Advance search

บ้านทองหลาง

บ้านท่องหลาง

ชาวบ้านทองหลางได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าชายเลน จึงเกิดเป็นการก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนชุมชนบ้านทองหลางให้กลับคืนคงสภาพความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

บ้านทองหลาง หมู่ที่ 4
หล่อยูง
ตะกั่วทุ่ง
พังงา
ธำรงค์ บริเวธานันท์
10 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 พ.ค. 2023
บ้านทองหลาง
บ้านท่องหลาง

ที่มาของชื่อหมู่บ้านมีอยู่ 2 สำนวน

  • สำนวนแรก เล่าว่า ในอดีตทั้งหมู่บ้านมีลักษณะเป็นท้องทุ่งนา และมีต้นทองหลางขึ้นอยู่มากมาย เมื่อก่อตั้งหมู่บ้านจึงเรียกว่า บ้านทองหลาง

  • สำนวนที่สอง เล่าว่า ในอดีตบรรพบุรุษที่เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณนี้ ได้นำเอาทองจำนวนมากมาฝังไว้ ซึ่งทองเหล่านั้นมีมากเป็นหลาง (เข่ง) เมื่อมีการก่อตั้งหมู่บ้าน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านทองหลาง"

ชุมชนชนบท

ชาวบ้านทองหลางได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าชายเลน จึงเกิดเป็นการก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนชุมชนบ้านทองหลางให้กลับคืนคงสภาพความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

บ้านทองหลาง หมู่ที่ 4
หล่อยูง
ตะกั่วทุ่ง
พังงา
82140
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-5476-7867, อบต.หล่อยูง โทร. 0-7649-4319
8.206003
98.37302774
องค์การบริหารส่วนตำบลหล่อยูง

จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนได้กล่าวถึงที่มาของชื่อหมู่บ้านทองหลางไว้อย่างหลากหลาย โดยสามารถกล่าวสรุปถึงที่มาได้สองนัยด้วยกัน

  • นัยแรก คือ ในอดีตทั้งหมู่บ้านมีลักษณะเป็นท้องทุ่งนา และมีต้นทองหลางขึ้นอยู่มากมาย เมื่อก่อตั้งหมู่บ้านจึงเรียกว่า บ้านทองหลาง ตามลักษณะที่ตั้งที่มีต้นทองหลางขึ้นอยู่ทั่ว โดยในอดีตบ้านทองหลางหาได้มีลักษณะเป็นชุมชนแออัดดังเช่นปัจจุบัน และคนในชุมชนจะเรียกชื่อกลุ่มบ้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนตามสภาพที่ตั้ง กลุ่มบ้านที่อยู่ใกล้กับท่าเทียบเรือประมงก็จะเรียกว่า “บ้านทองหลางท่าเรือ”

  • นัยที่สอง คือ บริเวณบ้านทองหลางในอดีตเป็นที่ฝังเก็บทองไว้เป็นจํานวนมากโดยมีเรื่องเล่าวว่าเป็นทองที่ปู่ย่าตายายได้นำมาฝังไว้ ซึ่งทองเหล่านั้นมีมากเป็นหลาง (เข่ง) จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก “บ้านทองหลาง”

จากคําบอกเล่าการเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ของผู้อาวุโส โดยผ่านการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งอาจจะเหมือนและต่างกันอยู่บ้าง แต่ ณ ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ก็ได้ถูกเรียกขานตามสําเนียงคนใต้ว่า “บ้านท่องหลาง” และ “บ้านทองหลาง” ตามภาษาไทยภาคกลาง (รัตนาภรณ์ แจ้งใจดี, 2551: 42-43)

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ    ติดต่อกับ  หมู่บ้านบ้านนา ตำบลหล่อยูง

  • ทิศใต้     ติดต่อกับ  หมู่บ้านบากัน ตำบลหล่อยูง

  • ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ   ภูเขาควนทองหลาง

  • ทิศตะวันตก    ติดต่อกับ   ป่าชายเลน/ชายฝั่งทะเล และหมู่บ้านแหลมหิน ตำบลหล่อยูง

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศบ้านทองหปลางมีสภาพเป็นที่ราบติดเชิงเขาทอดยาวมาจรดป่าชายเลนและชายฝั่งทะเล มีลําคลองสายหลักที่ไหลจากควนบ้านทองหลางไหลผ่านหมู่บ้านและไหลลงทะเล ความยาวประมาณ 5 กิโลเมตร บริเวณพื้นที่ริมเชิงเขาเป็นพท้นที่สวนยางพารา บริเวณที่ราบซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน จะเป็นที่ตั้งบ้านเรือนและเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน รวมถึงเป็นพื้นที่การทํานาในอดีต บริเวณชายฝั่งทะเลจะเป็นแหล่งทําประมงของคนในชุมชน เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดํา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของจากนอกชุมชน ลักษณะภูมิอากาศ มีลักษณะร้อนชื้นมี 2 ฤดูหลัก คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน เหมือนกับพื้นที่อื่นที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน

บ้านทองหลางมีแหล่งต้นน้ำที่เกิดจากภูเขาที่สําคัญ 2 ลูก คือ ภูเขาควนทองหลาง และภูเขาควนทองเหลา ซึ่งเป็นแนวภูเขาที่ทอดยาวผ่านหมู่บ้าน และเป็นเส้นแบ่งระหว่างหมู่บ้านทองหลาง บ้านไร่บี และบ้านติเตะ นอกจากภูเขาทั้งสองลูกจะเป็นแหล่งต้นน้ำแล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารและแหล่งหาน้ำผึ้งของชาวบ้านอีกด้วย ในอดีตหลังจากทํานาเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนําควายมาเลี้ยงรวมกันบนภูเขาทั้งสองลูก ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นสถานที่หลบภัยจากเสือและสัตว์ร้ายอื่น ๆ ปัจจุบันสภาพป่าบนภูเขามีสภาพเสื่อมโทรมและมีพื้นที่ลดลงเนื่องจากถูกบุกรุกเพื่อปลูกยางพาราของทั้งนายทุนภายนอกและชาวบ้านบางส่วน

เมื่อปี พ.ศ. 2507 พื้นที่ป่าชายเลนบ้านทองหลางได้ถูกประกาศเป็นส่วนหนึ่งของเขตป่าสงวนห่งชาติป่าชายเลนคลองทองหลาง โดยมีอาณาเขตครอบคลุมถึง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านบากัน บ้านบางจัน และบ้านแหลมหิน มีเนื้อที่ทั้งหมด 3,203 ไร่ ป่าชายเลนผืนนี้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์เป็นแหล่งประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง เช่น ตกปูดํา ทอดแห หากุ้ง หาปลา เก็บหอย ตัดไม้เพื่อทําเครื่องมือประมง เช่น ลอบปลา ซ่อมแซมบ้าน และสร้างคอกสัตว์ เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลน แหล่งนี้ได้ลดจํานวนลงจากการบุกรุกเพื่อทํานาเลี้ยงกุ้งกุลาดํา

ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลหล่อยูง รายงานสถิติจำนวนประชากรบ้านทองหลาง หมู่ที่ 4 ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีประชากรทั้งหมด 470 คน 

บ้านทองหลางมีกลุ่มองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาจากแนวคิดการพัฒนาชุมชนหลากหลายกลุ่มด้วยกัน ทั้งกลุ่มที่จัดตั้งโดยรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันศาสนา ดังนี้

  • กลุ่มสตรีอาสาพัฒนา: เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของพัฒนากรตําบลเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มสตรีอาสาพัฒนาหมู่บ้าน” ในอดีตนั้นจะมีการประชุมทุกเดือน และจะมีการประชุมประจําตําบล โดยจะเวียนประชุมตามหมู่บ้านที่อยู่ในเขตตําบล อีกทั้งยังได้ลงแรงร่วมกันในการพัฒนาหมู่บ้าน เช่น เก็บขยะ ทําความสะอาดมัสยิด และการช่วยงานกาชาดระดับจังหวัด

  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข: เป็นกลุ่มที่จัดตั้งโดยสถานีอนามัยบ้านทองหลาง โดยการเป็นสมาชิกกลุ่มอนามัยฯ จะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เบี้ยเลี้ยง เงินค่าเดินทาง และเมื่อเจ็บไข้จะได้รับการรักษาพยาบาลฟรี และได้รับการเอาใจใส่อย่างดีจากโรงพยาบาล

  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน: ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544 ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินของชุมชนบ้านทองหลาง สำหรับปล่อยกู้ให้แก่สมาชิก

  • กลุ่มเลี้ยงวัว: เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อขอรับงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย ภายใต้ “โครงการอยู่ดีมีสุข” โดยการซื้อวัวมาแจกจ่ายให้สมาชิกนำไปเลี้ยงด้วยวิธีการจับสลาก แต่ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มเลี้ยงวัวลดจำนวนลง เนื่องจากชาวบ้านไม่นิยมเลี้ยงวัวดังเดิมแล้ว

  • กลุ่มประปาหมู่บ้าน: ก่อตั้งขึ้นเมือ่ปี พ.ศ. 2548 เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ ให้สามารถกระจายให้ชาวบ้านได้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง

  • กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน: เกิดจากการเห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าชายเลนที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อจัดการพูดคุย อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าชายเลนดังดล่าวให้กลับคืนคงสภาพอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

  • กลุ่มฌาปนกิจ: จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือการจัดงานศพของสมาชิกในชุมชน 

บ้านทองหลางเป็นชุมชนที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 95 ที่เหลืออีกร้อยละ 5 นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้น ชุมชนจึงมีหลักความเชื่อและความศรัทธาตามหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งแบ่งออกได้ 2 ประการ คือ หลักการศรัทธา และหลักการปฏิบัติ

หลักการศรัทธา หรือเรียกว่า “รุก่นอิหม่าน” คือ บทบัญญัติที่มุสลิมไม่ว่าหญิงหรือชายต้องศรัทธายึดมั่นและเป็นรากฐานที่สําคัญของมุสลิมทุกคน สําหรับหลักการศรัทธาเบื้องต้นมีอยู่ 6 ประการ

  • ต้องศรัทธาต่ออัลเลาะฮ์เพียงองค์เดียว

  • ต้องศรัทธาต่อมาลาอิกะฮ์ (เทวทูต) ของอัลเลาะฮ์

  • ต้องศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ของอัลเลาะฮ์

  • ต้องศรัทธาต่อบรรดาร่อซูล (ศาสนาทูต) ของอัลเลาะฮ์

  • ต้องศรัทธาต่อต้องศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์ (วันสุดท้ายของโลก) หรือเชื่อมั่นในชีวิตหลังความตาย

  • ต้องศรัทธาต่อการกําหนดของอัลเลาะฮ์ทั้งทางดีและทางร้าย

หลักการปฏิบัติตนตามหลักปฏิบัติของอิสลามหรือเรียกว่า “รูก่นอิสลาม” ซึ่งมุสลิมต้องปฏิบัติด้วย จึงจะถือว่าเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ สําหรับหลักปฏิบัติของมุสลิมทุกคนนั้นมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่

  • ต้องกล่าวปฏิญาณตน ความว่า “ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้า อื่นใดเว้นแต่อัลเลาะฮ์องค์เดียว และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า แท้จริงท่านนบีมุฮัมหมัดเป็นร่อซูล (ศาสนาทูต) ของอัลเลาะฮ์”

  • ต้องทําละหมาดทุกวัน วันละ 5 เวลา ทั้งนี้มุสลิมต้องตื่นขึ้นมาก่อนรุ่งอรุณ ทําความสะอาดร่างกายและทําพิธีละหมาดเพื่อสักการะวิงวอนต่อพระเจ้า

  • ต้องบริจาคทรัพย์ “ซากาต” หรือการบริจาคทาน เป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนที่ฐานะทางการเงินของตนอยู่ในระดับที่เหนือกว่าเกณฑ์ต่ำสุดที่ศาสนากําหนดไว้จะต้องจ่าย 2.5% ของเงินสดที่เหลือในรอบปี นอกจากเงินแล้ว ซากาตจะถูกคิดจากทองคํา สินค้า ปศุสัตว์ และสิ่งมีค่าอื่น ๆ อีกด้วย ซากาตจะถูกจ่ายให้คนยากจน คนขัดสน คนที่หันมาเข้าศาสนาใหม่ คนพลัดถิ่น หลงทาง หรือคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว การจ่ายซากาตจะต้องจ่ายในนามของอัลเลาะฮ์ และจะต้องไม่คาดหวังหรือเรียกร้องสิ่งตอบแทนใด ๆ ทางโลกจากผู้รับซากาต

  • ต้องถือศีลอดทุกวันตลอดเดือนรอมาฎอน (เดือนที่ 9 ของปีจันทรคติตามปฏิทินอิสลาม) ปีละหนึ่งครั้ง ครั้งละประมาณ 1 เดือน มุสลิมจะต้องงดเว้นจากการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ และการมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตก

  • ต้องเดินทางไปบําเพ็ญพิธี “ฮัจย์” ที่นครมักกะฮ์ 1 ครั้ง ในขณะที่มีชีวิตอยู่ หากมีความสามารถที่จะเดินทางไปได้ ทั้งนี้การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ จะมีพิธีกรรมและเงื่อนไขบางอย่างที่จะปลูกฝังคุณธรรมและความดีงามให้กับผู้บําเพ็ญพิธี

อนึ่ง ชาวบ้านทองหลางยังมีความเชื่อ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ชุมชนได้สืบทอดมาอย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • ห้ามนั่งบนหิน เพราะจะทําให้เกิดลูกไม่ออก

  • ห้ามรับประทานมะเขือเผา มะแว้ง บอน เพราะจะทําให้รกเน่าเปื่อยได้

  • ห้ามรับประทานข้าวดัง (ข้าวก้นหม้อ) เพราะจะทําให้เด็กดื้อรั้น

  • ห้ามเตรียมผ้าอ้อมหรืออุปกรณ์สําหรับเด็กอ่อน เพราะจะทําให้เด็กคลอดยาก

  • ห้ามอาบน้ำในตอนพลบค่ำ เพราะจะทําให้เจ็บน้ำค่ำคลอดยาก

  • ต้องอาบน้ำ 7 เดือน คือการนําน้ำไปให้โต๊ะอิหม่ามหรือผู้มีความรู้ทางศาสนาเป็นผู้ขออ่านดุอาหรือขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้เด็กออกมามีร่างกายที่สมบูรณ์ เกิดง่าย อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญและกําลังใจให้กับครอบครัวที่กําลังจะให้กําเนิดบุตร ในการอาบน้ำ 7 เดือนนี้ จะทําเมื่อตั้งครรภ์ลูกคนแรก และครรภ์มีอายุได้ 7 เดือน โดยจะนับให้ติดข้างแรม ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าครรภ์มีอายุครบ 7 เดือนเต็มแล้ว สําหรับการอาบน้ำนั้นจะอาบประมาณก่อนตะวันขึ้นทั้งสามีและภรรยา โดยสามีต้องนั่งในระดับที่สูงกว่าภรรยาโดยนําน้ำที่ได้ขอดุอาแล้วราดผ่านสามีและภรรยาก็นับได้ว่าเสร็จพิธีการอาบน้ำ 7 เดือน

  • ในช่วงที่ภรรยาอยู่ไฟหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ยังไม่ปล่อย 44” นั้น สามีต้องทําหน้าที่ซักผ้า ทําอาหาร ดูแลลูก ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ชาวบ้านเรียกว่าเป็น “วายิบ” หมายถึง สิ่งที่ต้องปฏิบัติตามหลักศาสนา แต่ในทางปฏิบัติ บทบาทเหล่านี้ก็ยังถูกปฏิบัติโดยแม่สามีหรือแม่ของผู้หญิงเอง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางเศรษฐกิจ

  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
  • กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน

ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน: ภาษาไทย 


จากปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากร และปริมาณสัตว์น้ำลดจำนวนลง ชาวบ้านทองหลางจึงได้รวมตัวกันอันเกิดขึ้นสมาชิกภายในชุมชนที่มีความตระหนักจากการเห็นความสําคัญของทรัพยากรป่าชายเลนที่มีอยู่ในชุมชน แต่กําลังถูกบุกรุกทําลายของคนต่างถิ่นเพื่อทํานากุ้งในพื้นที่ป่าชายเลน ชาวบ้านจึงได้รวมกลุ่มเพื่อพูดคุยกับผู้บุกรุกให้หยุดกระทําการ และต้องการนําพื้นที่ที่มีการบุกรุกกลับมาฟื้นฟูให้สมบูรณ์ดังเดิม จากเหตุการณ์ดังกล่าวชาวบ้านในชุมชนจึงได้ประสานกับโครงการความมั่นคงทางด้านอาหารชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา เพื่อพูดคุยถึงวิธีการและแนวทางในการปกป้องและฟื้นฟูป่าชายเลนดังกล่าว จากการพูดคุยและปรึกษาหารือร่วมกันจึงได้ข้อสรุปว่าชาวบ้านหรือกลุ่มที่ต้องการปกป้องป่าชายเลน จําเป็นต้องมีผู้สนับสนุนหรือมีผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดรับรู้ข้อมูลดังกล่าว ดังนั้นกลุ่มชาวบ้านจึงได้ตัดสินใจขึ้นพบผู้ว่าราชการ จังหวัดพังงาในสมัยนั้นเพื่อเรียนเชิญท่านเป็นประธานปลูกป่าชายเลนใน วันที่ 29 สิงหาคม 2549 หลังจากได้จัดกิจกรรมเสร็จสิ้นลง จึงได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มอนุรักษ์าชายเลนบ้านทองหลาง” ขึ้นอย่างเป็นทางการนับตั้งนั้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านทองหลาง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.google.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566].

รัตนาภรณ์ แจ้งใจดี. (2551). สถานภาพและบทบาทในครอบครัวและสังคมของผู้หญิงมุสลิมที่เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์บ้านทองหลาง ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช/นนทบุรี.

Thailandplus. (2564). dow เผยคู่มือเที่ยวป่าชายเลยด้วยตัวเอง ฉบับรู้จริงฟินจัง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.thailandplus.tv/archives/434795 [สืบค้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566].