Advance search

ชาวบ้านบางมันได้นำภูมิปัญญาชุมชนมาใช้แปรรูปทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น จากสินค้าพื้นเมืองสู่ผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อสร้างรายได้หลักให้กับคนในชุมชน 

บางมัน
นาคา
สุขสำราญ
ระนอง
ธำรงค์ บริเวธานันท์
19 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
27 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
1 พ.ค. 2023
บ้านบางมัน

ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้มีพืชน้ำชนิดหนึ่งขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากจนกลายเป็นจุดเด่นของพื้นที่ ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า บ้านบางมัน ขณะเดียวกันหมู่บ้านใกล้เคียงก็มีมันสำปะหลังขึ้นอยู่จำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า บ้านบางมัน” ต่อมาได้มีการก่อตั้งหมู่บ้านใหม่โดยรวมบ้านบางบอนและบ้านบางมันเข้าด้วยกัน และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบางมัน” มาจนปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

ชาวบ้านบางมันได้นำภูมิปัญญาชุมชนมาใช้แปรรูปทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น จากสินค้าพื้นเมืองสู่ผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อสร้างรายได้หลักให้กับคนในชุมชน 

บางมัน
นาคา
สุขสำราญ
ระนอง
85120
9.45249608
98.49494621
องค์การบริหารส่วนตำบลนาคา

ในอดีตเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2499 เดิมทีพื้นที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น เสือ ช้าง และสัตว์อื่นนานาหลากชนิด เนื่องจากบริเวณนี้มีอาณาเขตติดต่อกับภูเขา และด้านหน้ามีเนื้อที่ติดต่อกับทะเล จึงส่งผลให้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้ และทรัพยากรทางทะล ต่อมาได้มีผู้คนจากหมู่บ้านบางเบนได้เดินทางเข้ามาจับจองที่ทำกิน สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เมื่อมีลูกหลานก็ได้จับจองพื้นที่บริเวณใกล้เคียงปลูกสร้างบ้าน ในสมัยนั้นมีบ้านเรือนประมาณ 15 ครัวเรือน มีนายหลี อินตัน เป็นผู้นํา

สำหรับความเป็นมาของชื่อหมู่บ้านจากคําบอกเล่า ในอดีตพื้นที่เป็นบริเวณที่มีลำน้ำไหลผ่านตลอดเวลา มีพืชชนิดหนึ่งชื่อบอนน้ำขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจนและเป็นจุดเด่นของพื้นที่ ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า “บ้านบางบอน” ขณะเดียวกันหมู่บ้านใกล้เคียงก็มีต้นมันสำปะหลังขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านบางมัน” ต่อมาได้มีการก่อตั้งหมู่บ้านใหม่โดยรวมบ้านบางบอนและบ้านบางมันเข้าด้วยกัน และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบางมัน” มาจนปัจจุบัน 

ชุมชนบ้านบางมัน เป็นชุมชนที่มีอาณาเขตพื้นที่ตั้งคาบเกี่ยวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา และอุทยานแห่งชาติแหลมสน ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรป่าไม้ เป็นเขตป่าต้นน้ำ มีสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เช่น นกเงือก เสือ ลิง ชะนี ฯลฯ รวมถึงป่าชายเลนชุมชนที่มีกิจกรรมการปลูกป่าโกงกางเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นประจำทุกปี ทุกวันสำคัญทางราชการจะมีการรณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และอบรมให้ความรู้ด้านทรัพยากรชายฝั่ง และยังมีกิจกรรมการปล่อยสัตว์น้ำ เช่น ปูดำ หอยนางรม บริเวณท่าเรือบ้านบางมัน

ในช่วงฤดูแล้ง บ้านบางมันมักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคยาวนานประมาณ 2 เดือน จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากองค์การบริหารส่วนตำบลนาคา แต่ทั้งนี้ความช่วยเหลือก็ยังกระจายไปไม่ทั่วถึง ชาวบ้านบางครัวเรือนจึงแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อน้ำ บางครั้งมีการนำน้ำจากคลองบางมันมาใช้ ส่วนในฤดูฝนที่มีฝนตกชุก มักเกิดปัญหาโรคระบาด เช่น โรคไข้เลือดออก มีลูกน้ำยุงลายจำนวนมาก เกิดไข้ชิคุนกุนย่า ซึ่งในช่วงที่ฝนตกชุกนี้ นอกจากจะเกิดโรคระบาดแล้ว ยังส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้าน เนื่องจากไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ รวมถึงการทำประมงก็ไม่สามารถกระทำได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ จากการที่หมู่บ้านตั้งอยู่ในอาณาเขตคาบเกี่ยวกับเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ชาวบ้านถูกจำกัดพื้นที่ทำกิน เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเพื่อทำมาหากิน ซึ่งทางเจ้าหน้าอุทยานได้ดำเนินการอย่างประนีประนอมด้วยการตักเตือน ทำให้ปัญหารการบุกรุกป่าสงวนลดน้อยลง

ข้อมูลสถิติจำนวนประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลนาคา รายงานจำนวนประชากรบ้านบางมัน ตำบลนาคา มีประชากรทั้งสิ้น 1,280 คน คนในชุมชนมีความสัมพันธ์เป็นอยู่แบบพี่น้องเครือญาติ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น การทําบุญ การแต่งงาน หรือมีคนในชุมชนเจ็บไข้ได้ป่วย ก็มีการไปเยี่ยมเยียน ให้กําลังใจซึ่งกันละกัน มีการไปมาหาสู่แบ่งปันและช่วยเหลือกันภายในชุมชนอยู่เป็นประจํา 

เนื่องจากลักษณะที่ตั้งหมู่บ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลและภูเขา ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชน ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตรกรรมและทำประมง มีพืชเศรษฐกิจสำคัญ คือ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน การทำประมงชายฝั่งมีทั้งการวางอวนปู วางลอบปู ลอบปลา เลี้ยงหอย และเลี้ยงปลาในกระชัง อาชีพเสริม คือ อาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป

อาชีพเสริมหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อรายได้ของชาวบ้านบางมัน คือ การทำลอบปูดำ นับว่าเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดอาชีพใหม่เพื่อกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชน เช่น การรับจ้างทำลอบปูดำ ซึ่งสร้างรายได้มากถึงประมาณ 6,000-7,000 บาท /เดือน นอกจากนี้ยังมีการทำกะปิ สินค้าที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้าน ซึ่งมีราคาถึงกิโลกรัมละประมาณ 100-130 บาท

ทั้งนี้ ชาวบ้านบางมันยังมีการประกอบอาชีพเสริมอื่นอีกมากมายหลายอาชีพ ซึ่งชาวบ้านที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ เหล่านี้ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอาชีพขึ้นภายในชุมชน ได้แก่ กลุ่มถักโครเชต์ กลุ่มเลี้ยงแพะ กลุ่มทำกะปิ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มทำขนม และกลุ่มลอบปูดำ โดยกลุ่มที่มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง คือ กลุ่มถักโครเชต์ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งจากชาวบ้านในชุมชนด้วยกันเอง รวมถึงคนนอกชุมชน ทั้งจากท้องตลาดและต่างจังหวัด

ชาวบ้านบางมันมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย อยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้กฏกติกาของชุมชนที่ร่างขึ้นเพื่อจัดระเบียบความเรียบร้อยให้เกิดขึ้นภายในชุมชน ดังนี้

  • ข้อที่ 1 ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการหมู่บ้าน เมื่อกรรมการมีหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุม หากขาดเกิน 3 ครั้งติดต่อกันสมควรลาออก
  • ข้อที่ 2 เมื่อครอบครัวใดยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดห้ามให้การช่วยเหลือใด ๆ ทั้งสิ้น
  • ข้อที่ 3 เมื่อมีการพัฒนาหมู่บ้าน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมพัฒนาและแก้ไขร่วมกัน หากไม่ร่วมเกิน 3 ครั้งติดต่อกัน คณะกรรมการพิจารณาไม่ให้การช่วยเหลือทุกประเภท
  • ข้อที่ 4 ต้องเชื่อผู้นําอย่างเคร่งครัดโดยไม่ผิดกฎหมาย
  • ข้อที่ 5 เมื่อมีความขัดแย้งภายในหมู่บ้านต้องแจ้งผู้นําทันที
  • ข้อที่ 6 ให้ตัวแทนครัวเรือน 1 คนเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง และมีความเห็นชอบอย่างเสรี
  • ข้อที่ 7 ผู้นําหมู่บ้านต้องรับฟังและยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
  • ข้อที่ 8 ห้ามทุกคนในหมู่บ้านบุกรุกป่าสงวน ป่าชายเลน มิฉะนั้นผู้นั้นจะถูกตัดสิทธิการช่วยเหลือจากหมู่บ้าน

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการแปรรูปอาหารท้องถิ่น

1. นางสาวนวลจันทร์ ขุนติ้ง  ทำแป้งบุก

2. นายอ้าหมาด ลาสมัน  ทำสตอดอง

3. นายหมาด หมั่นหมาย  ทำน้ำตาลมะพร้าว

4. นางบุญพร้อม แพชนะ  ทำกะปิ

5. นางนันทการ พรหมจิตร  ทำกุ้งแห้ง

6. นางห่าร่อฝ๊ะ สามะดี  ทำปลาส้ม

7. นางกัญญา นาคา  ทำหัวกลอย และทำห่อหมก

8. นายอับดุลลา บินกาซัน  ทำขนมข้าวต้มมัด

ปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพร

1. นางม๊ะ นาคา  ทำยานัด

2. นางร่อเกี๋ย ชิดเอื้อ  ทำลูกประคบ

3. นางอุษา อาจหาญ  ทำน้ำขิงเพื่อสุขภาพ

4. นายขิน คงแก้ว  ยาแก้โรคหอบ

5. นางเสาด๋า ห่าหรับ  ตับหมูแก้ดรคลมชักบ้าหมา

6. นางอารยา หมีคง  ยาดองรักษามดลูก

7. นางร่อบี้ส๊ะ บุญเลี้ยง  การอบสมุนไพรแทนการอยู่ไฟ

8. นางไหมมูน๊ะ พูลทรัพย์  ทำยากวาดซาง

9. นายพันธ์ แก้วดำ  ทำใบฝรั่งแก้ท้องร่วง

10. นายสมจิตร ศรีชฎา  ทำยาแก้ร้อนในเด็กแรกเกิด

11. นางสมใจ สายเพชร  รักษาโรคภูมิแพ้

12.นางจิราภรณ์ ผดุงชาติ  ยาว่านหางจระเข้แก้น้ำร้อนลวก

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการจักสาน

1. นางจันทร์แรม อินตัน  การทำเสื่อ

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการละเล่น

1. นายอรุณ สาลี  การทำวงเวียนให้เด็กหัดเดิน

2. นางมาเรียม ห่าหรับ  ทำขลุ่ยเรียกนกกวัก

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการประกอบอาชีพ

1. นายวิริยะ นาคา  ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

2. นายสมศักดิ์ พูลทรัพย์  ทำลอบปลาหมึก

3. นายอนันต์ บินกาซัน  ทำลอบดักปลาใหญ่

4. นายสมชาย หัสจักร  ทำกระชังใส่ปลา

5. นายอดิเรก อินตัน  ทำไซปลาเก๋า

6. นางดารณี อินตัน  เย็บจาก

7. นายปริญญา เกิดสุวรรณ  ทำหมวกยาง

ปราชญ์ชาวบ้านด้านการทำของใช้ในครัวเรือน

1. นายปรีชา ตุ้งกู  ทำยาสระผม

2. นางรอกีย๊ะ หัตถประดิษฐ์  ทำไม้กวาดก้านมะพร้าว

3. นางอุไร อินตัน  ทำไม้กวาดจากต้นเข็ดมอล 

ภูมิปัญญาการทำลอบปูดำ

ลอบหรือไซปูดำ เป็นเครื่องมือที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน โดยการดัดลวดเส้นเล็กจำนวนหลายเส้นให้เป็นกรงสี่เหลี่ยมที่สามารถเปิดและปิดได้ ขั้นแรกเตรียมเส้นลวด ดึงลวดให้ตรง ตัดให้ได้ขนาดตามแบบ ขั้นต่อมาตัดลวดให้ได้ตามแบบเพื่อทำเป็นโครงสร้าง นำมาประกอบแล้วยึดให้แน่นหนาไม่ให้โยกคลอน จากนั้นตัดอวน หรือตาข่ายให้ได้ขนาดเท่ากับโครงลวดที่ทำไว้นำมาห่อทุกด้าน และติดเหยื่อล่อไว้ตรงกลาง เช่น เนื้อปลา เนื้อปลาเค็ม เนื้อหอย เมื่อปูเข้ามากินเหยื่อล่อ ลอบดักปูจะปิดทำให้ปูติดอยู่ข้างใน ซึ่งปัจจุบันลอบดักปูเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถสร้างรายได้กับชาวบ้านในชุมชน ราคาขายลอบหรือไซดักปูดำจะอยู่ที่ลูกละประมาณ 85-90 บาท

ภูมิปัญญาการทำหมวกยาง

หมวกยาง เป็นอุปกรณ์กันฝนหรือกันน้ำไหลบ่าลงในถ้วยน้ำยางหรือหน้ายาง ทำให้น้ำยางเสียหาย โดยใช้โครงลวดคลุมด้วยพลาสติกหนาผูกติดเหนือรอยกรีดกันน้ำฝน ทำให้กรีดยางได้ในวันฝนตก เพิ่มวันกรีด และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร โดยปัจจุบันชาวสวนยางพาราบ้านบางมันเกือบทุกหลังคาเรือนหันมาทำหมวกยางหรือร่มยางกันมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้าที่ชาวบ้านจะทำหมวกยาง มีรายได้จากไร่ยางพาราเพียงเดือนละ 10,000 บาท แต่ภายหลังจากทำหมวกยางแล้วชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้นถึงเดือนละ 30,000-40,000 บาท

วัสดุอุปกรณ์

  • ลวดรัดต้น เบอร์ 14
  • โครงลวดผูกรัดต้น
  • ขอบเหล็กทำเป็นวงกลม เบอร์ 14
  • ผ้ายางสีขาว
  • ขี้ชัน แม็ก มันยาง ยางในรถ

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


เศรษฐกิจบ้านบางมันในอดีตมีลักษณะแบบการผลิตเพื่อยังชีพ สินค้าสำหรับอุปโภคบริโภคต่าง ๆ สามารถหาซื้อได้ง่ายในชุมชน ทว่า ปัจจุบันสินค้าทุกอย่างมีราคาแพงตามอัตราค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจเกิดความย่ำแย่ รายได้หลักของชุมชนต้องผูกติดอยู่กับสวนยางพาราเป็นหลัก หากช่วงที่ยางพารามีราคาสูงชาวบ้านก็จะมีรายได้สูงตาม แต่หากช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ ฐานะของชาวบ้านบางมันก็จะตกต่ำตามไปด้วย ฉะนั้นแล้วจึงพบว่าในปัจจุบันชาวบ้านหลายรายเริ่มออกไปทำงานรับจ้างนอกชุมชนเพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้อง ส่งผลให้สภาพสังคมเกิดพลวัตอันเนื่องมาจากความย่ำแย่ของเศรษฐกิจ วัยรุ่นติดสารเสพติด เกิดปัญหาการลักขโมยในชุมชน ความคิดเห็นเกิดแตกแยกหลายฝักฝ่าย มีแรงงานพม่าเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งส่งผลให้แรงงานชาวไทยต้องว่างงาน เนื่องจากนายจ้างมักจะเลือกจ้างแรงงานชาวพม่ามากกว่าแรงงานชาวไทย ด้วยราคาค่าแรงที่ต่ำกว่า อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติยังเกิดความเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อบุกเบิกที่ดินทำสวนยางพารา แปรสภาพนาข้าวเป็นนากุ้ง แล้วปล่อยน้ำเสียจากนากุ้งลงสู่ทะเล ทำให้ทรัพยากรทางทะเล อาทิ กุ้ง หอย ปู ปลา ลดจำนวนลง เพราะสารเคมีที่ปะปนในแหล่งน้ำทำลายความสมดุลของระบบนิเวศ สัตว์น้ำต้องย้ายถิ่นที่อยู่ พืชพรรณนานาไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ภายใต้ระบบนิเวศที่เน่าเสีย จึงอาจกล่าวได้ว่า ณ ช่วงขณะนี้ชุมชนบ้านบางมันเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทุกด้าน และอาจจะเป็นการดีหากแม้ว่าพลวัตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปในทิศทางบวก หาใช่ความเปลี่ยนแปลงในทางลบดังเช่นปัจจุบัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล. (2561). “หมวกยาง” ทางออกแก้ปัญหากรีดยางพาราช่วงหน้าฝนของเกษตรกร จ.ระนอง. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.77kaoded.com [สืบค้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566].

อาสาน๊ะ อินตัน และ. (2555). แนวทางการส่งเสริมอาชีพทางเลือกในชุมชนอย่างมีส่วนร่วมที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของชุมชนบ้านบางมัน ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง (รายงานการวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.