บ้านอินทนิล หรือ บ้านบางซอย มีทิวทัศน์ที่งดงามสามารถมองเห็นเขาสูงตัดขอบฟ้า อากาศสดชื่นตลอดปี มีคลองไหลผ่านหมู่บ้านหลายสาย โดยมีคลองชื่อ คลองนางย่อน เป็นคลองที่มีความสำคัญในชุมชน
บ้านอินทนิล หรือ บ้านบางซอย เดิมอยู่ในการปกครองของหมู่ที่ 10 แต่แยกออกมาเมื่อ พ.ศ. 2529 เป็นหมู่ที่ 7 เมื่อแยกออกมาแรก ๆ ชื่อ บ้านบางซวย เพราะมีต้นซวยขึ้นอยู่ในหมู่บ้าน จึงตั้งชื่อตามต้นไม้ ต่อมาต่างเห็นว่าชื่อหมู่บ้านไม่เป็นมงคลจึงเปลี่ยนมาเป็น บ้านบางซอย และจากชื่อ บ้านบางซอย เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น บ้านอินทนิล อย่างไรก็ตามชุมชนและทั่วไปรู้จักและมักเรียกชื่อ บ้านบางซอย
บ้านอินทนิล หรือ บ้านบางซอย มีทิวทัศน์ที่งดงามสามารถมองเห็นเขาสูงตัดขอบฟ้า อากาศสดชื่นตลอดปี มีคลองไหลผ่านหมู่บ้านหลายสาย โดยมีคลองชื่อ คลองนางย่อน เป็นคลองที่มีความสำคัญในชุมชน
บ้านอินทนิล หรือ บ้านบางซอย ตั้งอยู่ที่ ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี เดิมอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 10 ต่อมาแยกมาตั้งหมู่บ้านใหม่ คือ หมู่ที่ 7 ปี พ.ศ. 2529 บ้านบางซอย มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า บ้านเหนือ เพราะตั้งอยู่ตอนเหนือของบ้านกลาง หมู่ที่ 2 สาเหตุที่เรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านบางซอย เพราะเมื่อก่อนมีต้นไม้ชื่อ ต้นซวย ขึ้นในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงตั้งชื่อตามต้นไม้ว่า บ้านบางซวย จากนั้นชุมชนลงความเห็นว่า ชื่อหมู่บ้านไม่เป็นมงคล จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ บ้านบางซอย
อย่างไรก็ดี ชื่อบ้านบางซอย มีการเปลี่ยนไปมาจาก บ้านบางซวย เป็น บ้านบางซอย และ จากบ้านบางซอย เปลี่ยนเป็น บ้านอินทนิล กระนั้นก็ตามส่วนราชการต่าง ๆ มักจะใช้ชื่อ อินทนิล แต่ชาวบ้านไม่ค่อยเรียกชื่อนี้ ชาวบ้านมักจะเรียกชื่อเดิมคือ บ้านบางซอย เพราะชาวบ้านมีการเรียก ชื่อ สอดคล้องกับที่ตั้งของชุมชน พืชพรรณที่พบในชุมชน กล่าวคือ หมู่ที่ 7 แบ่งโซนพื้นที่หลายโซน เช่น 1) บ้านแสงทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านอินทนิล 2) ซอยในบ้าน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของ บ้านอินทนิล 3) บ้านพระอร่าม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านอินทนิล 4) บ้านอินทนิล ตั้งอยู่ตรงกลางของหมู่ที่ 7 อย่างไรก็ดีบ้านอินทนิล ก็ตั้งชื่อตาม ต้นอินทนิล ไม้ขนาดใหญ่และสูงขึ้นมากในพื้นที่ คนสมัยก่อนเรียกบริเวณนี้ว่า ทอนอินทนิล ทอน หมายถึง ที่ที่น้ำท่วมถึงในฤดูฝน บ้านอินทนิลเมื่อก่อนไม่มีคนอาศัยเป็นเพียงเส้นทางผ่านไปหาของป่าและขึ้นไปยังเหมืองแร่ดีบุก บ้านอินทนิล เริ่มมีคนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ราวปี พ.ศ. 2512 ซึ่งคนที่เข้ามาอยู่เป็นคนต่างถิ่นมาจากสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านอินทนิลหรือบ้านบางซอย เกี่ยวข้องกับคลองนางย่อน เพราะเป็นคลองที่ไหลผ่านในพื้นที่ ทำให้หมู่บ้านแบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านอินทนิลหรือบ้านบางซอย มีความเกี่ยวข้องกับคลองนางย่อน เพราะเป็นคลองที่ไหลผ่านในพื้นที่ ทำให้หมู่บ้านแบ่งพื้นที่เป็นส่วนต่าง ๆ คลองนางย่อนเกิดจากลำธาร 14 สาย ไหลจากเทือกเขาแก้ว เขาชาลี และเขาพะหมี ไหลมารวมกันที่คลองนางย่อน ระยะทาง 25 กิโลเมตร และไหลสู่ทะเลอันดามัน คลองนางย่อนสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของชุมชนแต่ละยุคดังนี้
- ยุคลำเลียงแร่ ยุคของการลำเลียงไม้ ชักลากหวาย กล่าวคือ เป็นยุคต้นของชุมชน ซึ่งสมัยก่อนมีการทำไม้ในพื้นที่ การชักลากไม้หรือขนสัมภาระใช้ช้างลากไม้ที่โค่นลงคลองนางย่อน จากนั้นให้ช้างชักลากไม้มาตามสายน้ำ เล่ากันว่าคลองนางย่อนมีความลึก 4–5 เมตร ความลึกวัดจากน้ำที่สูงท่วมหลังช้างที่ชักลากไม้ในคลองสู่โรงเลื่อย
- ยุคทำเหมืองฉีด ช่วงที่การทำเหมืองบริเวณนี้เฟื่องฟู โดยเฉพาะการทำเหมืองฉีดส่งผลให้เกิดตะกอนดินสะสมตามลำน้ำทำให้น้ำตื้นเขินและน้ำมีความเชี่ยวมากขึ้น สัตว์น้ำมีการอาศัยในลำน้ำตามสภาพของน้ำ คือ บางชนิดอาศัยบริเวณน้ำเชี่ยว บางชนิดอาศัยบริเวณน้ำตื้น และบางชนิดอาศัยบริเวณน้ำนิ่ง
- ยุคการบุกเบิกจับจองที่ดินทำไร่และปลูกสวนผลไม้ ราว ปี พ.ศ. 2509 เริ่มมีการบุกรุกขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่ยังไม่มีการใช้สารเคมีหรือเครื่องจักรมากนัก ทำให้สภาพน้ำยังคงไม่ปนเปื้อนสารเคมี
- ยุคบุกรุกป่าต้นน้ำ สปก. 4-01 ช่วง พ.ศ. 2537 การบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตรส่งผลให้เกิดตะกอนไหลสู่คลองมากขึ้น ต้นไม้บนภูเขาถูกตัดโค่น ทำให้ช่วงฤดูน้ำหลากต้นไม้ที่ตัดไว้ไหลลงพื้นราบ ต้นไม้ที่ไหลมาจากภูเขาหากขวางทางน้ำก่อให้เกิดการสะสมของตะกอนทำให้ขวางทางน้ำและเอ่อล้นท่วมพื้นที่เพาะปลูก
- ยุคการท่องเที่ยว ปี พ.ศ. 2533–2535 ผู้ประกอบการจากภายนอกเข้ามาประกอบกิจการสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำและขวางทางน้ำ อาทิ การขุดต้นไม้ใหญ่ออก การตกแต่งพื้นที่ด้วยรถแบ็กโฮ การปรับพื้นที่เช่นนี้เป็นสิ่งที่ชุมชนไม่ทำเพราะเป็นการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ เมื่อฤดูน้ำหลากเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนเส้นทางน้ำ นำไปสู่การทำลายตลิ่ง จากนั้นมีการปรับพื้นที่เพื่อชะลอความรุนแรงของน้ำ ซึ่งเมื่อยิ่งปรับพื้นที่สภาพของพื้นที่ก็ยิ่งเปลี่ยนแปลง ผลกระทบจึงก่อเกิดกับคนในพื้นที่
อย่างไรก็ดีปัจจุบันคลองนางย่อนได้รับการฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีการใช้ประโยชน์จากคลองนางย่อนในด้านการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งการท่องเที่ยวนี้ได้ก่อให้เกิดรายได้รวมถึงการฟื้นคืนการอนุรักษ์ฟื้นฟูคลองให้อุดมสมบูรณ์สืบไป
บ้านอินทนิล (บ้านบางซอย) ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา พื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ และเป็นต้นน้ำของคลองนางย่อน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทือกเขานมสาว จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ทิศใต้ ติดต่อกับ คลองนางย่อน หมู่ที่ 2 ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองนางย่อน หมู่ที่ 2 ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 1, 10, 11 ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
จำนวนประชากร ชุมชนบ้านอินทนิล (บ้านบางซอย) จากการสำรวจข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2566 รายงานจำนวนประชากรบ้านอินทนิล (บ้านบางซอย) หมู่ที่ 7 ต.คุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ประกอบด้วย จำนวนประชากรชาย 273 คน จำนวนประชากรหญิง 264 คน จำนวนประชากรทั้งหมด 537 คน และจำนวนหลังคาเรือน 313 หลังคาเรือน
ชุมชนบ้านอินทนิล (บ้านบางซอย) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม การทำสวนผลไม้ ยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และรับจ้างทั่วไป นอกจากนี้มีการนำภูมิปัญญาที่สั่งสมในชุมชนด้านการจักสานไม้ไผ่มาสร้างให้เกิดรายได้ เช่น การสานสุ่มไก่ ลอบชนิดต่าง ๆ ขายในหมู่บ้าน และความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนเป็นต้นทุนที่นำไปสู่การสร้างอาชีพด้านการท่องเที่ยว ซึ่งชุมชนเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวนวัตวิถีชุมชน ภายใต้การสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน
ชุมชนบ้านอินทนิล (บ้านบางซอย) นับถือพุทธศาสนา ฉะนั้นวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นจึงสัมพันธ์กับวันสำคัญทางศาสนา และเทศกาลงานรื่นเริงที่พบในสังคมภาคใต้ ประกอบด้วย เทศกาลสงกรานต์ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การทำบุญวันสำคัญทางศาสนาหรือวันพระใหญ่ วันสารทเดือนสิบ ประเพณีลากพระ วันลอยกระทง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นทุนชุมชนของบ้านอินทนิล (บ้านบางซอย) ที่สำคัญ ชุมชนนำทุนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรนี้มาสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชน ท่ามกลางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่กำลังให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นในการสร้างมูลค่าจากคุณค่าของชุมชน
ภาษาถิ่นใต้ จังหวัดพังงา
ศิริพงษ์ ศรีธนสาร และคณะ (2558). โครงการการปรับตัวของเกษตรกรสู่การพึ่งพาตนเองของชุมชนบ้านอินทนิล ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
MGR ONLINE เที่ยวท่องล่องใต้. (2559, ก.ค. 21). ล่องแพไม้ไผ่ “ธารมรกต” สัมผัสธรรมชาติ “คลองนางย่อน” อ.คุระบุรี จ.พังงา. https://mgronline.com/.
พัฒนาชุมชนจังหวัดพังงา. (2018. ส.ค. 17). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านบางซอย ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา. [วิดิโอ]. https://www.youtube.com/.
NAWATVITHI. (2018, ธ.ค. 19). บ้านบางซอย ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา. [วิดิโอ]. https://www.youtube.com/
ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จ. พังงา. (2019, กพ 25). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านบางซอย. [วิดิโอ]. https://www.youtube.com/.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านบางซอย คุระบุรี. ค้นจาก https://7greens.tourismthailand.org/