กะปิคุณภาพดี มากมีอาหารทะเล ชายเลนมีป่า แหลมพ่อตาสวยสุด อุดมด้วยธรรมชาติ
อดีตการเดินทางมาในพื้นที่ที่ปัจจุบันเรียกว่า บ้านบางหิน (ปัจจุบัน) ต้องเดินทางโดยเรือมาทางช่องเปี๊ยะน้ำใหญ่ และต้องผ่านหินสามก้อนที่บริเวณปากคลองเพื่อขึ้นฝั่ง จึงมีเรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของหินสามก้อนนี้ว่า ถึงแม้น้ำขึ้นสูงเท่าไรก็ไม่สามารถท่วมก้อนหินนี้ได้ และมีชาวบ้านระเบิดปลาบริเวณหิน แต่แรงระเบิดก็ไม่สามารถทำให้หินแตกได้ กลับเป็นว่าชายที่ระเบิดปลาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ดังนั้น "บางหิน" จึงกลายเป็นชื่อของหมู่บ้าน
กะปิคุณภาพดี มากมีอาหารทะเล ชายเลนมีป่า แหลมพ่อตาสวยสุด อุดมด้วยธรรมชาติ
ในอดีตมีชาวบ้านจากจังหวัดตรังนามว่า ขุนหลบ ภักดี (โต๊ะหลวง) พร้อมครอบครัว ได้เดินทางอพยพผ่านปากช่องเปี๊ยะน้ำใหญ่ ผ่านหินสามก้อนที่ปากคลอง และขึ้นฝั่งที่บ้านบางหิน (ในปัจจุบัน) เมื่อขึ้นฝั่งแล้วนายขุนหลบพบว่า พื้นที่บริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทางทะเล จึงได้ตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยขึ้น ต่อมาจึงได้มีประชากรอพยพย้ายเข้ามาอย่อาศัยในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อว่า “บ้านบางหิน” ในเวลาต่อมามีการขยายตัวของประชากรและอาณาเขตของหมู่บ้านจนมีอาณาเขตสามารถก่อตั้งเป็นตำบลได้ แรกเริ่มก่อตั้งตำบลบางหินมีเพียง 2 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านชาคลี และหมู่ที่ 2 บ้านบางหิน กระทั่งถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านชาคลี บ้านบางหิน บ้านวังกุม บ้านตะเคียนงาม และบ้านคลองทราย สําหรับชื่อตําบล บางหิน ได้มาจากหินสามก้อนที่ปากคลอง มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาถึงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของหินสามก้อนที่ปากคลองว่า ในอดีตไม่ว่าน้ำทะเลจะขึ้นสูงสักเพียงใดก็ไม่สามารถท่วมกินได้ เคยมีชาวประมงคนหนึ่งนำระเบิดไประเบิดหินทั้งสามก้อนนี้ ทว่า แรงระเบิดกลับไม่สามารถทำให้หินทั้งสามก้อนนี้แตก ขณะเดียวกัน แรงระเบิดกลับทำให้ชาวประมงผู้นั้นได้รับบาดเจ็บสาหัสกระทั่งเสียชีวิตในเหตุการณ์นั้นด้วย
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านคลองทราย ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านชาคลี ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 3 บ้านตะเคียนงาม ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 บ้านชาคลี ตำบลบางหิน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
ลักษณะภูมิประเทศ
ชุมชนบ้านบางหิน หมู่ที่ 2 ตําบลบางหิน อําเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา ลักษณะภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นภูเขาสูง พื้นที่ลาดเท มีการปลูกพืชทางเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ทางทิศตะวันตกจะเป็นพื้นที่ราบจรดไปถึงพื้นที่อ่าวกะเปอร์ ซึ่งอ่าวกะเปอร์เป็นแหล่งจับสัตว์น้ำของชาวประมง ส่วนลักษณะภูมิอากาศมีฝนตกชุกเกือบตลอดปี ทรัพยากรธรรมชาติยังคงเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์และยังมีพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญให้กับคนในชุมชน
ข้อมูลสถิติจำนวนประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลบางหินรายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านบางหินทั้งสิ้น 1,130 คน แยกเป็นประชากรชาย 564 คน ประชากรหญิง 566 คน 353 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีประชากรแฝงอีกประมาณ 123 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านบางหินเพื่อการประกอบอาชีพ
ประชากรบ้านบางหินกว่าร้อยละ 70 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 20 ประกอบอาชีพประมง และร้อยละ 10 ประกอบอาชีพรับจ้าง รับราชการ ค้าขาย และอื่น ๆ โดยพืชเศรษฐกิจสำคัญของชุมชน ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้หลายชนิด ส่วนการทำประมงจะมีหลายรูปแบบ ทั้งประมงตกเบ็ด หาปลา หาหอย ตกปูและเลี้ยงกุ้ง โดยรายได้ภาคการประมงที่สำคัญที่สุด คือ การหาหอยหวานและหอยขาว ซึ่งสามารถสร้างรายได้ถึงเดือนละประมาณ 23,725 บาท/ครอบครัว
ประชากรชาวบ้านบางหินส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 75 นับถือศาสนาพุทธ และร้อยละ 25 นับถือศาสนาอิสลาม กระนั้นก็หาใช่อุปสรรคที่จะสร้างความแตกแยกในการอยู่ร่วมกันของคนทั้ง 2 ศาสนา ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขบนพื้นฐานของหลักศาสนาตน ชาวไทยพุทธจะเดินทางไปทำบุญที่วัดในวาระโอกาสวันสำคัญทางศาสนาต่าง ๆ อาทิ วันธรรมสวนะ วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ทอดกฐิน วันสารทเดือนสิบ ฯลฯ ส่วนชาวไทยมุสลิมจะเดินทางไปประกอบศาสนกิจที่มัสยิด โดยมีโต๊ะอิหม่ามเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรม
ประเพณีทางศาสนาของชาวไทยพุทธ
ชาวไทยมุสลิมบ้านบางหินมีประเพณีสำคัญที่มีการปฏิบัติต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ดังนี้
- เดือนมกราคม ทําบุญประเพณีวันขึ้นปีใหม่
- เดือนเมษายน ทําบุญประเพณีสงกรานต์
- เดือนกรกฎาคม ทําบุญประเพณีเข้าพรรษา
- เดือนกันยายน ทําบุญประเพณีวันสารทเดือนสิบ
- เดือนตุลาคม ทําบุญประเพณีชักพระ
- เดือนพฤศจิกายน ลอยกระทง
ประเพณีทางศาสนาของชาวไทยมุสลิม
- วันฮารีรายอ ประเพณีฮารีรายอ หรือเทศกาลฮารีรายอ มีอยู่ 2 วัน คือ
- วันอีดิลฟิตรี หรือที่เรียกว่า วันฮารีรายอปอซอ คือ วันสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เป็นการกลับเข้าสู่สภาพเดิม ตรงกับวันที่หนึ่งของเดือนเซาวาล ซึ่งเป็นเดือนที่สิบทางจันทรคติ (ในปี ฮ.ศ.1435 ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557) โดยในแต่ละปีวันจะไม่ตรงกัน
- วันอีดิลอัฎฮา หรือที่เรียกว่า วันฮารีรายอฮัจญี คําว่า อัฎฮา แปลว่า การเชือดพลี เป็นการเชือดสัตว์เพื่อเป็นอาหารแก่ประชาชนและคนยากจน การปฏิบัติจะมีการละหมาดร่วมกัน และกระทำการ “กุรบาน” หมายถึง การเชือดสัตว์เพื่อแจกจ่ายแก่คนยากจน โดยมีข้อพึงปฏิบัติว่า ผู้ที่ประสงค์จะเชือด ต้องไม่แตะต้องเส้นผม ขน และผิวหนังแต่อย่างใด หมายความว่าไม่อนุญาตให้ตัดผม โกนขนลับ ถอนขนรักแร้ และตัดเล็บ เป็นต้น
- ประเพณีการเข้าสุหนัต การเข้าสุหนัตหรือเข้าอิสลาม คือ พิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย เพื่อถือว่าบุคคลผู้นั้นได้เข้าร่วมเป็นอิสลามโดยสมบูรณ์ โดยปกติแล้วจะทำใชช่วงอายุตั้งแต่ 7-15 ปี หรือก่อนบรรลุนิติภาวะ
- ประเพณีถือศีลอด ชาวมุสลิมเรียกเดือนแห่งการถือศีลอดว่า เดือนรอมฎอน ถือเป็นเดือนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด จะละเว้นการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม การร่วมสังวาส ระหว่างรุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้า เพื่อฝึกความอดทนของกําลังใจและร่างกาย ให้รู้จักอดกลั้น รับรู้ถึงความทุกข์ยาก ความอดอยากหิวโหย และสภาพอันแท้จริงของผู้ที่อัตคัดขัดสนยากจน โดยกระทำเป็นเวลา 30 วัน
- ประเพณีวันเมาลิด เมาลิดเป็นภาษาอาหรับแปลว่า ที่เกิดหรือวันเกิด หมายถึงวันเกิดของนบี มุฮัมมัด วันเมาลิดจึงเป็นวันรําลึกถึงวันที่ท่านลี้ภัยจากเมืองเมกกะไปยังเมืองมาดีนะห์ และเป็นวันมรณกรรมของท่านด้วย ในวันเมาลิดจะมีการนําประวัติของท่านศาสดามากล่าวถึงเป็นโวหารสดุดี การอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน การอ่านดูอาขอพรจากองค์อัลลอฮ์ เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาแล้วก็จะมีการทําบุญเลี้ยงกันที่มัสยิดหรือที่บ้าน
- การละหมาดวันศุกร์ วันศุกร์เป็นสําคัญที่สุดในรอบสัปดาห์ ชายมุสลิมจะต้องไปละหมาดร่วมกันที่มัสยิด มีการฟังการปฐกฐาธรรม (คุตบะฮ์) เป็นการอบรมสั่งสอนให้อยู่ในหลักการและจริยธรรมของศาสนาอิสลาม
ปราชญ์ด้านการแพทย์แผนไทย
- นายดลร่าหมาน ชิดเอื้อ
- นางตอง ยศประสิทธิ์
- นายหาด ภิญโญ
- นางร่อเกี๋ย หนูสะอาด
- นางร่อวียะ ภิญโญ
- นายร่อโอ หาญจิตร
- นายร่อวียะ ชิเอื้อ
- นายเหนก ริเด็น
ปราชญ์ด้านภูมิปัญญาชาวบ้าน
- นายสอแลห์ ภักดี: ช่างต่อเรือท้องแบน
- นายสามารถ เล่สำ: ช่างต่อเรือท้องแบน
- นายถนอม วงศ์นรินทร์: ช่างต่อเรือท้องแบน
- นายเสนอ เล่สำ: ช่างต่อเรือท้องแบน
- นายดลร่าหมาน ชิดเอื้อ: ช่างไม้
- นายสมชาย ชิดเอื้อ: ช่างปูน
- นายสมชาย มุขโท: ช่างปูน
- นายจิรคดี สมวงศ์: ช่างไฟฟ้า
- นายปรีชา กล้าศึก: ช่างไฟฟ้า
- นายอัมพร อินตัน: ช่างศิลปะ /เฟอร์นิเจอร์
- นายจำเนียร อุ่นทอง: ช่างซ่อมอุปกรณ์การประมง
- นางนิรมล อินตัน: ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า
- นางสุมาลี สินสง: ช่างเย็บจาก
- นางมะรียะ หาญจิตร: ทำกะปิ
- นางธารพิศ พันชั่ง: ทำกะปิ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
คลองนาคา
ส่อแล่ห์ ภักดี (2556). โครงการแนวทางการจัดการทรัพยากรหอยหวาน-หอยขาว เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนบ้านบางหิน ต.บางหิน อ.กะเปอร์ จ.ระนอง (รายงานการวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
กำพล ยอดมงล. (2565). โรงเรียนบ้านบางหิน. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/maps/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2566].
ไตรทศ. (2565). แหลมพ่อตา. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com/maps/ [สืบค้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2566].