จะได้ลอดช่องสีน้ำตาล นำไปกินกับน้ำกะทิที่ผสมน้ำตาลจาก เป็นขนมลอดดช่องแป้งสาคูที่ได้รับการยอมรับจากทั้งในและนอกชุมชนของบ้านทุ่งแกเจ้ย (แนวหน้า, 2566) (สุทธิดา อุ่นจิต, 2562)

ภาษาถิ่นภาคใต้ จังหวัดตรัง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กษิดิ์เดช เดชกิตติกุล (2548). คาถาสามัญประจำบ้าน: ความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพด้วยคาถา บ้านทุ่งแกเจ้ย หมู่ที่ 7 ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร.

วสันต์พรรษ จำเริญนุสิต. (2562, 13 ธันวาคม). อบต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง เปิดจุดเช็คอินใหม่ท่องเที่ยวต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ชมถนนทุ่งปอเทืองขนาบสองข้างทาง ระยะทางกว่า 800 เมตร ท่ามกลางบรรยากาศที่สดชื่น มองเห็นภูเขาลมพัดเย็นสบายชมทุ่งนาเขียวขจีเต็มพื้นที่ พายเรือคายัค ริมคลอง. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. ค้นจาก https://thainews.prd.go.th/

เที่ยวตรังแวะกิน 'ลอดช่องแป้งสาคู'ละมุนนุ่มลิ้นสุดแสนอร่อยจากป่าสาคูผืนสุดท้าย. (2566, 6 เมษายน). แนวหน้า. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. แนวหน้า. ค้นจาก https://www.naewna.com/

สุทธิดา อุ่นจิต. (2562). ตามหาต้นกำเนิดแป้งสาคูและเรียนทำขนมปักษ์ใต้จากแป้งสาคูแท้ 100% ที่ชุมชนป่าสาคู ตรัง. ค้นจาก https://readthecloud.co/sago-trang/