Advance search

ชุมชนแหลมมะขามเป็นชุมชนที่สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนและสั่งสมภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน

หมู่ที่ 5
บ้านแหลมมะขาม
เขาไม้แก้ว
สิเกา
ตรัง
ธำรงค์ บริเวธานันท์
16 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 พ.ค. 2023
บ้านแหลมมะขาม


ชุมชนชนบท

ชุมชนแหลมมะขามเป็นชุมชนที่สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนและสั่งสมภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน

บ้านแหลมมะขาม
หมู่ที่ 5
เขาไม้แก้ว
สิเกา
ตรัง
92150
7.62676334
99.27144
องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว

ประวัติของชุมชนแบ่งเป็น 3 ยุค 

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการอพยพผู้คนจากบ้านแหลมไทรมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านแหลมมะขามในปัจจุบัน ถึงแม้ย้ายมายังพื้นที่ใหม่การดำรงชีวิตของผู้คนที่ย้ายเข้ามาก็มีความเคร่งครัดในแบบแผนทางศาสนาอิสลามดั้งเดิม มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ให้ความสำคัญกับการทำประมงชายฝั่ง แต่บางส่วนเป็นลูกจ้างของนายทุนชาวจีนทำนาทำสวนเป็นอาชีพเสริมซึ่งให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องนำปลาไปแลกข้าวทุเรียนหมากพลูและน้ำมันจากหมู่บ้านบนฝั่ง 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายทุนชาวจีนหยุดชะงักกิจการต่าง ๆ และเป็นช่วงเดียวกับรัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ 2484  ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2486  เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาทำสัมปทานไม้และเข้ามาตั้งโรงงานเผาถ่านในพื้นที่ จึงทำให้มีผู้คนอพยพจากที่อื่นเข้ามาในบ้านแหลมมะขามมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน กลุ่มคนที่เข้ามามีหลากหลาย เช่น จีน มาเลเซีย พม่า

ขณะเดียวกันการที่มีคนหลากหลายอยู่ในพื้นที่ทำให้เกิดความแตกต่างและมีความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันกล่าวคือ กลุ่มผู้มีบทบาทนำทางเศรษฐกิจมักได้แก่นายทุนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของกิจการหลุมถ่าน และการปล่อยให้เชื่อสินค้า ส่งผลให้นายทุนท้องถิ่นมีอำนาจเหนือชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ยากจน เพราะมีลักษณะเป็นที่พึ่งพิงของชาวบ้านกล่าวอีกนัยยะหนึ่งคือ เกิดโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบอุปถัมภ์ในชุมชน

การตั้งโรงงานเผาถ่านส่งผลให้ชาวบ้านทั้งหมดยึดอาชีพแรงงานรับจ้าง และนำรายได้ที่เป็นเงินไปแลกซื้อสินค้าที่จำเป็นในครัวเรือนจากเจ้าของกิจการหลุมถ่าน ในขณะที่การทำประมงชายฝั่งได้แปรสภาพเป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น อย่างไรก็ดีสภาวะการณ์เช่นนี้ไม่ได้ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง  

ยุคทำลายทรัพยากร

ในช่วง พ.ศ 2510 เป็นช่วงการขยายตัวของการทำประมงฝั่งอันดามันมีนายทุนชาวจีนมาตั้งแพ เพื่อรับซื้อปลาจากชาวบ้าน วิถีการผลิตของชุมชนจึงเริ่มเปลี่ยนกลับไปสู่การทำประมงชายฝั่ง ขณะเดียวกันเจ้าของแพปลาก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านกู้ยืมเงิน เพื่อซื้อเรือ เครื่องยนต์และเครื่องมือจับปลา โดยผ่อนชำระด้วยการหักจากราคาสินค้าที่ชาวบ้านนำมาขายให้กับเจ้าของแพ

สภาพการดังกล่าวก่อให้เกิดวิกฤตด้านทรัพยากรชายฝั่งทางทะเล ปริมาณไม้ลดลง สภาพป่าชายเลนเริ่มเสื่อมโทรม ปริมาณสัตว์น้ำลดน้อยลง เนื่องมาจากการขยายตัวของการทำประมงเชิงพาณิชย์ ทำให้ชาวบ้านที่หากินบริเวณริมฝั่งด้วยเครื่องมือพื้นบ้าน ไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้เพียงพอต่อการบริโภค

ยุคฟื้นฟูทรัพยากร

ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้เกิดความตระหนักถึงภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นทั้งผู้อาวุโส คนหนุ่ม ผู้นำทางศาสนาและชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกัน พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่ชาวบ้านกำลังประสบอยู่ และเห็นพ้องกันว่า ต้องชักชวนให้ชาวบ้านเลิกใช้เครื่องมือจากสัตว์น้ำที่ทำลายทรัพยากร วิธีการดำเนินการให้ชาวบ้านเลิกใช้เครื่องมืออาศัยการพูดคุยกัน โดยเฉพาะในช่วงพิธีการละหมาดวันศุกร์ของทุกสัปดาห์ ช่วงแรกไม่ได้ผลแต่ในที่สุดสุดทุกคนก็ให้ความร่วมมือ กลับมาช่วยกันทำงานด้านอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพทรัพยากรป่าชายเลนให้เข้าสู่สภาพเดิม 

บ้านแหลมมะขาม หมู่ที่ 5 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ภายใต้การปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว ห่างจากอำเภอสิเกา 25 กิโลเมตร

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านบางค้างคาว หมู่ 4  ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ทะเลอันดามัน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองกะลาเส
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ป่าชายเลน

ลักษณะของพื้นที่

ชุมชนบ้านแหลมมะขามตั้งอยู่ติดกับทะเลและคลอง จึงมีพืชพรรณไม้ชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นในพื้นที่ ชุมชนใช้ประโยชน์จากไม้ในป่าชายเลน เช่น การสร้างบ้านเรือน ป่าชายเลนครอบคลุมบริเวณพื้นที่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้  บริเวณหน้าหาดมีแนวหญ้าทะเลขึ้นกระจาย เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำจำพวกหอยกะพง สาหร่ายที่สามารถนำมาเป็นอาหาร ส่วนแนวป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่เป็นเสมือนแหล่งอาหารของชุมชน

จำนวนประชากรของชุมชนบ้านแหลมมะขาม จากการสำรวจข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2566 รายงานจำนวนประชากรบ้านบ้านแหลมมะขาม ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ดังนี้ จำนวนประชากรชาย 405 คน จำนวนประชากรหญิง 375 คน จำนวนประชากรทั้งหมด 780 คน จำนวนหลังคาเรือน  217 หลังคาเรือน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

สมาชิกชุมชนบ้านแหลมมะขาม ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก ซึ่งประกอบอาชีพประมงมาตั้งแต่รุ่นพ่อ จึงดำรงชีวิตในท่ามกลางวิถีการทำประมงมาตั้งแต่ยังเด็ก การทำประมงสามารถทำได้ตลอดปี เครื่องมือที่ใช้ในการทำมาหากินเป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน อาทิ อวนจมปูม้า อวนลอยปลากระบอก อวนลอยกุ้ง อวนลอยปลา เป็นต้น และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังสามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งปี เช่น ปลาเก๋า เมื่อได้ขนาดสามารถขายได้ในราคาสูง ขณะเดียวกันก็ทำอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริม เช่น ปลูกปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา แต่ราคายางพารามีความผันผวน ไม่แน่นอน นอกจากนี้มีการทำอาชีพรับจ้างต่าง ๆ และการเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่

การทำประมงเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน พื้นที่การทำประมงจึงอยู่ไม่ไกลจากบ้านแหลมมะขาม ส่วนเครื่องมือประมงพื้นบ้านชาวบ้านสามารถประดิษฐ์จากทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น เครื่องมือการทำประมงไม่มีลักษณะการทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทั้งแนวหญ้าทะเล ป่าชายเลน การออกเรือทำประมงมักเป็นผู้ชายแต่มีสมาชิกในครอบครัวร่วมออกเรือด้วยเช่นลูก หลาน ฉะนั้นผู้ที่ประกอบอาชีพประมงจึงเรียนรู้และทำประมงมาตั้งแต่อายุน้อย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนวัฒนธรรมของชุมชนบ้านแหลมมะขาม คือ ศาสนา ความเชื่อและพิธีกรรม ซึ่งนำไปสู่การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติในชุมชน ความศรัทธาตามหลักของศาสนา เป็นทุนวัฒนธรรมของชุมชน จึงมีการประยุกต์ใช้หลักคำสอนทางศาสนาในการอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชน กล่าวคือ

  • คำสอนสอนให้ประหยัด ให้ทุกคนคำนึกว่า ทรัพยากรทุกสิ่งในโลกเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น ให้มนุษย์ทุกคนช่วยกันดูแลรักษา ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องใช้ทรัพยากรด้วยความประหยัด เช่น คำสอนที่ว่า ควรทำอาหารให้พอดีกับความต้องการ ไม่ควรรับประทานอาหารแบบทิ้งขว้าง เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ด้านการประมง คือ การจับสัตว์น้ำให้มีความพอดีกับความต้องการ ทั้งกรณีการจับสัตว์น้ำเพื่อขายและการจับเพื่อกินในครัวเรือน
  • คำสอนสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควรถนอมรักษา อย่าให้สูญสลายไป การปฏิบัติตามคำสอนจะไม่ทำให้สัตว์น้ำลดจำนวนลงหรือสูญพันธุ์ไปจากชุมชน การถ่ายทอดคำสอนนี้มีการสอดแทรกในการละหมาดทุกวันศุกร์ของชุมชน
  • คำสอนการทำลายสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นบาป ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ประทานให้แก่มนุษย์ เพื่อให้ได้อยู่อาศัย ได้กิน ผู้ใดทำลายถือว่าเป็นบาป
  • หลักคำสอนที่กล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่สมาชิกในชุมชน ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติและยึดถือในการทำประมง เฉพาะอย่างยิ่งทุกวันศุกร์มีการละหมาดที่มัสยิด การละหมาดนอกจากเป็นการขอบคุณพระเจ้าที่ให้มีแหล่งอาหารในการทำมาหากิน ยังเป็นการพบปะพูดคุยของสมาชิกในชุมชน หากมีข้อปัญหาหรือข้อหารือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน ก็จะใช้การพบปะนี้คลี่คลายข้อติดขัดหรือปัญหาที่เกิดขึ้น

ภาษาถิ่นภาคใต้ จังหวัดตรัง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กัญญารัตน์ ตลึงผล. (2558). การจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งโดยชุมชน : กรณีศึกษา ชุมชนประมงพื้นบ้านแหลมมะขาม ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง (วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต). กรุงเทพ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นจาก http://cuir.car.chula.ac.th/

มนัสศิริ ลูกรักษ์. (2543). ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำประมงเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง กรณีศึกษา ชุมชนประมงพื้นบ้าน บ้านแหลมมะขาม ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง. (วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

@ Trang ที่นี่จังหวัดตรัง. (2559). วิถีเลที่แหลมไทร-แหลมมะขาม. ค้นจาก http://www.addtrang.com/