ชุมชนประวัติศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 100 ปี หมู่บ้านกลางหุบเขาในอำเภอกะปง อำเภอเดียวในจังหวัดพังงาที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล
ชาวจีนคนแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มีชื่อว่า “นายพู่” และปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่มีต้น “คลองฟู” จึงเรียกหมู่บ้านที่อาศัยอยู่นี้ว่า “บ้านปลายพู่” ต่อมาจึงเพี้ยนชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านปากพู่” มาจนปัจจุบัน
ชุมชนประวัติศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 100 ปี หมู่บ้านกลางหุบเขาในอำเภอกะปง อำเภอเดียวในจังหวัดพังงาที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล
ชุมชนบ้านปากพู่ หมู่ที่ 3 ตําบลท่านา อําเภอกะปง จังหวัดพังงา เป็นชุมชนท่ามกลางหุบเขาในอำเภอกะปง แห่งเดียวในจังหวัดพังงาที่ไม่มีพื้นที่ติดกับทะเล บ้านปากพู่เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานยาวนานกว่า 100 ปี ตลอดระยะเวลามีชาวจีนอพยพเข้ามาอาศัยทำเหมืองแร่เป็นจำนวนมาก เมื่อแร่หมดและราคาตกต่ำ เหมืองแร่จำต้องปิดตัวลง ชาวบ้านจึงหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชาวจีนที่เป็นผู้นำการอพยพในครั้งนั้นมีชื่อว่า “นายพู่” ปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่มีต้น “คลองฟู” จึงเรียกหมู่บ้านที่อาศัยอยู่นี้ว่า “บ้านปลายพู่” ต่อมาลูกหลานชาวจีนก็อพยพมาตั้งบ้านเรือนสองแนวคลองฟูมากขึ้น และปัจจุบันเพี้ยนชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านปากพู่”
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเหล อำเภอกะปง จังหวัดพังงา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเหมาะ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศบ้านปากพู่มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนทอดเป็นแนวยาว บางส่วนเป็นที่ราบ ทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยป่าไม้ในพื้นที่มีลักษณะเป็นป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น แต่สำหรับบริเวณที่เป็นที่ราบมีสภาพดินเสื่อมโทรม ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทําเหมืองแร่ในอดีต การเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะขาดอินทรีย์วัตถุ พืชที่นิยมปลูกมาก คือ ยางพารา ทุเรียน มังคุด และลองกอง
สภาพภูมิอากาศ
บ้านปากพู่มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี สามารถแบ่งได้ 2 ฤดูกาล ได้แก่
- ฤดูร้อน ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 785.1 มิลลิเมตร
- ฤดูฝน ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 4,553.3 มิลลิเมตร
ข้อมูลประชากรองค์การบริหารส่วนตำบลท่านา รายงานสถิติประชากรบ้านปากพู่ หมู่ที่ 3 ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา จำนวน 715 คน แยกเป็นประชากรชาย 373 คน และประชากรหญิง 342 คน รวมจำนวนครัวเรือน 251 ครัวเรือน
อาชีพหลัก : เกษตรกรรม มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
อาชีพรอง : รับจ้าง ค้าขาย ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ
ความสัมพันธ์เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น เนื่องจากพื้นเพบรรพบุรุษเป็นคนจีน ชุมชนมีการรวมกลุ่มบริหารจัดการเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันในชุมชน มีการจัดเวทีประชาคม สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนมีการรวมกลุ่มในชุมชนที่ก่อให้เกิดผลการจัดกิจกรรมร่วมกัน
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปากพู่ เช่น
- วิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์
- วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหาร เครื่องแกงบ้านปากพู่
- วิสาหกิจชุมชนจักสานหมวกจากใบร่มข้าว
- วิสาหกิจชุมชนกลองยาว
ชาวบ้านปากพู่ทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ประเพณีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบทอดกันในชุมชนจึงมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ เช่น ประเพณีสารทเดือนสิบ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีกินเจ ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีลอยกระทง ประเพณีวันขนมไทย และประเพณีวันมังคุด ฯลฯ
- ประเพณีสารทเดือนสิบ : เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกที่ต้องจองจำอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ได้เคยทำไว้ตอนเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ทำให้กลายเป็นเปรตโดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 (วันรับเปรต) เพื่อมายังโลกมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (วันส่งเปรต) สำหรับวันสารทเดือนสิบของอำเภอกะปงจะมีการแห่กระจาด ซึ่งจาดเป็นภาชนะที่แล้วแต่ผู้ประดิษฐ์จะตกแต่งในลักษณะใด ส่วนใหญ่จะตกแต่งคล้ายกับบ้านรูปทรงไทยสี่เหลี่ยมคล้ายเสลี่ยง คานหาม ภายในมีการบรรจุอาหารแห้ง ขนมสารทเดือนสิบ ของใช้ต่าง ๆ และผลไม้เพื่อนำไปถวายวัด เป็นการอุทิศผลบุญส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว และในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ก็จะมีการแห่กระจาดจากหมู่บ้านไปยังวัดที่ใกล้เคียง พร้อมจุดประทัดเป็นการเฉลิมฉลองก่อนที่กระจาดจะเข้าวัด
- ประเพณีวันขนมไทย : เป็นประเพณีที่มีชื่อเสียงของอำเภอกะปง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสาน ถ่ายทอด และอนุรักษ์ขนมไทยชนิดต่าง ๆ ให้คงอยู่คู่กับสังคมไทย เช่น ขนมตาล ขนมครก ขนมกล้วย ขนมชั้น ขนมลูกชุบ ขนมโค ถั่วแปบ ฯลฯ รวมถึงขนมที่เกิดจากวัฒนธรรมคนจีนที่นำเข้ามาในยุคเหมืองแร่ จนเป็นตำนานขนมใหม่ในท้องที่ เช่น อาโป้ง โกซุ้ย โป้ยก่าย และจู้จุน โดยประเพณีวันขนมไทยอำเภอกะปง ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว
น้ำพุร้อนคลองปลาายพู่
บ่อน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ มีทั้งหมดประมาณ 7 บ่อ โดยมีบ่อใหญ่ 1 บ่อ มีอุณหภูมิประมาณ 75 องศาเซลเซียส และมีธารน้ำเย็นอยู่ในสายน้ำเดียวกัน จึงทำให้น้ำในบ่อมีความอุ่นกำลังดี อีกทั้งยังมีแร่ธาตุทำให้น้ำมีสีเขียวมรกต มีสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคเหน็บชา ไขข้ออักเสบ และโรคอัมพฤกษ์ และอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาแช่ผ่อนคลายท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สามารถเข้าใช้บริการได้ไม่มีค่าใช้จ่าย
หมวกใบร่มข้าว
ใบรวบข้าว ใบร่มข้าว พืชชนิดหนึ่ง มีลักษณะพิเศษ ใบหนาว ยาว มีความคงทนต่อแดดและฝนได้ดี ชาวบ้านใช้ใบร่มข้าว ทำพิธีรับขวัญข้าวก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นสิริมงคลและเชื่อว่าจะมีความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งแก่วงศ์ตระกูล ใช้ส่วนของใบรวบข้าวหลังเก็บเกี่ยว ต่อมาชาวกะปงเลิกทำนา เพราะการค้นพบแร่ดีบุก ที่ให้รายได้ดีกว่าจึงหันเหไปประกอบอาชีพทำเหมืองแร่แทน เมื่อชาวจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพเหมืองแร่ดีบุก เห็นคุณสมบัติใบร่มข้าวที่สามารถทนทานต่อน้ำฝนได้เป็นปี ๆ จึงคิดประดิษฐ์เป็นหมวกจีนสานเข้ากับไม้ไผ่ และถ่ายทอดวิธีการทำหมวกทรงจีนให้ภรรยา เพื่อให้คนงานเหมืองแร่ได้ใช้กันฝนและส่วนที่เหลือนำมาจำหน่ายให้แก่ชาวบ้าน เพื่อไว้กันแดดกันฝนในการประกอบอาชีพทำไร่ทำนา และเรียกหมวกนี้ว่า "หมวกใบร่มข้าว" ซึ่งผู้ที่สืบทอดรุ่นแรก คือ นางวิ้น อ๋องพู่ นางเอ๋า นางนุ้ย นางแจ่ม
ต่อมาลูกหลานของกลุ่มเหล่านี้ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปากพู่ จึงได้ถ่ายทอดวิธีการสานหมวกใบร่มข้าวใช้เป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว คือ นางจีน ตีเพ่ง, นางปีด ทิพย์รงค์, นางกุ่ย แซ่ตัน, นางยุพา บางพิเชษฐ์, นางหั้ง อ๋องฟู, นางสมจิตร บางพิเชษฐ์, นางยุพดี สร้อยสิงห์, นางต่วน ทิพย์รงค์, นางสาวอุบล ทิพย์รงค์
ในปี พ.ศ. 2528 ทางราชการ ได้เล็งเห็นความสำคัญของ ใบร่มข้าว จึงได้จัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้วิธีทำหมวกสานไม้ไผ่ใบร่มข้าวเป็นครั้งแรก โดยมีนางต่วน ทิพย์รงค์ และนางสาวอุบล ทิพย์รงค์ เป็นผู้ฝึกอบรม มีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก กลุ่มแม่บ้านหลายหมู่บ้านเข้าร่วมฝึกอบรม ปัจจุบันหมวกใบร่มข้าว กลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
ทุเรียนสาลิกา
ทุเรียนพันธุ์สาลิกา ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง มีรสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ จนเป็นที่กล่าวขาน “มาพังงาแล้วไม่ได้ชิมทุเรียนสาลิกา เหมือนมาไม่ถึงเมืองพังงา” ซึ่งในแต่ละปีนั้นจะออกไม่ตรงกัน แต่อยู่ในช่วงเดือน เม.ย.และ พ.ค.ของทุกปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ
ทุเรียนสาลิกา เป็นทุเรียนพื้นเมืองมีถิ่นกำเนิดที่อำเภอกะปง จังหวัดพังงา คำว่า สาลิกา มีที่มาจากนกสายพันธ์ุหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า นกสาลิกา เนื่องจากเป็นนกที่มีลักษณะสีสันสดใสและเสียงร้องที่ไพเราะ อีกทั้งอำเภอกะปงเป็นแหล่งแร่และเป็นแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติ ทำให้ดินภายในพื้นที่อำเภอกะปงประกอบไปด้วยสารอาหารที่เหมาะแก่การปลูกทุเรียนสาลิกา ที่ให้ผลผลิตคุณภาพดีที่สุด และมีเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากทุเรียนสายพันธ์ุอื่น ๆ
ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
สวนป้านุชลุงเปีย ชูจุดเด่นทุเรียนสาลิกาและอาหารพื้นถิ่น
สวนของป้านุช เปิดให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมเยือน ด้วยสวนที่นี้มีทำเลที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก มีผลไม้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเงาะ มังคุด และตัวชูโรงก็คือทุเรียนสาลิกา ราชาทุเรียนพื้นบ้านอันลือลั่น และยังมีเหล่าทุเรียนบ้านชนิดอื่น ๆ ที่รอการคัดสรรให้ขึ้นมาอยู่แถวหน้าอีกหลายชื่อ ทั้งนี้ป้านุช เจ้าของสวนยังป็นประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านปากพู่ร่วมใจ ผู้ผลิตหมวกใบร่มข้าว อันโด่งดัง
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
วิไลวรรณ ฟองชัย จิระพร นิ่มมณี บุญสม มีเกิด และคณะ. (2549). การจัดการฟื้นฟูอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพืชใบร่มข้าวอย่างมีส่วนร่วมที่เหมาะสมกับชุมชนบ้านปากพู่ ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา (รายงานการวิจัย). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
องค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา. (ม.ป.ป.). ทุเรียนสาลิกา. สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2567, จาก https://www.phangngapao.go.th/otop/
ผู้จัดการออนไลน์. (2565, 31 พฤษภาคม). เที่ยวกะปง ชิม “สาลิกา” ราชาทุเรียนพื้นบ้านพังงา. [ฉบับอิเล็กทรอนิกส์]. มติชนออนไลน์. จาก https://mgronline.com/south/