
ชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ เป็นชุมชนที่มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนให้เป็นสมบัติของชุมชนเพื่อลูกหลานในชุมชนได้รับผลประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของป่า
"ทุ่งตาเซะ" เพี้ยนมาจาก "ทุ่งโต๊ะเซะ" คำว่า "โต๊ะ" มุสลิม หมายถึง ปู่ เล่ากันว่า โต๊ะเซะ ใช้บริเวณนี้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ จนวันหนึ่ง โต๊ะเซะ ได้หายตัวไป บ้างก็กล่าวว่าเห็น โต๊ะเซะ เป็น งูใหญ่ หรือ เปลี่ยนรูปร่างหน้าตามีหนวดเครา ผู้คนต่างร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อมีงานบุญใดก็จะเอ่ยชื่อ โต๊ะเซะ ก่อนเสมอเพื่อแสดงความเคารพ หากใครนำสัตว์มาเลี้ยงบริเวณทุ่งที่โต๊ะเซะเคยอาศัย แล้วไม่กล่าวให้ความเคารพก็จะเจ็บป่วย วันเวลาล่วงไปกระทั่งเพี้ยนมาเป็น "ทุ่งตะเซะ"
ชุมชนบ้านทุ่งตะเซะ เป็นชุมชนที่มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนให้เป็นสมบัติของชุมชนเพื่อลูกหลานในชุมชนได้รับผลประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของป่า
ความต้องการขยายพื้นที่ทำกิน ทำให้เกิดการขยายพื้นที่โดยการถางป่าจับจองเป็นเจ้าของที่ดิน ลักษณะใครต้องการเท่าไรก็ถางป่าขยายพื้นที่ไปเท่านั้น นอกจากนี้ในอดีตพื้นที่เป็นที่หลบซ่อนของกลุ่มโจร ปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อรักษาความสงบและปราบปรามโจรกระทั่งหมดไปจากพื้นที่ จากนั้นจึงมีชาวบ้านบุกเบิกจับจองพื้นที่เพิ่มขึ้น ปี พ.ศ. 2527 มีการตัดถนนลูกรังเข้าสู่หมู่บ้าน และประกาศให้พื้นที่เป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์เพื่อป้องกันการบุกรุก แต่ยังมีการบุกรุกเข้ามาเนือง ๆ ในปี พ.ศ. 2534 จึงแยกออกจากหมู่ที่ 4 เป็น หมู่ที่ 9 บ้านทุ่งตาเซะ
- ปี พ.ศ. 2506 มีการตัดถนนเข้าหมู่บ้านลักษณะเป็นทางเดินเท้าและทางเดินรถเล็ก ๆ
- ปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งตาเซะพัฒนา
- ปี พ.ศ. 2527 มีการตัดถนนลูกรังเข้าหมู่บ้านและมีการประกาศจากทางราชการให้เป็นพื้นที่ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์
- ปี พ.ศ. 2534 แยกการปกครองจากหมู่บ้านท่าบันได หมู่ที่ 4 มาเป็น หมู่ที่ 9 บ้านทุ่งตาเซะ ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง
- ปี พ.ศ. 2537 มีไฟฟ้าและระบบประปาหมู่บ้าน จากสระน้ำของหมู่บ้านทุ่งตาเซะ
บ้านทุ่งตาเซะ หมู่ที่ 9 ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ลุ่มน้ำบางเหรียง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ลุ่มน้ำปะเหลียน
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อ่าววังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านท่าบันได อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ลักษณะทางกายภาพของชุมชนเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพัดพา จากคลองปะเหรียนและคลองบางเหรียง การทับถมของตะกอนน้ำพัดพาทับถมบริเวณปากคลอง ทำให้พืชพรรณประจำถิ่นบริเวณนี้เป็นไม้ชายเลน ซึ่งชุมชนใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนในการเป็นพื้นที่อนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งอาหารของชุมชน
จำนวนประชากรของชุมชนบ้านตะเซะ จากการสำรวจข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2566 รายงานจำนวนประชากรบ้านทุ่งตะเซะ หมู่ที่ 9 ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ดังนี้ จำนวนประชากรชาย 250 คน จำนวนประชากรหญิง 241 คน จำนวนประชากรทั้งหมด 491 คน และจำนวนหลังคาเรือน 123 หลังคาเรือน
วิถีชีวิตชุมชนทุ่งตาเซะ
สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากรุ่นบุกเบิกเข้ามาอยู่ในชุมชนเมื่อราว 60 ปีก่อน เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม มาจากหมู่ที่ 4 บ้านท่าบันได ส่วนผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ มาจากบ้านหินคอกควาย หมู่ที่ 3 ปัจจุบันนี้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธมีน้อยกว่า อีกทั้งมีการแต่งงานกับผู้หญิงศาสนาอิสลาม ผู้ชายจึงเปลี่ยนศาสนาตามประเพณีวัฒนธรรมในชุมชน ฉะนั้นชุมชนจึงมีลักษณะเด่นของศาสนาอิสลามมากกว่า ส่วนคนไทยพุทธเมื่อถึงวันทำบุญ วันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา จะไปทำบุญที่วัดใกล้เคียง คือ วัดบ้านท่าบันได ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดร้าง ห่างจากมัสยิดของหมู่บ้านเข้าไปในป่า จนบางคนเรียกว่าวัดป่า นอกนั้นไปทำบุญที่วัดในอำเภอย่านตาขาว ความสัมพันธ์ชุมชนทุ่งตาเซะส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกันมีตระกูลใหญ่ ได้แก่ ตระกูลฮั้นเย็ก ตระกูลสารคุณ ตระกูลรักษารักษ์ ตระกูลนิลพัน ตระกูลไพบูรณ์
ประเพณีท้องถิ่นและวันสำคัญทางศาสนาของสมาชิกชุมชนบ้านทุ่งตาเซะ ที่นับถือพุทธศาสนา ประกอบด้วยการทำบุญวันสำคัญทางศาสนาหรือวันพระใหญ่ วันสารทเดือนสิบ ประเพณีลากพระ
ส่วนสมาชิกชุมชนที่นับถือศาสนาอิสลาม มีการประกอบพิธีกรรมและวันสำคัญตามแนวทางของวัฒนธรรมอิสลาม กล่าวคือ การละหมาด การถือศีลอด วันฮารีรายอ
การประกอบอาชีพ
อดีตชาวบ้านทุ่งตาเซะ บางส่วนทำสวนผลไม้ เช่น มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ ต่อมามีการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น ปัจจุบันการทำอาชีพสวนยางพาราเป็นอาชีพหลักของชุมชน นอกจากนี้มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สลับกับการปลูกแตงโมตามฤดูกาล ชาวบ้านทำอาชีพเสริมด้วยการทำประมงพื้นบ้าน เช่น การตกเบ็ด การทำไซปู การหาหอยปะ อวนลอยปลากระบอก ปลากะพง แต่มักทำในช่วงที่กรีดยางไม่ได้ คือ ช่วงที่ฝนตกติดต่อกันหลายวันหรือช่วงฝนแล้ง บางครั้งทำช่วงหลังจากที่กรีดยางเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนอาชีพที่เสริมอีกอาชีพหนึ่ง คือ การทำผลิตภัณฑ์จากต้นจาก นอกจากนี้มีการทำอาชีพรับจ้าง ทำงานโรงงาน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง
ทุนทรัพยากรธรรมชาติ
ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนบ้านทุ่งตาเซะเป็นความภาคภูมิใจของชุมชน ความอุดมสมบูรณ์นี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในชุมชน เพื่อปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติท้องถิ่น เพราะป่าเป็นแหล่งอาหารและแหล่งยาสมุนไพร รวมถึงแหล่งรายได้ของชุมชน ชุมชนมีหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน ดังนี้
- ห้ามใช้ประโยชน์ใด ๆ จากป่าในแปลงอนุรักษ์ยกเว้นการจับสัตว์น้ำ
- ถ้าชาวบ้านคนใดมีความต้องการใช้ไม้ ต้องแจ้งให้คณะกรรมการป่าชายเลนชุมชนทราบ และต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการป่าชุมชน ถึงความสมเหตุสมผลในการขอใช้ไม้ และมีการตรวจสอบจำนวนไม้ที่ขอตัด
- ไม่อนุญาตให้ตัดไม้ในป่าชุมชนเพื่อนำไปค้าขาย
- ชาวบ้านคนใดตัดไม้ไปใช้ประโยชน์ 1 ต้นต้องมีการปลูกทดแทน 5 ต้นและดูแลจนโตอายุ 5 ปี
- ชาวบ้านคนใดไม่ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับป่าชุมชน เช่น การปลูกเสริมต้นไม้ในป่าชายเลนจะไม่อนุญาตให้ชาวบ้านคนนั้นได้ใช้ไม้
- ถ้าบุคคลใดเข้าตัดไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จากคณะกรรมการป่าชายเลนชุมชน มีบทลงโทษปรับเป็นเงิน 5,000 - 10,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนไม้ที่ลักลอบตัด หรือส่งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
- บุคคลภายนอกเข้ามาเก็บหาสมุนไพรในเขตป่าชายเลนชุมชน
ภาษาถิ่นใต้ จังหวัดตรัง
อภิชา คุณวันนา (2548). อาหารและยา ความหลากหลายที่มีค่า ของป่าทุ่งตะเซะ: กรณีศึกษา: บ้านทุ่งตะเซะตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร.
MGR online. (2555, พ.ย. 19). ป่าทุ่งตะเซะ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขุมทรัพย์ที่ชุมชนหวงแหน. สืบค้นจาก: https://mgronline.com/
ThaiPBS ศูนย์ข่าวภาคใต้. (2021, พ.ย. 19). วิถีชีวิตเด็กชุมชนป่าชายเลนบ้านทุ่งตะเซะ จ.ตรัง. [วิดิโอ]. https://www.youtube.com/