Advance search

บ้านตีนเป็ด

ชุมชนอันอุดมด้วยแหล่งขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญาและทรัพยากรธรรมชาติ อดีตแหล่งแร่ดีบุก แร่ธาตุที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล 

บ้านตีนเป็ด
ลำภี
ท้ายเหมือง
พังงา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
16 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 พ.ค. 2023
บ้านตีนเป็ด

ในอดีตบริเวณหมู่บ้านมีหนองน้ำหนองหนึ่งเรียกว่า หารบ้านร้าง ซึ่งมีต้นตีนเป็ดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และชาวบ้านนิยมจับปลาจากหนองน้ำแห่งนี้อยู่ตลอด แต่ชาวบ้านสังเกตว่าปลาที่จับจากหารบ้านร้างนั้นเนื้อปลามีความเหนียว จึงเชื่อว่าปลาคงจะกินรากไม้หรือยางของต้นตีนเป็ด จึงนำลักษณะของเนื้อปลาที่มีความเหนียวมาเป็นแนวทางในการตั้งชื่อหมู่บ้านให้ตรงกับความหมายของต้นตีนเป็ด (พระยาสัตตบรรณ) ที่เป็นไม้มงคล เพื่อสื่อถึงความสมัครสมานกลมเกลียวเหนียวแน่น จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านตีนเป็ด” มาจนปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

ชุมชนอันอุดมด้วยแหล่งขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญาและทรัพยากรธรรมชาติ อดีตแหล่งแร่ดีบุก แร่ธาตุที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล 

บ้านตีนเป็ด
ลำภี
ท้ายเหมือง
พังงา
82120
วิสาหกิจชุมชน โทร. 01-0793-094, อบต.ลำภี โทร. 0-7645-3879
8.586322894
98.34171161
องค์การบริหารส่วนตำบลลำภี

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นตระกูลที่เข้ามาบุกเบิกสร้างที่อยู่อาศัยในบ้านตีนเป็ด ว่าครอบครัวที่เข้ามาอยู่อาศัยช่วงแรกตั้งหมู่บ้าน คือ ครอบครัวชาวจีน 3 ครอบครัว ได้แก่ นายวสันต์ โรงสิน นายคงทรัพย์ ศรอินทร์ และนายคงสวัสดิ์ ชะฎา โดยเข้ามารับจ้างทำเหมืองแร่ เรียกว่า เหมืองรู เหมืองหาบ ทั้งสามครอบครัวร่วมกับชาวบ้านก่อตั้งหมู่บ้าน ชื่อว่า หมู่บ้านทรายขาว และในปี พ.ศ. 2428 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านตีนเป็ด” มีตํานานเล่าต่อกันว่า คนในบ้านทรายขาวได้ไปหาปลาในหนองน้ำซึ่งอยู่ในบ้านบางลึก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หารบ้านร้าง (หนองน้ำ) บริเวณหารบ้านร้างเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะต้นตีนเป็ดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านได้ไปหาปลาจากหารบ้านร้างมาบริโภคอยู่ตลอด แต่ชาวบ้านสังเกตว่า ปลาที่จับมาจากหารบ้านร้างนั้น เมื่อนำมาปรุงอาหาร เนื้อปลาจะมีความเหนียวแตกต่างจากปลาที่ได้มาจากหนองน้ำอื่น เนื่องจากได้กินรากไม้หรือยางรอบต้นตีนเป็ด ชาวบ้านจึงได้นําลักษณะดังที่กล่าวถึงเนื้อปลาไว้นั้นมาเป็นแนวในการตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่าให้ตรงกับความหมายของต้นตีนเป็ด (พระยาสัตตบรรณ) ที่เป็นไม้มงคล ซึ่งเนื้อไม้จะมีความเหนียวแน่น สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่มีความรัก ความสามัคคี กลมเกลียว เหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงได้เรียกชื่อ “หมู่บ้านตีนเป็ด” ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

อาณาเขตและลักษณะที่ตั้ง

  • ทิศเหนือ จด หมู่ที่ 3 บ้านช้างนอน
  • ทิศใต้ จด หมู่ที่ 4 บ้านลำภี
  • ทิศตะวันตก จด หมู่ที่ 4 บ้านลำภี
  • ทิศตะวันออก จด หมู่ที่ 5 บ้านเชี่ยวหลอด

บ้านตีนเป็ด ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลลำภี ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านตีนเป็ด บ้านบางลึกนอก บ้านบางลึกใน และบ้านทรายขาว ลักษณะภูมิประเทศบ้านตีนเป็ดมีสภาพพื้นที่เป็นป่าเชิงเขา อากาศชื้นตลอดปี มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับปลูกยางพาราและทำสวนผลไม้ หมู่บ้านมีพื้นที่รวม 5,850 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทําสวนสวนยางพารา 2,910 ไร่ สวนผลไม้ 82 ไร่ ทํานา 32 ไร่ และพื้นที่ป่า/เหมืองแร่ 2,826 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีน้ำตกโตนปลายบางหิน สูง 5 เมตร ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำประปาภูเขา ระยะทางห่างจากศูนย์ฝึกอาชีพบ้านตีนเป็ดประมาณ 4 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีเขื่อนกั้นน้ำที่ใช้การทําเหมืองแร่ แหล่งน้ำดังกล่าวนี้ ปัจจุบันประชาชนในหมู่บ้านยังคงนํามาใช้อุปโภคและบริโภคในครัวเรือน

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพังงารายงานสถิติจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 ตำบลลำภี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีประชากร 115 ครัวเรือน 426 คน โดยประชากรที่อาศัยอยูในหมู่บ้านมีทั้งที่เป็นประชากรท้องถิ่นเดิม และบุคคลที่อาศัยมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยอื่น แล้วเข้ามาประกอบอาชีพในชุมชนบ้านตีนเป็ด จึงได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในหมู่บ้านแห่งนี้ 

การประกอบอาชีพ

ในอดีตบ้านตีนเป็ดมีทรัพยากรใต้ดินที่ล้ำค่า คือ แร่ดีบุก ซึ่งเป็นแร่ทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน มีการทําเหมืองแร่ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 120 ปี แต่เมื่อทรัพยากรแร่ดีบุกเริ่มร่อยหรอ ราคาขายถูกลง ชาวบ้านได้เริ่มที่จะละทิ้งอาชีพการทําเหมืองแร่ และได้หันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น การประกอบอาชีพทางด้านเกษตร ชาวบ้านมีการปลูกสวนยางพารา มะม่วงหิมพานต์ ปาล์ม สวนผลไม้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงอาชีพเสริมอื่น ๆ เช่น รับจ้าง ข้าราชการ เลี้ยงสัตว์ และค้าขาย

อาชีพการเกษตร เช่น ทําสวนยางพารา สวนปาล์ม สวนผลไม้ และปลูกผัก

อาชีพรับราชการ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครู และรองลงมาเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

อาชีพรับจ้าง อาชีพรับจ้างส่วนใหญ่ ชาวบ้านในหมู่บ้านจะรับจ้างกรีดยางพารากับบริษัทลุ้นเส้ง และบริษัทงานทวี

อาชีพเลี้ยงสัตว์ มีการเลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อนําไข่ที่ได้ไปจําหน่าย

อาชีพค้าขาย ส่วนใหญ่จะเป็นร้านขายของชํา ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของร้านจะซื้อสินค้ามาจากห้างสรรพสินค้าเพื่อนํามาจําหน่าย รวมถึงสินค้าที่หมู่บ้านผลิตเอง และต่างหมู่บ้านเป็นผู้ผลิต เช่น ขนมกาละแม ขนมกะหรี่ปั๊บ ขนมดอกจอก และเครื่องแกง ฯลฯ

อาชีพก่อสร้าง ชาวบ้านในชุมชนมีการรับเหมางานก่อสร้างทั้งในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้าน รวมไปถึงต่างอําเภอและต่างจังหวัดกัน

อาชีพอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนบ้านตีนเป็ด เกิดจากการรวมกลุ่มของบรรดาแม่บ้านเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ภายใต้ชื่อของชุมชน ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านทําขนมกาละแม ซึ่งปัจจุบันขนมกาละแมเป็นสินค้า OTOP 4 ดาว ของจังหวัดพังงา ขนมกาละแมได้รับความนิยมและแพร่หลายทั้งในจังหวัดพังงา และจังหวัดใกล้เคียง ส่วนใหญ่จะมีลูกค้ามาสั่งซื้อเพื่อใช้ในงานเลี้ยงงานมงคลต่าง ๆ กลุ่มแม่บ้านมีรายได้เฉลี่ยทุกเดือน เดือนละประมาณ 50,000 บาท รายได้ที่ได้จากการขายกาละแมจำนำมาจัดสรรแบ่งส่วนให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม นับเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเป็นอย่างดี ภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรของจังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

กลุ่มชุมชน

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544 เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของ ชุมชนด้วยหลักการพัฒนาคน โดยใช้เงินเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และดําเนินการภายใต้คุณธรรม 5 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจกัน และความไว้วางใจ

กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่มุ่งขจัดปัญหาความยากจนโดยสนับสนุนเงินทุนให้หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1,000,000 บาท ซึ่งหมู่บ้านตีนเป็ดเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ได้รับเงินทุนดังกล่าว โดยนำไปบริหารจัดการเพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

กองทุนแม่ของแผ่นดิน บ้านตีนเป็ด เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัด เพื่อเข้าร่วมโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน และได้รับเงินพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จํานวน 8,000 บาท เป็นเสมือนกองทุนศูนย์รวมของหมู่บ้านในการฟื้นฟูความเข้มแข็งภายในชุมชนจนสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด และเสริมสร้างให้ชุมชนทําความดี รู้รัก สามัคคี และเป็น การแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาร่วมกันของชาวบ้าน

กลุ่มสตรีแม่บ้าน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 เพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับสมาชิกภายในชุมชน ปัจจุบันได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชน” และภายในกลุ่มมีเงินหมุนเวียนเป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท 

คนในชุมชนมีความเคารพในบรรพบุรุษ ผู้อาวุโส ผู้นําในชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน และให้ความสําคัญในการร่วมสืบทอดวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มีวัดลาภี หรือวัดลาภีช้างนอน เป็นศาสนสถานสำคัญศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน โดยภายในวัดมีการประดิษฐานพระพุทรูปองค์ใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ มีหน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 9 เมตร ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในหมู่บ้านตีนเป็ด

เมื่อถึงเทศกาลต่าง ๆ ที่สําคัญชาวบ้านจะมีการรวมกลุ่มกันจัดงานจัดกิจกรรมที่มีความสําคัญ และสอดคล้องกับความเชื่อต่าง ๆ โดยประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำในหมู่บ้าน ได้แก่

  • วันตรุษจีน วันไหว้บรรพบุรุษคนไทยเชื้อสายจีน โดยปกติจะอยู่ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของคนไทยเชื้อสายจีน ในช่วงวันตรุษจีนจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นในหมู่บ้าน เช่น การแข่งขันกีฬาประจำปี การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ แลกของขวัญจับรางวัลพิเศษต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมการแสดงของเด็ก ๆ ในชุมชน

  • วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน และในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี จะเป็นวันผู้สูงอายุและวันครอบครัว จะมีการจัดให้มีการทําบุญตักบาตร มีการขอพร มอบของขวัญ และรดน้ำดำหัวให้กับผู้สูงอายุภายในชุมชน

  • วันเข้าพรรษา จะมีการจัดขบวนแห่เทียนพรรษา ไปทั่วทั้งตําบลลําภี และตําบลที่

  • ประเพณีวันสารทเดือน 10 เป็นวันที่เชื่อกันว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นในวันสารทเดือน 10 จะถือเป็นวันรวมญาติของคนในชุมชน บรรดาญาติพี่น้องจะกลับมารวมตัวกันเพื่อร่วมกันทําบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ซึ่งล่วงลับไปแล้ว

1. นายสมทรง ชุมพร  มีความรู้ความสามารถในการต้มยาสมุนไพรรักษาไข้ไทรอยด์ ซึ่งมีตัวยาประกอบด้วย รากหมาก รากมะพร้าว ใบเงิน ใบทอง ชงโค หญ้าเส้ง พุ้งพริ้ง เกล็ดหมอบ และหญ้าขี้หนู

2. นายนิคม โรยมณี  มีความรู้ความสามารถเรื่องการจักสานไม้ไผ่

3. นายสมพร มีครั่ง  มีความรู้ความสามารถเรื่องการจักสานไม้ไผ่

4. นายสัมพันธ์ เจริญ  มีความรู้ความสามารถเรื่องการเผาถ่านลดการใช้พลังงาน

5. นายต๋อง ทองใบ  มีความรู้ความสามารถเรื่องการเพาะพันธุ์กล้ายาง

6. นายวงค์ ภุมรินทร์  มีความรู้ความสามารถด้านภูมิปัญญาการใช้ไสยศาสตร์ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ จังหวัดพังงา

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


หมู่บ้านตีนเป็ด มีผู้นําในการปกครองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผู้นําแบบทางการ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตําบล (จํานวน 2 คน) ผู้นําที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่ คณะกรรมการประชาคมหมู่บ้าน กรรมการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กรรมการกองทุนหมู่บ้าน กรรมการศูนย์การเรียนรู้ชุมชน กรรมการกลุ่มอาชีพสตรี กรรมการประปาหมู่บ้าน และกรรมการเยาวชน (ชมรมทูบีนัมเบอร์วัน)

การดําเนินการจัดการในการปกครองจะมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินงาน และสร้างชุมชนแห่งนี้ให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ กิจกรรมที่จัดให้มีในหมู่บ้าน ได้แก่ จัดให้มีการประชุมหมู่บ้านทุกวันที่ 5 ของเดือน จัดให้มีการพัฒนาหมู่บ้าน ประชาชนทุกครัวเรือนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทําความสะอาดภายในชุมชนเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และจัดให้ทุกครัวเรือนดําเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้ความร่วมมือทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทํางาน จนเกิดความสําเร็จส่งผลให้หมู่บ้านตีนเป็ดได้รับรางวัลต่าง ๆ ที่ทรงคุณค่ากับหมู่บ้านไว้มากมายหลายรางวัล


สถานศึกษาในหมู่บ้านตีนเป็ดเป็นสถานศึกษาที่มีอายุยาวนานมาควบคู่กับการก่อตั้งหมู่บ้าน โดยโรงเรียนที่เปิดทำการเรียนการสอนมีจำนวน 1 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดช้างนอน ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และเปิดทําการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 ประชาชนส่วนใหญ่จะได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นิติ ปีดนุช. (2556). การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน: กรณีศึกษาชุมชนบ้านตีนเป็ด ตำบลลำภี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา. วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.

บ้านตีนเป็ด. (2565). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://earth.google.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566].